พนมสวรรค์ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

พนมสวรรค์ งานวิจัยและสรรพคุณ 30 ข้อ


ชื่อสมุนไพร พนมสวรรค์
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น นมสวรรค์, ปรางมาลี (ภาคกลาง), สาวสวรรค์, ฉัตรฟ้า, เข็มฉัตร, พวงพีเหลือง (ภาคอีสาน), ปิ้งแดง (ภาคเหนือ), นมหวัน (ภาคใต้), หัวลิง (สระบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Clerodendrum paniculatum Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clerodendrum pyramidale
ชื่อสามัญ Pagoda flower, Pagoda plant
วงศ์ LAMIACEAE


ถิ่นกำเนิดพนมสวรรค์

พนมสวรรค์ จัดเป็นไม้พุ่มที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย โดยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศจีน มาเลเซีย ไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา และฟิลิปปินส์ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วภาคของประเทศบริเวณชายป่า หรือ ตามที่รกร้างว่างเปล่าทั้งไป แต่ในปัจจุบันสามารถพบได้ตามสถานที่ทั่วไป เช่น ตามบ้านเรือน หรือ ตามอาคารสถานที่ต่างๆ เนื่องจากนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ

ประโยชน์และสรรพคุณพนมสวรรค์

  • แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย (ตะขาบ, แมลงป่องต่อย)
  • แก้ฝีภายใน
  • ใช้แก้ลมในทรวงอก
  • แก้ทรวงอกอักเสบ
  • แก้ลูกหนูใต้รักแร้ ( ต่อมไขมันใต้รักแร้อักเสบ)
  • รักษาอาการแน่นหน้าอก
  • แก้ไข่ดันบวม (เจ็บปวดบริเวณที่ต่อมน้ำเหลืองบวม)
  • แก้พิษฝีดาษ
  • แก้โรคปวดข้อ และปวดประสาท
  • แก้ไข้มาลาเรีย
  • แก้ไข้เหนือ
  • ช่วยขับลม (ขับลมให้ซ่านออกมาทั่วร่าง)
  • แก้วัณโรค
  • แก้ไข้เพื่อโลหิต (อาการไข้ และมีถ่ายเหลว อาเจียนเป็นเลือด มีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง)
  • ใช้เป็นยาถ่าย
  • แก้โลหิตในท้อง
  • แก้พิษฝีกาฬ
  • ช่วยขับเสมหะ
  • แก้ตกเลือด
  • แก้พิษที่เกิดจากการติดเชื้อ
  • แก้พิษ
  • ช่วยบลดไขมันในเส้นเลือด
  • แก้อักเสบ
  • แก้พิษฝีฝักบัว
  • ใช้ทำให้อาเจียน
  • แก้ปวดท้อง
  • แก้ไข้
  • ช่วยขับน้ำคาวปลาของสตรี
  • ช่วยบำรุงน้ำนม
  • ใช่แก้ประดงลม ประดงไฟ

           มีการนำพนมสวรรค์มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ หลายประเภท เช่น ยอดอ่อน และใบอ่อนสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้ เช่น การทำแกงแค หรือ ใช้รองก้นกระทงสำหรับห่อหมก โดยจะช่วยให้มีรสชาติหวานยิ่งขึ้น ส่วนผลของพนมสวรรค์ ยังสามารถนำมาเป็นสีย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีม่วงแดง นอกจากนี้ในปัจจุบันยังนิยมนำพนมสวรรค์มาเพาะปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับกันมากขึ้น เนื่องจากดอกมีสีและรูปทรงที่สวยงาม

นพมสวรรค์

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้ไข้ แก้ไข้มาลาเรีย แก้ไข้เหนือ แก้ไข้เพื่อโลหิต (มีอาการใช้ และถ่ายเหลว อาเจียนเป็นเลือด และมีผื่นขึ้นบริเวณผิวหนัง) แก้วัณโรค ขับเสมหะ แก้อาการปวดท้อง ขับลมให้ซ่านออกมาทั่วร่างกาย แก้โลหิตในท้อง ใช้เป็นยาถ่าย ช่วยขับน้ำคาวปลาของสตรี โดยนำรากมาฝนกับน้ำ หรือ ใช้ต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้ทำให้อาเจียน (ในกรณีที่ผู้ป่วยได้กินสารพิษและต้องการขับสารพิษออก) โดยนำรากสดพนมสวรรค์ มากินครั้งละมากกว่า 2 กรัม
  • ใช้แก้พิษฝีกาฬ แก้โลหิตในท้อง แก้ตกเลือด ลดไขมันในเส้นเลือด โดยการนำดอกแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ชงแบบชาดื่มก็ได้
  • ใช้รักษาอาการแน่นอน แก้ลมในทรวงอก แก้ทรวงอกอักเสบ แก้ไข้ดันบวม แก้พิษฝีดาษ แก้ปวดข้อ ปวดประสาท แก้ลูกหนูใต้รักแร้ โดยนำใบสดมาตำพอกบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย โดยใช้ดอกและลำต้นมาตำพอกบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้ฝี แก้ประดงลม ประดงไฟ โดยใช้รากสดมาฝนทาบริเวณที่มีอาการ ใช้แก้ไข้ แก้ปวดท้อง โดยใช้รากมาฝนกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงน้ำนม ขับน้ำคาวปลาในสตรีหลังคลอด โดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม

ลักษณะทั่วไปของพนมสวรรค์

พนมสวรรค์ จัดเป็นไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง สูงได้ถึง 0.5-4 เมตร เปลือกต้นเป็นเหลี่ยม 4 เหลี่ยมเป็นข้อๆ ผิวเรียบ สีน้ำตาลแกมเขียวใบมีกิ่งก้าน ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบมีลักษณะเป็นฝ่ามือรูปไข่กว้าง หรือ รูปไข่เกือบกลม กว้าง 7-38 เซนติเมตร ยาว 4-40 เซนติเมตร โคนใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแฉกแหลม ขอบใบหยักเว้าลึกเป็นแฉก 3-7 แฉก และจักรเป็นฟันเลื่อย หลังใบเรียบมีสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบมีสีอ่อนกว่าและมีขนสากระคายมือ ผิวใบมีขนและต่อมกระจายอยู่ทั้ง 2 ด้าน มีก้านใบยาวประมาณ 3-15 เซนติเมตร ดอกช่อแบบแยกแขนงขนาดใหญ่ออกบริเวณปลายยอด ก้านช่อเป็นเหลี่ยม ลักษณะช่อดอกเป็นชั้นคล้ายฉัตร หรือ รูปไข่ โดยมีขนาดช่อดอก กว้าง 20-30 เซนติเมตร ยาว 30-35 เซนติเมตร กลีบดอกสมมาตรด้านข้าง มี 5 กลีบ มีขนกระจายด้านนอก ส่วนกลีบดอกรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาว 0.7-1.4 ซม. กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ยาว 1.5-2 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 5 แฉก ขนาดไม่เท่ากัน เกสรเพศผู้มี ยาวโค้งพ้นปากหลอดกลีบดอก 4 อัน สั้น 2 อัน ยาว 2 อัน อับเรณูรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร เกสรเพศเมีย มีรังไข่เหนือวงกลีบ รังไข่ทรงรีเกือบกลม ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ผิวเกลี้ยง ผลมีลักษณะทรงกลม ขนาดเล็ก ผลผนังชั้นในแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-9 เซนติเมตร มี 2-4 พู ผลดิบสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินแกมเขียว หรือ สีดำ และในผลมีเมล็ดลักษณะแข็ง 1 เมล็ด

นพมสวรรค์

นพมสวรรค์

การขยายพันธุ์พนมสวรรค์

พนมสวรรค์ จัดเป็นไม้พุ่มที่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกพนมสวรรค์นั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปลูกไม้พุ่มทั่วไป ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมี จากสารสกัดพนมสวรรค์ จากส่วนต่างๆ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่นสารสกัดจากรากพบสาร Quercetin, β-sitosterol, lupeol, oleanolic aldehyde acetate, (22E)-stigmasta-4,22,25-trien-3-one, stigmasta-4,25-dien-3-one, (3β)- stigmasta-4,22,25-trien-3-ol ส่วนสารสกัดจากใบพบสาร Rutin and quercetin และ Poriferasta-5.22E.25-trien-3β-ol เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารสกัดเอทานอลจากทั้งต้นของพนมสวรรค์ ยังพบสาร β-sitosterol, γ-sitosterol, octacosnol, clerosterol, bungein A อีกด้วย acetoside, betulinic acid, poriferasterol, clerosterol 3-O-β -D-glucopyranoside, colebrin A-E, campesterol, 4α-methyl-sterol, cholesta-5-22-25-trien-3-β-ol, 24-β-cholesta-5-22-25-trine, cholestanol, 24-methyl-22-dihydrocholestanol, 24-β-22-25-bis-dehydrocholesterol, 24-αmethyl-22-dehydro-cholesterol, 24-β-methyl-22-dehydrocholesterol, 24-ethyl-22- dehydrocholesterol, 24-ethylcholesterol, 22-dehydro-clerosterol, 24-methyllathosterol, 24-βethyl-25-dehydro-lathosterol

โครงสร้างพนมสวรรค์

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของพนมสวรรค์

มีรายงานผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของพนมสวรรค์ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการ อาทิเช่น สารสกัดแอลกอฮอล์จากรากของพนมสวรรค์ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สารสกัดเอทานอลจากส่วนรากมีฤทธิ์ ต้านมะเร็ง สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ คลอโรฟิรัล เอทิลอะซิเตท และแอลกอฮอล์ จากส่วนใบของพนมสวรรค์มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ สารสกัดเมทานอลจากส่วนใบของพนมสวรรค์ มีฤทธิ์ลดไขมันในเลือด และสารสกัดคลอโรฟอร์ จากส่วนรากของพนมสวรรค์มีฤทธิ์ถ่ายพยาธิ เป็นต้น


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของพนมสวรรค์

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของราก และเหง้าของพนมสวรรค์ ระบุว่า มีความเป็นพิษต่อตับและอาจก่อให้เกอดมะเร็งตับได้ หากได้รับในปริมาณที่มากและต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ส่วนต่างๆ ของพนมสวรรค์เป็นยาสมุนพรควรระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร นิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสม ตามที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ รวมถึงไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง พนมสวรรค์
  1. นมสวรรค์. พืชกินได้ในป่าสะแกราช. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) หน้า 167-168
  2. ศรัญญา จุฬารี และคณะ. สมุนไพรและการนำไปใช้ : กรณีศึกษาพื้นที่รอบเขื่อนน้ำพุง จังหวัดสกลนคร. รายงานผลการศึกษา. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี 2557. หน้า 84
  3. พนมสวรรค์, ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=42
  4. Shrivastava N, Patel T. Clerodendrum and heathcare: An overview. Med Aromat Plant Sci Biotechnol, 2007; 1: 142-50
  5. Jeenu Joseph, Bindhu A R, Aleykutty N A. In vitro and Invivo anti-inflammatory activity of Clerodendrum paniculatum Linn. leaves. Ind J Pharm Sci., 2013; 75(3): 376-379
  6. Krishnan DR, Vijayakumar M, Varma SR, Ilavarasu A, Dhanabal SP, In vitro anti-skin ageing benefits of Clerodendrum paniculatum leaf extracts, World J Pharm Res, 2017; 6(7):1645-1657.
  7. Praveen M et al. In vitro anthelmintic activity of Clerodendrum paniculatum Linn leaves. Res. J Pharm. Biol. And Chem. Sci., 2013; 4(2): 321-325.
  8. Chander PM, Kartick C, Vijayachari P, Herbal medicine and healthcare practices among Nicobarese of Nancowry group of Islands – an indigenous tribe of Andaman and Nicobar Islands, Indian J Med Res, 2015; 141:720-744.
  9. Arun P V, Sachin S, Suganya Devi P. antioxidant potential of Clerodendrum paniculatum. Journal of pharmacy research, 2011; 4(6): 1796-1799.
  10. . Shajiselvin C D, Rakhi A R. evaluation of hypolipidemic effect of various extracts of whole plant of Clerodendrum paniculatum in rat fed with high fat diet. Eur. J Biomed Pharm. Sci., 2014; 1(1): 87-96
  11.  Leena PN, Aleykutty NA, Isolation and spectral identification of quercetin from the alcoholic root extract of Clerodendrum paniculatum Linn, Int J Pharma Sci Res, 2016; 7(1):47-50.