ติ้วขาว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ติ้วขาว งานวิจัยและสรรพคุณ 10ข้อ
ชื่อสมุนไพร ติ้วขาว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักติ้ว , ผักติ้วขาว (ทั่วไป),ติ้วส้ม (ภาคอีสาน,โคราช),แต้ว(สระบุรี),ขึ้ติ้ว (ปราจีนบุรี),ไม้ต้าว(ตรัง),มูโต๊ะ(มลายู,นราธิวาส)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cratoxylum formosum (Jack) Dyer ssp.Formosum(Jack) Dyer
วงศ์ Guttiferae - HYPERICACEAE
ถิ่นกำเนิดติ้วขาว
ติ้วขาวเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บริเวณประเทศไทย ลาว พม่า เวียดนาม ต่อมาได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณประเทศเขตร้อนใกล้เคียงได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาะไหนานประเทศจีน เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยถือว่าติ้วขาวเป็นผักพื้นบ้าน โดยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณ ป่าผลัดใบ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้งหรือป่าตามเชิงเขาที่มีความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลไปจนถึงระดับความสูงมากกว่า 1,000 เมตร ซึ่งจะพบได้มากเป็นพิเศษในจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา สระบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ตรังและนราธิวาส เป็นต้น
ประโยชน์และสรรพคุณติ้วขาว
- ใช้ขับปัสสาวะ
- แก้ปัสสาวะขัด
- ใช้ทาแก้คัน
- ใช้ทารอยแตกของส้นเท้า
- แก้ธาตุพิการ
- แก้โรคผิวหนังบางชนิด
- แก้ปวดตามข้อ
- แก้ไขข้อพิการ
- แก้ประดง
- ช่วยขับลม
ลักษณะทั่วไปติ้วขาว
ติ้วขาวจัดเป็น ไม้ยืนต้นเนื้อแข็งผลัดใบขนาดกลาง สูงระหว่าง 3-35 เมตร โคนต้นมีหนามแข็งขึ้นตามลำต้น เปลือกลำต้นมีลักษณะแตกเป็นร่องสะเก็ดสีน้ำตาลปนแดง และมีน้ำยางสีเหลืองปนแดงซึมออกมา ลำต้นจะแตกกิ่งหลักปานกลางแต่แตกกิ่งแขนงมาก ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มหนา กิ่งก้านเล็กเรียว กิ่งอ่อนเรียบไม่มีขน ใบออกเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม รูปวงรีแกมไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน กว้าง 2.5-4.5 เซนติเมตร ยาว 3-13 เซนติเมตร โคนใบสอบเรียบ ปลายใบมนหรือแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบมีขนละเอียดทั้งสองด้าน ใบอ่อนสีชมพูอ่อนถึงแดง เรียบ เป็นมันวาว ใบแก่สีเขียวสด เรียบ เกลี้ยง ผิวใบด้านบนเป็นมัน ด้านล่างมีต่อมกระจายทั่วไป เส้นใบข้าง 6-10 คู่ ซึ่งจะโค้งแบนค้นศรไม่มีเส้นของใน ก้านใบสีม่วงอมแดง ยาว 0.5-1.5เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อกระจุกแบบซี่ร่มสีชมพูหรือขาว
โดยดอกจะแทงออกจากตาดอกบริเวณเดียวกับตากิ่งแขนงย่อย กระจุกละประมาณ 1-6 ดอก ดอกตูมมีกลีบเลี้ยงสีเขียวประแดงม่วงหุ้มเป็นทรงกลม จำนวน 5 กลีบ เมื่อดอกบานจะแผ่กลีบดอกออก จำนวน 5 กลีบ แผ่นกลีบดอกเรียบ ไม่มีต่อมโปร่งแสงปลายกลีบตัด และเป็นหยัก ซึ่งกลีบดอกจะร่วงหมดเมื่อติดผล แต่จะเหลือกลีบเลี้ยงไว้หุ้มผล ส่วนด้านในดอกตรงกลางจะมีเกสรตัวผู้แยกออกเป็น 3 กลุ่ม โดยในแต่ละกลุ่มจะมีเกสรจำนวนมาก ปลายก้านเกสรเป็นเรณูสีเหลือง ด้านล่างเป็นรังไข่ จำนวน 3 อัน มีก้านดอกสีม่วงอมแดง ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ผลมีนวลขาวติดตามผิว ผลเมื่อแก่มีสีน้ำตาลหรือน้ำตาลดำ กว้าง 0.7 เซนติเมตร เป็นแบบแคปซูล ปลายแหลม ผิวเรียบและแข็ง ขนาด กว้าง 0.4-0.6 เซนติเมตร ยาว 1.3-1.8 เซนติเมตร และจะแตกออกเป็น 3 แฉก มีเมล็ดสีน้ำตาล ส่วนเมล็ด เป็นรูปไข่กลับ สำดำหรือน้ำตาล มีปีกด้านเดียว
การขยายพันธุ์ติ้วขาว
ติ้วขาวสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด ทั้งในธรรมชาติและการนำมาปลูก แต่ในปัจจุบันก็เริ่มมีการปลูกกิ่งพันธุ์ที่ได้จากการตอนกิ่งบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่แพร่หลายนัก สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปลูกนั้น ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปลูกไม้ยืนต้นประเภทอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของติ้วขาวพบว่า มีสาระสำคัญต่างๆ ดังนี้ Chlorogenic acid , Tannin , Astilbin , Quinone , Formoxanthone A , B , C , β-amyoin และ lupeol เป็นต้น นอกจากนี้ ใบอ่อน ยอดอ่อน และดอกของติ้วขาวยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการจากส่วนที่กินได้ของติ้วขาว (ยอดอ่อน, ใบอ่อน, ดอก) ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 58 กิโลแคลอรี
- โปรตีน 2.4 กรัม
- ไขมัน 1.7 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 8.2 กรัม
- เส้นใยอาหาร 1.4 กรัม
- วิตามินเอ 750 RE
- วิตามินบี1 0.04 มิลลิกรัม
- วิตามินบี2 0.67 มิลลิกรัม
- วิตามินบี3 3.1 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 58 มิลลิกรัม
- ธาตุแคลเซียม 67 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 2.5 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 19 มิลลิกรัม
- เบตาแครอทีน 4500 ไมโครกรัม
ที่มา : Wikipedia
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้แก้ธาตุพิการโดยนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ และแก้อาการปัสสาวะขัด โดยนำรากผสมกับรากปลาไหลและหัวแห้วหมู นำมาต้มกับน้ำดื่มวันละ 3 ครั้ง ใช้ฟอกโลหิต บำรุงโลหิต แก้ไขข้อพิการ แก้ปวดตามข้อขับลม แก้ประดง โดยใช้ดอก ยอดอ่อนหรือใบอ่อนมารับประทานโดยอาจนำไปประกอบอาหาร หรือรับประทานเป็นผักสดจิ้มน้ำพริกก็ได้ ใช้แก้ปะดงเลือด โดยการนำแก่นและลำต้น แช่กับน้ำดื่ม ใช้แก้ปัสสาวะขัดโดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม รักษารอยแตกของส้นเท้า โดยนำน้ำยางจากต้นมาทาบริเวณที่เป็น ใช้แก้โรคผิวหนังต่างๆ โดยนำเปลือกต้นหรือใบ นำมาตำแล้วผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใช้ทาบริเวณที่เป็น
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีรายงานการศึกษาวิจัยถึงการศึกษาสมบัติในการต้านสารอนุมูลอิสระของส่วนสกัดหยาบจากใบติ้วขาว พบว่าสารสกัดหยาบมีสมบัติในการต้านสารอนุมูลอิสระได้เมื่อทดสอบโดยวิธี DPPH scavenging assay โดยมีค่า IC50อยู่ที่ 28.77 ± 2.57 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีรายงานการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากรากของต้นติ้วขาว ว่าพบสารในกลุ่มแซนโทนใหม่ 3 สารคือ formoxanthone A-C โดยที่สาร formoxanthone A และ C มีสมบัติในการยับยั้วเชื้อแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวกและแกรมลบได้แก่ Bacillus subtilis, Staphylococcus aureus, Enterococcus faecalis และ Salmonella typhi
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาในต่างประเทศพบว่าติ้วขาวมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้
มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ แก้ไขสภาวะเครียดออกซิเดชั่นในหนูเลือด และต้านโรคหัวใจและหลอดเลือด ยับยั้งการเหม็นหืนของอาหาร ได้อีกด้วย
การศึกษาทางพิษวิทยา ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ติ้วขาวเป็นผักพื้นบ้านของไทยและมีการนำมาบริโภคเป็นอาหารมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว ดังนั้นในเรื่องการนำมาบริโภคเป็นอาหารจึงไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายได้ แต่ในการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรในการบำบัดรักษาอาการต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีไม่ควรที่พอดี ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไปหรือใช้ติดต่อกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะนำติ้วขาวมาใช้เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆนั้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง
- เอื้อมพร วีสมหมาย,ปณิธาน แก้วดวงเทียน,2547,ไม่ป่ายืนต้นของไทย1: Wild trees in Thailand1. กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์ เอช เย็น กรุ๊ป จำกัด
- อัจคราวดี แนนสนิท,สุรศักดิ์ ปรัชญา,สุดารัตน์ แสงสุข , นฤมล เสือแก้ว , สมฤดี จันทร์ส่องแสง , ไตรเทด์พีนและแซนโทนจากกิ่งอ่อนของต้นติ้วขาว.วารสารวิทยาศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี ปีที่ 13 ฉบับที่2.กรกฎาคม-ธันวาคม 2559.หน้า74-81
- กรมส่งเสริมการเกษตร.2557,ผักพื้นบ้านในประเทศไทย.กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ติ้วขาว.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=52
- ผักติ้ว/ติ้วขาว/ติ้วขน ประโยชน์และสรรพคุณผักติ้ว.พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
- Bui M.-L., Grayer R. J., Veitch N. C., Kite G. C., Tran H. and Nguyen Q.-C. K. (2004). Biochem. Syst. Ecol. 32. p. 943-947.
- Robson, N. K. B. (1974). Flora Malesiana Ser. I. p 8.
- Stevens, P. F. 2007. Clusiaceae-Guttiferae. Flowering Plants Eudicots: Springer Berlin Heidelberg
- Maisuthisakul P., Pongsawatmanit R. and Gordon M. H. (2006). J. Agric. Food Chem. 54. p. 2719-2725.
- Trakoontivakorn, G., Nakahara, K., Shimoto, H., Takenaka, M., Onishi-Kameyama, M., Ono, H., et al. (2001). Structural analysis of a novel antimutagenic compound, 4-hydroxypanduratin A, and the antimutagenic activity of flavonoids in a Thai spice, finger root (Boesenbergia pandurata Schult.) against mutagenic heterocyclic amines. Journal of Agricultural and Food Chemistr, 49. p. 3046-3050
- Boonsri, S., Karalai, C., Ponglimanont, C., Kanjana-Opas, A., Chantrapromma, K. 2006. Antibacterial and cytotoxic xanthones from the roots of Cratoxylum formosum. Phytochemistry. 67(7): 723-7
- Supol Boonsaner. (2004). Antioxidant effect of Cratoxylum formosum Dyer, Eugenia grata Wight and Morus alba L. on phynylhydrazine – induce anemic rats. Master of Science Thesis in Pharmacology. Graduated School, Khon Kaen University.
- Nakahara, K., Trakoontivakorn, G., Alzoreky, N. S., Ono, H., Onishi-Kameyama, M., and Yoshida, M. (2002). Antimutagenicity of some edible Thai plants, and a bioactive carbazole alkaloid, mahanine, isolated from Micromelum minutum. Journal of Agricultural and Food Chemistry, 50. p. 4796-4802
- Taejarernwiriyakul, O., Buasai, M., Rattanatra- nurak, I., Sriyod, P., Ormjai, M.B., Chanluang, S. 2011. Xanthine Oxidase Inhibitory Activity of Medicinal Plants. Thai Pharmaceutical and Health Science Journal-วารสาร ไทย เภสัชศาสตร์และ วิทยาการ สุขภาพ. 6(1): 1-6.