ดอกดิน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ดอกดิน งานวิจัยและสรรพคุณ 14 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ดอกดิน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หญ้าข้าวก่ำ (ภาคเหนือ), ข้าวก่ำนกยูง, ปากจะเข้, หญ้าดอกขอ (ภาคอีสาน), ดอกดินแดง, เทียนฤาษี (ภาคกลาง), สบแล้ง (ภาคใต้), ซอซอวย, เพาะลาพอ, กะเปเส้ (กะเหรี่ยง), เหย่ดู่ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Aeginetia indica Linn.
ชื่อสามัญ Broomrape
วงศ์ OROBANCHAEAE

ถิ่นกำเนิดดอกดิน

ดอกดิน จัดเป็นพืชจำพวกกาฝากบนรากพืช มีถิ่นกำเนิด และเขตการกระจายพันธุ์ทางตอนกลางของทวีปเอเชีย แล้วจึงแพร่กระจายพันธุ์ต่อมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น อินโดนีเซีย ติมอเลสเต ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยภาคกลางพบมากที่สุดที่จังหวัดสระบุรี ภาคเหนือ พบมากที่สุดที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาคอีสานพบมากที่สุดที่จังหวัดอุบลราชธานี ภาคตะวันตกพบมากที่สุดที่จังหวัดกาญจนบุรี ภาคตะวันออกพบมากที่สุดที่จังหวัดจันทบุรี และระยอง ส่วนภาคใต้ มีรายงานพบเฉพาะบริเวณจังหวัดชุมพร และจังหวัดพังงาเท่านั้น สำหรับสถานที่ ที่สามารถพบดอกดินได้ คือ บริเวณที่ร่มค่อนข้างชื้นในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบชื้นที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 1800 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณดอกดิน

  • ใช้เป็นยาขับพิษร้อน ถอนพิษไข้
  • ทำให้เลือดเย็น
  • แก้อาการเจ็บคอ
  • แก้คออักเสบ
  • แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ
  • แก้กระดูกอักเสบ
  • แก้อาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • แก้ปวดบวมช้ำ
  • แก้โรคผิวหนัง
  • แก้แมลงสัตว์กัดต่อย
  • แก้น้ำตาลในเลือดสูง
  • แก้เบาหวาน
  • ใช้แก้ฝีภายนอก ฝีบนผิวหนัง
  • แก้พิษงู

           มีการนำดอกของดอกดิน มาลวก หรือ นึ่ง ใช้รับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกปลาร้า หรือ น้ำพริกตาแดง มีการนำดอกสดมาคั้นเอาแต่น้ำใช้เป็นสีผสมอาหารได้ (หากเป็นดอกแห้งเอามาแช่น้ำแล้วคั้นเอาน้ำ) โดยจะให้สีม่วง หรือ สีน้ำเงินเข้มเกือบดำ โดยใช้เป็นสีแต่งหน้าอาหาร หรือ ใช้แต่งหน้าข้าวเหนียวให้เป็นสีม่วงดำที่เรียกว่า “หม่าข้าว” หากนำไปคั้นกับน้ำแล้ว ใช้แช่กับข้าวเหนียวแล้วนำไปนึ่งจะทำให้ข้าวเป็นสีม่วง ที่เรียกว่า “ข้าวก่ำ” ยังมีการนำดอกของดอกดินมาใช้ทำขนมดอกดิน โดยนำดอกสดไปผึ่งแดดพอหมาด แล้วสับรวมกับแป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวเจ้า  และกะทิ แต่หากใส่ดอกดินอย่างเดียว จะเป็นสีน้ำตาลคล้ายกาแฟ ดังนั้นจึงมีการแต่งสีดำด้วยกาบมะพร้าวเผาไฟ แล้วนำไปนึ่งให้สุก

ดอกดิน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้ขับพิษร้อนถอนพิษไข้ทำให้เลือดเย็น แก้เจ็บคอ แก้คออักเสบ ทอลซินอักเสบ แก้การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยนำต้นแห้ง 3-10 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้รักษาโรคเบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง โดยใช้ต้น และดอกมาตากแห้ง ต้มกับน้ำ หรือ ชงเป็นชาดื่ม
  • ใช้แก้ไข กระดูกอักเสบ ด้วยการใช้ต้นสด 30 กรัม นำมาตำคั้นเอาน้ำผสมกับผงชะเอม 5 กรัม หรือ นำไปต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ปวดบวมช้ำ แก้แมลงสัตว์กัดต่อย โด่ยนำต้นสดมาตำพอกบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้โรคผิวหนัง โดยใช้ต้นสดมาตำแล้วนำมาแช่ในน้ำมันงาใช้ทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้พิษงู โดยใช้ดอกดิน แห้ง 40 กรัม ชะมดเชียง 0.5 กรัม และตะขาบแห้ง 7 ตัว นำมาแช่รวมกันในน้ำมันงาประมาณ 15 วัน แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่โดนพิษได้

ลักษณะทั่วไปของดอกดิน

ดอกดิน จัดเป็นพืชเบียนรากพืชประเภท holoparasite หรือ เป็นพืชล้มลุกกาฝาก อาศัยโดยมีลำต้นเป็นเหง้าเกาะอยู่ตามรากไม้เล็กๆ ต่างๆ เช่น หญ้าคา รากไผ่ และเป็นพืชที่ไม่มีใบ จึงทำให้ไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้อยู่กับรากไม้ โดยจะอาศัยดูดธาตุอาหาร คาร์โบไฮเดรต และน้ำจากรากพืชที่ให้อาศัยแทน ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะมีก้านดอกสีน้ำตาลอมเหลืองแทงมาจากเหง้า ซึ่งก้านดอกจะยาวประมาณ 14-40 เซนติเมตร สีม่วงแดงอ่อนมีขนาดใหญ่กว่าลำต้น ลักษณะเป็นรูปคล้ายถ้วยคว่ำยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ส่วนของโคนกลีบเชื่อมตอดกันเป็นหลอด โค้งงอ มีกลีบเลี้ยงเป็นสีเหลืองอ่อน ยาว 2-3 เซนติเมตร ในส่วนของกลีบดอกจะแตกออกเป็นแฉก 5 แฉก และมีเกสรเพศผู้ 4 ก้านเกสรเพศเมีย 1 ก้าน โดยยอดเกสรเพศเมียมีขนาดใหญ่อวบน้ำสีเหลือง ผลลักษณะกลมสีน้ำตาล ยาว 1-1.5 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตกออกซึ่งภายในผลจะมีเมล็ดสีน้ำตาลขนาดเล็กจำนวนมาก

ดอกดิน

ดอกดิน

การขยายพันธุ์ดอกดิน

ดอกดินสามารถขยายพันธุ์ได้โดยใช้เหง้า หรือ หน่อมาปลูก โดยมีวิธีการปลูกเช่นเดียวกันกับการปลูกพืชที่ใช้หน่อ หรือ เหง้าชนิดอื่นๆ แต่โดยมากแล้วยังไม่ได้รับความนิยมในการนำมาปลูก ส่วนการขยายพันธุ์ดอกดิน ในปัจจุบันจะเป็นการแตกกอ หรือ แตกหน่อเอง ในธรรมชาติเกือบทั้งหมด


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดดอกดิน จากส่วนดอก และส่วนเหนือดิน ในต่างประเทศระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดดังนี้ aucubin, Aeginetoside, Aeginetic acid, Sitosterol, Daucosterol, Ionone, cyanidin3-o-rutinoside, apigenin, apigenin7-o-glucuronide,luteolin,luteolin7-o-glucuronide,luteolin7-o-glucoside,naringenin7-o-glucoside และ quercetin3-o-rutinoside เป็นต้น

โครงสร้างดอกดิน

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของดอกดิน

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาจากส่วนต่างๆ ของดอกดิน ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้

           มีรายงานการศึกษาพิษต่อระบบภูมิคุ้มกันของดอกดิน โดยใช้สารสกัดจากพืชทั้งต้นสกัดด้วยเอธานอล (DDDP) และน้ำ (WDDDP) ส่วนของเมล็ดดอกดินสกัดด้วยบิวทานอล (SDDD) ซึ่งผลจากการทดลอง in vitro เมื่อใช้เซลล์ของหนูเมาส์  C57BL6/j พบว่าสารสกัดจากดอกดิน SDDD และ DDDP มีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน โดยสารสกัดจากต้นสามารถกระตุ้นการตอบสนองของ T เซลล์ต่อ concanavalin A และ anti-CD3 แอนติบอดี และยังกระตุ้นการตอบสนองของ B เซลล์ต่อ lipopolysaccharide ที่ความเข้มข้นระหว่าง 1.25-500 µg/ml และหนูทดลอง ที่ได้รับสารสกัด DDDP และ WDDDP เป็นเวลา 28 วัน ไม่เกิดการตาย หรือ แสดงอาการเป็นพิษ อีกทั้งสารสกัด DDDP และ WDDDP ยังสามารถกระตุ้นการทำงานของ T lymphocytes ใน MLR และ CTL ในการทดลอง in vivo หรือ ใน in vitro อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่มีผลกระทบต่อการสร้าง แอนติบอดีของ B เซลล์ และ NK เซลล์ นอกจากนี้เซลล์ม้ามจากหนู ที่ได้รับสารสกัด DDDP ไม่มีผลเปลี่ยนแปลการสร้า IL-2 และ IFN-γ ในการทดลอง in vitro แต่ทั้งนี้ หนูทดลอง ที่ได้รับสารสกัด WDDDP เกิดการลดค่าร้อยละและจำนวนรวมของ T เซลล์ชนิดCD4+ CD25+ ในม้ามซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการกระตุ้นของ T เซลล์อื่น

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการผลการศึกษาวิจัยอื่นๆ อีกหลายฉบับ ระบุว่า สารสกัดจากส่วนต่างๆ ของดอกดินยังมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ต้านเบาหวาน, ปกป้องตับจากพิษของยาพาราเซตามอล, ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของดอกดิน

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ดอกดิน ในรูปแบบของอาหารนั้น มีความปลอดภัยสูง แต่ในการใช้ดอกดินเป็นยาสมุนไพร นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง ดอกดิน
  1. เต็ม สมิตินันทน์. (2544). ชื่อพันธุ์ไม้แห่งประเทศไทย (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ:กรมป่าไม้. หน้า 12.
  2. วันดี กฤษณพันธ์. สมุนไพรสารพัดประโยชน์. กทม. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2538
  3. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. “ดอกดินแดง”.  หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 111.
  4. นิจศิริเรืองรังษี และ พยอม ตันติวัฒน์. (2534). พืชสมุนไพร. กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์โอเดียนสโตร์. หน้า 104.
  5. วิทยา บุญวรพัฒน์. “ดอกดินแดง”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 216.
  6. กัญจนา ดีวิเศษ และคนอื่นๆ. 2542. ผักพื้นบ้านภาคเหนือ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก
  7. เส้นทางขนมไทย. กทม. แสงแดด. 2553. หน้า 93-95
  8. วิมลณัฐ อัตโชติ.การศึกษาพิษวิทยา และผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของดอกดิน (Aeginetia indica Roxb.) วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. ปีการศึกษา 2546. 211 หน้า
  9. Hayashi, K., Noguchi, T. and Abe, Y. 1953. Studien über Anthocyane, XXIV. Keracyanin; ein Farbstoffprinzip in den feuerroten Blüten von Canna generalis. Pharmaceutical Bulletin 2: 41–45.
  10. Murai, Y., Takemura, S., Takeda, K., Kitajima, J. and Iwashina, T. 2009. Altitudinal variation of UV absorbing compounds in Plantago asiatica. Biochemical Systematics and Ecology 37: 378–384
  11. Parnell, J.2001.A revision of Orobanchaceae in Thailand. Thai For. Bull. (Bot.) 29:72-80.
  12. Mabberley, D.J. 1997. The Plant-Book 2nd. ed. pp. 13 and 511–512. Cambridge University Press, Cambridge
  13. Yamazaki, K., Iwashina, T., Kitajima, J., Gamou, Y., Yoshida, A. and Tannowa, T. 2007. External and internal flavonoids from Madagascarian Uncarina species (Pedaliaceae). Biochemical Systematics and Ecology 35: 743–749.