สาบเสือ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

สาบเสือ งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ

ชื่อสมุนไพร สาบเสือ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หมาหลง, ผักคราด, บ้านร้าง, ดงร้าง, หญ้าเสือหมอบ, ฝรั่งเหาะ, หญ้าพรงศิริไอศวรรย์ (ภาคกลาง), หญ้าเมืองวาย, หญ้าตง (ภาคเหนือ), หญ้าลืมเมือง, หญ้าเลาฮ้าง, หญ้าเหม็น, มุ่งกระต่าย (ภาคอีสาน), รำเคย, ยี่สุ่นเถื่อน, ต้นขี้ไก่ (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Chromolaena odorata (L.) R.M.King&H.Rob.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Eupatorium odoratum Linn., Eupatorium odoratum (L.f.) Koster.
ชื่อสามัญ Siam weed, Devi weed, Common floss flower, Bitter bush, Triffid
วงศ์ ASTERACEAE


ถิ่นกำเนิดสาบเสือ

สาบเสือจัดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในทวีปอเมริกากลาง จากนั้นได้แพร่กระจายไปทั่วทวีปอเมริกาตั้งแต่ทางตอนใต้ของฟลอริดาจนถึงพื้นที่ตอนเหนือของอาร์เจนตินา สำหรับในทวีปเอเชียสาบเสือถูกนำเข้ามาสู่ประเทศอินเดียโดยการปะปนของเมล็ดสาบเสือ ติดมากับเรือสินค้าประมาณปี ค.ศ.1840 จากนั้น จึงมีการแพร่กระจายสู่อ่าวเบงกอล พม่า และไทย จนในปัจจุบันมีการกระจายพันธุ์เป็นวงกว้างทั่วทั้งเขตร้อนของทวีปเอเชีย ส่วนในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณที่รกร้างว่างเปล่า และตามชายป่าต่างๆ


ประโยชน์และสรรพคุณสาบเสือ

  • ใช้แก้ผมหงอก ทำให้ผมดกดำ
  • ใช้กำจัดปลวก ไล่แมลง และฆ่าแมลง
  • แก้พิษน้ำเหลือง
  • ใช้ถอนพิษ
  • แก้อักเสบ
  • แก้ตาฟาง
  • แก้ตาแฉะ
  • แก้ริดสีดวงทวารหนัก
  • ใชรักษาแผลสดแผลเปื่อย
  • ช่วยสมานแผล
  • ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ
  • แก้บวม
  • แก้หนอง
  • แก้เจ็บคอ
  • แก้กระหายน้ำ
  • ใช้ชูกำลัง
  • แก้ไข้
  • แก้ร้อนใน
  • ใช้บำรุงหัวใจ
  • ใช้ห้ามเลือด
  • ใช้ชูกำลัง
  • แก้อ่อนเพลีย
  • แก้ปัสสาวะขัด

สาบเสือ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ แก้บวม โดยนำลำต้นสาบเสือ มาต้มกับน้ำดื่ม หรือ นำลำต้นสับตากแห้ง ชงดื่มเป็นชาก็ได้ ใช้ดูดหนอง แผลเรื้อรัง โดยใช้ลำต้นสดมาตำพอกบริเวณที่เป็น ใช้แก้เจ็บคอ ถอนพิษอักเสบ แก้พิษน้ำเหลือง แก้ตาฟาง แก้ตาแฉะ แก้ริดสีดวงทวารหนัก โดยนำใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ห้ามเลือด ทำให้เลือดแข็งตัว ใช้รักษาแผลสด แผลเปื่อย สมานแผล โดยนำในสดมาตำพอกบริเวณที่เป็น ใช้แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ใช้ชูกำลัง แก้อ่อนเพลีย ใช้บำรุงหัวใจ โดยนำดอกแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม มาตำแล้วใช้หมักผมเป็นประจำใช้แก้ผมหงอก ทำให้ผมดกดำ มาใช้ตำผสมกับน้ำฉีดกำจัดปลวก ไล่แมลง และฆ่าแมลง


ลักษณะทั่วไปของสาบเสือ

สาบเสือ จัดเป็นวัชพืชประเภทไม้ล้มลุก มีลำต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามากตั้งแต่ระดับต่ำจนดูเหมือนทรงพุ่ม กิ่งก้านและลำต้น ค่อนข้างเป็นเหลี่ยม เมื่อยังอ่อนมีสีเขียว แต่หากแก่จะมีสีน้ำตาล เปราะหักง่ายและปกคลุมไปด้วยขนนุ่มอ่อนๆ ใบ เป็นใบเดี่ยวตรงข้ามเป็นคู่บริเวณข้อกิ่ง หรือ ข้อลำต้น ใบมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมรูปหอก ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยห่างๆ  โคนใบสอบเป็นรูปลิ่มปลายใบ 3 เส้นแหลม มีเส้นใบมองเห็นได้ชัดเจน ใบด้านบนและด้านล่าง มีขนปกคลุม ใบมีสีเขียวสด กว้าง 1-2.5 นิ้ว ยาว 2-4 นิ้ว และมีก้านใบยาวประมาณ 1-2 นิ้ว ดอก ออกเป็นช่อกระจุกแบบซี่ร่ม บริเวณส่วนยอดของต้น ลักษณะของดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ บริเวณโคนกลีบดอก เชื่อมติดกันเป็นหลอด และตรงปลายจะแยกออกเป็น 5 กลีบ ใน 1 ช่อดอก จะมีช่อดอกย่อย 20-25 ดอก ดอกวงนอนเป็นเส้นสีน้ำเงินอมม่วงอ่อนๆ หรือ สีขาวม่วง และจะบานก่อนดอกวงใน ผล เป็นผลแห้งขนาดเล็ก มีรูปร่างคล้ายรูปห้าเหลี่ยม เรียวยาว ประมาณ 4-5 มิลลิเมตร มีสีน้ำตาล หรือ สีดำ และมีหนามแข็งบนเส้นของผล ส่วนปลายผลมีขนสีขาว เพื่อช่วยพยุงให้ปลิวตามลม

สาบเสือ

สาบเสือ

การขยายพันธุ์สาบเสือ

สาบเสือ จัดเป็นพืชรุกรานต่างถิ่นที่สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจาก เมล็ดมีจำนวนมาก และสามารถลอยตามแรงลม รวมถึงยังเป็นพืชที่ทนต่อทุกสภาพได้ดีทั้งภาวะแห้งแล้ง และน้ำท่วม ดังนั้นในปัจจุบันจึงยังไม่มีการนำมาเพาะปลูก แต่จะขยายพันธุ์ได้เองอย่างรวดเร็วในธรรมชาติ และสามารพพบได้มาก ตามธรรมชาติทั้งในที่รกร้างว่างเปล่าที่ราบ และเชิงเขา


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดสาบเสือ จากส่วนต่างๆ ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารสกัดจากใบสาบเสือ มีสารกลุ่ม glycosides, steroids, saponins, phenols, flavonoids, terpenoids และ tannin ในปริมาณมาก โดยมีรายงานการแยกสารต่างๆ จากสารสกัดจากใบสาบเสือ ได้แก่ himachalol,7-isopropyl-1,4-dimethyl-2- azulenol, androencecalinol, 2 -methoxy-6 -(1 -methoxy-2 -propenyl) naphthalene, phenyl derivatives, oxygenated sesquiterpenes, long-chainhydrocarbons, sesquiterpene hydrocarbons, oxygenated monoterpenes monoterpene hydrocarbonsbetasitosterol p-anisic acid isosa kuranetin odaratin tannin และ saponin เป็นต้น สารสกัดจากลำต้นสาบเสือ พบสาร eupatolflavone coumarin 1-eupatenebeta-amyrinlupeol และ salvigenin เป็นต้น ส่วนสารสกัดจากส่วนเหนือดินพบสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ คือ 5,7-dihtdroxy-6, 4’-dimcthoxyflavanone, 5-hydroxy-7, 4’-dimcthoxyflavanone, 5-hydroxy-6,7,4’-trimethoxyflavanone, 5,7,3’,4’-trimethoxyflavanone, 3,5,4’-trihydroxy-7-methoxyflavanone,5,7,3’-trihydroxy-5’-methoxyflavanone และ 3,5,7-trihydroxy-4’-methoxyflavanone นอกจากนี้ในน้ำมันหอมระเหยจากส่วนใบของสาบเสือพบว่ามีสาร alpha-pinene cadinene camphor limonene beta-caryophyllene และ cadinol อีกด้วย

โครงสร้างสาบเสือ

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสาบเสือ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของสาบเสือพบว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการ อาทิเช่น

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีรายงานผลการทดสอบฤทธิ์ในต้านการอักเสบของสารสกัด 70% เอทานอล และสารสำคัญที่พบในใบสาบเสือ ได้แก่ scutellarein tetramethyl ether, stigmasterol และ isosakuranetin ในเซลล์ macrophages RAW 264.7 ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยสารไลโปโพลีแซคคาไรด์ พบว่าสารสกัดที่ความเข้มข้น 684 มคก./มล. สาร scutellarein tetramethyl ether ความเข้มข้น 50 และ 100 ไมโครโมล และ stigmasterol ความเข้มข้น 50 ไมโครโมล มีผลต้านการอักเสบได้ โดยลดระดับและลดการแสดงออกของยีนของเอนไซม์ cyclooxygenase-2 (COX-2) และ inducible nitric oxide synthase (iNOS) ขณะที่สาร isosakuranetin ความเข้มข้น 50 ไมโครโมล ไม่มีผล สารสกัดและ scutellarein tetramethyl ether มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่ง prostaglandin E2 และไนตริกออกไซด์ ส่วน stigmasterol และ isosakuranetin สามารถยับยั้งการหลั่ง prostaglandin E2 ได้เช่นกัน แต่ไม่มีผลต่อไนตริกออกไซด์ นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดและ scutellarein tetramethyl ether มีฤทธิ์ยับยั้ง IκB kinase complex alpha/beta (IKKα/β) และ kappa-B-alpha (IκBβ) ใน Nuclear Factor-κB (NF-κB) pathway ทำให้มีผลยับยั้งการกระตุ้น NF-κB ซึ่งเป็นขั้นตอนการผลิตสารก่อการอักเสบ และสารสื่อกลางการอักเสบ จึงมีผลทำให้ลดการแสดงออกของ COX-2 และ iNOS และทำให้ลดการอักเสบ จากผลการทดสอบแสดงว่าสาร scutellarein tetramethyl ether คือ สาระสำคัญในใบสาบเสือที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้

           ลดน้ำตาลในเลือด และชะลอการเกิดต้อกระจก มีการศึกษาวิจัยในหนูแรทที่ถูกกระตุ้นให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocin พบว่าเมื่อป้อนสารสกัดเอทานอลจากใบสาบเสือ ขนาด 200 และ 400 มก./กก. วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 8 สัปดาห์ สามารถช่วยลดน้ำตาลและระดับไขมันในเลือด และช่วยปรับปรุงภาวะการทนต่อกลูโคส (glucose tolerance) และภาวะการตอบสนองต่ออินซูลิน (insulin tolerance) เพิ่มการสะสมไกลโคเจน และการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อ เพิ่มปริมาณอินซูลินและระดับคอเลสเตอรอล ชนิด HDL รวมทั้งยังช่วยลดภาวะ oxidative stress โดยเพิ่มการทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดจากใบสาบเสือ ยังสามารถช่วยลดอัตราการเกิดต้อกระจกและลดขอบเขตของต้อกระจกในหนูแรทที่เป็นเบาหวานได้อีกด้วย

           ฤทธิ์ห้ามเลือด มีรายงานการวิจัยฤทธิ์ห้ามเลือดของส่วนใบและสารสกัดจากส่วนใบระบุว่าใบสด สารสกัดน้ำ สารสกัด 70% เอทานอลจากใบสามารถห้ามเลือดได้ โดยสารดังกล่าวจะเข้าไปลด prothombin time 

           ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ  มีการศึกษาการออกฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ Staphylococcus aureus จากสารสกัดหยาบจากใบสาบเสือ พบว่าสารสกัดจากใบสาบเสือสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ได้โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางในการยับยั้ง (clear zone) เท่ากับ 17.5 มิลลิเมตร และยังมีการศึกษาสารที่มีอยู่ในสารสกัดใบสาบเสือ เพื่อใช้เป็นสารควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ โดยใช้สารละลาย คือ เมทิลแอลกอฮอร์เปรียบเทียบกับไดคลอไรมีเทนและน้ำ พบว่าสารที่สกัดจากเมทิลแอลกอฮอล์สามารถสกัดควบคุมจุลินทรีย์ได้ดี โดยสารมารถใช้ควบคุมเชื้อจุลินทรีย์ทำให้เกิดโรคในคนได้หลายชนิด คือ เชื้อ E.coli Klehsiella pneumoniae Staphylococcus aureus และ Pseudomonas aeruginosa


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสาบเสือ

มีรายงานการศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดเอทานอลจากใบสาบเสือในหนูเมาส์ พบว่า สารสกัดใบสาบเสือ ไม่มีความเป็นพิษพลัน โดยมีค่า LD50 มากกว่า 20 กรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ซึ่งความเข้มข้นของสารสกัดที่ทดสอบ (1-20 กรัมต่อน้ำหนักตัว (กิโลกรัม)) ซึ่งไม่ทำให้เกิดการตายของหนูทดลองแต่อย่างใด


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาด้านความเป็นพิษของสาบเสือจะระบุว่าไม่มีความเป็นพิษแต่อย่างไรก็ตาม ในการใช้ส่วนต่างๆ ของสาบเสือ ป็นยาสมุนไพร โดยเฉพาะการใช้รับประทานก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง สาบเสือ
  1. นันทวัน บุญยะประภัศร และอรนุช โชยชัยเจริญพร. 2543. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน.บริษัทประชาชนจำกัด. กรุงเทพฯ
  2. สมพร ภูติยานันต์. 2524. สมุนไพรใกล้ตัว ตอนที่ 2. กรุงเทพมหานคร: กรป.กลาง
  3. ฤทธิ์ต้านการอักเสบของสาบเสือ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล,
  4. สาลี ใจดี และคณะ. 2525. การใช้สมุนไพร. เล่ม 1-2. คณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย:บริษัทสารมวลชนจำกัด.
  5. ปนิศา นมัสการ, สุภาพร รัตนพลที,อนุชสรา คำต้น. การศึกษาเปรียบเทียบสารสกัดจากใบสาบเสือกับยาปฏิชีวนะในการยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย. รายงานการวิจัยวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญญบุรี. มีนาคม 2555. 61 หน้า
  6. เปรมฤดี มาสู่ และสินินาฏ พันธะชาต. 2546.การศึกษาการออกฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ Staphylococcus aureus จากสมุนไพร. สาขาวิชาสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันราชภัฏนครราชสีมา ,นครราชสีมา 127 หน้า
  7. ลัดดาวัลย์ บุณรัตนกรกิจ และถนอมจิต สุมาวิดา.2521.ชื่อสมุนไพรและประโยชน์.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย:แผนกวิชาเภสัชพฤกษศาสตร์.
  8. สาบเสือช่วยลดน้ำตาลในเลือดและชะลอการเกิดต้อกระจกในหนูที่เป็นเบาหวาน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  9. ชมภูนุช จันทร์ยิ้ม นันทิมา นันทจิตและอังคนา พรหมมา 1996 การใช้สารสกัดจากใบสาบเสือควบคุมเชื้อจุลินทรีย์ โรงเรียนพระหฤทัย เชียงใหม่
  10. ปริญญา มีบุญ, ปริณดา พงษ์เสวลักษณ์,ปาริฉัตร์ ประสงค์ดี, การพัฒนาและประเมินพลาสเตอร์ปิดแผลแบบเหลวที่มีสารสกัดใบสาบเสือ, โครงงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์, ปีการศึกษา 2563 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาบูรพา. 103 หน้า
  11. สาบเสือ ใบสาบเสือและสรรพคุณสาบเสือ. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  12. Chopra,R.N. 1956. Glossary of Indian Medicinal Plants New Delhi:Council of Scienyific & Industrial Research.
  13. Afolabi C. MA, Ibukun E. O., Dan-ologe I. A. Phytochemical constituents and antioxidants properties of extract from the leaves of Chromolaenaodorata. Sci ResEssays. 2007;2:191-4.
  14. Vijayaraghavan K. ASM, Maruthi R. Studies on phytochemical screening and antioxidant activity of Anti-diabetic and anti-cataract effects of Chromolaenaodrata Linn., in streptozotocin-induced diabetic rats. Ethnopharmacol. 2013;145:363-72
  15. Pisutthanan,N.,Liawruangrath,S., Bremner , B.and Liawrangrath, B., 2005. Chemical Constituents and Biological Activites of Chromolaena odorata Chiang Mai University, Chiang Mai.
  16. Onkaramurthy M. VVP, Thippeswamy B. S., Madhusudana Reddy T. N., Rayappa H., Badami S. keratinocytes against hydrogen peroxide and hypoxahnthinexanthine oxidase induced damage. Burns. 2001;27:319-27
  17. Ngane A. N. ERE, Ndifor F., Biyiti L., Zollo P. H. A., Bouchet P. Antifungal activity of Chromolaenaodorata (L.) King & Robinson (Asteraceae) of Cameroon. Chemotherapy. 2006;52:103-6