โกฐจุฬาล้มพา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
โกฐจุฬาลัมพา งานวิจัยและสรรพคุณ 31 ข้อ
ชื่อสมุนไพร โกฐจุฬาลัมพา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น โกฐจุฬาลัมพาจีน (ทั่วไป), ตอน่า (ไทยใหญ่), แชฮาว (จีนแต้จิ๋ว), ชิงฮาว, ชิงเฮา (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Artemisia annua Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Artemisia chamomilla C. Winkl., Artemisia stewartii C.B. Ckarke., Artemisia wadei Edgedw.
ชื่อสามัญ Sweet warm wood, Quinghao
วงศ์ COMPOSITAE
ถิ่นกำเนิดโกฐจุฬาลัมพา
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โกฐจุฬาลัมพา เป็นชื่อของสมุนไพรที่ได้จากพืชชนิดใด เพราะในอดีตมีการเข้าใจกันว่าโกฐจุฬาลัมพา เป็นเครื่องยาที่ได้จากพืชในวงค์ COMPOSITAE เช่น A.pallens, A.vulgaris, A.argyi ต่อมา การอ้างอิงชื่อทางพฤกษศาสตร์ของพืชที่ให้เครื่องยาโกฐจุฬาลัมพาถูกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2540 เมื่อ วิเชียร จีรวงส์ กล่าวในการแสดงปาฐกถาชุดสิริธรครั้งทที่ 13 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเขียนอธิบายรายละเอียดในหนังสือ “คําอธิบายตําราพระโอสถพระนารายณ์” ซึ่งเป็นตําราอ้างอิงด้านสมุนไพรที่สมบูรณ์ที่สุดเล่มหนึ่งระบุว่า โกฐจุฬาลัมพา (ตัวสะกดตามเอกสารอ้างอิง) คือ ส่วนใบและเรือนยอดของ A. annua เป็นเครื่องยาที่นําเข้าจากประเทศจีน เดิมทีเคยเข้าใจผิดว่าได้จาก A. vulgaris จะเป็นเครื่องยาจีนชนิดอื่น ต่อมาชยันต์ พิเชียรสุนทร และ วิเชียร จีรวงส์ อธิบายเพิ่มเติมว่า Artemisia ชนิดอื่น คือ A. pallen หรือ A. vulgaris var. indica ก็ไม่ใช่พืชที่ให้เครื่องยาชนิดนี้เช่นกัน และในเอกสารอ้างอิงทางสมุนไพรที่เป็นปัจจุบันที่สุด คือ “ตำราอ้างอิงยาสมุนไพรไทย เล่ม 1” (2552) อธิบายว่า โกฐจุฬาลัมพา คือ ส่วนเหนือดินแห้งในระยะออกดอกของ A. annua ในขณะที่เครื่องยาที่เรียกว่าโกฐจุฬาลัมพาไทยจะเป็นส่วนเหนือดินของ A. pallens หรือ A.vulgaris var. indica และเครื่องยาที่ใช้สําหรับการรักษาด้วยวิธีรมยา (moxibusion) ที่มักมีผู้เรียกผิดว่าโกฐจุฬาลัมพา จะได้จากใบของ A. argyi
ดังนั้นในบทความนี้ จึงจะขอกล่าวถึง โกศจุฬาลัมพา (A.annua) ที่มีการยืนยันว่าเป็นพืชที่ให้เครื่องยาชนิดนี้ โดย โกศจุฬาลัมพา (A.annua) มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน และญี่ปุ่น ปัจจุบันมีการกระจายพันธุ์ไปเขตหนาว และเขตอบอุ่นทั่วโลก สามารถพบในหลายทวีป เช่น อเมริกา ยุโรป และแอฟริกา สำหรับในประเทศไทย กระทรวงเกษตร และสหกรณ์โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมกับกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข กำลังศึกษาการเพาะปลูกโกศจุฬาลัมพา ตามแนวทางเกษตรดีที่เหมาะสม โดยนำสายพันธุ์จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมาจัดทำแปลงสาธิตเพื่อศึกษาความเหมาะสมที่จะปลูกเป็นวัตถุดิบในประเทศไทยต่อไปในอนาคต และล่าสุดองค์การเภสัชกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ทำการทดลองปลูกโกฐจุฬาลัมพา สายพันธุ์เวียดนามในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา พบว่าปริมาณอาติมิซินินลดลงกว่าร้อยละ 50
ประโยชน์และสรรพคุณโกฐจุฬาลัมพา
- แก้ไข้เจลียง (ไข้จับวันเว้นวัน)
- แก้ไข้เจรียง (ไข้ที่มีเม็ดผื่นขึ้นตามตัว เช่น เหือดหัด สุกใส ดำแดง รากสาดประดง)
- ช่วยขับเสมหะ
- แก้หอบ หืด
- แก้ไอ
- ช่วยขับเหงื่อ
- ช่วยให้เจริญอาหาร
- เป็นยาระบาย
- ช่วยขับลม
- แก้ตกเลือด
- แก้ช้ำใน
- แก้ปวดเมื่อยไข้รูมาติก
- แก้บิด
- แก้ปวดท้องหลังคลอด
- แก้ระดู (ประจำเดือน) มากเกินไป
- รักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต
- แก้ลมวิงเวียน
- แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น
- แก้คลื่นเหียน
- แก้อาเจียน
- แก้ลมจุกแน่นในท้อง
- ใช้บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน
- ใช่บรรเทาอาการปวดประจำเดือน
- ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ
- แก้มุตกิด (ตกขาว หรือ ระดูขาว)
- เป็นยาชูกำลัง
- แก้สะอึก
- ช่วยบำรุงเลือด
- บำรุงกระดูก
- รักษาริดสีดวงทวาร
- แก้ไข้มาเลเรีย
โกฐจุฬาลัมพา เป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้เป็นสมุนไพรอย่างกว้างขวางทั้งการแพทย์แผนไทย และแพทย์แผนจีนต่างก็นำสมุนไพรชนิดนี้มาใช้รักษาโรคต่างๆ โดยในตำรายาไทยระบุว่า โกฐจุฬาลัมพา หรือ โกฐจุฬาลัมพา เป็นเครื่องยาที่มีรสสุขุมหอมร้อน โกฐจุฬาลัมพายังเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ เช่น มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” โดยโกฐจุฬาลัมพาจัดอยู่ใน โกฐทั้งห้า (เบญจโกฐ) โกฐทั้งเจ็ด (สัตตโกฐ) และโกฐทั้งเก้า (เนาวโกฐ)
ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์จีนได้สกัดอนุพันธุ์ของสมุนไพรโกฐจุฬาลัมพาเรียกว่า ชิงเฮาสู (Qinghaosu) หรือ อาคิมิซินิน (Artemisinin) ซึ่งมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อมาลาเรียได้ ผลจากการศึกษาวิจัยนี้ทำให้ได้ยารักษาโรคมาลาเรียชนิดใหม่ สามารถรักษา และช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคมาลาเรียหลายสิบล้านคนทั่วโลก และปัจจุบันประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมีการพัฒนาสมุนไพรโกฐจุฬาลัมพา ทั้งในรูปของยาเม็ดและยาฉีดได้อีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้ตามสรรพคุณของตำรายาไทยโดยการใช้ ส่วนโกฐจุฬาลัมพา เหนือดินแห้ง 3-12 กรัม ในรูปแบบยาต้มรับประทาน ต่อวัน ส่วนในการใช้ตามสรรพคุณของตำรายาจีน จะใช้ในขนาด 4.5-9 กรัม โดยใช้ในรูปแบบยาต้มรับประทานเช่นเดียวกัน
ลักษณะทั่วไปของโกฐจุฬาลัมพา
โกฐจุฬาลัมพา (A.annua) จัดเป็นไม้ล้มลุกอายุปีเดียวทั้งต้นมีกลิ่นแรง สูงได้ 0.7-2 เมตร ลำต้นอ่อนแตกกิ่งก้านมาก ในเดี่ยวเรียงเวียน มีต่อมโปร่งแสง ใบบริเวณ โคนต้นรูปไข่ หรือ รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ กว้าง 2-6 เซนติเมตร ยาว 3-7 เซนติเมตร ขอบใบหยักลึกแบบขนนก 3 หรือ 4 ชั้น เป็น 5-8 คู่ แฉกใบจักฟันเลื่อยลึกรูปสามเหลี่ยม กว้างและยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร เส้นกลางใบเด่นชัดทางด้านบน แกนกลางใบมีปีกแคบ อาจจักฟันเลื่อยเล็กน้อย หรือ เรียบ ใบบริเวณกลางต้นหยักลึกแบบขนนก 2 หรือ 3 ชั้น ใบใกล้ยอดรวมทั้งใบประดับหยักลึกแบบขนนก 1 หรือ 2 ชั้น ก้านใบสั้นมาก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง (panicle) รูปพีรามิดกว้าง ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น กลม มีจำนวนมาก สีเหลืองถึงเหลืองเข้มเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 มิลลิเมตร ก้านช่อย่อยสั้น ดอกไม่มีแพพัส (pappus) วงนอกเป็นดอกเพศเมีย มี 10-18 ดอกเชื่อมติดกันเป็นหยอด ปลายจักเป็นซี่ฟัน 5 เกสรเพศผู้ 5 อัน อับเรณูเชื่อมติดต่อ แต่ละอับมีรยางค์ด้านบน 1 อัน รูปสามเหลี่ยมปลายแหลม และมีรยางค์ปลายมนที่โคน 2 อัน ผลแบบผลแห้ง เมล็ดล่อน (achene) รูปไข่แกมรี ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร
การขยายพันธุ์โกฐจุฬาลัมพา
โกฐจุฬาลัมพา (A.annua) สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยมีวิธีการปลูกและดูแล ดังนี้
การเตรียมดิน ควรไถพรรณ ตากดิน และย่อยดินให้ละเอียด และใส่ปูนขาวเพื่อปรับปรุงดิน การเพาะเมล็ด นำเมล็ดแก่มาแช่น้ำที่อุณหภูมิห้อง 12 ชั่วโมง แล้วโรยเมล็ดเป็นแถวในกระบะเพาะ กลบบางๆ และรดน้ำให้ชุ่ม เมล็ดจะเริ่มงอกหลังจากเพาะเมล็ด 4 วัน เมื่อกล้าเริ่มมีใบจริง 1 คู่ ให้ย้ายลงถาดสำหรับเพาะกล้า หรือ ถุง เมื่อกล้ามีอายุประมาณ 50 วัน สามารถย้ายลงแปลงปลูกที่เตรียมไว้ได้โดยควรมีระยะปลูก ระหว่างต้น 2 เมตร ระหว่างแถว 2.5 เมตร แล้วใช้ตาข่ายพรางแสงจนกว่ากล้าที่ย้ายปลูกจะแข็งแรง ส่วนในพื้นที่ ที่มีฝนตกชุกใบระยะนี้ควรทำหลังคาพลาสติกเพื่อป้องกันฝนเพราะรากอาจจะเน่าได้
องค์ประกอบทางเคมี
องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญ คือ สารกลุ่มเซสควิเทอร์พีนแล็กโทน (sesquiterpene lactone) ชื่อ สารชิงเฮาซู (qinghaosu) หรือ สารอาร์เทแอนนิวอิน (arteannuin) หรือ สารอาร์เทมิซินิน (artemisinin สารนี้แสดงฤทธิ์ต้านมาลาเรียชนิดฟัลชิปารุม (Plasmodium falciparum) และชนิดไวแวกซ์ (P. vivax) โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ดื้อยา นอกจากนี้ยังพบว่าเครื่องยาชนิดนี้ยังมีสารกลุ่มฟลาวานอยด์หลายชนิดซึ่งช่วยเสริมฤทธิ์ต้านเชื้อไข้จับสั่นกับสารอาร์เทมิซินิน เช่น casticin, cirsilineol, chysoplenol-D, chrysoplenetin ส่วนในน้ำมันระเหยหอม (Essential oils) ยังมีสารที่เป็นองค์ประกอบหลัก ได้แก่ alpha-pinene, camphene, β-pinene, myrcene, 1,8-cineole, artemisia ketone, linalol, camphor, borneol และ β–caryophyllene
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของโกบจุฬาล้มพา
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของโกฐจุฬาลัมพา
ฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียในหลอดทดลอง ของใบโกฐจุฬาลัมพา (A. annua) ที่ได้จากแหล่งต่างๆ ของประเทศบราซิล โดยวิธีการแช่ (infusion) เตรียมสารทดสอบโดยใช้ผงใบ 5 กรัม แช่สกัดในน้ำเดือด ปิดฝา และตั้งทิ้งไว้เป็นเวลา 15 นาที แล้วนำไปกรอง ทดสอบสารสกัดเพื่อดูความไวของสารทดสอบต่อเชื้อ Plasmodium falciparum สายพันธุ์ K1 และ 3d7 ที่แยกได้จากประเทศบราซิล ซึ่งดื้อต่อยาคลอโรควีน แต่ไวต่อยาควินิน และอาร์ทีมิซินิน ผลการทดสอบพบว่าใบโกฐจุฬาลัมพาจาก 4 แหล่ง มีปริมาณของอาร์ทีมิซินิน อยู่ระหว่าง 0.90-1.13% ความเข้มข้นของอาร์ทีมิซินินที่ได้จากการแช่สกัดใบ อยู่ในช่วง 40-46 mg/L ผลจากการทดสอบพบว่าสารสกัดใบด้วยวิธีการแช่สกัดจากทั้ง 4 แหล่ง ออกฤทธิ์ดีในการยับยั้งเชื้อ P. falciparum สายพันธุ์ K1 และ 3d7 โดยมีค่า IC50 ต่ำ อยู่ระหว่าง 0.08-0.10 และ 0.09-0.13 μL/mL ตามลำดับ
ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรส ทดสอบการยับยั้งเอนไซม์อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรสในหลอดทดลอง (อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรส เป็นเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาท acethylcholine ในสมอง ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ และความจำ การยับยั้งเอนไซม์นี้ จึงเป็นเป้าหมายในการรักษาโรคความจำเสื่อมอัลไซเมอร์) ทดสอบด้วยวิธี Ellman’s colorimetric method ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลส่วนเหนือดิน (ใบ และกิ่ง) ก่อนออกดอกของโกฐจุฬาลัมพา (A. annua) ที่ความเข้มข้น 1 mg/mL สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรสได้ คิดเป็นร้อยละ 71.83 มีค่า IC50 เท่ากับ 87.43 μg/mLในขณะที่ส่วนสกัดย่อย F2 และ F4 ที่ได้จากการแยกสารสกัดเอทานอลด้วยเทคนิค silica gel column chromatography มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรสสูง โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 36.75 และ 28.82 μg/mLตามลำดับ สารบริสุทธิ์ 2 ชนิด ได้แก่ อาร์ทีมิซินิน และ chrysosplenetin ที่แยกได้จากการสกัดเอทานอลจากโกฐจุฬาลัมพาในขนาด 0.1 mg/mL มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะซิทิลโคลีนเอสเทอเรสสูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 71.67 และ 80.00 ตามลำดับ มีค่า IC50 เท่ากับ 29.34 และ 27.14 μg/mL ตามลำดับจากการศึกษาสารที่ได้จากโกฐจุฬาลัมพาพบว่ามีศักยภาพในการนำมาพัฒนายาที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ รวมถึงใช้ในโรคที่มีความผิดปกติของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับไนตริกออกไซด์ และเอนไซม์โคลีนเอสเทอรเรสได้
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในหลอดทดลอง โดยดูผลการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งหลั่งจาก macrophage ของหนู (RAW 264.7 macrophage cell lines) ที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide (LPS) ใช้สารสกัดเอทานอลจากส่วนเหนือดิน (ใบ และกิ่ง) ก่อนออกดอกของโกฐจุฬาลัมพา (A. annua) ในขนาด 50, 25, 12.5 และ 6.25 μg/mL และส่วนสกัดย่อย F1-F4 ที่ได้จากการแยกสารสกัดเอทานอลด้วยเทคนิค silica gel column chromatography ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดเอทานอลที่ความเข้มข้น 6.25 μg/mL และส่วนสกัดย่อย F2 มีฤทธิ์ในการยับยั้ง NO สูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 72.39 และ 71.00 ตามลำดับ โดยที่ไม่ทำให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ macrophage โดยมีอัตราการมีชีวิตรอดของเซลล์คิดเป็นร้อยละ 93.86 และ 79.87 ตามลำดับ
ฤทธิ์ระงับอาการปวด การศึกษาทางคลินิกที่ยืนยันถึงประสิทธิผล และความปลอดภัยของการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากโกฐจุฬาลัมพา (A. annua) ที่ใช้ระงับอาการปวด, และอาการข้อแข็ง ในผู้ป่วยโรคข้อที่สะโพกหรือเข่าเสื่อม เป็นการศึกษาแบบ short-term randomized, placebo-controlled, double-blind study โดยทำการสุ่มผู้ป่วยอายุระหว่าง 35-75 ปี จำนวน 42 คน แบ่งออกเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากโกฐจุฬาลัมพา ในขนาด 150, 300 mg และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ซึ่งแต่ละกลุ่มจะได้รับยาวันละสองครั้ง เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ หลังจากนั้นประเมินประสิทธิผลด้วย Western Ontario and McMaster Universities Osteoarthritis Index (WOMAC®) และประเมินอาการปวดด้วย visual analog scale (VAS) ผลการทดสอบพบว่าอาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากโกฐจุฬาลัมพาในขนาด 150 mg มีอาการดีขึ้นจากการประเมินด้วย WOMAC® อย่างมีนัยสำคัญ (mean change, −12.2; standard deviation, SD 13.84; p=0.0159) และยังพบว่าอาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากโกฐจุฬาลัมพาในขนาด 150 mg มีอาการปวดลดลงจากการประเมินด้วย VAS อย่างมีนัยสำคัญ (mean change, −21.4 mm; SD, 23.48 mm; p=0.0082) ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาหลอก และได้รับสารสกัดขนาด 300 mg ไม่มีการเปลี่ยนแปลง จากผลการศึกษาสรุปได้ว่า สารสกัดจากโกฐจุฬาลัมพาในขนาดต่ำ 150 mg มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และระงับปวดในผู้ป่วยกระดูกและข้ออักเสบได้
การศึกษาทางพิษวิทยาของโกฐจุฬาลัมพา
การศึกษาทางพิษวิทยาของโกฐจุฬาลัมพา (A.annua) ส่วนมากแล้วเป็นการศึกษาในต่างประเทศ ส่วนในประเทศไทยนั้น มีการศึกษาพืชชนิดนี้น้อยเพราะเป็นพืชที่ไม่มีในประเทศดังนั้น ผู้เขียนจึงยังไม่สามารถหาข้อมูลการศึกษาทางพิษวิทยามาได้
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ในการเลือกใช้สมุนไพรโกฐจุฬาลัมพา นั้น ควรต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรเพราะมีพืชหลายชนิดที่เข้าใจกันว่าเป็นพืชที่ให้เครื่องยาที่ใช้ชื่อ โกฐจุฬาลัมพา
- การใช้สมุนไพรโกศจุฬาลัมพาก็เหมือนการใช้สมุนไพรชนิดอื่น คือ ต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสมที่กำหนดไว้ในตำรับยาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณมาก และใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้
- สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือ ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนใช้สมุนไพรโกฐจุฬาลัมนา ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
เอกสารอ้างอิง โกฐจุฬาลัมพา
- วิเชียร จีรวงส์. สมุนไพร. อนุสรณ์งานฌาปนกิจ นายกิจ จีรวงส์. กรุงเทพฯ. 2 ธันวาคม 2521: น.12-13.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โกฐจุฬาลําพา”. หน้า 104.
- ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาศ ชวลิต, วิเชียร จีรวงส์. คําอธิบายตําราพระโอสถพระนารายณ์. กรุงเทพฯ. อมรินทร์พรินติงแอนด์พับลิชชิง, 2544: น. 240-243.
- อุทัย โสธนะพันธุ์ และคณะ. การพิสูจน์ชนิดทางพฤกษศาสตร์ของโกฐจุฬาลัมพาที่ใช้ในปัจจุบันด้วยเทคนิกโครมาโทกราฟีชนิดแผ่นบาง วารสารไทยเภสัชศาสตร์ และวิทยาการสุขภาพปีที่ 8. ฉบับที่ 1 2556.หน้า 1-6
- วุฒิ วุฒิธรรมเวช. สารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย. กรุงเทพฯ.โอเดียนสโตร์, 2540: น.112
- หนังสือสมุนไพร สวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “โกฐจุฬาลําพา Artemisia”. หน้า 216.
- บัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ.2544. ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรือง บัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2544 คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ. สํานักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2544.
- เต็ม สมิตินันทน์. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สํานักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้, กรุงเทพฯ.สํานักพิมพ์ประชาชน, 2544: น.55-56, 229
- เสงียม พงษ์บุญรอด. ไม้เทศเมืองไทย สรรพคุณยาเทศและยาไทย.กรุงเทพฯ. เกษมบรรณกิจ, 2522: น.75
- โกฐจุฬาลัมพา,โกฐน้ำเต้า,โกฐหัวบัว. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicruseseug.com/main.php?action=viewpage&pid=28
- Silva LFR, Magalhães PM, Costa MRF, Alecrim MGC, Chaves FCM, Hidalgo AF, et al. In vitro susceptibility of Plasmodium falciparum Welch field isolates to infusions prepared from Artemisia annua L. cultivated in the Brazilian Amazon. Memórias do Instituto Oswaldo Cruz. 2012;107(7):859-866.
- Chougouo RDK, Nguekeu YMM, Dzoyem JP, Awouafack MD, Kouamouo J, Tane P, et al. Anti-inflammatory and acetylcholinesterase activity of extract, fractions and five compounds isolated from the leaves and twigs of Artemisia annua growing in Cameroon. SpringerPlus. 2016;5:1525.
- Stebbings S, Beattie E, McNamara D, Hunt S. A pilot randomized, placebo-controlled clinical trial to investigate the efficacy and safety of an extract of Artemisia annuaadministered over 12 weeks, for managing pain, stiffnessand functional limitation associated with osteoarthritis of the hipand knee. Clin Rheumatol. 2016; 35: 1829-1836.