ตีนเป็ดน้ำ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ตีนเป็ดน้ำ งานวิจัยและสรรพคุณ 26 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ตีนเป็ดน้ำ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตีนเป็ดทะเล, ตีนเป็ด (ภาคกลาง), ตุม, ตูม (กาญจนบุรี), สั่งลา (กระบี่), มะตะกอ (มลายู)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cerbera odollam Gaeeth
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cerbera dilatata Markgr., Cerbera forsteri Seem., Cerbera lactaria Buch.-Ham. Ex Spreng., Tanghinia lactaria (Buch.-Ham.) ex Spreng.) G.Don Tang odolam Odolamia malabarica Raf.
ชื่อสามัญ Pong pong
วงศ์ APOCYNACEAE
ถิ่นกำเนิดตีนเป็ดน้ำ
ตีนเป็นน้ำ (ตีนเป็นทะเล) จัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น ศรีลังกา อินเดีย เนปาล รวมถึงจีนตอนใต้ จากนั้นจึงได้มีการกระจายพันธุ์ไปยังบริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พม่า ไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้มากทางภาคใต้ของประเทศบริเวณ ป่าชายเลน บึงน้ำจืด และตามป่าชายหาดทั่วไป
ประโยชน์และสรรพคุณตีนเป็ดน้ำ
- ใช้แก้หวัด
- แก้อาเจียนเป็นเลือด
- ช่วยฆ่าพยาธิผิวหนัง
- แก้กลากเกลื้อน
- ใช้ขับโลหิต
- แก้ริดสีดวงทวาร
- ใช้ขับนิ่ว
- แก้ไข้
- แก้บิด
- ใช้เป็นยาถ่ายยาระบายขับพยาธิ
- แก้หลอดลมอักเสบ
- ช่วยให้เจริญอาหาร
- ช่วยสมานลำไส้
- แก้หิด
- แก้ผมหงอก
- ใช้เบื่อปลา
- ใช้ขับเสมหะ
- ช่วยขับผายลม
- ใช้ฆ่าเหา
- รักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง
- แก้ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ
- บำรุงรักษาขน
- ใช้ขับน้ำคาวปลาในสตรีคลอดบุตร
- ใช้แก้ไข้ตัวร้อน
- ไข้เหนือ
- แก้โลหิตพิการ
นอกจากนี้ยังมีการใช้ตีนเป็ดน้ำ ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาตามสวนสาธารณะ อาคาร สถานที่ ตามลานจอดรถ หรือ ริมถนนเนื่องจากต้นตีนเป็ดน้ำมีทรงพุ่มสวยงาม ดอกสวย มีกลิ่นหอม ใบไม่ค่อยหลุดร่วง
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ตีนเป็ดน้ำ
ใช้แก้ปวดตามข้อ และปวดตามกล้ามเนื้อ โดยใช้ผลมาเผาไฟแล้วจึงนำไปตำผสมกับน้ำมันพืชแล้วจึงนำไปทาบริเวณที่ปวด ใช้แก้ลมให้กระจาย ขับผายลม ขับเสมหะ แก้ไข้ แก้อาเจียน โดยใช้รากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้กระจายเลือดลม กระจายลมอันฑพฤกษ์ แก้อัมพาต โดยใช้แก่นไม้แห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้อาการบิด สมานลำไส้ แก้หลอดลมอักเสบ ขับนิ่ว แก้ไข้ ช่วยเจริญอาหาร ช่วยระบาย เป็นยาถ่าย ขับพยาธิ โดยใช้เปลือกต้นตากให้แห้งแล้วจึงนำมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ขับน้ำคาวปลาในสตรีคลอดบุตรโดยใช้เนื้อไม้ต้มกับน้ำดื่มวันละ 2-4 ครั้ง รักษาโรคริดสีดวงทวาร รักษาโรคผิวหนัง โดยนำผลสดมาเผาไฟให้ร้อน และเอาผ้าห่อประคบบริเวณที่เป็น ใช้ฆ่าเหา รักษาหิด โดยนำเมล็ดบดให้ละเอียดผสมน้ำ นำมาสระผม หรือ มาบริเวณที่เป็นหิด ใช้แก้ไข้ตัวร้อน ไข้เหนือ และโลหิตพิการ โดยใช้ดอกแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม มีการใช้เมล็ด และน้ำมันจากเมล็ด เป็นยาใส่ผมแก้ผมหงอก และบำรุงรักษาขน ใส่ผมเป็นยาแก้เหา โดยใช้ส่วนผสมของเมล็ดตีนเป็ดน้ำ กับน้ำในอัตราส่วน 1:1 และยังใช้เมล็ดเป็นยาเบื่อปลา ส่วนน้ำมันจากเมล็ดใช้เป็นยาฆ่าแมลง
ลักษณะทั่วไปของตีนเป็ดน้ำ
ตีนเป็ดน้ำ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กไม่ผลัดใบ เรือนยอดแผ่กว้างเป็นทรงกลมทึบ หรือ ทรงร่ม ความสูงของต้นประมาณ 5-15 เมตร แตกกิ่งก้านต่ำ เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอ่อน หรือ เทา และมีช่องระบายอากาศเป็นร่องยาว มีน้ำยางสีขาวข้น
ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามบริเวณปลายกิ่งโดยจะออกรอบวงกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับแกมรูปหอก หรือ รูปขอบขนานแกมใบหอก โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ใบมีขนาดกว้าง 2.5-8 ซม. ยาว 9-30 ซม. ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนาเรียบเกลี้ยง ผิวเป็นมัน มีเส้นแขนงใบ 12-25 เส้น และมีก้านใบยาว 2-3 ซม.
ดอก ออกเป็นช่อแบบแยกแขนงตามปลายกิ่ง ซึ่งช่อดอกจะยาวประมาณ 8-35 ซม. โดยแต่ละช่อมีดอกย่อยสีขาว ประมาณ 10-14 ดอก และจะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบดอกย่อยมี 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นหลอดโดยหลอดกลีบยาวประมาณ 1-2 ซม. แฉกกลีบยางประมาณ 1.2-3.8 ซม. เรียงซ้อนทับกัน ปลายกลีบดอกแหลม เมื่อดอกบานจะมีแต้มเหลือง ตรงกลางดอก และมีก้านดอกยาวประมาณ 1-4 ซม. เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 6-7 ซม.
ผล เป็นผลสดแบบมีเนื้อรูปทรงกลม หรือ ค่อนข้างกลมรีเป็นสองพูตื้นๆ มีขนาดกว้าง 6 ซม. ยาว 7 ซม. ผิวผลเรียบเนียนกว้างเป็นมัน มีจุดเล็กๆ สีขาวกระจายทั่ว ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้ม ภายในผลมีเมล็ดขนาดใหญ่รูปรีแข็ง และเบามีประมาณ 1-2 เมล็ด ซึ่งเมล็ดสามารถลอยน้ำได้
การขยายพันธุ์ตีนเป็ดน้ำ
ตีนเป็ดน้ำ สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีอาทิเช่น การตอนกิ่ง การเพาะเมล็ด แต่วิธีที่เป็นที่นิยม คือ การเพาะเมล็ด และยังเป็นพรรณไม้ที่ปลูกได้ดีในทุกสภาพดิน ชอบแสงแดดเต็มวัน เจริญเติบโตได้เร็ว และไม่ต้องการดูแลมาก สำหรับการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่งของต้นเป็ดน้ำนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของตีนเป็ดน้ำ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด
สารสกัดจากเปลือกลำต้นพบสาร triticusterol 2, 6-dihydroxy-4-methoxy benzoic acid, 2-hydroxy-4-methoxy-6-methyl benzoic acid
ส่วนสารสกัดจากเมล็ดพบสาร vebioside, Deacetyl-tanghinin, neriifolin, tanghinin, monoacetylneriifolin 17 alpha-neriifolin, 17 beta-neriifolin, cerberin เป็นต้น
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของตีนเป็ดน้ำ
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาสารสกัดจากเมล็ดและเปลือกต้นของตีนเป็ดน้ำ ระบุว่า
ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ และเสริมยานอนหลับ มีรายงานการทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพโดยใช้สารสกัด methanol จากเมล็ดตีนเป็ดน้ำ ทดสอบกับเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก และแกรมลบ ด้วยวิธี agae well diffusion method โดยใช้สารสกัดขนาด 500 ไมโครกรัม/หลุม เปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน gentamicin 30 ไมโครกรัม/หลุม จากการทดสอบพบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพในระดับปานกลางในการต้านเชื้อ salmonella typhi, streptococcus pyogenes, Streptpcoccus saprophyticus (เชื้อเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อจากอาหารเป็นพิษ ไข้รูห์มาติก และติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ) โดยมีบริเวณใสในการยับยั้งเชื้อ (zone of inhibition) เท่ากับ 15, 11, 16 มิลลิเมตร ตามลำดับ (ซึ่งยามาตรฐาน gentamicin มี zone of inhibition เท่ากับ 28, 28, 30 มิลลิเมตร ตามลำดับ)
ส่วนสารสกัดเอทานอลจากเมล็ด เมื่อให้หนูถีบจักรสายพันธุ์ Swiss-albino ขนาด 25 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ก่อนเป็นเวลา 60 นาที หลังจากนั้นจึงฉีดยานอนหลับ pentobarbital ขนาด 45 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม เข้าทางบริเวณช่องท้องของหนู พบว่ามีผลเพิ่มระยะเวลาการนอนหลับให้ยาวนานขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่าระยะการนอนหลับโดยรวมของหนูกลุ่มที่ได้รับสารสกัด และหนูกลุ่มควบคุมเท่ากับ 56.45+-5.61, 49.09+-2.44 นาที ตามลำดับ และทำให้ลดพฤติกรรมการสำรวจของหนูอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อทดสอบด้วยวิธีพื้นที่เปิดโล่ง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม และวี hole cross (พฤติกรรมการข้ามจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง)
อีกทั้งยังพบว่าสารสกัดจากใบของตีนเป็ดน้ำยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยมีการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเอทิลอะซิเตต จากใบตีนเป็ดน้ำ พบว่าสามารถกำจัดอนุมูล DPPH ได้ดีที่สุด และรีดิวซ์ Fe ได้ดีที่สุด (2.08+-0.42 มิลลิกรัม วิตามินซี สมมูลต่อกรัมของส่วนสารสกัด) แต่มีความสามารถในการจับกับไอออน Fe ได้น้อยกว่าส่วนสกัดเฮกเซน นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่าสารสกัดจากเปลือกต้นของตีนเป็ดน้ำยังมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ตานเชื้อจุลชีพ และขับปัสสาวะ อีกด้วย
การศึกษาทางพิษวิทยาของตีนเป็ดน้ำ
มีการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของส่วนยาง และสารสกัดจากเมล็ด, ผล และใบของตีนเป็ดน้ำ ระบุถึงความเป็นพิษดังนี้ น้ำยางสีขาวจากต้น ผล รวมถึงเมล็ด พบสารพิษกลุ่ม cardiac glycoside เช่น cerberin, carebroside, cerberetin, odollin และ thevobioside เป็นต้น
ส่วนสารสกัดจากเนื้อในเมล็ดพบว่ามีความเป็นพิษสูงมาก โดยเมื่อทดสอบกับไรน้ำเค็ม พบว่าค่าความเข้มข้นที่ทำให้ไรน้ำเค็มตายครึ่งหนึ่ง เท่ากับ 3 มคก./มล. นอกจากนี้ยังมีรายงานความเป็นพิษในผู้ป่วย 6 ราย ที่รับประทานเมล็ดของลูกตีนเป็ดไป ½-1 เมล็ด พบว่าผู้ป่วยหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ คลื่นไส้ อาเจียน และรายหนึ่งเสียชีวิตอีกด้วย
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ส่วนของน้ำยางผล และเนื้อในผลมีสารพิษกลุ่ม cardiac glycoside ซึ่งหากสัมผัสโดยจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนังแพ้เป็นผื่นแดง หากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้ แต่หากเคี้ยวผล หรือ ส่วนเนื้อในของเมล็ด จะทำให้มีอาการปวดแสบปวดร้อน ภายในช่องปาก คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ ท้องเสีย ง่วงนอน ม่านตาขยาย ความดันโลหิตลด การเต้นของหัวในผิดปกติ ชีพจรเต้นช้า และถึงตายได้ นอกจากนี้ส่วนของเมล็ดยังมีฤทธิ์เป็นยาถ่าย และเป็นยาที่ทำให้แท้งบุตรได้ ดังนั้นสตรีมีครรภ์ห้ามใช้ตีนเป็ดน้ำเป็นยาสมุนไพร เด็ดขาด
เอกสารอ้างอิง ตีนเป็ดน้ำ
- เต็ม สมิตินันท์. (๒๕๕๓). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการ อนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยาแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม.
- พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ. ตีนเป็ดน้ำ . หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. หน้า 100.
- ราชัน ภู่มา. (๒๕๕๙). สารานุกรมพืชในประเทศ (ฉบับย่อ) เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราสุดาฯ สยาม บรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ ๖. พรรษา. กรุงเทพฯ : สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการ อนุรักษ์ป่าไม้ และพันธุ์พืช กรมอุทยาแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม.
- ดร.นิจศิริ เรืองรังสี. ดร.ธวัชชัย มังคละคุปต์. ตีนเป็ดน้ำ. หนังสือสมุนไพรไทยเล่ม 1. หนน้า 130.
- สุธิดา ไชยราช, ชลธิชา สว่างวงศ์. 2548. คู่มีอฐานข้อมูลพืชพิษ. ดิจิตัล เอ็กซ์-ชายด์ จำกัด:กรุงเทพมหานคร.
- กรมวิชาการเกษตร. (๒๕๔๓). พรรณไม้หอมเฉลิมพระเกียรติพระบาทมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒. กรุงเทพฯ : กรมวิซาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
- ผาญิตา เอี้ยวซิโป, แวววลี โชคแสวงการ, ชฎาพร พรมแดน, พิมพ์หทัย นิลเกษม. ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และต้านอนุมูลอิสระจากสารสกัดใบตีนเป็ดน้ำ และใบตีนเป็ดทราย. วารสารวิทยาศาสตร์บูรพา ปีที่ 22. (ฉบับพิเศษ) การประชุมวิชาการระดับชาติ วิทยาศาสตร์วิจัยครั้งที่ 9. หน้า 129-140.
- ตีนเป็ดน้ำ. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http:///www.pargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=138.
- Hasan, C.M., Kuddus, M.R., Rumi, F. and Masud, M.M.2011 Phytochemical screening an activity studies of cerbera odollam gaertn. Int. d. Pharma. and Bio. Sci. 2, ISSN 0975-6299.
- Laphookhieo, S., Cheenpracha, S, Karalai, C., Chantrapromma, s, Pongimanont, c. and 196906m2 ศารธอ msllobo Chantrapromma, K,, Cytotoxic cardenolide glycoside from the seeds of Cerbera odollam. Phytochemistry, 2004; 65(4):507-510.
- )Laphookhieo, S., Cheenpracha, S., Karalai, C., Chantrapromma, S., Rat-a-Pa, Y, Ponglimanont, c. and Chantrapromma, K. 2004. Cytotoxic Cardenolide Glycoside From the seeds of cerbera odollam Phytochemistry. 65,507-10.
- Somwang, T. & Wanichwatanadecha, P. (2015), Comparative study of antibacterial activity of extracts from Cerbera odollam and Cerbera manghas leaves. In Proceedings of The T" National Science ResearchConference. (pp. 1-5). Phitsanulok: Naresuan University. (in Thai)
- Syarifah, M.M.S., Nurhanan, M.Y., Hafiz J. M., IIham,A.M., Getha, k., Asiah, O., Norhayati, 1, Sahira,H.L. andSuryani, S.A. 2011, Potential anticancer compound from Cerbera Odollam. J. Tropical Forest sci.23,89-96.
- Bitset, N.G., The occurrence of alkaloids in the Apocynaceae. Part II. A recent developments. In Annales Bogoriensis, 1961; 4: 65-144. 13. Laphookhieo, S., Cheenpracha, S., Karalai, C., Chantrapro mma, S., Ponglimanont, C. and Chantrapromma, K., Cytotoxic glycoside from the Cerbera llam. ytochemistry, 2004; 65(4): 507-510.
- Bitset, N.G. 1961. Cardiac glycosides, apocynaceae: A preliminary paper chromatographic glycosides from some species of Cerbera L. including Tanghiniab Thouars. Annales Bogorienses. Vol.
- chwatanadecha,P., Kasempin, N., Wilatong, S. and Khoonthong, W. (2015) Antibact Cerbera odollam Gaertn. extract against plant pathogenic Xanthomonas. In Proceedings of Pure and Applied Chemisty International Conference 2015 (PACCON 2015). (pp. 501-204). Bangkok: The Chemical Society of Thailand under the Patronage of Her Royal Highness Princess Chulabhorn Mahidol and Department of Chemistry, Faculty of Science, King Mongkut's University of Technology Thonburi.
- Ahmed F, Amin R, Shahid IZ., Sobhani MME. Antibacterial, cytotoxic and neuropharmadological activities of Cerbera odollam seeds. Oriental Pharmacy and Experimental Medicine. 2008;8(4):323-28.
- occhi, U. (20T2). CRC World Dictionary of Medicinal and Poisonous Plants: Common Na names, Eponyms, Synonyms and Etymology. Florida: CRC Press.