ผักอีนูน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ผักอีนูน งานวิจัยและสรรพคุณ 15 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ผักอีนูน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักนางนูน, ผักอะนูน (ภาคกลาง), ผักสาบ (ภาคเหนือ, ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Adenia viridiflora Craib.
วงศ์ PASSIFLORACEAE


ถิ่นกำเนิดผักอีนูน

ผักอีนูน จัดเป็นพืชพื้นเมืองของไทย โดยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในบริเวณประเทศไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ซึ่งจะพบตามป่าเบญจพรรณ, ป่าเต็งรัง และป่าเต็งรังผสม สำหรับในประเทศไทยพบผักอีนูน ได้เกือบทั่วทุกภาคของประเทศยกเว้นภาคใต้ แต่จะพบได้มากในอุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร ลพบุรี และนครราชสีมา


ประโยชน์และสรรพคุณผักอีนูน

  1. บำรุงตับ
  2. บำรุงเลือด บำรุงเลือดในสตรีหลังคลอด
  3. แก้ท้องเสีย
  4. แก้ไข้
  5. ช่วยย่อยอาหาร
  6. แก้ปัสสาวะเป็นหนอง
  7. แก้ตานซาง
  8. แก้ไข้ออกตุ่ม
  9. แก้ไข้เหงื่อออก
  10. แก้วิงเวียน
  11. แก้น้ำลายเหนียว
  12. ช่วยเรียกน้ำย่อย
  13. ช่วยเจริญอาหาร
  14. แก้ไอ
  15. แก้เป็นลม

           มีการนำผักอีนูน มาใช้รับประทานมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว โดยมีการระบุว่า ใบอ่อน ดอก และผลอ่อน ให้รสหวานมัน อมขมนิดๆ ติดลิ้น และเป็นผักป่าที่หารับประทานได้ยาก ซึ่งจะใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือ ใช้ลวกให้สุกรับประทานกับน้ำพริก หรือ กินกับอาหารรสจัดต่างๆ หรือ นำยอดอ่อนมาปรุงเป็นแกงคั่ว แกงเลียง แกงส้ม แกงอ่อม แกงแค แกงเปรอะ ส่วนช่อดอก และผลอ่อนก็นิยมนำมาดองรับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริกได้อีกด้วย

           นอกจากนี้พรานป่ารู้จักผักอีนูนในชื่อว่า เครือน้ำ อีกด้วย เนื่องจากเถาผักอีนูนจะสะสมน้ำเอาไว้มาก เมื่อเวลาเดินป่า ขาดน้ำกิน ก็อาศัยตัดเถา หรือ เครือผักอีนูนรองกินน้ำที่หยดออกมาจากเถานั้นกินได้

ผักอีนูน

รูปแบบและขนาดวิธใช้

  • ใช้บำรุงตับ บำรุงเลือดหลังคลอด รสขมช่วยเรียกน้ำย่อย ช่วยย่อยอาหาร ช่วยเจริญอาหาร แก้ไข้ การแก้ท้องเสีย โดยนำยอดอ่อนใบอ่อน ผลอ่อน มารับประทาน โดยอาจจะนำไปลวกรับประทาน หรือ นำไปประกอบอาหารรับประทานก็ได้
  • ใช้บำรุงเลือด โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม 
  • ใช้แก้โรคปัสสาวะเป็นหนอง โดยนำรากผักอีนูน กับเถาผักฮ้วนหมู (กระทุงหมาบ้า) มาแช่น้ำ หรือ ต้มกับน้ำดื่ม  
  • ใช้แก้ตานซาง หรือ ร่างกายได้รับอาหารไม่สมดุล โดยนำส่วนของเครือ หรือ เถาผักอีนูนผสมกับเครือผักหวานบ้าน เครือดอกซ้อนน้อย (พุดซ้อน) และผลฝรั่งไส้มีขาวอย่างละเท่าๆ กันแช่น้ำใช้ดื่ม และอบ
  • ใช้แก้ไข้เหงื่อออก วิงเวียน น้ำลายเหนียว เป็นลม โดยนำรากผักอีนูน รากตะไคร้ รากถ่อน รากผักหวานบ้าน และรากย่านาง ฝนใส่น้ำข้างทาตามร่างกาย
  • ใช้แก้ไข้ออกตุ่ม แก้อาการไอ โดยใช้รากผักอีนูน เครือเขาแกบ  และรากกระดูกไก่ขาวฝนใส่น้ำรับประทาน


ลักษณะทั่วไปของผักอีนูน

ผักอีนูน จัดเป็นไม้เถาเลื้อยที่ชอบเลื่อยเกาะพาดพันต้นไม้อื่นๆ เถามีลักษณะกลม ผิวเรียบ สีเขียวเข้มแต่เมื่อมีมือเกาะตามข้อเถา เถาแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และเปลือกผิวจะขรุขระ และมีร่องเล็กๆ ตามเถาส่วนปลาย เถา หรือ บริเวณใกล้ยอดอ่อนจะเป็นสีม่วงแดง ส่วนราผักอีนูน มีทั้งรากแก้ว และรากฝอย อยู่ลึกไปในดินประมาณ 10-20 เซนติเมตร

           ใบผักอีนูน เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเยื้องสลับกันใบมีลักษณะรูปหัวใจ โคนใบเว้าลึกมาหาขั้วใบ ปลายใบแหลม แผ่นใบบางเรียบ มีสีเขียวเข้ม ขนาดใบกว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร เส้นกลางมีขนาดใหญ่ และมีเส้นแขนงใบแยกออกเป็นเส้นเล็กๆ 10-12 เส้น มีมือจับเป็นเส้นสีเขียวขนาดเล็กที่ซอกใบ ส่วนก้านใบสั้นและมีหูใบ 1 คู่

           ดอกผักอีนูน ออกเป็นช่อบริเวณซอกใบที่อยู่ปลายกิ่ง โดยในแต่ละช่อมีก้านดอกยาวประมาณ 3 เซนติเมตร และจะมีดอกย่อย 1-3 ดอก ดอกย่อยมีกลีบดอกสีเขียวที่โคน และสีเหลืองที่ปลายดอกจำนวน 5 กลีบ ขนาดกว้าง 1 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันปลายแยกเป็น 5 แฉก ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 4-5 อัน และมีเกสรตัวเมีสีเหลือง 1 อัน

           ผลผักอีนูน เป็นผลสดทรงกลม สีเขียว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-5 เซนติเมตร เมื่อผลแก่จะมีสีส้มและเมื่อแก่จัดจะมีสีดำ และจะแตกเป็น 3 แฉก ด้านในผลมีเมล็ดสีเทาขนาดกว้าง 0.5 เซนติเมตร ยาว 0.8 เซนติเมตร อยู่ประมาณ 5-21 เมล็ด

ผักอีนูน

ผักอีนูน

การขยายพันธุ์ผักอีนูน

ผักอีนูนสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และปักชำ แต่ในปัจจุบันพบว่าการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดจะมีอัตราการงอกต่ำจึงไม่นิยมทำวิธีที่เป็นที่นิยมมากที่สุด ในปัจจุบัน คือ การปักชำ และการตอนกิ่ง ซึ่งวิธีการปักชำเถาผักอีนูนนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการปักชำ ไม้เถาเลื้อยชนิดอื่นๆ ซึ่งได้กล่าวถึงมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ (เช่น สะค้าน) แต่ทั้งนี้ในการปักชำเถาผักอีนูน นั้น ต้องทำร้าน หรือ คาง ที่มีความสูงประมาณ 1.5 เมตร ด้วยเนื่องจากเมื่อเถาผักสาบพันขึ้นค้างแล้ว จะแตกกิ่งก้านสาขามาก โดยสาขาหนึ่งจะมีข้อปล้อง และตายอด ตาดอก ออกตามข้อเป็นจำนวนมาก เมื่อแตกยอดยาวก็สามารถเก็บยอดวิธีใช้กรรไกรตัด หรือ เด็ด จากนั้นก็จะแตกยอดใหม่ต่อไป


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของใบอ่อน ผลอ่อน และส่วนยอดของผักอีนูนระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดได้แก่ sinapic acid, ferulic acid, gallic acid, apigenin, ƿ-coumaric acid, naringenin และ caffeic acid เป็นต้น นอกจากนี้ส่วนที่กินได้ของผักอีนูน (ยอด, ใบ, ดอก, ผลอ่อน) ยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

           ผักอีนูนส่วนที่รับประทานได้ (ยอด, ใบ, ดอก, ผลอ่อน) (100 กรัม)

  • โปรตีน                       1.7               กรัม                 
  • แคลเซียม                 62               มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                   2.1              มิลลิกรัม
  • วิตามินเอ                   3800            หน่วยสากล
  • วิตามิซี                     54                มิลลิกรัม

โครงสร้างผักอีนูน

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของผักอีนูน

จากการศึกษาค้นคว้าพบว่ามีรายงานการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของผักอีนูน น้อยมาก จากที่ได้ค้นคว้ามามีเพียงการศึกษาวิจัยของไทยเพียงฉบับเดียวที่ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้

           สารสกัดน้ำผักอีนูน ของใบและยอดอ่อน มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์หลักที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน (lipese) เบาหวาน (α-glucosidase และ dipeptidyl peptidase-IV) ความดันโลหิตสูง (angiotensin-converting enzyme) และโรคอัลไซเมอร์ (cholinesterases and β-secretase)


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของผักอีนูน

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ผักอีนูน เป็นอาหาร น่าจะมีความปลอดภัยสูง แต่สำหรับการใช้ในรูปแบบสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกัน กับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมตามที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

เอกสารอ้างอิง ผักอีนูน
  1. กัญจนา ดีวิเศษ, จริญญา อาภาศรีทองกุล, ชัยพร กลิ่นจันทร์ และสุรีย์พร ลีลพนัง.(2548). ผักพื้นบ้านภาคกลาง. พิมพ์ครั้งที่ 2. บริษัท สามเจริญพาณิชย์ (กรุงเทพ) จำกัด : กรุงเทพมหานคร. 280 หน้า
  2. เรณู ขำเลิศ, อัศจรรย์ สุขธำรง, ปริญญา เทพณรงค์, ปิยะรัษฏ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ และพรชัย จุฑามาศ. (2561). การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ผักอีนูน. วารสารแก่นเกษตร ปีที่ 46 ฉบับที่ 1 (พิเศษ). หน้า 55
  3. ทักษิณอาชาคม. ผักสาบ.พืชกินได้ในป่าสะแกราช.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) หน้า 13-14.
  4. สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2542. ผักพื้นบ้านภาคกลาง 279 หน้า.
  5. ศูนย์ศึกษา และพัฒนาวนศาสตร์ชุมชนที่ 14 สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขานครสวรรค์กรมป่าไม้. (2553) รายงานการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่อง "ผักอีนูน" ผักเศรษฐกิจจากป่าชุมชน.
  6. เรณู ขำเลิศ. โครงการคนรักษ์ปลูกเลี้ยงเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังเก็บเกี่ยว ผักอีนูน (Adenia viridiflora Craib) เพื่อเข้าสู่ระบุเชิงพาณิชย์. รายงานการวิจัย ปีงบประมาณ 2561. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. 124 หน้า
  7. ผักอีนูน หรือ ผักสาบ ผักเศรษฐกิจตัวใหม่ รสหวานมันอมขม สรรพคุณ และวิธีปลูก. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  8. Polito, L: Bortolotti, M; Maiello,S.; Battelli, M.G.; Bolognesi , A. Plants producing ribosome-inactivativateing proteins in traditional medicine. Molecules 2016,21, 1560.
  9. Wannasaksri W, On-Nom N, Chupeerach C, Temviriyanukul P, Charoenkiatkul S, Suttisansanee U. In Vitro Phytotherapeutic Properties of Aqueous Extracted Adenia viridiflora Craib. towards Civilization Diseases. Molecules. 2021 Feb 18;26(4):1082