ผักแพว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ผักแพว งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ผักแพว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักไผ่ (ภาคเหนือ), พริกม่า, ผักแพ้ว (ภาคอีสาน), ผักไผ่น้ำ, ผักขาว, ผักแพวแดง (ภาคกลาง), จันทร์แดง (ภาคใต้, นครศรีธรรมราช), หอมจันทร์ (อยุธยา), จันทน์โฉม (โคราช)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Polygonum odoratum Lour.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Persicaria odorata (Lour.) Sojak
ชื่อสามัญ Vietnamese coriander, Vietnamese Mint
วงศ์ Polygonaceae

ถิ่นกำเนิดผักแพว

ผักแพวเป็นพืชเฉพาะถิ่น ซึ่งสามารถพบได้ในประเทศ เวียดนาม, พม่า, ลาว, ไทย เท่านั้น ดังนั้นจึงมีการสันนิษฐานถึงถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของผักแพวว่าน่าจะอยู่ในบริเวณประเทศเหล่านี้ สำหรับในประเทศเหล่านี้ สำหรับในประเทศไทยถือว่าผักแพวเป็นผักพื้นบ้านดั้งเดิม โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคอีสานจะนิยมนำไปรับประทาน หรือ ใช้เป็นสมุนไพร ปัจจุบันเริ่มมีการนิยมรับประทานในภาคอื่นๆ มากขึ้น ทั้งนี้ผักแพว สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยมักจะพบตามที่ชื้นแฉะ เช่น ริมฝั่งคลอง ริมน้ำ ทุ่งนา หรือ แอ่งน้ำต่างๆ ที่มีความชื้นสูง

ประโยชน์และสรรพคุณผักแพว 

  • ช่วยให้เจริญอาหาร
  • ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • ช่วยป้องกันโรคหัวใจ
  • แก้ลม
  • ช่วยทำให้เลือดลมในร่างกายเดินสะดวกมากขึ้น
  • แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • ช่วยลดอาการอักเสบ
  • ช่วยรักษาโรคหวัด
  • ช่วยรักษาโรคตับแข็ง
  • ช่วยขับเหงื่อ
  • แก้กลากเกลื้อน
  • แก้ผื่นคัน
  • รักษาโรคปอด
  • แก้เลือดดีขึ้น
  • แก้ปวดท้อง
  • ใช้แก้ริดสีดวง
  • ช่วยบำรุงประสาท
  • แก้อาการปวดบวมแดง
  • แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • แก้ปวดข้อกระดูก
  • รักษาหอบหืด
  • แก้ไอ

           ยอดอ่อน ใบ และลำต้นอ่อนของผักแพว ใช้ประกอบอาหาร ใช้รับประทานเป็นผักสด หรือ ใช้แกล้มกับอาหารที่มีรสจัด และใช้เป็นเครื่องเคียงของ อาหารเหนือ อาหารอีสาน อาหารเวียดนาม หรือ นำมาหั่นคลุกเป็นเครื่องปรุงสดประกอบอาหารประเภทลาบ หลู้ ก้อยกุ้งสด ข้าวยำ ฯลฯ นอกจากนี้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวล้านนายังนิยมเก็บยอดอ่อน และใบเป็นผักสด เป็นผักจิ้ม หรือ เครื่องเคียง หรือ ซอยใส่อาหารพร้อมกับใบสะระแหน่ ประเภทลาบ หลู้ทุกชนิด และยำต่างๆ ที่เป็นยำเนื้อสัตว์

ผักแพว

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ช่วยเจริญอาหาร ช่วยให้เลือดลมเดินดี ขับลมในกระเพาะอาหาร แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ลดการอักเสบ โดยการนำใบผักแพว มารับประทานเป็นผักสด หรือ ใช้เป็นเครื่องปรุงในการประกอบอาหาร หรือ จะใช้ใบมาตากแห้งแล้วชงดื่มแบบชาก็ได้ ช่วยบำรุงประสาท แก้ริดสีดวง แก้ปวดเมื่อยร่างกาย และขับกระดูก แก้ไอ แก้ปวดท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้กระเพาะอาการพิการ อุจาระพิการ โดยนำราผักแพวมาต้มกับน้ำดื่ม แก้กลากเกลื้อน ผื่นคัน โดยการนำใบผักแพว มาคั้นแล้วใช้ผสมกับเหล้าโรงทาบริเวณที่เป็น แก้อาการปวดบวมแดงจากแมลงสัตว์กันต่อย โดยการนำใบ และลำต้นมาบดแล้วประคบบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของผักแพว

ผักแพว จัดเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว สูง 20-35 เซนติเมตร ลำต้นทรงกลม เป็นข้อปล้องคล้ายต้นไผ่ ลำต้นมีทั้งส่วนที่เลื้อยไปตามพื้นดิน และจะมีรากออกตามข้อปล้องที่สัมผัสกับดิน และตั้งตรงชูขึ้นไปด้านบนทั้ง ลำต้นมีสีเขียวแกมสีน้ำตาลแดง ต้น และใบมีกลิ่นฉุนแรงเฉพาะตัว ใบผักแพวเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ แตกออกบริเวณข้อของลำต้น ซึ่งจะมีกาบที่ต่อกับก้านใบหุ้มเหนือบริเวณข้อ และมีขนหยาบๆ ขึ้นปกคลุม ก้านใบมีหูใบทั้ง 2 ข้าง และสั้นประมาณ 0.5-1 ซม. ใบเป็นรูปหอก ขอบใบเรียบ ปลายแหลม ฐานใบรูปล้ม ใบกว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 5-8 เซนติเมตร แผ่นใบด้านบน สีเขียว ที่ขอบใบมีสีแดง ลักษณะไปแบนเรียบไม่นูน หรือ เป็นสัน มีขนยาวละเอียดอ่อน ส่วนด้านล่าง มีลักษณะด้านบนไม่มีขน มีต่อมน้ำมันใส ดอกผักแพว ออกเป็นช่อยาวบริเวณส่วนยอดของลำต้นบริเวณซอกใบ ดอกมีขนาดเล็กมีจำนวนมาก กลีบดอกมี 5 กลีบ ดอกตูมมีสีม่วงแดง หลังจากบานจะมีสีขาวอมม่วง และเมื่อบานเต็มที่จะมีสีขาว ผลมีขนาดเล็ก รูปคล้ายสามเหลี่ยม ยาว 1.5 มิลลิเมตร ปลาย และท้ายเรียวแหลมทั้งสองด้าน ผิวเรียบ และเป็นมันแวว สีน้ำตาล มีเมล็ดจำนวนมาก

ผักแพว

การขยายพันธุ์ผักแพว

ผักแพว สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และการปักชำต้น แต่การใช้เมล็ดจะมีอัตราการงอกน้อย จึงนิยมขยายพันธุ์ด้วยการปักชำต้นมากกว่า โดยมีวิธีการดังนี้

           พรวนดิน และกำจัดวัชพืชออกให้หมด หลังจากนั้น ค่อยนำลำต้นที่เด็ดไว้มาทำการเร่งราก โดยใช้วิธีนำลำต้นผักแพวที่ตัดมาแช่น้ำ โดยแช่ในน้ำให้ท่วมลำต้นประมาณ 2-3 ข้อ ซึ่งแช่ไว้ประมาณ 3 วัน ลำต้นจะเริ่มแตกรากสีขาวออกบริเวณข้อหลังจากนั้นจึงนำปลูกลงต้นได้ สำหรับการปลูกจะต้องปลูกให้มีระยะห่างลำต้น 5-10 ซม. และหลังจากปลูกประมาณ 1 เดือน ผักแพว ที่ปลูกจะเริ่มแตกเหง้าเป็นลำต้นใหม่ และสามารถเริ่มเก็บยอดได้ประมาณเดือนที่ 3 ทั้งนี้ผักแพวเป็นพืชที่ชอบดินที่มีความชื้นสูง ดังนั้นจึงควรหมั่นรดน้ำให้ชุ่มเสมอ

องค์ประกอบทางเคมี

มีผลการศึกษาวิจัยพบว่าผักแพวมีสารออกฤทธิ์ที่ต้านอนุมูลอิสระมากมาย เช่น  quercetin, rutin, kaempferol, catechin และ isorhamnetin  นอกจากนี้ยังพบว่าผักแพวยังมีคุณค่าทางโภชนาการ คือ

           คุณค่าทางโภชนาการของผักแพว ( 100 กรัม )

  • พลังงาน 54 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 7.7 กรัม
  • ใยอาหาร 1.9 กรัม
  • ไขมัน 0.5 กรัม
  • โปรตีน 4.7 กรัม
  • วิตามินเอ 8,112 หน่วยสากล
  • วิตามินบี 1 0.05 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 0.59 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 1.7 มิลลิกรัม                                                                      
  • วิตามินซี 77 มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 79 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 2.9 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 272 มิลลิกรัม

โครงสร้างผักแพว

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของผักแพว

สรรพคุณทางยาของผักแพว มีผลการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของผักแพว ในต่างประเทศพบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยสารสกัดจากผักแพวมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเกิด lipid peroxidation และมีผลในการรักษาระดับของกลูตาไธโอนในร่างกายของสัตว์ทดลอง 

การศึกษาทางพิษวิทยาของผักแพว

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ไม่ควรรับประทานผักแพวมากจนเกินไปเพราะอาจจะทำให้เกิดอาการแสบร้อนภายในช่องปาก คอรวมถึงกระเพาะอาหาร อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดการระคายเคือง และแฟลในกระเพาะอาหาร
  2. ในการใช้ผักแพวเพื่อเป็นสมุนไพควรระมัดระวัง ในการใช้ควรใช้ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้ผักแพว เป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

 

เอกสารอ้างอิง ผักแพว
  1. กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, ผู้รวบรวม. (2548). ผักพื้นบ้านภาคเหนือ. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ บรรณาธิการ. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี: ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย.
  2. ยิ่งยง ไพสุขศานติวัฒนา. ผักไทย-ยาไทย คู่มือการปรุงอาหารจากผักพื้นบ้านไทย 2539. 77 หน้า
  3. ราชันย์ ภู่มา และ สมราน สุดดี. (บรรณาธิการ). (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557. กรุงเทพฯ: สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ และพันธุ์พืชกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. https://medthai.com/ผักแพว/
  4. ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง. (2550). กรุงเทพฯ: บริษัท ฟ้าอภัย จำกัด.
  5. นันทิยา สมภาร, จรัญญาพร เนาวบุตร, ศุภเกต แสนทวีสุข, อัจฉราพร แถวหมอ. การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดผักแพว ในหลอดทดลอง และในร่างกายของหนูแรท.นิพนธ์ต้นฉบับ.ธรรมศาสตร์เวชสาร ปีที่ 14.ฉบับที่ 1.มกราคม-มีนาคม 2557.หน้า 60-70  
  6. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม กองโภชนาการ กรมอนามัย. 2530. 48 หน้า
  7. รัตนา พรหมพิชัย. (2542). ไผ่, ผัก. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม 8, หน้า 4717). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
  8. ผักไผ่น้ำ,ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudrug.com/main.php?action=viewpage&pid=239
  9. ผักแพว สรรพคุณ และการปลูกผักแพว. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  10. . Pannangpetch P, Jaruchotikamol A, Kukongviriyapan V, Kongyingyoes B, Yutanaviboonchai W. Lipid peroxidation- inhibiting and glutathione maintaining activities of Polygonum odoratum lour. The 4th International Congress of Pathophysiology; 2002; Budapest, Hungary
  11. Nanasombat S, Teckchuen N. Antimicrobial, antioxidant and anticancer activities of Thai local vegetables. JMPR 2009;3:443-9.