เท้ายายม่อม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เท้ายายม่อม งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เท้ายายม่อม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ท้าวยายม่อม, สิงโตดำ (ภาคกลาง), นางนวล (ระยอง), บุกรอ (ภาคใต้, ตราด)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tacca leontopetaloides (L.) Kuntze
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Tacca abyssinica Hochst. ex Baker, Tacca gaogao Blanco, Chaitaea tacca Sol. ex Seem.
ชื่อสามัญ Tacca, East Indian arrowroot, Polynesian arrowroot, South Sea arrowroot, Thahiti arrowroot
วงศ์ DIOSCOREACEAE

ถิ่นกำเนิดเท้ายายม่อม

สำหรับเท้ายายม่อมคาดว่ามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วมีการแพร่กระจายพันธุ์ต่อไปตั้งแต่แอฟริกา เอเชีย โอเชียเนียจนถึงเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก จนเป็นพืชท้องถิ่นในทวีป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ แอฟริกา ออสเตรเลียเหนือนิวกินี หมู่เกาะไมโครนีเซีย ซามัว และฟิจิ ส่วนในประเทศไทยสามารถพบได้มากบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนในภาคกลาง และภาคตะวันออกจะพบขึ้นกระจายในธรรมชาติ ซึ่งเท้ายายม่อม ในประเทศไทยนั้นจะพบตามป่าผลัดใบต่างๆ และป่าดิบแล้ง โดยมักจะพบตามบริเวณที่เป็นดินทราย และที่ๆ มีร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่

ประโยชน์และสรรพคุณเท้ายายม่อม

  1. ใช้แก้ไข้
  2. ช่วยขับเสมหะ 
  3. รักษาริดสีดวงทวาร
  4. แก้ไส้เลื่อน
  5. ช่วยเจริญอาหาร
  6. ช่วยบำรุงร่างกาย
  7. ช่วยบำรุงหัวใจ
  8. บำรุงกำลัง
  9. แก้อ่อนเพลีย
  10. ช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหาร
  11. แก้ท้องอืด
  12. แก้ท้องเสีย
  13. ใช้ภายนอกโรยแผลเพื่อห้ามเลือด
  14. ใช้ทาแก้ผดผื่นคัน
  15. ใช้ลดสิวลดฝ้า ทำให้หน้าขาว
  16. ทาแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย พิษผึ้ง พิษแมงกะพรุนไฟ
  17. แก้ผดผื่นแพ้ต่างๆ

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ไข้ ขับเสมหะโดยใช้ราก มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง โดยใช้เหง้ามาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงร่างกาย ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย สมานแผลในกระเพาะอาหาร โดยใช้หัวมาทำแป้ง แล้วนำไปประกอบอาหารรับประทาน ใช้แก้ไส้เลื่อน แก้ริดสีดวง โดยใช้รากมาเผาให้ร้อนแล้วใช้ผ้าห่อแล้วจึงนั่งทับลงบริเวณที่เป็น ใช้แก้แมลงสัตว์กัดต่อย แก้พิษผดผื่นต่างๆ โดยใช้หัว หรือ รากมาฝนกับน้ำมะนาว แล้วใช้ทาบริเวณที่เป็น ใช้ทาหน้าแก้สิวฝ้า ทำให้หน้าขาว โดยใช้ผงแป้งเท้ายายม่อมผสมกับน้ำผึ้ง แล้วนำมาพอกหน้าทิ้งไว้สักพักแล้วจึงล้างออก ใช้สมานแผล และห้ามเลือดโดยใช้ผงแห้งเท้ายายม่อม มาพอกบริเวณแผล


ลักษณะทั่วไปของเท้ายายม่อม
  

เท้ายายม่อมจัดเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีหัวใต้ดิน หรือ ลำต้นจริงสะสมอาหาร รูปร่างกลมแบน หรือ รีกว้างเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-4 นิ้ว เปลือกผิวด้านนอกบางผิวเรียบเมื่อหัวยังอ่อนอยู่จะเป็นสีขาว แต่เมื่อแก่แล้วจะเป็นสีน้ำตาล เนื้อในสีขาวใส ส่วนเหนือดิน หรือ ลำต้นเทียมสูงได้ถึง 1.5 เมตร เป็นลำต้นเทียมที่เจริญโผล่ออกมาจากหัว หรือ ลำต้นจริง มีลักษณะทรงกลม มีเปลือกสีเขียว ประด้วยลายจุดสีน้ำตาลอมดำกระจายทั่ว ด้านในเป็นเยื่ออ่อนแตกใบออกด้านข้าง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ เวียนออกเป็นแนวรัศมี ใบมีขนาดใหญ่ และเว้าลึก รูปฝ่ามือ ปลายแยกเป็น 3 แฉก แต่ละแฉกขอบเว้าลึก กว้าง 50-70 เซนติเมตร และยาว 120 เซนติเมตร ก้านใบรวมทั้งกาบใบ ยาว 20-170 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ก้านใบทรงกลมสีดำแกมเขียว ดอกออกเป็นช่อ แบบซีรั่ม มีก้านดอกหลักที่เป็นลำต้นเทียม ยาวประมาณ 100-170 เซนติเมตร โดยช่อดอกอยู่ปลายสุด ใน 1 ช่อดอกจะมีดอกย่อยประมาณ 15-40 ดอก ดอกย่อยมีลักษณะเป็นรูปกรวย ถูกหุ้มด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวประด้วยสีดำ ด้านในเป็นกลีบดอก จำนวน 5 กลีบ มีสีเหลือง หรือ สีเขียวอมม่วง ภายในมีเกสรตัวผู้ 6 อัน ปลายแผ่นเป็นแผ่น ตรงกลางเป็นก้านเกสรเพศตัวเมีย ปลายเกสรแยกเป็น 3 แฉก ระหว่างดอกย่อยมีใบประดับเป็นเส้นทรงกลมยาวสีดำ หรือ สีม่วงอมน้ำตาล ประมาณ 20-40 เส้น/ช่อดอก ซึ่งแต่ละเส้นจะยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ผลมีลักษณะทรงกลมปลายเรียวแหลม ผลดิบมีเปลือกหุ้มผลมีสีเขียว เป็นสันนูนจากขั้วผลลงท้ายผล ประมาณ 5-6 สัน ท้ายผลมีกลีบห้อยเป็นติ่ง ส่วนผลแก่ หรือ ผลสุกมีสีเหลือง โดยมีขนาดผลประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ภายในผลมีเปลือกหุ้มแข็ง ด้านในมีเมล็ดรูปไข่สีน้ำตาลผิวลาย ขนาด 5-8 มิลลิเมตร จำนวนมาก

เท้ายายม่อม

การขยายพันธุ์เท้ายายม่อม

            เท้ายายม่อมสามารถขยายพันธุ์ 2 วิธี คือ การเพาะด้วยเมล็ด ซึ่งจะใช้เมล็ดแก่ที่เก็บจากต้นหลังต้นแห้งตายแล้ว โดยควรเก็บเมล็ดไว้สักระยะ 2-3 เดือน เพื่อให้เมล็ดพักตัวก่อนแล้วจึงนำไปทำการเพาะเมล็ดและปลูกตามวิธีปกติ และอีกวิธีหนึ่ง คือ การใช้หัวโดยใช้หัวลูกหรือหัวย่อยที่เจริญออกจากหัวแม่ได้เลย

            ทั้งนี้การปลูกเท้ายายม่อม ด้วยเมล็ดจะต้องรอให้ต้นเติบโต 2 ปีขึ้นไป ถึงจะมาสามารถเก็บหัวได้ เพราะเจริญเติบโตช้ากว่าการปลูกด้วยหัวย่อย ซึ่งการใช้หัวย่อยปลูกจะสามารพเก็บหัวได้หลังปลูก 1 ปี

           สำหรับการเก็บหัวเท้ายายม่อม ควรเก็บในช่วงปลายฤดูหนาว-ต้นฤดูแล้ง ซึ่งสังเกตได้จากใบจะเริ่มเหลือง และเหี่ยว หรือ ยุบตัวและแห้งตาย

เท้ายายม่อม

องค์ประกอบทางเคมี 

มีผลการศึกษาถึงองค์ประกอบทางเคมีของหัวเท้ายายม่อม พบว่ามีสารสำคัญหลายชนิด เช่น Taccalin, β–sitosterol, Cerylic alcohol, Steroidal Sapogenins, Sapogenins เป็นต้น 

โครงสร้างเท้ายายม่อม

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเท้ายายม่อน

เท้ายายม่อม เป็นพืชที่มีข้อมูลมีการศึกษาทางเภสัชวิทยาน้อยมากทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ แต่มีการศึกษาหนึ่งพบว่า สารรสขมที่ชื่อ Taccalin สามารถใช้เป็นยาแก้ท้องอืดท้องเสีย และโรคเกี่ยวกับลำไส้ได้

การศึกษาทางพิษวิทยาของเท้ายายม่อน

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. หัวเท้ายายม่อมสดมีรสขม และมีสารพิษ (เพราะเป็นพืชวงศ์เดียวกับกลอย และบุก) ดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานสด โดยควรแปรรูปเป็นแป้ง หรือ ควรให้ผ่านความร้อนก่อน
  2. ถึงแม้ว่าการบริโภคส่วนต่างๆ เท้ายายม่อมที่แปรรูปอย่างถูกวิธีจะปลอดภัย แต่สำหรับการนำไปใช้เป็นยาสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนจะใช้ส่วนต่างๆ ของเท้ายายม่อม เป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง เท้ายายม่อม
  1. มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล. “เท้ายายม่อม ”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพร เล่ม 4 กกยาอีสาน. หน้า 212.
  2. พจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน. 2525. อักษรเจริญทัศน์จำกัด. กรุงเทพฯ. หน้า 410
  3. สุนทรี สิงหบุตร. 2536. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด พิมพ์ครั้งที่ 1. โอเอสพริ้นติ้งเฮ้าส์. กรุงเทพฯหน้า 99.
  4. กนิษฐา  ตัณติสุนทร, พิมพ์ใจ อาภาวัชรุตม์. ผลของการเลี้ยงก้านใบของต้นเท้ายายม่อมต่อการพัฒนาเป็นต้นใหม่.วารสารเกษตร ปีที่ 15. ฉบับที่ 2 มิถุนายน 2542. หน้า1 56-163
  5. ศูนย์สนเทศการเกษตร และสหกรณ์. 2528. พืชสมุนไพร 2. สำนักงานเกษตรภาคกลางจังหวัดชัยนาท. สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตร และสหกรณ์. หน้า 28
  6. สิงโตดำ. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=176
  7. เท้ายายม่อม (Thahiti arrowroot) สรรพคุณ และการปลูกเท้ายายม่อม. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkset.com