ขจร ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ขจร งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ขจร
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สลิด, ผักสลิด, ดอกขจร (ภาคกลาง), ผักสลิดคาเลา (ภาคเหนือ), ผักขิก, ผักสลิดป่า, ผักกะจอน (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Telosma minor Craib
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Telosma cordata (Burm. f.) Merr.
ชื่อสามัญ Cowslip creeper
วงศ์ ASCLEPIADACEAE
ถิ่นกำเนิดขจร
ขจรเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในบริเวณเขตร้อนของทวีปเอเชีย เช่น จีนตอนใต้ อินเดีย เวียดนาม ลาว พม่า และไทย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทย ถือได้ว่าขจร เป็นผักพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีการนำมาประกอบอาหารรับประทานมาตั้งแต่อดีตแล้ว และยังเป็นพืชผักที่สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยจะพบได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบชื้น ป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง รวมถึงตามที่รกร้างทั่วไป และตามริมแม่น้ำลำคลองต่างๆ
ประโยชน์และสรรพคุณขจร
- ช่วยบำรุงร่างกาย
- ช่วยเจริญอาหาร
- ช่วยขับปัสสาวะ
- ช่วยขับสารพิษ
- แก้อาการท้องเสีย
- ช่วยบำรุงเลือด
- แก้โลหิตเป็นพิษ
- ช่วยบำรุงปอด
- ช่วยบำรุงหัวใจ
- ช่วยบำรุงสายตา
- ช่วยบำรุงตับ
- ช่วยบำรุงฮอร์โมนของสตรี
- ช่วยลดไข้
- ช่วยขับเสมหะ
- ใช้ถอนพิษเบื่อเมา
- แก้อาการหวัด
- แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
- แก้ท้องผูก
- แก้หน้ามืดตาลาย
- แก้อาเจียน
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ช่วยบำรุงสายตา บำรุงปอด บำรุงโลหิต บำรุงตับ แก้เสมหะ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อาการหวัด โดยการนำดอกขจร ยอดอ่อน หรือ ผลอ่อนมาประกอบอาหารรับประทาน หรือ ใช้ดอกต้มกับน้ำดื่มก็ได้ ใช้ถอนพิษเบื่อเมา ทำให้อาเจียน ขับปัสสาวะ โดยการใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม
ลักษณะทั่วไปของขจร
ขจร จัดเป็นไม้ประเภทเถาเลื้อยขนาดเล็กเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น ซึ่งเถายาวจะสามารถเลื้อยยาวได้มากกว่า 3-10 เมตร และเถาจะแตกกิ่งจำนวนมาก เถาอ่อน และกิ่งอ่อนมีลักษณะกลม เปลือกเถาสีเขียว แต่เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเทา ผิวเป็นตะปุ่มตะป่ำ และจะมีน้ำยางสีใสไหลออกมา ปลายเถา หรือ ปลายกิ่งมีขนอ่อนปกคลุมซึ่งเถาขจรไม่มีมือเกาะเหมือนไม้เถาเลื่อยอื่นๆ ส่วนเนื้อไม้มีลักษณะแข็ง และเหนียว
ใบเป็นใบเดี่ยวออกบริเวณข้อของเถาโดยจะออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบเรียวแหลมยาวเป็นติ่ง กลางใบกว้างส่วนโคนใบมนเว้า ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-10เซนติเมตร หลังใบ และท้องใบเรียบ แผ่นใบบาง เกลี้ยง เป็นสีเขียวสด ใบเป็นคลื่นเล็กน้อย และมีขนอ่อนปกคลุม เส้นใบสามารถมองเห็นได้ชัด มี 5 เส้น ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1.5-2เซนติเมตร
ดอกออกเป็นช่อกระจุกแบบซี่ร่ม โดยจะออกตามข้อลำต้น ง่ามใบ หรือ ปลายกิ่ง และจะมีดอกย่อยเรียงกันเป็นกระจุก ช่อดอกมีก้านดอกสั้นสีน้ำตาลอมเทา ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร พวงดอก หรือ ช่อดอกแต่พวงจะมีดอกย่อยประมาณ 10-20 ดอก ดอกย่อยจะแข็งมีกลิ่นหอม และมีสีเขียวอมสีเหลือง หรือ สีส้มบริเวณกลางดอกมีสีเขียว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ ส่วนโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นๆ กลีบดอกย่น และบิด ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 แฉก
ผลออกเป็นฝัก มีคล้ายฝักถั่วเขียว แต่ยาวกว่า ฝักมีรูปร่างกลม เรียวยาวผิวเกลี้ยง ตัวฝักโค้งเล็กน้อย ปลายฝักแหลม ฝักกว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่มีสีน้ำตาล และเมื่อฝักที่แก่เต็มที่จะปริแตกแยกออกเป็น 2 ซีก ภายในฝักมีเมล็ดรูปไข่กว้างลักษณะแบนปลายตัด และมีขนซึ่งจะมีจำนวนมาก
การขยายพันธุ์ขจร
ขจรสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่นการใช้เมล็ด การปักชำ และการแยกราก แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การปักชำกิ่ง เพราะเป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว และจะทำให้ได้ต้นพันธุ์ที่ออกดอกเร็ว และสามารถแตกกิ่งได้มากใกล้เคียงกับต้นที่ปลูกด้วยเมล็ด โดยมีวิธีการดังนี้
ตัดเลือกเถาแก่ที่มีขนาดตั้งแต่นิ้วก้อยขึ้นไป และเถามีสีน้ำตาลอมเทา โดยจะตัดยาวประมาณ 20 เซนติเมตร จากนั้น นำมาแช่น้ำยาเร่งราก และน้ำยาป้องกันเชื้อรา ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วจึงนำปักชำในถุงพลาสติกดำ ซึ่งจะใช้ประมาณ 4-6 ท่อน/ถุง หลังจากนั้น นำถุงเพาะชำมาวางเรียงกันในที่แสงรำไร แล้วให้น้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง เมื่อดูแลได้ประมาณ 10-15 วัน ท่อนพันธุ์ก็จะแทงยอด และใบใหม่ออกมาก หลังจากนั้น ดูแลอีกประมาณ 20-30 วัน จึงจะสามารถนำลงปลูกในแปลงดินได้
โดยก่อนจะนำลงปลูกในแปลงดิน ควรเตรียมแปลงดินด้วยการไถพรวน และกำจัดวัชพืชให้หมดก่อน ควรเริ่มปลูกในช่วงต้นฤดูฝน โดยการปลูกควรเว้น ระยะปลูกระหว่างต้น x ระหว่างแถว ประมาณ 25 เซนติเมตร x 2-2.5 เมตร หรือเว้นระยะปลูกระหว่างหลุม x ระยะห่างแถว 2.5 เมตร x 2-2.5 เมตร โดยแต่ละหลุมควรปลูก 3-5 ต้น การทำค้างควรทำยาวตามแนวแถวที่ปลูก ด้วยการปักหลักไม้ด้านข้างแถวเป็นระยะๆ ระยะห่างระหว่างหลักประมาณ 2 เมตร แต่ละหลักขึงด้วยเส้นลวดเป็นตาข่าย สำหรับการเก็บดอกขจร จะสามารถเริ่มเก็บได้หลังการปลูกประมาณ 3 เดือน และจะเก็บต่อเนื่องได้นานถึง 8 เดือน
องค์ประกอบทางเคมี
ดอกขจร มีองค์ประกอบทางเคมีหลายชนิด อาทิเช่น Flavonoid, Anthocyanin, Beta–Carotene และ Ascobic acid เป็นต้น นอกจากนี้ดอกขจรยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของดอกขจร (100 กรัม)
- พลังงาน 72 แคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 10.6 กรัม
- โปรตีน 5.0 กรัม
- ไขมัน 1.1 กรัม
- ใยอาหาร 0.8 กรัม
- วิตามินเอ 3,000 หน่วยสากล
- วิตามินบี 1 0.04 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.12 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 0.17 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 68 มิลลิกรัม
- ธาตุแคลเซียม 70 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 1.0 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 90 มิลลิกรัม
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของขจร
มีผลการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของขจร หลายฉบับระบุว่า ดอกขจรมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง บำรุงกระดูก และสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย เป็นต้น
การศึกษาทางพิษวิทยาของขจร
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ขจร เป็นผักพื้นบ้านที่คนไทยนิยมนำมาประกอบอาหารทั้งคาว และหวานรับประทานมาตั้งแต่อดีตแล้ว ดังเดิมในการนำมารับประทานเป็นอาหารนั้นจึงไม่น่าจะมีปัญหาใดๆ แต่ในการนำมาใช้เป็นสมุนไพรนั้น ควรคำนึงถึงความปลอดภัยเช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่น โดยควรใช้ในขนาดที่พอดี ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ และสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ขจรเป็นสมุนไพรเสมอ
เอกสารอ้างอิง ขจร
- รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ. ขจร, โสน.คอลัมน์ บทความพิเศษ. นิตยสาร หมอชาวบ้าน เล่มที่ 337. พฤษภาคม 2550.
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์.“ขจร (Kha Chon)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 56.
- สำนักงานคณะกรรมการสาธารณสุขมูลฐาน. 2538. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม. หน้า 120. ผักพื้นบ้าน. องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก, กรุงเทพฯ
- มธุรส วงษ์ ครุฑ.”ดอกขจร” ปลูกกินได้คุณค่า...ปลูกขายได้ราคา. คอลัมน์เกษตรน่ารู้.นิตยสาร นสพ. กสิกรปีที่ 86. ฉบับที่ 3.พฤษภาคม-มิถุนายน 2556. หน้า 37-39
- ผักขจร/ผักสลิด/ดอกขจร/ดอกสลิด สรรพคุณการปลูกดอกขจร. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkset.com