งวงสุ่ม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

งวงสุ่ม งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ


ชื่อสมุนไพร งวงสุ่ม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สะแกวัลย์, ข้าวตอกแตก, เถาวัลย์ชนวน, ตะกรุด, เถาวัลย์นวล, มันแดง (ภาคกลาง), ติ่งตั่ง, ติ่งตั่งตัวผู้, เครือตีนตั่ง (ภาคเหนือ), ฮวงสุ่ม, ดวงสุ่ม, มันเครือ, งวงชุม (ภาคอีสาน), ประโยค, ดอกประโยค (ภาคตะวันออก), กรูด, หน่วยสุด (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Calycopteris floribunda (Roxb.)Lam.ex Poir
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Getonia floribunda Roxb.
วงศ์ COMBRETACEAE


ถิ่นกำเนิดงวงสุ่ม

งวงสุ่ม จัดเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยมีการกระจายพันธุ์เป็นวงกว้างในอินเดีย ศรีลังกา เนปาล บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงบริเวณทางตอนใต้ของจีนอีกด้วย สำหรับในประเทศไทยสามารถดบงวงสุ่มได้ทั่วทุกภาคของประเทศ บริเวณชายป่า ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป


ประโยชน์และสรรพคุณงวงสุ่ม

  • แก้กามโรค
  • แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • แก้แผลเรื้อรัง
  • ใช้เป็นยาเจริญอาหาร
  • รักษาไข้ป่า
  • แก้จุดเสียดแน่น
  • แก้ปวดท้อง
  • แก้บิด
  • ช่วยขับพยาธิ
  • ใช้เป็นยาระบาย
  • แก้พิษแปลงกัดต่อย
  • ใช้แก้พิษไข้ในเด็ก
  • แก้พิษงู
  • แก้พิษสุราเรื้อรัง
  • แก้เบื่อเมา
  • ใช้บำรุงหัวใจ
  • แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ
  • แก้ปัสสาวะเป็นเลือด
  • แก้ปัสสาวะดำ

           เถา หรือ ลำต้นของงวงสุ่ม มีเนื้อที่เหนียว จึงถูกนำมาทำสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ในอดีต อาทิเช่น ทำขอบกระบวยวิดน้ำ สำหรับตักน้ำรดน้ำผัก นำมาใช้จักสาน หรือ ทำขอบเครื่องจักสาน ทำด้ามพร้าด้ามมีด หรือ นำมาทำเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ในครัวเรือน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้กามโรค แก้พิษไข้ในเด็ก แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยใช้รากงวงสุ่ม มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้เป็นยาเจริญอาหาร แก้ไข้ป่า แก้ปวดท้อง จุกเสียดแน่น แก้บิด
  • ใช้เป็นยาระบาย ขับพยาธิ โดยนำใบมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้เบื่อเมา แก้พิษสุราเรื้อรัง แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะดำโดยนำเนื้อไม้หรือเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ นำมาฝนละลายน้ำดื่มก็ได้
  • แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยนำลำต้นและรากติ่งตั่ง ผสมกับลำต้นหนาด ลำต้นเปล้าลมต้น ลำต้นเปล้าลมเครือ ลำต้นรางแดง ลำต้นแหนเครือ ลำต้นบอระเพ็ด นำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้แผลเรื้อรัง แก้พิษแมลงกัดต่อย โดยนำใบสดมาตำให้ละเอียดแล้วทาหรือประคบบริเวณที่มีอาการ

ลักษณะทั่วไปของงวงสุ่ม

งวงสุ่ม จัดไม้พุ่มรอเลื้อยเนื้อแข็งขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 1-5 เมตร เถาเนื้อแข็ง สีน้ำตาล ส่วนกิ่งอ่อนเป็นสันสี่เหลี่ยมมีสีเขียว และมีขนสีน้ำตาลแกมแดงสั้นๆ ขึ้นปกคลุม แต่เมื่อกิ่งแก่ขนก็จะร่วงไปเองใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม บริเวณข้อเถาลักษณะของใบเป็นรูปรี หรือ รูปไข่ โคนใบมน ปลายใบสอบแหลม ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้าง 2-7 เซนติเมตร และยาว 6-17 เซนติเมตร แผ่นในสีเขียวเข้มใบด้านบนเมื่อยังอ่อน มีขนนุ่มหนาแน่นเมื่อใบแก่ขนจะร่วง ส่วนท้องใบมีขนสีน้ำตาลอ่อน หรือ สีน้ำตาลแกมเหลืองขึ้นหนาแน่นและมีก้านใบยาว 1 เซนติเมตร  ดอกออกเป็นช่อขนาดใหญ่แบบแยกแขนง บริเวณซอกใบและปลายกิ่ง โดยใน 1 ช่อดอก จะมีดอกย่อยจำนวนมาก และดอกย่อยจะมีสีเขียวแกมเหลือง ไม่มีกลีบดอก แต่จะมีริ้วประดับ สีเหลืองปนเขียว 5 กลีบ และมีกลีบรองดอก 5 กลีบ ซึ่งโคนจะเชื่อมติดกันเป็นหลอด ส่วนปลายเป็นรูปถ้วยแยกออกจากกันเป็น 5 แฉก และมีเกสรเพศผู้มี 10 อัน เรียงเป็น 2 วง วงละ 5 อัน ผลเป็นผลแห้งรูปทรงรี หรือ รูปกระสวย มีสันยาว 5 สัน คล้ายเมล็ดข้าว มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 มิลลิเมตร ยาว 5-8 มิลลิเมตร ที่ปลายผลมีกลีบรองดอกที่เจริญเป็นปีก 5 ปีก ในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด

งวงสุ่ม

การขยายพันธุ์งวงสุ่ม

งวงสุ่มเป็นไม้เถาที่สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำ แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การตอนกิ่งเพราะเป็นวิธีที่ง่าย และใช้เวลาน้อย ซึ่งการตอนกิ่งงวงสุ่มสามารถทำได้เช่นเดียวกัน กับการตอนกิ่งพันธุ์ไม้ ชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวถึงมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ สำหรับวิธีปลูกต้นกล้า หรือ กิ่งตอนของงวงสุ่ม นั้น เริ่มจากขุดหลุมปลูกให้มีขนาด 30×30 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกประมาณ 1/4 ของหลุม กลบดินเล็กน้อย วางต้นกล้า หรือ กิ่งตอนกลางหลุม กลบดินพอแน่น แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ทั้งนี้ควรปลูกงวงสุ่มบริเวณ ซุ้มประตู หรือ ทำค้างให้ด้วย เพื่อให้เถาเลื้อยพาดได้ ทั้งนี้งวงสุ่มเป็นไม้ที่ต้องการแสงแดดปานกลางเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีความชุ่มชื้น และเป็นพืชที่ต้องการน้ำปานกลาง โดยในระยะแรกที่ปลูกควรหมั่นรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ แต่เมื่อต้นโตแล้วให้รดน้ำวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและเย็น


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดงวงสุ่ม จากส่วนต่างๆ ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดดังนี้ สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์จากใบพบสาร n-octacosanol, Sitosterol, 4'-O-methylcalycopterin, Ellagic acid, Proanthocyanidin, Quercetin สารสกัดเอทานอลจากใบพบสาร Neo calycopterone, 4-Acetyl neo calycopterone, Neocalycopterone 4-methyl ether, Calyflorenone A-C สารสกัดไดคลอโรมีเทน จากใบพบสาร 3, 8-di-O-methyl ellagic acid, 2,3,7-tri-O-methyl ellagic acid, Pachypodol สารสกัดเอทิลอะซิเตท จากใบพบสาร 6"-demethoxy neocalycopterone, 6"-epi-calyflorenone ส่วนสารสกัดเมทานอลจากดอกพบสาร Gossypol, Calycopterone, Isocalycopterone, 4-demethyl calycopterone และ 4', 5-dihydroxy-3,3',6, 7-tetra methoxy flavone เป็นต้น

โครงสร้างงวงสุ่ม

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของงวงสุ่ม

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของงวงสุ่มระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้ มีการศึกษาวิจัยเพื่อหาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และต้านแบคทีเรียของสารสกัดด้วยตัวทำละลายต่างๆ เช่น ปิโตรเลียมอีเทอร์ คลอโรฟอร์ม และเมทานอล พบว่าสารสกัดเมทานอลของดอกงวงสุ่ม แสดงฤทธิ์ต้านแบคทีเรียแรงที่สุด ส่วนฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระนั้น พบว่าสารสกัดเมทานอลของดอกงวงสุ่มมีศักยภาพในการรีดิวซ์มากกว่ากรดแอสคอร์บิก (วิตามินซี ) ซึ่งสรุปได้ว่าสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ อีกเช่น สารสกัดเอทานอลจากใบของงวงสุ่มมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านแบคทีเรีย ส่วนสารสกัดคลอโรฟอร์มจากดอกงวงสุ่ม มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง เป็นต้น

 

การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของงวงสุ่ม

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ถึงแม้ว่าจะมีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของงวงสุ่ม ระบุว่ามีฤทธิ์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์มากมาย แต่สำหรับการใช้งวงสุ่มเป็นสมุนไพรนั้นก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกัน เป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง งวงสุ่ม
  1. ปิยะ เฉลิมกลิ่น จิรพันธุ์ ศรีทองกุล และอนันต์ พิริยะภัทรกิจ. พรรณไม้ที่พบครั้งแรกในประเทศไทย. กทม. โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพ. 2551หน้า 42
  2. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ. “ติ่งตั่ง”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. หน้า 98.
  3. งวงสุ่ม,ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.pharharden.com/main.php?action=viewpage&pid=32
  4. Cheng.J.and N.J.Turland.(2007).Combretaceae.In Flora of China Vol.13:315.
  5. Mayer R. Calycopterones and calyflorenones, novel biflavonoids from Calycopteris floribunda. J Nat Prod 1999;62:1274-8.
  6. Bhat  PR,  Prajna  PS,  Kumar  V,  Hegde  MA,  Singh  L.  Antimicrobial  properties  of  leaves  of  Calycopteris  floribunda  lam.  J  Med  Plants  Res 2011;5:2448-51.
  7. Wall ME, Wani MC, Fullas F, Oswald JB, Brown DM, Santisuk T, et al. Plant antitumor agents the calycopterones, a new class of biflavonoids with novel cytotoxicity in a diverse panel of human tumor cell lines. J Med Chem 1994;37:1465-70.+
  8. Gupta SR, Seshadri TR, Sood GR. Flavonols and other compounds of the leaves of Calycopteris floribunda. Phytochemistry 1973;12:2539-40
  9. Ratnagiriswaran  AN,  Sehra  KB,  Venkataraman  K.  The  anthelminthic  constituent  of  the  leaves  of  Calycopteris  floribunda.  Biochem  J 1934;28:1964−7.
  10. Ali  H, Chowdhury AKA, Rahman  AKM,  Borkowski T,  Nahar L,  Sarker  SD. Pachypodol,  a  flavonol  from the  leaves  of Calycopteris floribunda, inhibits the growth of CaCo 2 colon cancer cell line in vitro. Phytother Res 2008;22:1684-7.
  11. Mayer R. Five biflavonoids from Calycopteris floribunda (Combretaceae). Phytochemistry 2004;65:593-601.
  12. Dey SK, Mohammed S,  Tamanna R,  Nahar N,  Mosihuzzaman M,  Sultana N.  Biological and  chemical studies of  Calycopteris floribunda  leaves. Dhaka Univ J Pharm Sci 2005;4:1816-39.