โกฐพุงปลา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
โกฐพุงปลา งานวิจัยและสรรพคุณ 36ข้อ
ชื่อสมุนไพร โกฐพุงปลา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ปูดกกส้มมอ (อีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ โกศพุงปลาเป็นสมุนไพรที่ได้จากต้นสมอไทย ดังนั้นโกฐพุงปลาจึงไม่มีชื่อวิทยาศาสตร์เฉพาะตัว ทั้งนี้โกฐพุงปลาที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นคนละชนิดกันกับต้นโกฐพุงปลาที่เป็นไม้เถาเลื้อย ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dischidia major (Vahl) Merr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dischidia rafflesiana Wall.) หรือที่ทั่วไปเรียกว่า "จุกโรหินี" หรือ "บวบลม"
ชื่อสามัญ Terminalia Gall , Myrobalan Gall
วงศ์ COMBRETACEAE
ถิ่นกำเนิดโกฐพุงปลา
ดังที่กล่าวไปแล้วว่า โกฐพุงปลาเป็นสมุนไพร เครื่องที่ได้จากต้นสมอไทยที่เกิดจากส่วนต่างๆของสมอไทย เช่น ใบ กิ่ง ที่ถูกแมลงเจาะและวางไข่ลงไป จากนั้นต้นสมอไทยแล้ววางไข่ ต้นสมอไทยจะสร้างสารและปุ่มหูดห่อหุ้มไข่ของแมลงเหล่านั้นไว้ เมื่อแห้งจะมีลักษณะเป็นตุ่มปูดขึ้นมา ส่วนถิ่นกำเนิดของสมอไทยนั้นสามารถเข้าไปอ่านได้ที่บทความ “สมอไทย”
ประโยชน์และสรรพคุณโกฐพุงปลา
- แก้บิดมูกเลือด
- ช่วยคุมธาตุ
- แก้ไข้จากลำไส้อักเสบ
- แก้ไข้พิษ
- แก้พิษทำให้ร้อน
- แก้อาเจียน
- แก้เสมหะพิการ
- แก้เม็ดยอดภายใน
- ช่วยสมานแผล
- แก้ฝีภายใน
- แก้โรคอุจจาระธาตุลงอติสาร
- แก้ลงแดง
- แก้ไข้จับสั่น
- แก้หืดไอ
- แก้โรคในปอด
- แก้ลมในกองธาตุ
- ช่วยชูกำลัง
- ช่วยบำรุงโลหิต
- แก้ไข้เรื้อรัง
- แก้หอบ
- แก้สะอึก
- แก้โรคในปากคอ
- แก้ลมในกองธาตุ
- ช่วยบำรุงกระดูก
- แก้ไส้ด้วนไส้ลาม
- ช่วยขับระดูร้าย
- ช่วยรักษาระบบไหลเวียนโลหิต
- แก้ลมวิงเวียน
- แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น
- แก้คลื่นเหียน อาเจียน
- แก้ลมจุกแน่นในท้อง
- ใช้บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ
- อาการอุจจาระธาตุพิการ
- ใช้บรรเทาอาการปวดท้อง
- แก้อาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ
- แก้ไข้เปลี่ยนฤดู
ลักษณะทั่วไปโกฐพุงปลา
โกฐพุงปลามีลักษณะคล้ายกระเพาะปลาขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายถุงแบน กลวง ปากแคบคือมีคอคอดคล้ายมีขั้ว ก้นป่อง แบน ผิวสีน้ำตาลปนนวล บางตอนเรียบ บางตอนเป็นตะปุ่มตะป่ำ ส่วนที่เสมือนปลิ้นออกอาจมีสีแดงเรื่อ ผิวด้านนอกย่น สีน้ำตาล ผิวด้านในขรุขระสีดำ ความกว้างราว 1 -3 ซม. ขนาดความยาว 1.5-3 ซม. ความหนา 0.4-1.5 ซม.
การขยายพันธุ์โกฐพุงปลา
โกฐพุงปลาเป็นสมุนไพรและเครื่องยาที่ได้จากวิธีการป้องกันตัวโดยธรรมชาติของต้นสมอไทย ดังนั้นจึงไม่สามารถขยายพันธุ์โกฐพุงปลาได้ ส่วนการขยายพันธุ์สมอไทยสามารถเข้าไปอ่านได้ที่บทความ “สมอไทย”
องค์ประกอบทางเคมีโกฐพุงปลา
โกฐพุงปลามีสารที่เป็นองค์ประกอบทางเคมี ได้แก่ สารกลุ่ม tannins : เช่น chebulinic acid , gallic acid , tannic acid เป็นต้น
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของโกฐพุงปลา
ที่มา : Wikipedia
รูปแบบและวิธีใช้โกฐพุงปลา
การใช้โกฐพุงปลาเป็นยาเดี่ยวตามตำรายาโบราณ มักจะนำโกฐพุงปลาตากให้แห้งแล้วนำมาบด หรือต้มกับน้ำดื่มรักษาโรคต่างๆ แต่โดยมากแล้วมักจะนิยมนำมาเป็นส่วนผสมในตำรับยาต่างๆมากกว่า โดยแต่ละตำรับจะมีขนาดการใช้ต่างกันไป และในปัจจุบันตาม บัญชีจากสมุนไพรตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยาได้ระบุการใช้ ยาตำรับต่างๆ ที่มีโกฐพุงปลาเป็นส่วนประกอบดังนี้
ยาหอมเทพจิตร รูปแบบยาผง และยาเม็ด สูตรตำรับ ผงยา 366 กรัม ชนิดผง รับประทานครั้งละ 1-1.4 กรัม ละลายน้ำสุก เมื่อมีอาการ ทุก 3-4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง ชนิดเม็ด รับประทานครั้งละ 1-1.4 กรัม เมื่อมีอาการ ทุก 3-4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง
ยาหอมนวโกฐ รูปแบบ ยาผง ยาเม็ด สูตรตำรับ ผงยา 212 กรัม ชนิดผง รับลบประทานครั้งละ 1-2 กรัม ละลายน้ำกระสาย เมื่อมีอาการ ทุก 3-4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง ชนิดเม็ด รับประทานครั้งละ 1-2 กรัม ทุก 3-4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง
ยาธาตุบรรจบ รูปแบบยาแคปซูล ยาผง ยาลูกกลอน สูตรตำรับ ผงยา 104 กรัม ชนิดผง ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 กรัม ละลายน้ำกระสายยา วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ เด็กอายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ละลายน้ำกระสายยา วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารเมื่อมีอาการ ชนิดลูกกลอน และชนิดแคปซูล ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ เด็ก อายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการ
ยาประสะกานพลู รูปแบบยาแคปซูล ยาผง ยาเม็ด สูตรตำรับ ผงยา 250 กรัม ชนิดผง รับประทานครั้งละ 1 กรัม ละลายน้ำกระสายยา วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร เมื่อมีอากร ชนิดเม็ด และชนิดแคปซูล รับประทานครั้งละ 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร เมื่อมีอาการ
ยาจันทน์ลีลา ยาแคปซูล ยาผง ยาเม็ด สูตรตำรับ ผงยา 99 กรัม ชนิดผง ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1-2 กรัม ละลายน้ำสุก ทุก 3-4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ เด็กอายุ 6 -12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1 กรัม ละลายน้ำสุก ทุก 3-4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ ชนิดเม็ด และชนิดแคปซูล ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1-2 กรัม ทุก 3-4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ เด็ก อายุ 6 – 12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1 กรัม ทุก 3-4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งเม็ดสีเมลานินการศึกษาฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส ในการสร้างเม็ดสีเมลานินที่ทำให้ผิวคล้ำ ของสารสกัดน้ำจากโกฐพุงปลาโดยแยกสารสำคัญจากสารสกัดน้ำได้ 6 ชนิด คือ gallic acid, punicalagin, isoterchebulin, 1,3,6-tri-O-galloyl-β-D-glucopyranose, chebulagic acid และ chebulinic acid ผลการทดลองพบว่าสารทั้ง 6 ชนิด ออกฤทธิ์แรงในการจับอนุมูลอิสระ 2,2-diphenyl-1-picrylhydrazyl (DPPH) โดยออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน ค่า EC50 ของสาร 6, 3, 2, 4, 5, 1 เท่ากับ 0.94, 0.97, 1.00, 1.07, 3.54 และ 5.17 μmol ตามลำดับ ค่า EC50 ของสารมาตรฐาน α-tocopherol, butylated hydroxytoluene (BHT) และ ascorbic acid เท่ากับ 11.86, 17.83 และ 24.41 μmol ตามลำดับ ผลการยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินพบว่า สาร 5 และ 6 ในขนาด 500 μmol ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสได้เท่ากับ 28.8±0.41% และ 46.8±2.86% ตามลำดับ โดยออกฤทธิ์ได้น้อยกว่าสารมาตรฐาน arbutin (IC50 เท่ากับ 170.0 μmol) และ kojic acid (IC50 เท่ากับ 16.2 μmol) ซึ่งยับยั้งได้เท่ากับ 54.7±1.08% และ 66.4±0.22% ตามลำดับ จากการศึกษานี้แสดงว่าสารสกัดของโกฐพุงปลามีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ และสามารถยับยั้งการสร้างเม็ดสีได้
ฤทธิ์ชะลอวัย การศึกษาฤทธิ์ในการชะลอวัย (anti-aging) ในหลอดทดลอง โดยใช้สารสกัดพืช 15 ชนิด รวมทั้งสารสกัดของโกฐพุงปลา สกัดพืช 4 วิธี คือ hot aqueous processes (HW), cold aqueous processes (CW), hot methanol processes (HM) และ cold methanol processes (CM)และทำการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH โดยเปรียบเทียบกับวิตามินซี (ascorbic acid), วิตามินอี (α-tocopherol) และ BHT (butylated hydroxyl toluene), ฤทธิ์กระตุ้นการเจริญของเซลล์ fibroblast (ซึ่งทำหน้าที่สร้างคอลลาเจน องค์ประกอบสำคัญของผิวหนัง), ฤทธิ์ยับยั้ง gelatinase A (MMP-2)ในเซลล์ fibroblast ของผิวหนังมนุษย์ที่มีความชราในระยะเริ่มต้น ผลการทดลองพบว่าสารสกัดด้วยน้ำที่ไม่ผ่านความร้อน (CW) ของโกฐพุงปลา ขนาด 0.1mg/mL มีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระDPPH สูงที่สุด เท่ากับ 84.64%±2.22% ในขณะที่ ascorbic acid, α-tocopherol และ BHT มีค่า 96.50%±0.1%, 35.74%±0.2% และ 27.43%±0.1% ตามลำดับ นอกจากนี้สารสกัด CW ยังสามารถกระตุ้นการเจริญของเซลล์ fibroblast ได้ดีกว่าวิตามินซี โดยมีค่า stimulation index (SI) เท่ากับ 1.441 และ วิตามินซี SI เท่ากับ 1.21 และจากการทดลองยังพบว่าสารสกัดจากโกฐพุงปลาสามารถยับยั้ง MMP-2 ได้ดีกว่าวิตามินซี 1.37 เท่า ดังนั้นจากการทดลองนี้ จึงสรุปได้ว่าสารสกัดของโกฐพุงปลามีฤทธิ์ในการชะลอวัยของเซลล์ได้
การศึกษาทางพิษวิทยา
การทดสอบความเป็นพิษของสารสกัด petroleum ether, chloroform, ethanol และน้ำ ของโกฐพุงปลา ต่อไรทะเล (Brine shrimp : Artemia salina) ผลการทดลองพบว่า สารสกัดของ petroleum ether และ chloroformไม่เป็นพิษต่อไรทะเล ค่า LC50 เท่ากับ 4,356.76 และ 1,462.2 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ นอกจากนี้พบว่าสารสกัด ethanolมีความเป็นพิษต่อเซลล์สูง โดยมีค่า LC50 เท่ากับ 68.64 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร การตรวจสอบปริมาณของสาร phenolicและ flavonoids ของสารสกัดเอทานอล พบปริมาณสูงเท่ากับ 136±1.5 มิลลิกรัมของ gallic acid equivalent/g น้ำหนักแห้ง (dry weight) และ 113±1.6 มิลลิกรัมของ quercetin equivalent/g น้ำหนักแห้ง (dry weight)
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการใช้ตำรับยาต่างๆ ที่มีโกฐพุงปลาเป็นส่วนประกอบควรระมัดระวังในการใช้ในปริมาณที่ระบุไว้ในตำรับยาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ อีกทั้งในตำรับยาต่างๆ จะมีคำเตือนและข้อห้ามในการใช้แตกต่างกันไป ดังนั้นควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่น
ยาหอมเทพจิตร
- ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)
- ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ไตเนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้
- ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้
ยาหอมนวโกฐ
- ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีไข้
- ควรระวังในการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นนิ่ม (anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)
- ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้
ยาธาตุบรรจบ
- ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีไข้
- ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (anticoagulant)
- ควรระวังการใช้ยาต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้
ยาประสะกานพลู
- ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีไข้
- ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้
ยาจันทน์ลีลา
- ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก
- หากใช้ยาเป็นเวลานานเกิน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
เอกสารอ้างอิง
- ชยันต์ พิเชียรสุนทร และ วิเชียร จีรวงศ์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทยเล่ม 5 คณาเภสัช. พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2548. หน้า 110
- ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2555 ประกาศ ณ.วันที่ 21 สิงหาคม 2555 คัดจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม 130 ตอนพิเศษ วันที่ 23 มกราคม 2556
- โกฐพุงปลา.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ คณะวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudruy.com/main.php?action=viewpage&pid=31
- Manosroi A, Jantrawut P, Akihisa T, Manosroi W, Manosroi J. In vitro anti-aging activities of Terminalia chebula gall extract. Pharmaceutical Biology. 2010;48(4):469-481.
- Manosroi A, Jantrawut P, Akazawa H, Akihisa T, Manosroi J. Biological activities of phenolic compounds isolated from galls of Terminalia chebula Retz. (Combretaceae). Natural Product Research. 2010;24(20):1915-1926.
- Eshwarappa RSB, Ramachandra YL, Subaramaihha SR, Subbaiah SGP, Austin RS, Dhananjaya BL. In vivo Toxicity Studies on Gall Extracts of Terminalia chebula (Gaertn.) Retz. (Combretaceae). Pharmacogn Res. 2016;8:199-201.