ดิออกซีไมโรเอสทรอล

สารดิออกซีไมโรเอสทรอล

ชื่อสามัญ Deoxymiroestrol

ประเภทและข้อแตกต่างสารดิออกซีไมโรเอสทรอล

สารดิออกซีไมโรเอสทรอล(Deoxymiroestrol) จัดเป็นสาร Isoflovonoids ที่มีฤทธิ์เป็นไฟโตเอสโตรเจน (phytoestrogen) จากธรรมชาติที่มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ในเพศหญิง โดยมีสูตรทางเคมีคือ C20 H22O5 มีมวลโมเลกุล 342.4 g/mol และจากผลการวิเคราะห์ทำให้พบว่า deoxymiroestrol มีโครงสร้างและจำนวนหมู่ไฮดรอกซีที่คล้ายกันมากกับ ฮอร์โมน estriol ซึ่งฮอร์โมน estriol นี้ จะเป็นฮอร์โมนที่พบได้ในปริมาณที่สูงในสตรีที่ตั้งครรภ์ สำหรับประเภทของดิออกซีไมโรเอสทรอล (Deoxymiroestrol) นั้น จากการศึกษาค้นคว้าพบว่ามีเพียงชนิดเดียว แต่ทั้งนี้สารอิออกซีไมโรเอสทรอล สามารถเกิดปฏิกิริยาของออกซิเดชันขณะการแยกสารให้เปลี่ยนเป็นสารอนุพันธุ์ซึ่งได้แก่ สาร miroestrol และ isomiroestrol ได้อีกด้วย

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาสารดิออกซีไมโรเอสทรอล

ดังที่กล่าวไปว่าสารอิออกซีไมโรเอสทรอล (Deoxymiroestrol) เป็นสาร Isoflavonoids ที่มีฤทธิ์เป็นไฟโตเอสโตรเจน ที่ได้จากธรรมชาติโดยสามารถพบได้ในกวาวเครือขาว [Pueraria canddlei Graham ex Benth. Var. mirifica (Airy Shew Savat.)] โดยสารดังกล่าวจัดเป็นสารไฟโตเอสโตรเจนความแรงสูง (high potency) ที่พบในกวาวเครือขาว แต่จะมีอยู่ในปริมาณที่ค่อนข้างต่ำคือประมาณ 2-3 มก./100 ก. ของน้ำหนักผงแห้ง และจะมีปริมาณน้อยกว่าสารในกลุ่มไฟโตเอสโตรเจน ความแรงต่ำ (low potency) อื่นๆ อาทิเช่น สาร genistein, daidzein, genistin, daidzin และ coumestrol เป็นต้น

ปริมาณที่ควรได้รับสารดิออกซีไมโรเอสทรอล

สำหรับขนาดและปริมาณของสารดิออกซีไมโรเอสทรอล (Deoxymiroestrol) ที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยต่อวันนั้น จากการศึกษาค้นคว้าพบว่าในปัจจุบันยังไม่พบว่ามีการกำหนด ขนาดและปริมาณ ในการใช้รวมถึงหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการใช้สารดังกล่าว แต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตามได้มีประกาศของคณะกรรมการอาหารและยาเกี่ยวกับขนาดรับประทานกวาวเครือขาวที่เป็นสมุนไพรควบคุมซึ่งมีสารดิออกซีไมโรเอสทรอล เป็นสารออกฤทธิ์หลักโดยให้มีขนาดที่ใช้ในการรับประทานว่าให้รับประทานผงกวาวเครือขาวได้ไม่เกินวันละ 50-100 มิลลิกรัม

โครงสร้างสารดิออกซีไมโรเอสทรอล

ประโยชน์และโทษสารดิออกซีไมโรเอสทรอล

ในปัจจุบันได้มีการนำสารอิออกซีไมโรเอสทรอล (Deoxymiroestrol) และอนุพันธุ์ของสารดังกล่าวคือ miroestrol และ isomiroestrol มาใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในรูปแบบสารสกัดจากกวาวเครือขาว (ในต่างประเทศ) รวมถึงผงกวาวเครือขาว ซึ่งระบุว่ามีสรรพคุณ ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง (estrogenic Activity) ช่วยลดอาการของสตรีวัยหมดประจำเดือน ลดอาการร้อนวูบวาบ ลดภาวะกระดูกพรุน ต้านอนุมูลอิสระและช่วยในเรื่องของความจำและการเรียนรู้ ช่วยลดอาการช่องคลอดแห้งในสตรีวัยหมดประจำเดือนนอกจากนี้ยังมีการใช้ในรูปแบบครีมภายนอก เพื่อขยายหน้าอก อีกด้วย

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารดิออกซีไมโรเอสทรอล

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยด้านเภสัชวิทยา ของสารดิออกซีไมโรเอสทรอล รวมถึงกวาวเครือขาวซึ่งมีสารอิออกซีไมโรเอสทรอล เป็นสารออกฤทธิ์หลัก ดังนี้

           ฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจน มีรายงานการศึกษาวิจัยที่ทำการทดสอบความแรงการออกฤทธิ์เอสโตรเจนของสารบริสุทธิ์ต่างๆ ที่แยกได้จากผงกวาวเครือขาว โดยใช้ระบบการตรวจวัดเดียวกัน คือใช้เซลล์มะเร็งเต้านม MCF-7 และเปรียบเทียบความแรงกับสารเอสโตรเจนธรรมชาติคือ 17β-estradiol ทำให้เกิดภาพที่ชัดเจนกว่าสารบริสุทธิ์แต่ละชนิดในกวาวเครือขาวมีความแรงของการออกฤทธิ์ของสารแต่ละชนิด ตามลำดับดังนี้ 17β-estradiol (ต่ำกว่า 10-12) >>deoxymiroestrol (ระหว่าง roestrol ชัดเจนกว่าสารบริสุทธิ์แต่ละชนิดในกวาวเครือขาวมีความแรงของการออกฤทธิ์ของสารแต่ละชนิด ตามลำดับดังนี้ กวาวเครือขาว 1010-10-9) > miroestrol (10-8) > coumestrol (107) = genistein (107) > daidzein (10-6) = kwakhurin (10-6) ที่น่าสนใจ คือ ทั้ง deoxymiroestrol และ miroestrol โดยหากใช้ในปริมาณความเข้มข้นที่มากพอ (เช่นที่ค่า log M= -8 และ -7 ตามลำดับ) จะให้ฤทธิ์เอสโตรเจนในระดับที่สูงกว่า 17β-estradiol (ที่ความเข้มข้นเท่ากัน) ในราว 20% ในทางตรงกันข้ามสาร diadzin, puerarin, puemiricarpene, tuberosin ตลอดจน isomiriestrol ซึ่งต่างหาก miriestrol เฉพาะตำแหน่งของพันธะคู่และของกลุ่ม OH พบว่าไม่มีฤทธิ์เอสโตรเจนต่อเซลล์ MCF-7 ในสภาวะที่ศึกษาเลย ดังนั้นจึงได้ข้อสรุปว่า สาระสำคัญในกวาวเครือขาวที่เกื้อหนุนต่อการออกฤทธิ์เอสโตรเจน มีอยู่ 3 ชนิดหลักคือ deoxymiroestrol, miroestrol และ daiazein ขณะที่ genistein และ coumestrol ที่มีอยู่ในปริมาณน้อย น่าที่จะมีส่วนเกื้อหนุนในระดับที่ค่อนข้างต่ำ

           ฤทธิ์เพิ่มขนาดเต้านม จากข้อมูลที่มีการศึกษาวิจัยว่าเอสโตรเจนในสตรี มีอยู่ 3 ชนิดหลัก คือ estrone (E1), 17β-estradiol (E2) และ estriol (E3) ฮอร์โมนทั้งหมด 3 ชนิด มีโครงหลักเป็นสเตอรอยด์ โดยแต่ละชนิดจะเป็นเอสโตรเจนหลักในร่างกายสตรีแต่ละวัย estrone เป็นฮอร์โมนหลักที่พบในสตรีวัยหมดประจำเดือน 17β-estradiol เป็นฮอร์โมนหลักในสตรีตั้งตั่ยที่เจริญเต็มที่ไปจนถึงวัยหมดประจำเดือน ในขณะที่ estriol เป็นสารเอสโตรเจนหลักที่พบในสตรีที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ และหากเปรียบเทียบโครงสร้างทางเคมีของ deoxymiroestrol กับสารเอสโตรเจนเหล่านี้แล้ว จะพบสิ่งที่น่าสนใจว่า deoxymiroestrol ในกวาวเครือขาวนีมีโครงสร้างภาพรวมที่มีความคล้ายคลึงกับสาร estriol มากที่สุดโดยเฉพาะในแง่จำนวนหมู่ OH ที่มีโมเลกุลของ estriol และเมื่อเปรียบเทียบโครงสร้างโมเลกุลของ deoxymiroestrol ในรูปแบบของ ball and stick กับโมเลกุลของทั้ง estriol, miroestrol และ isomiroestrol จะเห็นได้ว่าทั้ง deoxymiroestrol และ miroestrol ซึ่งถึงแม้จะมีโครงสร้างในลักษณะที่ไม่ใช่เป็นสเตอรอยด์ แต่ก็มีระยะห่างระหว่าง OH สองหมู่ที่เกาะติดกับตำแหน่ง C3 และ C17 ที่ใกล้เคียงกัน รวมถึงความเป็น aromatic ring ของโครงสร้าง ring A ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญ 2 ประการ ในการเกาะกับ estrogen receptor ในเซลล์เต้านม จากข้อมูลดังกล่าวจึงทำให้เชื่อได้ว่าสาร deoxymiroestrol (และ miroestrol) สามารถที่จะออกฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจนได้โดยการไปเกาะกับ estrogen receptor ในเต้านมและส่งผลต่อการทำงานของ estrogen response element ได้ในทำนองเดียวกันกับสาร estriol ที่มีในเลือดของสตรีที่ตั้งครรภ์ และนี่เองเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเพิ่มขนาดของเต้านมในกวาวเครือขาว

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหนูเม้าส์เพศเมียตัดรังไข่ โดยให้สารสกัดหยาบกวาวเครือ ขาว 2.5 หรือ 25 มก./กก./วัน หรือสาร miroestrol 0.1 หรือ 1.0 มก./กก./วัน เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ฉีด E2 1 มคก./กก./วัน โดยฉีดสารเข้าช่องท้อง เป็นเวลา 2 เดือน ผลการทดสอบพบว่าทั้งสารสกัดหยาบกวาวเครือขาวและสาร miroestrol มีผลเพิ่มปริมาณเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ glutathione (GSH), reduced glutathione และอัตราส่วนของ reduced glutathione/oxidized glutathione (GSH/GSSG) และเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ glutathione peroxidase (GPx), superoxide dismutase (SOD) และ catalase (CAT) ในตับ และมดลูกของหนูเม้าส์ได้ และ สาร miroestrol ขนาด 0.5 หรือ 5 มก./กก./วัน มีผลต้านอนุมูลอิสระโดยเพิ่มการทำงานของ SOD และ CAT ในตับและมดลูก ทั้งในหนูปกติและหนูที่ทำให้เกิดพิษจากสาร naphthoflavone เพิ่มระดับ glutathione ในตับ และลดระดับ lipid peroxidation และระดับ malondialdehyde ในมดลูก

           ฤทธิ์ต่อการเรียนรู้และจดจำ มีการทดสอบความสามารถในการเรียนรู้และจดจำในหนูเม้าส์ตัดรังไข่ โดยให้สาร miroestrol 0.1 และ 1 มก./กก. เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ฉีด E2 ขนาด 1 มคก./กก. โดยฉีดเข้าช่องท้องวันละครั้งเป็นเวลา 8 สัปดาห์ จากนั้นทดสอบการเรียนรู้และจดจำด้วยเทคนิค Y-maze test และ water maze test ผลการทดสอบพบว่า กวาวเครือขาวทำให้ความสามารถในการเรียนรู้และจดจำของหนูดีขึ้น ผ่านฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ส่งผลทำให้การแสดงออกของโปรตีน brain-derived neurotrophic factor (BDNF) และ cyclic AMP-responsive elementbinding protein (CREB) ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ช่วยให้สมองรับรู้และเรียนรู้ดีขึ้น

           ฤทธิ์ต่อภาวะกระดูกพรุน มีการทดสอบฤทธิ์ต้านภาวะกระดูกพรุนของกวาวเครือขาวในหนูไมส์ตัดรังไข่ พบว่าสาร สกัดหยาบกวาวเครือขาวและสาร miroestrol มีฤทธิ์เพิ่มการแสดงออกของ osteoprotegerin (OPG) ซึ่งเป็นโมเลกุลที่คอยยับยั้งการสร้าง osteoclast และลด receptor activator of nuclear factor kappa ligand (RANKL) ส่งผลในการลดการเกิดกระดูกพรุนได้

           ฤทธิ์ต่ออาการร้อนวูบวาบ (Vasomotor symptoms, Hot flushes) มีการศึกษาทางคลินิกเปรียบเทียบการใช้กวาวเครือขาวขนาด 25 และ 50 มก.สำหรับรักษาอาการของสตรีวัยหมดประจำเดือน โดยทำการศึกษาในผู้ป่วยผ่าตัดมดลูก โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ให้กวาวเครือขาวขนาด 25 และ 50 มก. ตามลำดับ เป็นเวลา 6 เดือน ทำการประเมินอาการอาการร้อนวูบวาบ สภาวะทางจิตใจ รวมทั้งอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก อาการที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินปัสสาวะ รวมไปถึงการวัดน้ำหนักค่าทางโลหิตวิทยา ค่าทางชีวเคมีและค่าการทำงานของตับ ผลการรักษาพบว่ากวาวเครือขาวมีผลช่วยลดอาการร้อนวูบวาบและ อาการต่างๆ ของสตรีวัยทอง โดยทั้งสองขนาดให้ผลการรักษาใกล้เคียงกัน และไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงของยาอีกด้วย

           อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัยพบว่า สารอิออกซีไมโรเอสทรอล มีความแรงกว่าสารอนุพันธุ์คือ miroestrol ถึง 10 เท่าอีกด้วย

โครงสร้างสารดิออกซีไมโรเอสทรอล

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

มีรายงานระบุว่ากวาวเครือขาวมีผลทำให้การตั้งท้องลดลง และยังทำให้จำนวนตัวอ่อนที่ฝังตัวในมดลูกลดลงและมีการทดลองให้ผงกวาวเครือขาวแก่แม่หนูที่กำลังให้นมลูก ผลการทดสอบพบว่าไม่มีนํ้านมไหลออกมาจากต่อมนํ้านมของหนูทั้งสองกลุ่มต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างชัดเจน จากผลการวิจัยสรุปได้ว่า ผงกวาวเครือขาวยับยั้งการหลั่งน้ำนมของหนูหลังคลอดลูก ดังนั้นจึงควรระมัดระวังการใช้กวาวเครือขาวสำหรับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ และไม่ควรใช้กวาวเครือขาวในผู้หญิงที่กำลังให้นมบุตร รวมถึงผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งมดลูกและมะเร็งเต้านมหรือเนื้องอกที่ไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนก็ไม่ควรใช้กวาวเครือขาวเช่นกัน อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัยพบว่า สาร miroestrol และ deoxymiroestrol ยังมีความเสี่ยงทำให้เกิดความเป็นพิษต่อตับในหนูเม้าส์เมื่อใช้ในขนาดและปริมาณ ที่มากและใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน สำหรับการใช้กวาวเครือขาวในรูปแบบตำรายาสมุนไพรก็มีข้อควรระวัง คือ อาจพบอาการข้างเคียงหากรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น เจ็บเต้านม มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ปวดหรือเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น

 

เอกสารอ้างอิง ดิออกซีไมโรเอสทรอล
  1. ธิดารัตน์ จันทร์ดอน. กวาวเครือขาว. จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 32. ฉบับที่ 3 เมษายน 2558. หน้า 15-20
  2. วันชัย ดีเอกนามกูล, ชาลี ทองเรือง. ความเป็นไปได้ที่กวาวเครือขาวจะมีผลต่อการขยายขนาดของเต้านม. วารสารไทยเภสัชสารปีที่ 25. ฉบับที่ 1-2 มกราคม-มิถุนายน 2544. หน้า 1-9
  3. สมภพ ประธานธุรารักษ์, พร้อมจิต ศรลัมพ์ (บรรณาธิการ).สมุนไพร : การพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน. กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ 2547: 164 หน้า.
  4. กนกพร กวีวัฒน์. ผลของพืชสมุนไพรบางชนิดต่อระบบสืบพันธุ์ของสัตว์ทดลอง: กวาวเครือหญ้าหวาน นมนางและสันโศก. สัมมนาวิชาการเทคโนโลยีชีวภาพเภสัชกรรม ครั้งที่ 2 “การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เพื่อการแพทย์แผนไทย”. วันที่ 21-23 มิถุนายน 2543; มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
  5. ธิดารัตน์ จันทร์ดอน. กวาวเครือขาว. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  6. ยุทธนา สมิตะสิริ เสรี แปงจิตต์ สมบูรณ์ อนันตลาโภชัย. การยับยั้งการให้นมในหนูที่กำลังให้นมด้วยกวาวขาวเปรียบเทียบกับเอสโตรเจน. วารสารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2532;16:7-11.
  7. Jeerapong N, Chatupornprasert W, Jarukamjorn K. Miroestrol, a phytoestrogen from pueraria mirifica, improves the antioxidation state in the livers and uteri of β-naphthoflavone-treated mice. J Nat Med 2014;68(1) :173-80.
  8. Virojchaiwong P, Suvithayasiri V, Itharat A. Comparison of Pueraria mirifica 25 and 50 mg for menopausal symptoms. Arch Gynecol Obstet 2011;284(2):411-9.
  9. R.A. Rhodes, G. A. Tanner. Medical Physiology, Brown and Company, Boston, 1995.
  10. Udomsuk L, Juengwatanatrakul T, Putalun W, Jarukamjorn K. Suppression of BSEP and MRP2 in mouse liver by miroestrol and deoxymiroestrol isolated from Pueraria candollei. Phytomedicine 2012;19(14) : 1332-5.
  11. Cherdshewasart W, Kitsamai Y, Malaivijitnond S. Evaluation of the estrogenic activity of the wild Pueraria mirifica by vaginal cornification assay. J Reprod Dev 2007;53(2):385-93.
  12. S. Chansakaow, T. Ishikawa, H. Seki, K. Sekine (neeYoshizawa), M. Okada, and C. Chaichantipyuth. Identification of deoxymiroestrol as the actual rejuvenating principle of “Kwao Keur”, Pueraria mirifica the known miroestrol may be an artifact. J. Nat. Prod. 63:173-175 (2000).
  13. Chatupornprasert W, Udomsuk L, Monthakantirat O, Churikhit Y, Putalun W, Jarukamjorn K. Effects of Pueraria mirifica and miroestrol on the antioxidation-related enzymes in overiectomized mice. J Pharm Phamacol 2013;65(3): 447-56.
  14. Manonai J, Chittacharoen A, Udomsubpayakul U, Theppisai H, Theppisai U. Effects and safety of Pueraria mirifica on lipid profiles and biochemical markers of bone turnover rates in healthy postmenopausal women. Menopause 2008;15(3):530-5.
  15. S. Chansakaow. Ph.D. Thesis, Phytoestrogens from Pueraria mirifica. Graduate School of Pharmaceutical Sciences, Choba University, Japan, 2000.
  16. Udomsuk L, Chatupornprasert W, Monthakantirat O, Churikhit Y, Jarukamjorn K. Impact of Oueraria candollei var. mirifica and its potent phytoestrogen miroestrol on expression of bone-specific genes in ovariectomized mice. Fitoterapia 2012; 83 (8) : 1687-92.
  17. Sookvanichsilp N, Soonthornchareonnon N, Boonleang C. Estrogenic activity of the dichloromethane extract from Pueraria mirifica. Fitoterapia 2008;79(7-8):509-14.
  18. Tiyasatkulkovit W, Malaivijitnond S, Charoenphandhu N, Havill LM, Ford AL, VandeBerg JL. Pueraria mirifica extract and puerarin enhance proliferation and expression of alkaline phosphatase and type I collagen in primary baboon osteoblasts. Phytomedicine 2014;21(12):1498-503.
  19. Monthakantirat O, Sukano W, Umehara K, Noguchi H, Chulikhit Y, Matsumoto K. Effect of miroestrol on ovariectomy-induced cognitive impairment and lipid peroxidation in mouse brain. Phytomedicine 2014;21:1249-55.