เทียนบ้าน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
เทียนบ้าน งานวิจัยและสรรพคุณ 29 ข้อ
ชื่อสมุนไพร เทียนบ้าน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เทียนดอก, เทียนขาว, เทียนไทย, เทียนสวน (ภาคกลาง), ดอกเทียน (ภาคเหนือ), ห่งเซียน, เซียนถ่ออั๊ง, โจยกะเช่า, จึงกะฮวย (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Impatiens balsamina Linn.
ชื่อสามัญ Garden balsam, Kamantique, Touch Me Not.
วงศ์ BALSAMINACEAE
ถิ่นกำเนิดเทียนบ้าน
ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของเทียนบ้าน สันนิษฐานว่าอยู่ในประเทศอินเดีย (แต่อีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา) จากนั้นได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยนั้นคาดว่า เทียนถูกนำมาปลูกในเมืองไทย ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา หรือ ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะพบหลักฐานเป็นชื่อในหนังสืออักขราภิธานศรัษท์ (พ.ศ.2416 )ว่า "เทียน : เป็นชื่อของทำด้วยสีผึ้งสำหรับจุดไฟ อีกอย่างหนึ่งคือต้นดอกไม้ศรีต่างๆ" ในปัจจุบันสามารถพบเทียนบ้าน ได้เกือบทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยจะพบมากทางภาคเหนือ และภาคกลาง ส่วนภาคอีสาน และภาคใต้พบได้ประปราย
ประโยชน์และสรรพคุณเทียนบ้าน
- ใช้ขับลม
- ช่วยให้โลหิตหมุนเวียนคล่อง
- แก้บวม
- แก้เจ็บปวดเกิดจากการถูกกระแทก
- แก้ฝีประคำร้อย
- รักษาแผลมีหนอง
- แก้โรคบิดมูกเลือด
- ใช้แก้ปวดข้อ ปวดเอว
- แก้ปวดท้องก่อนมีประจำเดือน
- ใช้ขับเสมหะข้นๆ
- ขับประจำเดือน
- แก้กระดูก หรือ ก้างปลาติดคอ(ละลายกระดูก)
- แก้พิษงูกัด
- รักษาแผลติดเชื้ออักเสบ
- รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
- แก้บวม
- ช่วยทำให้เอ็นคลายตัว
- ช่วนให้โลหิตหมุนเวียนคล่อง
- แก้ปวด
- แก้เหน็บชา
- รักษาแผลเน่าเปื่อยบวมเป็นพิษ
- แก้ปวดกระดูก
- รักษาแผลหกล้มบวมเจ็บ
- แก้ตกขาว ตกเลือด
- ใช้พอกเป็นยาถอนพิษ
- แก้ปวดแสบ ปวดร้อน
- ใช้ฆ่าเชื้อราของโรคกลาก
- รักษากลากเกลื้อน
- แก้ฝี และแผลพุพอง
ประโยชน์หลักของเทียนบ้าน คือ เป็นไม้ดอกไม้ประดับ เพราะมีลำต้นคล้ายลำเทียน มีดอกงดงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีหลากหลายสี ปลูกง่าย มีดอกเร็ว ส่วนเมล็ดเมื่อบีบจะให้น้ำมันใช้เป็นน้ำมันสำหรับหุงต้ม หรือ น้ำมันสำหรับใช้จุดตะเกียงได้ ถึงเป็นพรรณไม้ที่นิยมปลูกกันเป็นไม้ประดับ ใบสดนำมาต้มกับน้ำใช้สระผม จะช่วยบำรุงผม ทำให้ผมดกดำได้และ น้ำคั้นจากใบสดสามารถนำมาใช้ย้อมสีผมแทนใบเทียนกิ่งได้ นอกจากนี้ชาวมาเลเซียในอดีต นิยมใช้กลีบของต้นเทียนทาสีเล็บ และชาวบาหลีในอดีต ก็นิยมนำใบเทียนมากินเป็นอาหารและ ได้มีการเตรียมเป็นยาขี้ผึ้ง ครีมเพื่อใช้รักษาโรคอีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- แก้ปวดข้อ ใช้ใบสด 30 กรัม หรือ ใบแห้ง 15 กรัม ต้มกับน้ำผสมเหล้าดื่ม
- ยารักษากลากเกลื้อน ใช้ใบสด 1 กำมือ ตำให้ละเอียด ตำทั้งน้ำและเนื้อบริเวณที่เป็น ทาบ่อยๆ จนกว่าจะหาย
- แก้ฝี และแผลพุพอง ใช้ใบเทียนบ้าน สด 5-10 ใบ ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด นำมาพอกที่เป็นแผล วันละ 3 ครั้ง จนกว่าจะหาย
- แก้หน้า และขาบวม ใช้รากและใบสดผสมน้ำตาลทราย ตำให้ละเอียดพอกบริเวณที่บวม
- แก้แผลงูกัด ใช้ต้นสด 160 กรัม ตำคั้นเอาน้ำกิน และเอากากพอกแผลหรือใช้ต้นสดเก็บเอาไว้ครึ่งปี ใช้ทั้งรากและใบตำพอกที่บวม หรือ ใช้เหล้าหวานผสมกับกากพอกแผล
- แก้คอเป็นเม็ดเดี่ยวหรือเม็ดคู่ ใช้เมล็ดบดเป็นผง ใช้กระดาษม้วนเป่าเข้าไป อมไว้วันละ 2-3 ครั้ง
นอกจากนี้ยังสามารถใช้ใบสดของเทียนบ้านแทนใบเทียนกิ่ง โดยนำมาตำรวมกับเหง้าขมิ้นชัน พอกจมูกเล็บที่กำลังจะเป็นหนอง อักเสบ จะทำให้อาการอักเสบลดลง และหายในที่สุด
ลักษณะทั่วไปของเทียนบ้าน
เทียนบ้าน จัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุราว 1 ปี มีความสูงของต้นประมาณ 20-60 เซนติเมตร ลำต้นโปร่งแสง แต่เปราะและหักง่าย แตกกิ่งก้านใกล้กับโคนต้น ข้อกลวง ต้นใหญ่ เป็นรูปกลมทรงกระบอก ลำต้นมีลักษณะกลมเป็นสีเขียวอ่อนอมสีแดง อวบน้ำ มีเนื้อนิ่ม ผิวเรียบ ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับหมุนเวียนไปเป็นวง ลักษณะใบยาวเรียวแหลม ขอบใบมีรอยหยัก เป็นฟันคล้ายฟันเลื่อย กลางใบป่องออก ใบยาวประมาณ 10 เซนติเมตร กว้าง 2-3 เซนติเมตร มีเส้นใบสีขาวมองเห็นได้ชัดเจน และมีก้านใบสั้น ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว หรือ อยู่รวมกันเป็นช่อ 2-3 ดอก ออกตามง่ามใบ มีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ สีเขียว มีกลีบดอก 5 กลีบ มีกลีบล่างกลีบหนึ่งงอเป็นกระเปาะ กันกระเปาะมีส่วนยื่นออกมาเป็นหลอดเล็กๆ ยาวๆ ปลายโค้งงอขึ้นเล็กน้อย มีน้ำหวานขังอยู่ เรียกว่า สะเปอร์ เป็นลักษณะพิเศษของไม้วงศ์นี้อย่างหนึ่ง กลีบดอกมีสีหลายสี ตั้งแต่สีขาว, ชมพูอ่อน, แดง, ม่วง หรือ มีสีผสมกันก็ได้ กลีบดอกอาจซ้อนหรือไม่ซ้อนก็ได้ เกสรตัวผู้มี 5 อัน เกิดติดกันอยู่รอบๆ รังไข่ รังไข่แบ่งออกเป็น 5 ห้อง ปลายรังไข่มี 5 รอยแยก ดอกเทียนบานได้ 1-2 วัน ก็จะร่วงโรย แต่จะมี ดอกใหม่บานขึ้นมาแทนที่ จึงทำให้ต้นเทียนมีดอกบานเต็มต้นอยู่ได้นานนับเดือน ผล เป็นกระเปาะสีเขียว รูปร่างกลมรี หัวท้ายแหลม ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร กระเปาะมีรอยแยกแบ่งเป็น 5 กลีบ เปลือกค่อนข้างหนา มีลักษณะอวบน้ำและมีสีเขียว เมื่อผลแก่เปลือกจะแตกออกตามยาว เปลือกผลจะม้วนดีดเมล็ดกระเด็นไปไกล เมล็ดอยู่ในผลหลายสิบเมล็ดลักษะกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร สีน้ำตาลดำ มีรอยกระ
การขยายพันธุ์เทียนบ้าน
เทียนบ้านสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด โดยมีวิธีการคือเมล็ดแก่ของเทียนบ้านมาหว่านในแปลง หรือ เพาะในถาดเพาะก็ได้ ในกรณีที่เพาะในถาดเพาะให้ผสมดินกับปุ๋ยคอกแล้วนำเมล็ดไปเพาะแล้วรดน้ำให้ชุ่ม นำถาดเพาะไปไว้ในที่ร่มหรือที่ที่มีการพรางแสง 80-90% แล้วรักษาความชื้นโดยการรดน้ำ เช้า-เย็น จากนั้นเมื่อต้นกล้างอก และมีใบจริง 2-3 คู่ (อาจจะใช้เวลาประมาณ 15 วัน) จึงเตรียมขุดไปปลูกในแปลง หรือ ในกระถางที่ต้องการ โดยขุดหลุมลึกประมาณ 4-5 เซนติเมตร ระหว่างต้นประมาณ 20-30 เซนติเมตร แล้วนำต้นกล้าลงปลูกกลบดินตรงโดนให้พูนรดน้ำ เช้า-เย็น ทั้งนี้เทียนบ้าน เป็นพืชที่ต้องการความชื้น และชอบแสงแดดอ่อนๆ ขอบที่ร่มรำไร โดยหลังจากนำต้นกล้ามาปลูกประมาณ 30 วัน ก็จะเริ่มผลิตดอกและบาน
องค์ประกอบทางเคมี
ใบสด และทั้งต้นเทียนบ้าน พบสาร naphthoquinone และ 2-methoxy-1, 4-napthoquinone. 1,4-naphthoquinone sodium salts ในดอกพบสาร Anthocyanin, leucoanthocyanin, Cyanidin, Delphinidin, Harands, Quercetin, flavond, Pelargonidin, Malvidin Kaempferol ในรากพบ Cyanidin, mono-glycosidise ในเมล็ดพบสาร ß-sitosterol, Balsaminasterol และกรดไขมัน เช่น palmatic, stearic, linoleic และ parinaric acid.
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของเทียนบ้าน
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเทียนบ้าน
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีการทดสอบฤทธิ์ต้านแบคทีเรียของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของเทียนบ้าน ดังนี้ เมื่อใช้สารสกัดจากดอกและใบ เพื่อทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อ Staphylococcus aureus ในจานเพาะเชื้อ พบว่ามีฤทธิ์ ส่วนการทดสอบน้ำสกัดจากรากและลำต้นกับ S. aureus พบว่าไม่มีฤทธิ์ แต่เมื่อทดสอบสารสกัดเอทานอล (95%) จากดอกและใบ พบว่าสารสกัดนี้มีฤทธิ์ต้าน S. aureus ในจานเพาะเชื้อ ในขณะที่สารสกัดนี้จากรากและลำต้นกลับไม่มีฤทธิ์ นอกจากนี้เมื่อทดสอบสารสกัดเมทานอล และน้ำสกัดจากใบและลำต้นของเทียนบ้าน ในการต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด ผลการทดสอบพบว่า สารสกัดจากใบและลำต้นของเทียนบ้านทั้ง 2 แบบ สามารถต้านเชื้อ S. aureus ได้ โดยสารสกัดจากใบมีฤทธิ์ดีกว่าลำต้น และสารสกัดจากเมทานอลให้ฤทธิ์ดีกว่าน้ำสกัด และจากการทดสอบสารสกัดเอทานอล (95%) และน้ำสกัดจากส่วนต่างๆ ของสมุนไพรแห้งหลายชนิด ซึ่งสกัดโดยวิธีการแช่แล้วนำสารสกัดแห้งที่ได้ไปเจือจางให้มีความเข้มข้น 1:1 และ 1:10 จากนั้นนำไปทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย โดยวิธี disc-diffusion พบว่า สารสกัดจากทุกส่วนของเทียนบ้าน ยกเว้นสารสกัดจากลำต้นด้วยน้ำ สามารถต้านเชื้อ S. aureus ได้ดีทั้ง 2 ความเข้มข้น นอกจากนี้มีการทดสอบน้ำสกัดจากใบและลำต้น โดยนำน้ำสกัดนั้นมาย้อมผ้าขนสัตว์และผ้าไหมแล้วทดสอบฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย S. aureus ของผ้าที่ย้อมแล้ว ผลการทดสอบพบว่า ฤทธิ์ต้านแบคทีเรียของสีย้อมจะขึ้นกับเวลาของการย้อม และความเข้มข้นของสีย้อม จากการทดสอบพบว่าผ้าไหมที่ย้อมสีแล้วมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียมากกว่าผ้าขนสัตว์ และสีย้อมจากใบมีฤทธิ์ดีกว่าลำต้น และจากการทดสอบฤทธิ์ต้านแบคทีเรียของสารสกัดจากพืชชนิดต่างๆ กัน โดยใช้กระดาษซับสารสกัดวางบนวุ้นเพาะเชื้อ (filter paper disc method) พบว่าสารสกัดอะซีโตน ไดเอทิลอีเทอร์ เอทานอล และน้ำสกัด จากส่วนเหนือดินของเทียนบ้าน มีฤทธิ์ต้าน S. aureus จากการศึกษาสารสำคัญในเมล็ดเทียนบ้าน ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย พบว่าเป็นสารพวก peptides ที่ประกอบด้วย amino acids 20 ชนิด และสารสำคัญอีกชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด ซึ่งแยกได้จากสารสกัดเอทานอล (95%) จากส่วนเหนือดินแห้ง และสารสกัดทั้งต้นด้วยเมทานอล คือ 2-methoxy-1,4-naphtho-quinone (MNQ) นอกจากนี้สารสำคัญในเทียนบ้านที่เป็นสารกลุ่ม naphthoquinone เรียกชื่อเฉพาะว่า lawsone พบว่ามีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียหลายชนิด
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ สารประกอบฟีนอลิก (phenolic compounds) ที่สกัดได้จากส่วนดอกเทียนบ้าน มีฤทธิ์ต้านการอักเสบเมื่อทำการทดสอบในหลอดทดลอง (in vitro) โดยมีผลยับยั้งการผลิต nitric oxide (NO) ในเซลล์ microglial BV- 2 ที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide (LPS)
การศึกษาฤทธิ์แก้ปวดและต้านการอักเสบแบบเฉียบพลันของเทียนบ้าน ในสัตว์ทดลอง โดยทดลองป้อนสารสกัดน้ำจากใบเทียนบ้านขนาด 500, 1000 และ 2000มก./กก. ให้แก่หนูแรท 1 ชั่วโมง ก่อนเหนี่ยวนำให้หนูเกิดอาการบวม และอักเสบตรงอุ้งเท้าด้วยการฉีด carrageenan 1% ผลจากการสังเกตอาการบวมของอุ้งเท้าหนูเมื่อเวลาผ่านไป 3 ชั่วโมงพบว่า การกินสารสกัดน้ำจากใบเทียนบ้านช่วยยับยั้งอาการบวมของอุ้งเท้าหนูได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยขึ้นอยู่กับขนาดการได้รับสาร (dose dependent) และคิดเป็นเปอร์เซ็นต์การยับยั้งอาการบวมเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมได้เป็น 34.16, 44.58 และ 65.42% (สำหรับขนาด 500, 1000 และ 2000 มก./กก. ตามลำดับ) นอกจากนี้ยังพบว่าการกินสารสกัดน้ำจากใบเทียนบ้านมีฤทธิ์ยับยั้งอาการปวดเมื่อนำหนูไปทดสอบด้วยวิธี tail flick test
นอกจากนี้มีการศึกษาถึงสารสำคัญที่ได้จากกลีบดอกเทียนบ้าน ซึ่งมีฤทธิ์เป็น selective cyclooxy genase-2 (COX-2) inhibitor ซึ่ง enzyme cyclooxygenase-2 เป็นเอนไซม์ที่ก่อให้เกิดสารกระตุ้นการอักเสบหลายชนิด เช่น histamine, prostaglandin โดยสารสำคัญเป็นสารจำพวก 1,4-naphthoquinone sodium salts
ฤทธิ์แก้ปวด การป้อนสารสกัดเมทานอลจากดอกเทียนบ้าน ให้แก่หนูเม้าส์ขนาด 50-400 มก./กก. มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด เมื่อทดสอบด้วยวิธีกระตุ้นด้วยสารเคมีและความร้อน (chemical- and heat-induced pain) ได้แก่ การฉีดกรดอะซิติกเข้าช่องท้องเพื่อให้เกิดอาการเจ็บปวด และสังเกตการหดตัวของช่องท้อง (acetic acid-induced writhing test), ความสามารถในการทนอยู่บนแท่นร้อน (hot plate test), การจุ่มหางหนูลงในน้ำร้อน (tail immersion test) และการฉีดฟอร์มาลินเข้าใต้ผิวหนังบริเวณอุ้งเท้า (formalin test)
ฤทธิ์ต้านเชื้อรา การศึกษาในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดชนิดต่างๆ ได้แก่ แอลกอฮอล์ คลอโรฟอร์ม มีเทน และน้ำ จากส่วนใบ และรากของเทียนบ้านมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา Aspergillus nigra, Candida albicans, Aspergillus flavus, Trichoderma reesei และ Penicillum sp.
นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาอื่นๆ อีกเช่น เมล็ดสกัดด้วยน้ำ มีผลกระตุ้นมดลูกของกระต่ายที่ท้อง และไม่ท้อง ต่อมดลูก หนูขาวที่ท้อง ทำให้มดลูกหดตัวเร็ว และแรงขึ้น น้ำสกัด หรือ ส่วนที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์จากเมล็ด มีผลทำให้ลำไส้เล็กที่แยกออกมาของกระต่ายคลายตัว และเมื่อให้หนูขาวตัวเมียกินน้ำต้มจากเมล็ดนี้ 10 วัน จะสามารถใช้เป็นยาคุมกำเนิดได้อย่างดี ยานี้จะกดความรู้สึกทางเพศ ลดน้ำนม และลดการทำงานของมดลูก
การศึกษาทางพิษวิทยาของเทียนบ้าน
มีการศึกษาความเป็นพิษแบบเฉียบพลันของเทียนบ้าน โดยป้อนสารสกัดน้ำจากใบเทียนบ้านขนาด 3 ก./กก. ให้แก่หนูแรทเพียงครั้งเดียวพบว่า ไม่ทำให้หนูตาย และไม่พบอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ภายใน 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกับการทดลองป้อนสารสกัดเมทานอลจากดอกเทียนบ้านขนาด 500-5,000 มก./กก. ให้แก่หนูเม้าส์เพียงครั้งเดียว เพื่อทดสอบความเป็นพิษแบบเฉียบพลันพบว่า สารสกัดเมทานอลดอกเทียนบ้านขนาดดังกล่าวไม่ทำให้หนูตาย และไม่ก่อให้เกิดพิษใดๆ ในช่วงระยะเวลาใน 72 ชั่วโมง หลังจากได้รับสารสกัด
พิษต่อเซลล์ ทดสอบสารสกัดเอทิลอะซีเตทจากส่วนเหนือดินกับเซลล์ Hela-S3 โดยมี IC50 เท่ากับ 25 มคก./มล. พบว่ามีฤทธิ์อ่อนๆ แต่ถ้าใช้สารสกัดนี้จากเมล็ดเทียนบ้านที่วางขายในท้องตลาดกับเซลล์ดังกล่าว โดยมี IC50 เท่ากับ 100 มคก./มล. พบว่าผลการทดสอบไม่แน่นอน ส่วนการทดสอบสารสกัดเมทานอลจากส่วนเหนือดินกับ cells-Human-SNU-1 และ cells-Human-SNU-C4 โดยมี IC50 มากกว่า 0.3 มก./มล. พบว่าไม่มีฤทธิ์ และถ้าใช้สารสกัด เมทานอลหรือน้ำสกัดจากทั้งต้นแห้ง ความเข้มข้น 0.1 มก./มล. กับเซลล์ Hela พบว่าให้ผลเช่นเดียวกัน
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- หญิงมีครรภ์ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้
- ห้ามรับประทานรากเทียนบ้าน มาก หรือ ติดต่อกันนานๆ หรือ บ่อยๆ เพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อม้าม และกระเพาะ
- เมล็ดเทียนบ้านสามารถละลายกระดูกและฟัน อันเป็นสาเหตุที่จะทำให้ฟันเสียได้ ดับนั้นจึงควรระมัดระวังไม่ให้ถูกฟันในขณะใช้
เอกสารอ้างอิง เทียนบ้าน
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เทียนบ้าน Garden Balsam”. หน้า 124.
- เดชา ศิริภัทร.เทียน :ไม้ดอกงามที่ได้นามจากลำต้น.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 234.กุมภาพันธ์ 2550
- นันทวัน บุณยะประภัศร อรนุช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. สมุนไพรไม้พิ้นบ้าน เล่ม 2. กรุงเทพฯ: บริษัท ประชาชน จำกัด, 2541 : 640 หน้า.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “เทียนดอก”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 382-384.
- ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ.ดาวเรืองและเทียน. คอลัมน์สมุนไพรน่ารู้.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 13.พฤษภาคม.2523
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “เทียนดอก (Tian Dok)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 147.
- สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน กระทรวงสาธารณสุข. สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2541: 176 หน้า.
- พวงน้อย โลหะขจรพันธ์. การศึกษาฤทธิ์การฆ่าเชื้อบัคเตรีและเชื้อราของสมุนไพรบาง ชนิด. วิทยานิพนธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521.
- สุมาลี เหลืองสกุล. ฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดหนองของสารสกัดจากสมุนไพร 6 ชนิด. การประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 13, สงขลา, 20-23 ต.ค. 2530.
- เทียนบ้าน.สมุนไพร ที่มีการใช้ในงาน สาธารณสุข. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
- เทียนบ้าน.กลุ่มพืชถอนพิษ.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plant_data/herbs/herbs_20.htm.
- Takatsuki S, Narui T, Ekimoto H, Abuki H, Niijima K, Okuyama T. Studies on cytotoxic activity of animal and plant crude drugs. Natural Med 1996;50(2):145-57.
- Choi SC, Jung JS. Study on the antimicrobial activity of Impatiens balsamina (III). J Korean Fiber Soc 1999;36(4):338-43.
- Rajendran R, Manikandan A, Hemalatha K, Sweety M, Prabhavathi P. Antimicrobial activity of Impatiens balsamina plant extract. World J Pharm Pharm Sci. 2014; 3(7): 1280-6.
- Oku H, Ishiguro K. Cyclooxygenase-2 inhibitory 1,4-naphthoquinones from Impatiens balsamina L. Biol Pharm Bull 2002;25(5):658-60.
- Kosuge T, Yokota M, Sugiyama K, Yamamoto T, Ni MY, Yan SC. Studies on antitumor activities and antitumor principles of Chinese herbs. I. Antitumor activities of Chinese herbs. Yakugaku Zasshi
- Choi SC, Jung JS. Studies of antimicrobial component of extracts of Impatiens balsamina (L). Han’guk Somyu Konghakhoechi 1997;34(6):393-9.
- Debashree N, Subhalakshmi A, Rita S, Pfuzia A. Study of anagelsic and anti-inflammatory effects of Impatiens balsamina leaves in albino rats. Int J Pharm Bio Sci. 2013; 4(2): 581-7.
- Kang SC, Moon YH. Isolation and antimicrobial activity of a naphthoquinone from Impatiens balsamina. Saengyak Hakhoechi 1992;23(4):240-7
- Gottshall RY, Lucas EH, Lickfeldt A, Roberts JM. The occurrence of antibacterial substances active against Mycobacterium tuberculosis in seed plants. J Clin Invest 1949;28:920-3.
- Imam MZ, Nahar N, Akter S, Rana MS. Antinociceptive activity of methanol extract of flowers of Impatiens balsamina. J Ethnopharmacol. 2012; 142(3): 804-10.
- Hyun JW, Lim KH, Shin JE, et al. Antineoplastic effect of extracts from traditional medicinal plants and various plants. Korean J Pharmacog 1994;25(2):171-7.
- Yang X, Summerhurst DK, Koval SF, Ficker C, Smith ML, Bernards MA. Isolation of an antimicrobial compound from Impatiens balsamina L. using bioassay-guided fractionation. Phytother Res 2001;15(8):676-80.
- Kim CS, Subedi L, Kim SY, Choi SU, Choi SZ, Son MW, et al. Two new phenolic compounds from the white flower of Impatiens balsamina. Phytochem Lett. 2015; 14: 215-20.