ตะลิงปลิง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ตะลิงปลิง งานวิจัยและสรรพคุณ 24ข้อ
ชื่อสมุนไพร ตะลิงปลิง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ลิงปลิง , หลิ้งปิ้ง , มะเฟืองตรน , หลิงปลิง , เฟืองเทศ , หลิ้งติ้ง (ภาคใต้) , กะลิงปลิง , ปลีมิง (ระนอง) , มูม้ง (สมุย-สุราษฎ์ธานี) , บลีมิง (นราธิวาส,มาเลเซีย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Averrhoa bilimbi Linn.
ชื่อสามัญ Bilimbi, Bilimbing, Tree Sorrel ,Cucumber Tree
วงศ์ Oxalidaceae
ถิ่นกำเนิดตะลิงปลิง
ตะลิงปลิง เป็นพืชตระกูลเดียวกับมะยมที่ขึ้นในเขตร้อน มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้ แถบชายฝั่งของประเทศบราซิล แล้วมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปสู่เขตร้อนต่างๆ โดยเฉพาะเขตร้อนในทวีปเอเชียที่สามารถพบได้มากกว่า เขตร้อนอื่นๆ โดยสามารถพบได้ในประเทศ มาเลเซีย , อินโดนีเซีย , ไทย , พม่า , กัมพูชา เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยว่ากันว่าในอดีตตะลิงปลิง ถูกนำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซียเป็นครั้งแรกและเกิดการแพร่กระจายพันธุ์ในประเทศ ทำให้ปัจจุบันสามารถพบตะลิงปลิงได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่จะพบมากในภาคใต้เพราะนิยมนำไปใช้ประกอบอาหารมากกว่าภาคอื่นๆ
ประโยชน์และสรรพคุณตะลิงปลิง
- แก้พิษร้อนใน
- แก้กระหายน้ำ ฝาดสมาน
- บำรุงกระเพาะอาหาร
- แก้เลือดออกตามกระเพาะอาหาร ลำไส้
- แก้ดับพิษร้อนของไข้
- แก้ริดสีดวงทวาร
- แก้คางทูม
- แก้ไขข้ออักเสบ
- รักษาสิว
- รักษาซิฟิลิส
- บรรเทาโรคเกาต์
- ใช้พอกแก้คัน
- รักษาอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่(นำมาต้มดื่ม)
- แก้ไอ
- ช่วยเจริญอาหาร
- ลดไข้
- แก้เสมหะเหนียว
- ช่วยฟอกโลหิต
- เป็นยาบำรุง
- แก้ปวดมดลูก
- แก้ลักปิดลักเปิด
- ช่วยขับเหงื่อในผู้มีอาการซึมเศร้า(กินผลร่วมกับพริกไทย)
- รักษาโรคข้อรูมาตอยด์
- รักษาสิว
ตะลิงปลิงถูกนำมาใช้เป็นอาหารมาตั้งแต่อดีตแล้ว และในปัจจุบันก็ยังนิยมนำมาทำเป็นอาหารต่างๆ ใช้แทนมะนาวในเมี่ยงคำ นอกจากนี้ยังมีการนำเอาผลตะลิงปลิงมาแปรรูปเป็นน้ำตะลิงปลิง ตะลิงปลิงดอง ตะลิงปลิงแช่อิ่ม หรือไวน์ตะลิงปลิง เป็นต้น ส่วนดอกตะลิงปลิงนำมาบดผสมน้ำ และคั้นเอาน้ำสำหรับใส่ทำขนม ซึ่งจะให้สีแดงม่วงหรือสีม่วง สามารถนำไปย้อมกระดาษเพื่อทำกระดาษสีได้ด้วย และน้ำคั้นจากผลตะลิงปลิงยังนำมาเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง อาทิ ครีมบำรุงผิว แชมพู และสบู่ได้อีกด้วย
ลักษณะทั่วไปตะลิงปลิง
"ตะลิงปลิง" จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงประมาณ 5-10 เมตร มีเปลือกต้นสีชมพูแตกกิ่งก้านสาขามากกิ่งก้านเปราะหักง่ายมีขนนุ่มตามกิ่ง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกมีใบย่อยเรียงตัวกันเป็นคู่ ใบย่อยรูปหอก ปลายใบแหลม โคนมน จะเรียงจากขนาดเล็กไปหาขนาดใหญ่ ที่โคนจะมีขนาดเล็ก ใบกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาว 2-5 เซนติเมตร มีสีเขียวอ่อนมีขนนุ่มๆ ปกคลุมอยู่ ดอกออกเป็นช่อตามลำต้นและกิ่ง (ดอกขนาดเล็กหลายช่อ) แต่ละช่อยาวราว 6 นิ้ว ดอกมี 5 กลีบ มีสีแดงเข้ม มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบสีเขียวอมชมพู เกสรกลางดอกมีสีเขียวแดง ดอกมีกลิ่นหอม ผลกลมยาวเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ผลมีสีเขียวลักษณะกลมยาวปลายมน ยาว 3-6 เซนติเมตร และเป็นพูตามความยาวผล 5 ร่อง ออกเป็นช่อห้อย เมื่อสุกมีสีเหลือง ฉ่ำน้ำ เมล็ดแบนสีขาว ผลมีรสเปรี้ยวจัดเพราะมีกรดออกซาลิกอยู่สูง
การขยายพันธุ์ตะลิงปลิง
ตะลิงปลิงสามารถขยายพันธุ์ได้โดย วิธีการเพาะเมล็ดการเสียบยอด และการตอนกิ่ง แต่วิธีที่นิยมในปัจจุบันคือ การเพาะเมล็ด เพราะจะได้ต้นสูงปกติ และแตกกิ่งมาก ส่วนการปลูกด้วยวิธีอื่น เช่น การตอนกิ่ง และการเสียบยอด จะได้ต้นค่อนข้างเตี้ย แต่แตกกิ่งน้อย ผลผลิตอาจน้อยกว่าการปลูกด้วยเมล็ด สำหรับการปลูกด้วยการเพาะเมล็ดนั้นมีวิธีการ คือ การนำเมล็ดตะลิงปลิงจากผลที่สุกมาตากให้แห้งแล้วนำมาเพาะใส่ถุงเพาะชำรดน้ำให้ชุ่มแล้วนำไปวางไว้ที่ร่มๆ รดน้ำเช้า – เย็น ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ต้นจะพร้อมที่จะนำไปปลูก แล้วนำไปปลูกในแปลงที่เตรียมไว้โดยเว้นระยะห่างประมาณ 4x6 เมตร ทั้งนี้ ตะลิงปลิงเป็นพืชปลูกเลี้ยงง่าย ชอบดินร่วนปนทราย ที่ระบายน้ำดี แต่ไม่ทนน้ำท่วมขังเป็นเวลานานชอบแสงแดด โดยจะใช้เวลา 2-3 ปี จึงจะมีดอกมีผล และหลังจากปลูกได้นาน 3-4 เดือนควรหมั่นตัดแต่งกิ่งให้เป็นพุ่ม ถ้าไม่ต้องการให้ต้นสูงมากก็ตัดส่วนยอดออกเพื่อให้แตกกิ่งข้าง ๆ จะช่วยให้เก็บผลได้ง่าย
องค์ประกอบทางเคมี
จากการศึกษาวิจัยพบว่าในผลตะลิงปลิงประกอบไปด้วยสาร flavonoid , Quercetin , Alkaloid สารประกอบกลุ่ม Phenolic Compound และ ยังพบ Citric acid อีกด้วย นอกจากนี้ส่วนต่างๆของตะลิงปลิงยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของผลตะลิงปลิง (100 กรัม)
- พลังงาน 11 กิโลแคลลอรี่
- เส้นใย 0.3 กรัม
- วิตามิน เอ 276 หน่วยสากล
- วิตามิน บี1 0.03 มิลลิกรัม
- วิตามิน บี2 0.09 มิลลิกรัม
- วิตามิน บี3 0.7 มิลลิกรัม
- วิตามิน ซี 2 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 1 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 6 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.2 มิลลิกรัม
คุณค่าทางโภชนาการของผลตะลิงปลิง (100 กรัม)
- โปรตีน 0.61 กรัม
- แคโรทีน 0.035 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 10.010 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 20.026 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 30.302 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 15.5 มิลลิกรัม
- ธาตุแคลเซียม 3.4 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 1.01 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 11.1 มิลลิกรัม
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของตะลิงปลิง
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้เป็นยาฝาดสมาน บำรุงกระเพาะอาหาร ลดไข้ แก้ไขข้ออักเสบและโรคเก๊าต์ ช่วยรักษาโรคซิฟิลิส แก้กระหายน้ำ โดยนำรากแห้งของตะลิงปลิงมาต้มกับน้ำใช้ดื่ม เช้า – เย็น ใช้แก้ไอโดยการนำดอกแห้งของตะลิงปลิงมาต้มหรือชงแบบชารับประทาน ผลใช้รับประทาน บำรุงร่างกระเพาะอาหาร แก้เสมหะเหนี่ยวข้น ช่วยฟอกโลหิต แก้ไอ แก้ลักปิดลักเปิด รักษาอาการคันและคางทูมโดย ใช้ใบสด 1 กำมือ ตำให้ละเอียด ผสมน้ำเล็กน้อย พอกบริเวณที่เป็น พอกวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เปลี่ยนยาใหม่ทุกครั้ง ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ ด้วยการรับประทานผล 5-10 ผล และดื่มน้ำตามมากๆ ช่วยรักษาสิว รอยฟ้า กะ และรอยผิวด่างดำ โดยการนำผลมา 2-3 ผล มาฝานเป็นแผ่นบางๆ ก่อนใช้วางประคบบนใบหน้า
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ลดน้ำตาลและไตรกลีเซอไรด์ งานวิจัยที่ประเทศสิงคโปร์ทำการทดสอบคุณสมบัติ ในการลดน้ำตาลและลดไขมันของสารสกัดเอทานอลของ ใบตะลิงปลิงในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน ขั้นแรกพบว่าเมื่อได้รับสารสกัดเอทานอล 125 มก./กก. วันละ 2 เวลา 14 วัน เปรียบเทียบกับยาเมตฟอร์มิน (metformin) 500 มก./กก. เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมพบว่า
หนูที่ได้สารสกัดเอทานอลของใบตะลิงปลิงมีน้ำตาลในเลือดลดลงครึ่งหนึ่ง มีไตรกลีเซอไรด์ลดลงร้อยละ 130 มีปริมาณไขมันที่ดี (เอชดีแอลคอเลสเตอรอล) เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 และลดระดับไลพิดเพอร์ออกซิเดชั่นของไต ผลดังกล่าวมีทิศทางเดียวกันกับหนูที่ได้รับเมตฟอร์มิน เห็นชัดว่าสารสกัดดังกล่าวมีผล ลด anti-atherogenic index และสัดส่วนเอชดีแอลคอเลสเตอรอลทั้งหมดในสัตว์ทดลอง และเมื่อนำสารสกัดเอทานอลของใบตะลิงปลิงข้างต้น ไปแยกต่อเป็นสารสกัดน้ำ บิวทานอล และเอทิลอะซีเทต โดยทดสอบเป็นเวลานานในหนูเบาหวานที่เหนี่ยวนำด้วยสเตร็ปโทโซโทซิน ที่ได้รับอาหารไขมันสูง พบว่า หนูที่ได้รับสารสกัดน้ำและบิวทานอล (125 มก./กก. วันละ 2 ครั้งนาน 14 วัน) จากใบตะลิงปลิงมีปริมาณกลูโคสและไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดต่ำกว่าในหนูกลุ่มควบคุม หนูที่ได้รับสารสกัดน้ำมีไกลโคเจนในตับสูงกว่าหนูกลุ่มควบคุม
โดยหนูที่ได้รับสารสกัดน้ำและบิวทานอลไม่มีการเปลี่ยนแปลง ระดับของคอเลสเตอรอลและเอชดีแอลคอเลสเตอรอลแต่อย่างใด เมื่อตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือด (fasting blood glucose) ในหนูทดลองพบว่า ในวันที่ 7 และ 14 หนูที่ได้รับสารสกัดน้ำและบิวทานอล มีค่าน้ำตาลในเลือดลดลง โดยหนูทั้ง 2 กลุ่มมีปริมาณอินซูลินสูงขึ้นในวันที่ 14 อย่างมีนัยสำคัญ สรุปว่าสารสกัดน้ำของสารสกัดเอทานอลของใบตะลิงปลิงมีผลในการลดปริมาณน้ำตาลและไขมันในเลือดสัตว์ทดลองได้ดี
ฤทธิ์แก้คัน สารสกัดเอทานอลของใบตะลิงปลิงลดอาการผื่นแดงของผิวหนังในสัตว์ทดลอง โดยมีการศึกษาที่ประเทศฟิลิปปินส์ใช้สารสกัดเอทานอล 10% ของใบตะลิงปลิงผสมในสูตรขี้ผึ้ง การทดสอบภาวะแพ้ที่ผิวหนัง ในหนู ที่มีผื่นแดงเทียบกับยาทาแก้แพ้ พบว่าขี้ผึ้งตะลิงปลิงลดอาการบวมแดงได้ใน 7ชั่วโมง กลุ่มทายาอาการหายไปใน 14 ชั่วโมง ส่วนกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับอะไรอาการผื่นแดงหายไปใน 23 ชั่วโมง
ฤทธิ์คุมกำเนิด มีผลการศึกษาวิจัยที่ฟิลิปปินส์ ระบุว่าเมื่อให้น้ำคั้นจากผล 200 กรัม (ได้ 15 มิลลิลิตร) กับหนูอายุ 8 เดือนทุกวัน 10 วันก่อนผสมพันธุ์ 10 วันระหว่างผสมพันธุ์และหลังผสมพันธุ์ พบว่าร้อยละ 60 ของหนูที่ได้รับสารจากผลตะลิงปลิงไม่ติดลูก ทั้งนี้พบสเตอรอยด์ไกลโคไซด์และกรดออกซาลิกในน้ำคั้นที่ใช้ จึงเชื่อว่าสารทั้งสองมีส่วนในการออกฤทธิ์คุมกำเนิดดังกล่าว
ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งที่ศึกษากับหนูทดลองเช่นกัน โดยให้หนูทดลองบริโภคผลตะลิงปลิงปริมาณ 25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นเวลา 60 วัน พบว่าสารเควอซิทินซึ่งเป็นสารประกอบกลุ่มฟีนอลที่พบได้ในตะลิงปลิง อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและลดความเสี่ยงการเกิดเบาหวานในหนูทดลองได้
ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ มีผลรายงานการศึกษาวิจัยหนึ่งพบว่า สารสกัดจากใบตะลิงปลิงปริมาณ 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซีเรียส (Bacillus Cereus) ที่อาจก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ และเชื้อแอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา (Aeromonas Hydrophila) ที่อาจก่อให้เกิดโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน หรือโรคเนื้อเน่าได้ และยังมีงานวิจัยที่ศึกษาในห้องทดลองอีกชิ้นหนึ่งพบว่า ผลตะลิงปลิงและน้ำปั่นตะลิงปลิง ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลลา ไทฟิมูเรียม (Salmonella Typhimurium) ที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสียและโรคไข้ไทฟอยด์ และต้านเชื้อแบคทีเรียลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria Monocytogenes) ที่อาจปนเปื้อนอยู่ในอาหารและก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษได้
การศึกษาทางพิษวิทยา
มีการศึกษาวิจัยพบว่าในผลตะลิงปลิงพบสาร Oxalic acid ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่งในไตและอาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ โดยมีข้อมูลพบว่าในโรงพยาบาลที่ประเทศอินเดียมีการรับผู้ป่วยที่เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน จากการดื่มน้ำตะลิงปลิงในปริมาณ 100-400 มิลลิกรัม/วัน มาแล้ว
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ในการบริโภคตะลิงปลิงควรรับประทานแต่พอดี ไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป รวมถึงไม่ควรรับประทานเป็นระยะเวลาติดต่อกันนาน เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพได้
- ในผลตะลิงปลิงมีกรดอินทรีย์ที่ทำให้มีรสเปรี้ยว เช่น กรดซิตริด กรดมาลิก ซึ่งหากรับประทานมากอาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือ เกิดอาการฟันผุร่อนได้
- ผู้ป่วยโรคนิ่วในไต หรือผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยงการรับประทานตะลิงปลิงเพราะในตะลิงปลิงมีกรดออกซาลิก (Oxalic acid) ที่อาจทำให้เกิดนิ่วในไตและอาการไตวายได้
เอกสารอ้างอิง
- รศ.ดร.สุธาทิพ ภาประวัติ ตะลิงปลิง.คอลัมน์ เรื่องเด่นจากปก.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 352.สิงหาคา.2551
- อุไร จิรมงคลการ.2547.ผักพื้นบ้าน1. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์บ้านและสวย.224หน้า
- วุฒิ วุฒิธรรมเวช.2540.สารานุกรมสมุนไพร.618หน้า(207)
- วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์.2541.ผลไม้พื้นเมือง(ภาคใต้)ความสุขที่คุณเด็ดไต้.นิตยสารสารคดี.14(166):71.
- วิทย์ เที่ยวบูรณธรรม.2539.พจนานุกรมสมุนไพรไทย.กรุงเทพ:สำนักพิมพ์สุริยบรรณ
- ตะลิงปลิง.กลุ่มยารักษาตา คางทูม แก้ปวดหู.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plant_data/herbs/herbs_29_1.htm
- ตะลิงปลิง เปรี้ยวดีมีประโยชน์.พบแพทย์ดอทคอม(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.pobpad.com
- ตะลิงปลิง สรรพคุณและการปลูกตะลิงปลิง.พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย(ออนไลน์).เข้าถึงได้จากhttp://www.puechkaset.com