ธนนไชย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ธนนไชย งานวิจัยและสรรพคุณ 7 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ธนนไชย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ศรีธนนไชย (โคราช), รางไซ, รวงไซ, รางไทย (อุบลราชธานี), ลังไซ (ปราจีนบุรี), พังพวยป่า, พังพวยนก (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Buchanania siamensis Miq
ชื่อพ้อง Buchanania pallida Pierre
วงศ์ ANACARDIACEAE


ถิ่นกำเนิดธนนไชย

ธนนไชย จัดเป็นพืชท้องถิ่นของประเทศไทยชนิดหนึ่ง โดยมีถิ่นกำเนิดใน ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งมีการค้นพบธนนไชยครั้งแรกที่จังหวัดกาญจนบุรี สำหรับในประเทศไทยสามารถพบธนนไชย ได้มากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก โดยจะพบทั่วไปตามป่าเต็งรัง และป่าผลัดใบ ที่ระดับความสูง 50-300 เมตร จากระดับน้ำทะเล


ประโยชน์และสรรพคุณธนนไชย

  1. ใช้แก้อาการผิดสำแดง
  2. ใช้รักษาโรคเริม
  3. ใช้รักษาโรคเหงือก
  4. รักษาแผลในปาก
  5. ใช้รักษาฝีในท้อง (โรค Amoebiasis) หรือ วัณโรค
  6. ใช้รักษาโรคฝีเน่า
  7. ใช้รักษารำมะนาด

           ธนนไชย จัดเป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นของไทย ดังนั้นจึงถูกนำมาใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ในอดีต โดยมีการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้

           ใบอ่อน ยอดอ่อน และดอก สามารถนำมารับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก ลาบ หรือ ยำได้ ผลมีรสหวาน ใช้รับประทานเล่นได้ ส่วนลำต้นสามารถนำเนื้อไม้มาใช้ก่อสร้าง หรือ ใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตรก็ได้ นอกจากนี้เปลือกต้นธนนไชย ยังสามารถนำมาย้อมเส้นไหมได้อีกด้วย โดยต้นสกัดน้ำย้อมจากเปลือกสดอัตรา 4-6 กิโลกรัม ต่อการย้อมไหม 1 กิโลกรัม จะได้เส้นไหมสีชมพูอมน้ำตาลอ่อน หรือ สีชมพูอมแดง เมื่อแช่เส้นไหมที่ย้อมแล้วในน้ำปูนใส ซึ่งสีที่ได้มีความคงทนต่อแสง และการซักในระดับดี

ธนนไชย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้ผิดสำแดง โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้รักษารำมะนาด และแผลในปาก โดยนำเปลือกต้นธนนไชย ต้มผสมเกลืออมกลัวปาก
  • ใช้รักษาโรคฝีในท้อง โดยนำรากมาเข้ากับสมุนไพรอีก 14 ชนิด ฝนรับประทานกับน้ำ
  • ใช้แก้โรคเริม โดยนำเปลือกต้นมาเคี่ยวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ นำมาทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้โรคฝีเน่าโดยนำยางชันเคี่ยวกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ นำมาทาบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของธนนไชย

ธนนไชย จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดเล็กถึงกลาง มีความสูง 5-15 เมตร แตกกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบ เปลือกต้นหนา สีเทาถึงเทาปนดำ แตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ เปลือกด้านในสีแดงอมขาว บริเวณกิ่งอ่อนมีขนขึ้นประปรายและจะหลุดร่วงเมื่อกิ่งแก่

           ใบธนนไชย เป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับเป็นกลุ่มบริเวณปลายกิ่ง ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ โคนใบสอบเรียวเป็นรูปลิ่ม ปลายใบมน หรือ เว้าเล็กน้อย เนื้อใบหนาเปราะ หลังใบมีสีเขียวผิวใบเรียบแต่จะมีขนนุ่มทางด้านล่างของใบ โดยเฉพาะตามเส้นใบ ส่วนก้านใบแบน มีขนนุ่ม

           ดอกธนนไชย ออกเป็นช่อกระจุกยาวตามซอกใบ โดยใน 1 ช่อจะมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยมีสีขาวแกมสีเหลืองอ่อน

           ผลธนนไชย เป็นผลเดี่ยว รูปร่างค่อนข้างกลม คล้ายรูปหัวใจเบี้ยว ด้านข้างผลแบน ปลายผลหยัก หรือ เว้าเล็กน้อย และมีขนขึ้นปกคลุมประปรายผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีม่วง หรือ ดำ

ธนนไชย

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนของลำต้น และใบธรรไชย ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารสกัดจากส่วนลำต้นพบสาร Koaburside, vanillic acid, quercetin, catechin และ caffeic acid ส่วนสารสกัดจากใบพบสาร vanillic acid, gallic acid, caffeic acid และ tannic acid เป็นต้น  


การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของธนนไชย

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดธนนไชย จากลำต้นและใบ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้

           โดยมีรายงานผลการศึกษาวิจัยระบุว่าสารสกัดเมทานอลจากลำต้นธนนไชยมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยมีค่า EC50 เท่ากับ 7.1±0.1 μg/ml และสารสกัดไดคลอโรมีเทนจากลำต้นธนนไชยสามารถยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์จากเซลล์แมคโครเฟจ RAW264.7 ในสภาวะที่มี LPS ชักนาได้ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 94.47±23.50 μg/ml ส่วนสารสกัด ไดคลอโรมีเทนจากใบของธนนไชยมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง HaCaT, HepG2, MCF-7 และ MDA-MB-231 โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 119.41±4.80, 196.47±41.36, 264.76±8.50 และ 289.81±36.57 μg/ml ตามลำดับ 

           นอกจากนี้สารสกัดไดคลอโรมีเทนจากลำต้นธนนไชย ยังแสดงฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียต่อทั้งแบคทีเรียแกรมบวก และแกรมลบ ได้แก่ B. subtilis, B. cereus, S. epidermidis, S. aureus, E. coli และ P. aeruginosa โดยพบว่า สารสกัดดังกล่าวสามารถทำลายผนังเซลล์ของแบคทีเรีย และทำให้แบคทีเรียไม่สามารถเจริญได้


การศึกษาทางพิษวิทยาของธนนไชย

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ธนนไชย เป็นยาสมุนไพรนั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ เนื่องจากยังไม่พบว่ามีการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยา และขนาดการใช้ที่ปลอดภัย ดังนั้นในการใช้ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง ธนนไชย
  1. เต็ม สมิตินันทน์. 2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (ชื่อพฤกษศาสตร์-ชื่อพื้นเมือง). (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544). กรมป่าไม้. กรุงเทพ.
  2. ปิยะ เฉลิมกลิ่น, จิรพันธุ์ ศรีทองกุล และอนันต์ พิริยะภัทรกิจ. พรรณไม้ที่พบครั้งแรกในประเทศไทย. กทม. โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพ. 2551 หน้า 34
  3. ธนนไชย. พืชกินได้ในป่าสะแกราช. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) หน้า 159-160
  4. สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. พรรณไม้พื้นบ้านอีสาน เล่ม 1. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. 2544 หน้า 33
  5. อรพรรณ ยอดสะอึ และคณะ. องค์ประกอบทางเคมี และสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากธนนไทย. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์.มหาวิทยาลัยบูรพา ปีงบประมาณ 2559. 68 หน้า
  6. Kamonwannasit, S.; Nantapong, N.; Kumkrai, P.; Luecha, P.; Kupittayanant, S.;Chudapongse, N. 2013. Antioxidant and antibacterial activities of Aquilariacrassna extracts. Annals of Clinical Microbiology and Antimicrobials. 12, 20.
  7. Dong, J. W.; Cai, L.; Xiong, J.; Chen, X. H.; Wang, W. Y.; Shen, N.; Liu, B. L.; Ding, Z. T.2005. Improving the antioxidant and antibacterial activities of fermentedBletilla striata with Fusarium avenaceum and Fusarium oxysporum, ProcessBiochem. 50, 8-13.
  8. Mehta, S. K.; Mukherjee, S.; Jaiprakash, B. 2010. Preliminary phytochemical investigationon leaves of Buchanania lanzan (Chironji) . International Journal of Pharmaceutical Sciences Review and Research. 3(2), 55-59.
  9. Gupta, R. K.; Patel, A. K.; Shah, N.; Choudhary, A. K.; Jha, U. K.; Yadav, U. D.; Gupta, P. K.;Pakuwal, U. 2014. Oxidative stress and antioxidants in disease and cancer: areview. Asian. Pac. J. Cancer. Prev., 15, 4405-4409.