กัญชาเทศ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
กัญชาเทศ งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ
ชื่อสมุนไพร กัญชาเทศ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ช้าซา, ส่าน้ำ (ภาคอีสาน), ผักหนอกช้าง (ภาคเหนือ), กัญชาจีน (ทั่วไป, ภาคกลาง), อี้หมูเฉ่า, เอี๊ยะบ่อเช่า (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Leonurus sibiricus Linn.
ชื่อสามัญ Lion’s tail, Motherworth, Honeyweed, Siberian motherworth, Greasy-bush
วงศ์ LAMIATEA
ถิ่นกำเนิดกัญชาเทศ
สำหรับถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของกัญชาเทศ ไม่พบว่าอยู่ที่ในแน่ชัด แต่มีรายงานว่าในอดีตพบได้ตั้งแต่แคว้นไซบีเรียของรัฐเซียลงมาจนถึงประเทศจีน ต่อมาจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณต่างๆ ของทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริการ สำหรับในประเทศไทยพบกัญชาเทศ ได้ตามหมู่บ้านชาวเขาในภาคเหนือรวมถึงตามชุมชนที่ราบสูงต่างๆ ในภาคอีสาน โดยมักพบบริเวณที่โล่ง และชุ่มชื้นริมแหล่งน้ำ ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 2,000 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณกัญชาเทศ
- ใช้ขับระดู
- แก้ประจำเดือนไม่ปกติ
- ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย
- ช่วยลดความดันโลหิต
- ช่วยรักษาแผลต่างๆ
- ใช้แก้ไข้
- แก้อาการปวดศีรษะ
- ช่วยขับลม
- ใช้บำรุงกำลัง
- ช่วยบำรุงหัวใจ
- ช่วยฟอกเลือด
- แก้ไข้มาลาเรีย
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้ปัสสาวะเป็นเลือด
- แก้ปวดประจำเดือน
- ช่วยขับน้ำคาวปลา
- แก้อาการปวดท้องหลังคลอดบุตร
- ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
- แก้บวมน้ำ
- รักษาไตอักเสบ
- แก้ปวดเมื่อย
- แก้ปวดศีรษะ
มีการนำยอดอ่อน และใบอ่อนใช้ในการทำอาหารเมนูต้มหมูบะช่อ และยังมีการนำกัญชาเทศ มาปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับทั่วไป ตามสถานที่ราชการ สวนสาธารณะ และตามวัดวาอารามต่างๆ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
กัญชาเทศตามตำรายาไทยและตำรายาพื้นบ้านได้ระบุถึงสรรพคุณเอาไว้ว่า เมล็ดมีรสหวาน ฉุน
- ใช้ขับน้ำเหลือง ขับระดู แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ลดความดันโลหิต โดยนำเมล็ดกัญชาเทศ มาทุบพอแตก ชงกินกับน้ำอุ่น ใช้แก้ปวดศีรษะ แก้ไข้ ขับลม โดยนำรากและใบ 10-20 มาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ ฟอกโลหิต ขับลม ขับน้ำเหลือเสีย ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ขับระดู แก้ปวดประจำเดือน ขับน้ำคาวปลา แก้อาการปวดท้องหลังคลอด ช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่หลังคลอด แก้บวมน้ำ แก้ไตอักเสบ แก้ปวดเมื่อย โดยนำทั้งต้นมาตากแดดให้แห้งใช้ 10-20 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้ไข้มาลาเรีย โดยนำกัญชาเทศ ทั้งต้น (ที่อยู่เหนือดิน) 3-4 กิ่ง ต้มกับน้ำ 3 ถ้วย ดื่มครั้งละ 1 ถ้วย วันละ 3 ครั้ง
- ส่วนในต่างประเทศมีรายงานว่า ในมาเลเซียใช้ใบพอกแก้ปวดศีรษะ ชวาใช้ทั้งต้นเป็นยาสำหรับสตรีหลังการคลอดบุตร ใบฟิลิปปินส์ใช้ใบต้มเป็นยาขับปัสสาวะ ในจีนและอินเดียใช้ทั้งต้นต้มน้ำดื่ม แก้ไข้
ลักษณะทั่วไปของกัญชาเทศ
กัญชาเทศ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุประมาณ 1-2 ปี มีความสูงของต้นประมาณ 30-180 เซนติเมตร ลักษณะลำต้นเป็นสี่เหลี่ยมตั้งตรงมีขนเล็กๆ ขึ้นปกคลุมตามลำต้น มักจะแตกกิ่งก้านสั้นๆ ไปด้านข้างเล็กน้อย
ใบกัญชาเทศ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ หรือ รูปสามเหลี่ยมปลายใบแหลม ขอบใบหยักเว้าลึกเข้าใกล้โคนใบ แผ่นใบบางเป็นริ้วยาวแคบ ด้านบนของใบมีขนขึ้นปกคลุมแต่จะมีขนมากกว่าใบล่างขนาดกว้าง 3-6 เซนติเมตร ยาว 5-8 เซนติเมตร และจะมีขนาดใหญ่กว่า ใบด้านบน ส่วนใบด้านบนเรียวแคบ กว้าง 0.5-2 เซนติเมตร ยาว 1.5-5 เซนติเมตร และมีก้านใบเรียว ยาว 2-6 เซนติเมตร
ดอกกัญชาเทศ ออกเป็นช่อคล้ายฉัตร โดยจะออกบริเวณปลายกิ่ง หรือ ง่ามใบ ใน 1 ช่อ ดอกจะมีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ซึ่งจะมีสีชมพูม่วง หรือ สีม่วงแดง ลักษณะดอกเป็นรูปปากเปิดยาว 1-1.5 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับปลายมน ด้านนอกมีขนขึ้นปกคลุม โคนกลีบติดกับเป็นหลอดยาวประมาณ 9-12 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ 4 อัน
ผลกัญชาเทศ เป็นผลแห้งแข็ง ไม่แตกลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม หรือ สามเหลี่ยม เมื่อสุกจะเป็นสีดำด้านในผลมีเมล็ดขนาดเล็กสีดำ
การขยายพันธุ์กัญชาเทศ
กัญชาเทศ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ดเช่นเดียวกันกับพืชในวงศ์กะเพรา (LAMIATAE) โดยกัญชาเทศเป็นพืชที่ทนต่อสภาวะอากาศแห้งแล้ง และหนาวเย็นได้ดี ชอบพื้นที่สูงอากาศเย็น และเป็นพืชที่ชอบแสงแดดทั้งวัน สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกกัญชาเทศ นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปลูกพืชล้มลุกชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของส่วนใบ ส่วนเหนือดิน และน้ำมันหอมระเหยจากใบกัญชาเทศ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์หลายชนิดอาทิเช่น ในใบพบสาร Leonurine, Leonurinine และ Leonuridine ส่วนเหนือดินพบสารกลุ่มแอลคาลอยด์ ได้แก่ Leonurine, Leoheterin, Leonurinine, Leuronurine, Cycloleonurinine, Preleoheterin, Prehispanolone และ Stachydrine เป็นต้น สำหรับน้ำมันหอมระเหยจากใบพบสารกลุ่มอัลคาลอยด์ เช่น leonurine, eonuride และ iridoids นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่ม flavonoids เช่น apigenin, quercetin และ rutin เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกัญชาเทศ
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนเหนือดินของกัญชาเทศ และน้ำต้มจากส่วนเหนือดินของกัญชาเทศ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้
ฤทธิ์ป้องกันภาวะสมองขาดเลือดมีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์ปกป้องสมองของสารในกลุ่มแอลคาลอยด์จากกัญชาเทศ (alkaloid extract from Leonurus heterophyllus; LHAE) โดยได้ทำการฉีดสาร LHAE เข้าทางช่องท้องของหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือด ด้วยวิธีผูกเส้นเลือดแดงที่เลี้ยงสมอง (middle cerebral artery occlusion) ในขนาด 3.6, 7.2 และ 14.4 มก./กก. พบว่า สารสกัด LHAE ในขนาด 7.2 และ 14.4 มก./กก. สามารถลดความผิดปกติภายในสมองรวมทั้งบริเวณที่เสียหายจากภาวะขาดเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีระดับเอนไซม์ myeloperoxidase ลดลงเมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัด LHAE ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวเป็นตัวบ่งชี้ภาวะอักเสบ และความเสื่อมของสมอง และสารสกัด LHAE ในขนาด 14.4 มก./กก. ยังสามารถลดระดับของ Nitric oxide ซึ่งเป็นสารที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อเกิดการอักเสบด้วย อีกทั้งกระบวนการตายของเซลล์สมอง (nerve fiber) ที่เกิดขึ้นยังลดลงเมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัด LHAE ทำให้สามารถสรุปได้ว่าสารสกัด LHAE อาจเป็นประโยชน์ในการป้องกันและรักษาภาวะสมองขาดเลือดได้
ส่วนสารสกัดแอลกอฮอล์และส่วนน้ำต้มของลำต้นกัญชาเทศ เมื่อนำมาป้อนและฉีดเข้าหลอดเลือดดำของกระต่ายพบว่ามดลูกของกระต่าย การบีบตัวแรงและถี่ขึ้น โดยน้ำต้มจากลำต้นกัญชาเทศมีประสิทธิภาพในการบีบตัวแรงกว่าสารสกัดแอลกอฮอล์ และยังพบว่าลักษณะการออกฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเพศหญิง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารสกัดของกัญชาเทศ (ไม่ระบุส่วน) ยังมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ยับยั้งการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ทำให้หลอดเลือดหดตัว ด้านการแข็งตัวของเลือดอีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกัญชาเทศ
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้กัญชาเทศ เป็นยาสมุนไพรโดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทานเนื่องจากมีสรรพคุณขับประจำเดือน และมีรายงานการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาระบุว่ามีฤทธิ์ในการบีบตัวของมดลูก ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ นอกจากนี้ผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่ายก็ไม่ควรใช้กัญชาเทศ เป็นสมุนไพรในรูปแบบการรับประทานเช่นกัน เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเลือดไหลไม่หยุดและอาจมีอาการแย่ลง
เอกสารอ้างอิง กัญชาเทศ
- ราชบัณฑิลยสถาน.หนังสืออนุกรมวิธานพืช อักษา ก พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน. 2547. 544 หน้า
- วุฒิ วุฒิธรรมเวช “กัญชาเทศ ” หนังสือสารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย.
- จารุพันธ์ ทองแถม, ม.ล.(2012). ร้อยพรรณพฤกษา พืชมหัศจรรย์โลกวิกฤติ. กรุงเทพฯ:เศรษฐศิลปะ.
- วิทยา บุญวรพัฒน์ "กัญชาเทศ" หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 64.
- ฤทธิ์ป้องกันภาวะสมองขาดเลือด ของสารสกัดจากกัญชาเทศในหนูแรท. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.