แคฝรั่ง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
แคฝรั่ง งานวิจัยและสรรพคุณ 6 ข้อ
ชื่อสมุนไพร แคฝรั่ง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น kakawate (ฟิลิปปินส์), Madre cacao (กัมเตมาลา), Madero negro (พิคารากัว), Cacahnanance (ฮอนดูรัส)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gliricidia sepium (Jacq.) Kunthex Walp.
ชื่อสามัญ Mata raton, Quick stick, Mother of cacao
วงศ์ LEGUMINOSAE
ถิ่นกำเนิดแคฝรั่ง
แคฝรั่ง จัดเป็นพืชในวงศ์ ถั่ว (LEGOMINOSAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในเขตร้อนของอเมริกากลาง บริเวณประเทศเมกซิโก คอสตาร์กา โคลัมเบีย และเวเนซุเอลา ต่อมาจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยเพิ่งมีการนำแคฝรั่ง เข้ามาปลูก เมื่อประมาณ 30-40 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นการนำเข้ามาปลูกเพื่อใช้เป็นไม้ดอกไม้ประดับ
ประโยชน์และสรรพคุณแคฝรั่ง
- รักษาโรคผิวหนัง
- แก้อาการคันทางผิวหนัง
- ใช้ใส่แผลสด
- ใช้ลดอาการปวดท้อง
- แก้อาการอักเสบของแผล
- แก้อาการทางตา
ในกัวเตมาลา คอสตาริกา และเวเนซุเอลา มีการใช้เปลือกและใบแคฝรั่งมาใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง ที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัวและแบคทีเรีย
ในประเทศไทยแคฝรั่ง ถูกนำมาปลูกในฐานนะไม้ดอกไม้ประดับ เนื่องจากแคฝรั่งจะออกดอกหลังผลัดใบจึงทำให้เห็นดอกที่เป็นสีขาวและชมพูสะพรั่งเต็มต้นงดงามเป็นพิเศษ ทั้งยังเป็นไม้ที่ปลูกง่ายในดินทุกชนิด ทนทานต่อโรคแมลงและดินฟ้าอากาศจึงนำไปปลูกเป็นไม้ประดับได้ทั่วไป นอกจากนี้ยังมีการนำดอกแคฝรั่งมาใช้กินเป็นผักได้เช่นเดียวกับดอกแคบ้าน และยังนิยมนำมาปลูกไว้ใช้เลี้ยงผึ้ง ซึ่งจะให้น้ำผึ้งปริมาณมากและคุณภาพดีมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวอีกด้วย
ส่วนในต่างประเทศนั้นในอเมริกากลางนิยมปลูกแคฝรั่งเป็นพี่เลี้ยงต้นโกโก้ ชื่อในภาษาอังกฤษ เนื่องจากแคฝรั่งเป็นพืชตระกูลถั่วสามารถเปลี่ยนอากาศเป็นปุ๋ยไนโตรเจน ให้ดิน จึงทำให้พืชที่ปลูกเจริญเติบโต อีกทั้งยังช่วยบังแดดบังลมรักษาความชุ่มชื้น ป้องกันโรค และแมลงได้อีกด้วย ส่วนในแอฟริกาก็มีการปลูกแคฝรั่งยกให้เป็นพืชบำรุงดิน ในฟาร์มเกษตร ในละติน อเมริกา ก็มีการใช้แคฝรั่ง ในกิจการปศุสัตว์ โดยนำใบแคฝรั่งมาใช้เป็นอาหารสัตว์และนำมาเป็นสมุนไพรไล่แมลงบนตัวสัตว์เลี้ยง
นอกจากนี้ยังมีการนำสารสกัดจากใบ ฝัก เมล็ด และราก ใช้เป็นยาเบื่อหนู เปลือกลำต้นแคฝรั่งและใบแคฝรั่งนำมาสกัด ใช้เป็นยากำจัดแมลงศัตรูพืชอีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้แก้อาการปวดท้อง โดยนำรากแคฝรั่ง มาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้ใส่แผลสดแก้อาการอักเสบ โดยนำใบแคฝรั่งมาบดจนละเอียด หรือ คั้นเอาแต่น้ำราด หรือ ทาบริเวณที่เป็นแผล
- ใช้แก้อาการทางตาโดยนำใบแคฝรั่งมาตากแห้งใช้ชงเป็นชาดื่มในตอนเช้า 1-2 สัปดาห์
- ในต่างประเทศใช้แก้อาการคันจากเชื้อแบคทีเรีย หรือ เชื้อโปรโตซัว โดยนำเปลือกและใบมาตำทา หรือ พอกบริเวณที่เป็น หรือ ใช้ส่วนเปลือกต้นแคฝรั่ง ขูดเอาเนื้อสกัดเป็นน้ำยางทาบริเวณที่เป็น หรือ จะนำมาใส่แผลสดให้แผลหายเร็วขึ้นและแก้อาการอักเสบก็ได้เช่นกัน
- ในฟิลิปปินส์มีการใช้ใบแคฝรั่งมาใส่แผล เพื่อให้แผลหายเร็วขึ้นและแก้อาการอักเสบของแผล อีกทั้งยังมีการนำใบมาชงเป็นชา
ลักษณะทั่วไปของแคฝรั่ง
แคฝรั่ง จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง ทรงพุ่มโปร่ง มีความสูง 3-15 เมตร ลำต้นตั้งตรง มีการแตกกิ่งก้านน้อย เปลือกลำต้นแตกเป็นสะเก็ดมีสีเทาอมขาว หรือ น้ำตาลอมเทา
ใบแคฝรั่ง เป็นใบประกอบออกรวมแบบขนนก โดยจะออกเป็นคู่เรียงตรงกันข้ามบริเวณกิ่งก้าน ซึ่งมีก้านใบหลักที่มีใบย่อย 11-15 ใบ ส่วนใบย่อยมีขนาดกว้าง 1-3 เซนติเมตร ยาว 3-6 เซนติเมตร โคนใบทู่ ปลายใบแหลมป้าน ขอบใบเรียบ แผ่นใบด้านบนมีสีเขี่ยวเข้ม ด้านหลังมีสีเขียวนวล แต่จะมีขนละเอียดขึ้นปกคลุมทั้งสองด้าน และมักพบจุดสีออกม่วงบริเวณกลางใบ
ดอกแคฝรั่ง ออกเป็นช่อใหญ่ บริเวณซอกใบขอบปลายกิ่ง หรือ ตามตากิ่งบริเวณลำต้น โดยในแต่ละช่อจะประกอบไปด้วย 5-10 ช่อย่อย ที่ยาว 5-12 เซนติเมตร และแต่ละช่อดอกย่อยประกอบด้วยดอกที่มีลักษณะคล้ายดอกถั่ว หรือ ดอกแคบ้าน ซึ่งลักษณะของดอกบริเวณใต้ดอกจะมีกลีบเลี้ยงสีเขียว รูประฆัง หรือ รูปถ้วย ส่วนกลีบดอกมีสีขาว หรือ สีชมพู ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 10 อัน เมื่อดอกแก่จะเปลี่ยนเป็นสีขาวอมน้ำตาล หรือ สีม่วงซีด
ผลแคฝรั่ง ออกเป็นฝัก รูปร่างแบนยาวสีเขียว มีความยาวของฝัก 10-15 เซนติเมตร โคนและปลายฝักแหลม เมื่อฝักแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและสีดำ พร้อมทั้งจะปริแตกออก 2 ด้าน ภายในฝักมีเมล็ดขนาดเล็ก รูปร่างกลม แบน 3-8 เมล็ด โดยเปลือกเมล็ดจะมีสีน้ำตาล ส่วนเนื้อเมล็ดมีสีขามอมเหลือง
การขยายพันธุ์แคฝรั่ง
แคฝรั่งสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ดและการปักชำโดยมีวิธีการดังนี้
เริ่มจากการคัดเมล็ดแคฝรั่งที่นำมาเพาะ ควรเลือกเมล็ดจากผลแก่ จัดและควรเก็บผลมาพักทิ้งไว้ 2-3 เดือน เพื่อให้เมล็ดมีการฟักตัว หลังจากนั้น นำเมล็ดมาแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน แล้วจึงนำลงถุงเพาะ หรือ แปลงเพาะ จากนั้นเมล็ดจะเริ่มงอกภายใน 7-10 วัน หลังจากต้นกล้าเติบโตได้ประมาณ 1 เดือน หรือ มีความสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร ก็สามารถนำลงหลุมปลูกได้ ส่วนการขยายพันธุ์ด้วยกิ่งปักชำ เริ่มจากตัดกิ่งแคฝรั่ง ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 นิ้ว ขึ้นไปโดยควรให้ตัดยาว 50-100 เซนติเมตร จากนั้นนำมาปักชำลงในกระถาง หรือ ปักชำลงหลุมปลูกได้โดยตรง ทั้งนี้การปักชำลงหลุมปลูก ให้ปักชำในแนวตั้งตรง เพราะเพื่อปักชำติดแล้วจะไม่มีการย้ายปลูกใหม่
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของแคฝรั่ง ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น gallic acid, protocatechuic acid, D-hidroxybenxoic acid, gentisic acid, vanillic acid, syringic acid, ferulic acid, sinapinic acid, myricetin และ coumarin เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของแคฝรั่ง
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดแคฝรั่ง จากส่วนกิ่ง ลำต้น และใบของแคฝรั่ง ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญต่างๆ ดังนี้
มีรายงานผลการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี DPPH และวิธี ABTS ในสารสกัดเฮกเซน, เอทิลอะซิเตต และเมทานอล จากกิ่งลำต้นและใบของแคฝรั่ง พบว่าสารสกัดเมทานอลของแคฝรั่งทุกส่วนแสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าสารสกัดเอทิลอะซีเตตและสารสกัดเฮกเซน โดยสารสกัดเมทานอลจากส่วนใบมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุด โดยมีค่า IC50 โดยวิธี DPPH และ ABTS เท่ากับ 0.0367 และ 0.2043 มก./มล. ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับสารมาตรฐานโทรอกซ์ซึ่งมีค่า IC50 เท่ากับ 0.0263และ0.0223 มก./มล. ตามลำดับ สำหรับการทดสอบฤทธิ์ต้าน เชื้อแบคทีเรีย พบว่าสารสกัดเอทิลอะซีเตต จากส่วนกิ่งและลำต้นแสดงฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ Bacillus cereus, Staphylococcus aureus และ Pseudomonas aeruginosa ได้ดีที่สุด แต่พบว่าสารสกัดทุกส่วนของแคฝรั่ง ไม่สามารถแสดงฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ Escherichia coli ได้ส่วนการทดสอบฤทธิ์ต้านอัลไซเมอร์ พบว่าสารสกัดทุกส่วนไม่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ acetylcholinesterase
นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยฉบับอื่นๆ ระบุว่าสารสกัดจากใบของแคฝรั่งยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ฤทธิ์ต้านนอักเสบ และฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำยุงก้นปล่อยได้อีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของแคฝรั่ง
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับสรรพคุณทางยา รูปแบบและขนาดวิธีการใช้ แคฝรั่งเพื่อเป็นยาสมุนไพรนั้นเป็นการใช้ในต่างประเทศ สำหรับในประเทศไทยยังไม่พบการใช้เป็นสมุนไพร ดังนั้นจึงยังไม่ควรใช้แคฝรั่ง เป็นสมุนไพร เนื่องจากขนาดและรูปแบบวิธีใช้ในประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดที่แน่นอน และยังไม่มีรายงานการศึกษาวิจัยที่รองรับซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
เอกสารอ้างอิง แคฝรั่ง
- ชูศรี ไตรสนธิ และปริทรรศน์ ไตรสนธิ 2547. พรรณไม้ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ .พิมพ์ครั้งที่ 1 หจก.นันทการต์กราฟฟิค การพิมพ์. เชียงใหม่.
- เดชา ศิริภัทร. แคฝรั่ง. ไม้ดอกสารพัดประโยชน์จากแดนไกล. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 323. มีนาคม 2549.
- แคฝรั่ง วัชพืชที่เป็นอาหาร ยา ไม้ประดับ คอลัมน์โครงการสมุนไพร เพื่อการพึ่งพาตนเอง. นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 5-11 มีนาคม 2564.
- ตฤณกร เกตุกุลพันธ์ และคณะ. องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพของแคฝรั่ง. วารสารจันทรเกษมสารปีที่ 18 ฉบับที่ 35. กรกฎาคม-ธันวาคม 2555. หน้า 13-21.
- แคฝรั่ง (Mata Raton) ประโยชน์และการปลูกแคฝรั่ง. พืชเกษตรดอทคอม. เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
- Mathew JJ, Vazhacharickal PJ, Sajeshkumar N, Sunil JJCJB. Larvicidal activity of Gliricidia sepium leaf extracts on mosquito larvae and its lethal effect on nontargeted organisms. 2015;4(2):13-9
- Herath, H. M. T. B. and S. Silva. (2000). New constituents from Gliricidia sepium.Fitoterapia 71, 722-724.
- Cherian T, Thambi MJTPI. Phytochemical investigation of the leaves of Gliricidia sepium and its antimicrobial properties. 2019;8(2).
- Rastrelli, L., I. Berger, W. Kubelka, A. Caceres, N. Tommast and F. Simone. (1999a). New 12a-hydroxyrotenoids from Gliricidia sepium bark.J. Nat. Prod. 62, 188-190
- Kumar KP, Naik VS, Chandra VB, Lavanya R, Narendra KJIJoP, Research P. Evaluation of in vitro and in vivo anti-inflammatory activity of aqueous extract of Gliricidia sepium flowers in rats. 2014;6:477-81.