ฝีนต้น ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ฝิ่นต้น งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ฝิ่นต้น
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะหุ่งแดง, ว่านนพเก้า (ภาคเหนือ), ทิงเจอร์ต้น, มะลอกะฝรั่ง (ภาคกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Jatropha multifida Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Adenoropium multifidum (L.) Pohl, Jatropha janipha Blanco, Manihot multifida
ชื่อสามัญ Coral bush, Coral plant
วงศ์ EUPHORBIACEAE
ถิ่นกำเนิดฝิ่นต้น
ฝิ่นต้น เป็นพืชในวงศ์ยางพารา (EUPHURBIACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยเชื่อกันว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา เนปาล พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงทางตอนใต้ของจีน เป็นต้น แต่ในปัจจุบันสามารถพบได้ในเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยสามารเห็นได้ในทั่วไปของภูมิภาค
ประโยชน์และสรรพคุณฝิ่นต้น
- แก้ลม
- แก้โลหิต
- แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- แก้ปวดเส้นเอ็น
- แก้ท้องร่วง
- แก้บิดปวดเบ่ง
- แก้อาเจียน
- แก้ลงแดง
- ช่วยย่อยอาหาร
- แก้โรคลำไส้
- เป็นยาถ่าย กำจัดพยาธิผิวหนัง
- แก้เหา
- ใช้สมานแผล
- ช่วยคุมธาตุ
- บำรุงกำลัง
- แก้ท้องเดิน
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้แก้โรคลำไส้ ช่วยย่อยอาหารโดยการใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้คุมธาตุ แก้ปวดเส้นเอ็น ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้ลมและโลหิต แก้บิดปวดเบ่ง แก้ท้องร่วง ลงแดง แก้อาเจียน โดยใช้เปลือกฝิ่นต้น ต้นตากให้แห้งแล้วนำมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาถ่าย โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้สมานแผล แผลปากเปื่อยโดยใช้ยามาทาบริเวณที่เป็น (แต่อาจทำให้เกิดอาการแพ้บวมแดงได้ในบางราย)
ลักษณะทั่วไปฝิ่นต้น
ฝิ่นต้น จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลักษณะของลำต้นกึ่งอวบน้ำและมีรอยแผลใบรอบต้นคล้ายต้นมะละกอ แต่มีขนาดเล็กและเป็นแกนแข็งกว่า โดยลำต้นสามารถสูงได้ประมาณ 2-6 เมตร เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทา มียางสีในหรือออกขาวขุ่น ส่วนรากมีลักษณะเป็นหัว ใบออกเป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับ โดยมักเวียนถี่ตามปลายกิ่ง ลักษณะคล้ายรูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 15–35 เซนติเมตร ขอบใบเว้าลึกถึงกลางใบ คล้ายฝ่ามือ ขอบแผ่นใบเว้าเป็นพูลึกเข้าหาโคนใบ 9–12 พู พูตรงกลางใหญ่กว่าและยาวกว่าพูด้านข้าง พูรูปคล้ายใบหอกกว้างได้ถึง 8 เซนติเมตร ยาวได้ถึง 15 เซนติเมตร ขอบพูมีทั้งเรียบ หรือ จักลึกแบบขนนก ปลายพูแหลม โคนใบเว้าแหลมหรือเว้ารูปหัวใจ เส้นแขนงใบออกจากโคนใบไปหาปลายพู ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างมีนวล ก้านใบยาว 10–30 เซนติเมตร ติดกึ่งใต้แผ่นใบ หูใบเป็นแฉกเรียวเป็นง่ามคล้ายเส้นหลายแฉกยาว 1–2 เซนติเมตร ปลายแฉกมีขน ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อเชิงหลั่น และช่อดอกอาจยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร แบนแน่นติดกัน โดยจะออกดอกที่ปลายกิ่ง หรือ ตามซอกใบใกล้ๆ ยอด และมีก้านช่อดอกยาวได้ถึง 23 เซนติเมตร ส่วนดอกย่อยเป็นแบบแยกเพศรวมช่อ มีขนาดเล็กติดกันแน่น ลักษณะของดอกเพศผู้สีแดงคล้ำ กลีบเลี้ยงในดอกเพศผู้จะมี 5 กลีบ เป็นรูปไข่กลับกว้าง 1 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกแยกจากกัน เป็นรูปของขนานแกมรูปไข่กลับกว้าง 2-5 มิลลิเมตร ยาว 5-7 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้มี 8 อัน ส่วนดอกเพศเมียรูปร่างคล้ายดอกเพศผู้แต่มีขนาดใหญ่กว่า มีสีแดงสดกลีบดอกยาวได้ถึง 9 มิลลิเมตร รังไข่เหนือวงกลีบ มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1 เม็ดก้านเกสรเพศเมียมี 3 อัน ผล แบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมหรือรูปไข่กลับ มี 3 พู และผลมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5–3 เซนติเมตร สุกสีเหลือง ผลดิบสีเขียว เมล็ด รูปทรงรีแกมรูปไข่ ถึงเกือบกลม กว้าง 0.5–1.5 เซนติเมตร ยาว 1–2 เซนติเมตร
การขยายพันธุ์ฝิ่นต้น
ฝิ่นต้น สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด จากนั้นจึงนำต้นกล้าที่ได้ไปปลูกต่อไป โดยฝิ่นต้นจัดเป็นพันธุ์ไม้กลางแจ้งที่ของความชื้นปานกลาง และสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดฝิ่นต้นนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของฝิ่นต้น ระบุว่าพบสาระสำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ลำต้นประกอบด้วยสารกลุ่ม diterpenes เช่น multidione,multifidone, multifolone,(4E)-jatrogrossidone acetate นอกจากนี้ ยังพบสารกลุ่มอื่นๆ อีกเช่นสารกลุ่ม flavonoids, alkaloids, saponins, tannins, และhydrocyanic acid เป็นต้น ส่วนสารสกัดจากใบพบสาร vitexin และ isovitexin นอกจากนี้ในส่วนของเมล็ดและยางยังพบสารที่มีความเป็นพิษ คือ calcium oxalate อีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของฝิ่นต้น
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองด้วยวิธีทางเคมี ของสารสกัดที่ได้จากใบ และเปลือกฝิ่นต้น , และสารบริสุทธิ์กลุ่ม C-glycosyl flavone 2 ชนิด ที่แยกได้จากใบ ได้แก่ vitexin และ isovitexin โดยศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง ด้วยวิธีทางเคมี โดยใช้อนุมูลอิสระ DPPH (2,2-diphenyl-1-picrylhdrazyl) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตท และสารสกัดเอทานอล ที่ได้จากเปลือก, vitexin และ isovitexin สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ โดยมีค่าความเข้มข้นในการยับยั้งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 17.23, 40.57, 54.37 และ 87.27 µg/ml (p<0.05) ตามลำดับ สรุปได้ว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตทที่ได้จากเปลือกออกฤทธิ์สูงสุดในการจับอนุมูลอิสระ DPPH และยังมีการทดสอบสมบัติการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant capacity) ด้วยวิธี phosphomolybdenum spectrophotometric method โดยดูความสามารถในการรีดิวส์ phosphomolybdic acid เป็น phosphomolybdenum ในสภาวะกรด เกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อนสีเขียว (เป็นการวัดความสามารถในการรีดิวซ์สารประกอบเชิงซ้อนซึ่งเป็นความสามารถของสารต้านอนุมูลอิสระ) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดคลอโรฟอร์มที่ได้จากใบ และสารสกัดเอทิลอะซิเตตที่ได้จากเปลือก มีสมบัติในการรีดิวส์ ได้ 103.29 และ 86.18% ตามลำดับ ซึ่งแสดงถึงการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี
ฤทธิ์ต้านไวรัสอินฟลูเอนซา มีการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดด้วยน้ำ สารสกัดด้วยเอทานอล (ethanol) สารสกัดด้วยเฮกเซน (n-hexane) และ สารสกัดด้วยคลอโรฟอร์ม (chloroform) จากลำต้นของฝิ่นต้นในการต้านเชื้อไวรัสอินฟูเอ็นซาเอ (Influenza A, H1N1) ที่เจริญเติบโตในเซลล์ Madin-Darby canine kidney (MDCK) โดยจากการศึกษาพบว่า สารสกัดด้วยน้ำ เอทานอล และคลอโรฟอร์มมีฤทธิ์ยับยั้งการติดเชื้อไวรัสอินฟูเอ็นซาเอ ของเซลล์ MDCK โดยสารสกัดด้วยน้ำมีฤทธิ์แรงที่สุด และสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสอินฟูเอ็นซาเอนั้นสามารถถูกยับยั้งได้ด้วยสารสกัดด้วยเอทานอลเฮกเซนและคลอโรฟอร์ม
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีการทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียในหลอดทดลองของสารสกัดเฮกเซน, เอทิลอะซิเตท และเมทานอล จากเนื้อไม้, เปลือกไม้, เนื้อราก และเปลือกราก ของฝิ่นต้น ซึ่งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่นำมาทดสอบมีจำนวน 7 ชนิด ได้แก่ Gardnerella vaginalis, Neisseria gonorrhoeae, Escherichia coli, Proteus mirabilis, Pseudomonas aeruginosa, Staphylococcus aureus และ Candida albicans และตรวจสอบด้วยวิธี broth dilution method เพื่อหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งการเจริญของเชื้อ (MIC) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดที่ได้จากส่วนต่างๆ ของฝิ่นต้นสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ทุกชนิดที่ใช้ทดสอบ โดยมีค่า MIC ระหว่าง 0.78–12.5 µg/ml โดยสารสกัดที่ยับยั้งเชื้อ G. vaginalis และ N. gonorrhoeae ได้สูงสุดคือ สารสกัดเฮกเซนจากเปลือกต้น และ สารสกัดเฮกเซนจากเปลือกราก ตามลำดับ โดยมีค่า MIC เท่ากับ 1.56 และ 0.78 µg/ml ตามลำดับ สารสกัดที่ยับยั้งเชื้อ E. coli ได้สูงสุดคือ สารสกัดเฮกเซนจากเนื้อราก และสารสกัดเอทิลอะซิเตตจากเปลือกราก โดยมีค่า MIC เท่ากับ 1.56 µg/ml เท่ากัน สารสกัดที่ยับยั้งเชื้อ P. mirabilis ได้สูงสุดคือ สารสกัดเอทิลอะซิเตตจากเปลือกต้น และสารสกัดเมทานอลจากเปลือกต้น โดยมีค่า MIC เท่ากับ 1.56 µg/ml เท่ากัน สารสกัดที่ยับยั้งเชื้อ P. aeruginosa ได้สูงสุดคือ สารสกัดเมทานอลจากเนื้อไม้, เปลือกต้น, สารสกัดเฮกเซน และสารสกัดเอทิลอะซิเตต จากเนื้อราก ตามลำดับ โดยมีค่า MIC เท่ากับ 12.5 µg/ml เท่ากัน สารสกัดที่ยับยั้งเชื้อ S. aureus ได้สูงสุดคือ สารสกัดเอทิลอะซิเตต และเมทานอลของเนื้อราก, สารสกัดเฮกเซนของเปลือกราก โดยมีค่า MIC เท่ากับ 0.78 µg/ml เท่ากัน สารสกัดที่ยับยั้งเชื้อ C. albicans ได้สูงสุดคือ สารสกัดเฮกเซน และเอทิลอะซิเตต จากเนื้อราก, สารสกัดเมทานอลจากเปลือกราก ตามลำดับ โดยมีค่า MIC เท่ากับ 3.12 µg/ml เท่ากัน
ฤทธิ์ห้ามเลือด (hemostatic activity) มีการทดสอบความสามารถในการห้ามเลือดในหลอดทดลอง ของน้ำยางที่ได้จากฝิ่นต้น โดยทดสอบจากการวัดระยะเวลาที่ทำให้เลือดแข็งตัว (blood coagulation time) โดยใช้เลือดจากอาสาสมัครจำนวน 500 µl แต่ละหลอดทดสอบ เติมน้ำยางจำนวน 4 หลอด ปริมาณแต่ละหลอดเท่ากับ 10, 25, 50 และ 100 µl ตามลำดับ ทดสอบเป็นเวลา 1 นาที (ที่ 37°C) ผลการทดสอบพบว่าระยะเวลาที่ทำให้เลือดแข็งตัวเท่ากับ 240, 220, 225 และ 110 วินาที ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับหลอดที่ไม่ใส่น้ำยาง ใช้เวลาในการแข็งตัวของเลือดเท่ากับ 260 วินาที สรุปได้ว่าน้ำยางจากฝิ่น ต้นช่วยลดระยะเวลาที่ใช้ในการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดแข็งตัวได้เร็วขึ้น โดยขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำยางที่ใช้
อีกทั้งยังมีการหาปริมาณโปรตีนรวมในเลือด (Total protein of blood sample) เป็นการวัดปริมาณโปรตีนในเลือด ภายหลังการเติมน้ำยางที่ได้จากฝิ่นต้น เพื่อยืนยันว่ามีการตกตะกอนของพลาสมาโปรตีนในขบวนการแข็งตัวของเลือด ทำการทดสอบด้วยการเจือจางน้ำยางที่ได้จากฝิ่นต้นด้วยเซรั่มของมนุษย์ในระดับความเจือจาง 0-50% จากนั้นนำไปทดสอบหาปริมาณโปรตีน ด้วยวิธี biuret method ผลการทดสอบพบว่าน้ำยางทำให้ปริมาณโปรตีนลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p<0.05 โดยหลอดทดลองที่มีน้ำยางเจือจาง 15, 20, 25, 40 และ 50% มีปริมาณโปรตีนรวมเท่ากับ 52.28, 46.62, 25.62, 25.52 และ 25.58 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับหลอดควบคุม มีปริมาณโปรตีนรวมเท่ากับ 77.7 สรุปได้ว่าน้ำยางจากฝิ่นต้น ทำให้เกิดการตกตะกอนโปรตีนในเลือด ในขบวนการแข็งตัวของเลือดได้ และยังมีการทดสอบความสามารถในการตกตะกอนน้ำนม (test of milk precipitation) ของน้ำยางที่ได้จากฝิ่นต้น (เป็นการทดสอบการตกตะกอนโปรตีนของสารทดสอบกลุ่มแทนนิน หรือฟลาโวนอยด์บางชนิด ที่มีสมบัติฝาดสมาน (astringent) เนื่องจากขบวนการแข็งตัวของเลือด จะเกิดการตกตะกอนของโปรตีนในเลือด (plasma) ทำให้เลือดมีความหนืดข้น ลดการเคลื่อนที่ของเม็ดเลือดแดง ทำให้เลือดหยุดไหล วิธีทดสอบโดยเติมน้ำยาง ปริมาณ 1 ml และ นม 100 µl ทิ้งไว้ให้เกิดปฏิกิริยาเป็นเวลา 3 นาที ผลการทดสอบพบว่ามีการตกตะกอนโปรตีนภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 นาที
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาถึงประสิทธิผลของฝิ่นต้นในการแข็งตัวของเลือดและห้ามเลือดได้ในหนูปกติโดยศึกษาในหนูแรท Wistaralbino 14 ตัว ซึ่งครึ่งหนึ่ง เป็นหนูปกติอีกครึ่งหนึ่งเป็นหนูที่ได้รับยาวาร์ฟารินทางปาก ขนาด 2 mg/kg เป็นเวลา 4 วัน จากนั้นให้ยาสลบและยาชา แล้วทำการผ่าตัด 3 ชนิดได้แก่การผ่าตัดชั้นตื้น (superficialcuts) การผ่าตัดหลอดเลือดดำซาฟีนัส(saphenousvein)and การผ่าตัดหลอดเลือดดำที่ต้นขา (femoralvein) ที่ขาหลังของหนูทั้งสองข้างแล้วทายางของฝิ่นต้นที่ขาข้างหนึ่งที่ถูกผ่าตัด ส่วนอีกข้างหนึ่งทา 0.9% NaCl พบว่า ยางฝิ่นต้นลดระยะเวลาตั้งแต่เลือดไหลจนหยุด (Bleeding Times; TS) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในหนูปกติโดยการลด TS ไม่สัมพันธ์กับชนิดของการผ่าตัด โดยมีค่าการลดลงเป็น 39.06%, 46.68%และ 47.89% ส่วนในหนูที่ได้รับยาวาร์ฟาริน พบการลดลงของ TS เป็น 71.52%, 61.54% แล ะ66.44% ใน superficial cuts, saphenous vein and femoral vein ตามลำดับ ซึ่งจากการศึกษานี้พบว่ายางของฝิ่นต้นมีประสิทธิผลการยับยั้งการตกเลือดในหนูปกติและในหนูที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด
ส่วนการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาอื่นๆ นั้นยังมีรายงานระบุว่า สารสกัดเมทานอลจากเปลือกต้นของฝิ่นต้น มีฤทธิ์แรงในการต้านเชื้อราชนิด Cryptococcus neoformans, Candida krusei, C. tropicalis และ C. parapsilosis แต่มีฤทธิ์อ่อนต่อเชื้อ C. albicans และ C. glabreta และสาร multifidone มีพิษต่อเซลล์มะเร็งของมนุษย์หลายชนิด เช่น เซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว, เซลล์มะเร็งปอด (human lung carcinoma) และเซลล์มะเร็งเมลาโนมาชนิดร้ายแรง (human malignant melanoma) เป็นต้น
การศึกษาทางพิษวิทยา
มีการทดสอบความเป็นพิษในหลอดทดลองของสารสกัดที่ได้จากใบ และเปลือกฝิ่นต้นและสารบริสุทธิ์กลุ่ม C-glycosyl flavone 2 ชนิด ที่แยกได้จากใบ ได้แก่ vitexin และ isovitexin ตรวจสอบความเป็นพิษต่อไรทะเล (brine shrimps lethality test (BST) โดยใช้ควินิดีนซัลเฟต (quinidine sulfate) เป็นสารมาตรฐาน ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดคลอโรฟอร์มที่ได้จากเปลือก มีค่า LC50 (ความเข้มข้นที่ทำให้ไรทะเลตายครึ่งหนึ่ง) เท่ากับ 57.59 µg/ml ซึ่งใกล้เคียงกับควินิดีนซัลเฟต (LC50เท่ากับ 50.1 µg/ml) ส่วนสารสกัดที่ได้จากใบมีความเป็นพิษน้อยกว่าสารสกัดที่ได้จากเปลือก โดยค่า LC50 ของสารสกัดจากใบด้วยคลอโรฟอร์ม มีค่า LC50 เท่ากับ 252.96 µg/ml สำหรับ vitexin และ isovitexinไม่เป็นพิษต่อไรทะเล
นอกจากนี้ยังมีการทดสอบการแตกของเม็ดเลือดแดงในหลอดทดลอง ของสารสกัดเอทานอลที่ได้จากใบ และเปลือกฝิ่นต้น ด้วยวิธี blood agar plates method ใช้กระดาษกรองเป็นแผ่น disc สำหรับหยดสารทดสอบ โดยใช้สารสกัด 1,000 µg ต่อ disc เพื่อให้สารทดสอบซึมจากกระดาษลงไปยังเพลท หรือจานที่มีเม็ดเลือดแดงของแกะ แล้วบ่มเพาะที่ 36°C เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลที่ได้จากใบ และเปลือกฝิ่นต้น ไม่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
เมล็ดฝิ่นต้น มีพิษ หากกินเข้าไปจะทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน ปากบวมพอง เยื่อบุแก้ว ลิ้น และเพดานปากหนาบวม ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย กล้ามเนื้อชักกระตุก หายใจเร็ว การเต้นของหัวใจผิดปกติ ความดันต่ำ และหากกิน 3 เมล็ดขึ้นไป จะเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนน้ำยางก็มีพิษเช่นกันโดยเมื่อถูกผิวหนังจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง บวมแดงแสบร้อน
เอกสารอ้างอิง ฝิ่นต้น
- วุฒิ วุฒิธรรมเวช, ปรียากร วุฒิธรรมเวช, ธนศักดิ์ วุฒิธรรมเวช.คัมภีร์เภสัชรัตนโกสินทร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: บริษัทศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์ และการพิมพ์จำกัด; 2547. หน้า 553
- ฝิ่นต้น.คณะอนุกรมการจัดทำตำรายาอ้างอิงสมุนไพร ไทยในคณะกรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย.วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปีที่ 17.ฉบับที่ 1มกราคม-เมษายน 2562-หน้า 118-122
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ฝิ่นต้น ”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 520-521.
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2557. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ; 2557. หน้า 323
- เสงี่ยม พงษ์บุญรอด. ไม้เทศเมืองไทย. สรรพคุณของยาเทศและยาไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เกษมบรรณกิจ; 2514. หน้า 157
- สมาคมโรงเรียนแพทย์แผนโบราณในประเทศไทย สำนักวัดพระเชตุพนฯ. ประมวลสรรพคุณยาไทย (ภาคสอง) ว่าด้วยพฤกษชาติ วัตถุธาตุและ สัตว์วัตถุนานาชนิด. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์อำพลพิทยา; 2510. หน้า. 210-1
- ธงชัย สุขเศวยา,รัชนี จันทร์เกษ,ผกากรอง ขวัญข้าว,คอลัมน์วารสารสโมสร.วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกปีที่ 17.ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2562.หน้า 131-134
- สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.).ทรัพยากรพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 12 (1). พืชสมุนไพรและพืชพิษ เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 1. นนทบุรี: สหมิตรพริ้นติ้ง; 2546. หน้า 481-2.
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ฝิ่นต้น (Fin Ton)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 187.
- สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือฐานข้อมูลพืชพิษ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ศาสนา; 2545. หน้า 94.
- จารีย์ บันสิทธิ์. การศึกษาลักษณะพฤกษศาสตร์ของพืชพิษบางชนิด. ว กรมวิทย พ; 2537. หน้า 269-70
- ฝิ่นต้น.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicradedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=193
- Devappa RK, Makkar HPS, Becker K. Jatropha Diterpenes: a Review. J Am Oil Chem Soc. 2011;88:301-22.
- Harborne FRS JB, Baxter H, Moss GP. Phytochemical Dictionary. 2nd. ed. London:Talor & Frencis Ltd; 1999
- van Welzen PC, Chayamarit K. Euphorbiaceca. In: Santisuk T, Larsen K., editors. Flora of Thailand. Vol. 8, Pt 2. Bangkok: Prachon Co. Ltd; 2007. p. 287-8.
- Jean RK, Jean MA , Victorien D, Frédéric L, Karim D. Hemostatic Effect of Jatropha multifida L. (Euphorbiaceae) in Rats Having Coagulation Disorders. Journal of Applied Biology & Biotechnology. 2017;5(05):26-9
- Das B, Ravikanth B, Reddy KR, Thirupathi P, Raju TV, Sridhar B. Diterpenoids from Jatropha multifida. Phytochem. 2008;69:2639-41
- Hamza OJ, van den Bout-van den Beukel CJ, Matee MI, Moshi MJ, Mikx FH, Selemani HO, Mbwambo ZH, van der Ven AJ, Venweij PE. Antifungal activity of some Tanzanian plants used traditionally for the treatment of fungal infections. J Ethnopharmacol. 2006;108(1):124-32.
- Nwokocha LM, Blessing A, Agbagwa IO, Okoli BE. Comparative phytochemical screening of Jatropha L. species in the Niger Delta. Res J Phytochem. 2011;1-8
- Shoji M, Woo SY, Masuda A, Win NN, Ngwe H, Takahashi E, Kido H, Morita H, Ito T, Kuzuhara T. Anti-influenza virus activity of extracts from the stems of Jatropha multifida Linn. collected in Myanmar. BMC Complementary and Alternative Medicine. 2017;17:96.
- Backer CA, Bakhuizen van den Brink RC. Euphorbiaceae. Flora of Java. Vol. 1. Groningen (The Netherlands): Wolters- Noordhoff N.V. 1963. p. 494.