เฮลเพอริดิน

เฮลเพอริดิน

ชื่อสามัญ Hesperidin

ประเภทและข้อแตกต่างของสารเฮสเพอริดิน

สารเฮสเพอริดิน เป็นสารโพลิฟีนอลในกลุ่มไบโอฟลาโวนอยด์ (bioflaranoid) ที่มีสูตรทางเคมี คือ C28H34O15 มีมวลโมเลกุล 610.565 g/mol-1 โดยสารนี้มีการค้นพบเป็นครั้งแรกโดย  Lebreton ถูกแยกออกจากเปลือกชั้นสีขาว (เปลือกใน หรือ mesocarp) ของเปลือกส้ม สำหรับประเภทของสารเฮลเพอริดิน นั้น พบว่ามีเพียงประเภทเดียวเท่านั้น

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาของสารเฮสเพอริดิน

สารเฮสเพอริดิน สามารถพบได้ในพืชและผลไม้ตระกูลส้ม เช่น ส้ม (citrus) หรือ ในวงศ์ Rutaceae เช่น ส้ม ส้มโอ มะนาว ส้มซ่า ส้มโอมือ ส้มเช็ง เลมอน หรือ เกรพฟรุต เป็นต้น โดยจะพบมากในส่วนของเปลือกผลเป็นส่วนใหญ่ โดยมีรายงานถึงปริมาณของสารเฮสเพอริดินว่า มีการศึกษาในขนาดของพืชและผลไม้ที่เป็นแหล่งของสารดังกล่าว พบว่าในปริมาณ 100 กรัม เท่ากันนั้น น้ำส้มเลือดมีสารเฮสเพอริดิน 44 มิลลิกรัม, น้ำส้ม (ไม่ระบุ) มี 26 มิลลิกรัม น้ำมะนาวมี 18 มิลลิกรัม และน้ำส้มโอมี 1 มิลลิกรัม นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการสกัดเอาสารเฮสเพอริดิน จากพืชตระกูลส้มมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อนำมาใช้ตามสรรพคุณ และฤทธิ์ทางยาของสารดังกล่าวกันอย่างแพร่หลายอีกด้วย


ปริมาณที่ควรได้รับจากสารเฮสเพอริดิน

สำหรับขนาดและปริมาณการใช้สารเฮสเพอริดินต่อวันนั้นยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์การใช้อย่างแน่ชัด ซึ่งโดยส่วนมากแล้วการใช้สารเฮสเพอริดินจะเป็นการใช้ควบคู่ไปกับ สาร Diosmin  ในการรักษาโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด ซึ่งมีขนาดและปริมาณการใช้ดังนี้   

          รักษาริดสีดวงทวาร โดยใช้สารเฮสเพอริดิน ขนาด 150 มิลลิกรัมกับ ไดออสมิน (Diesmin) ขนาด 1350 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทานติดต่อกัน 4 วัน หรือรักษาภาวะเลือดคั่ง (venous stasis ulcers) เฮสเพอริดิน ขนาด 100 มิลลิกรัมกับ ไดออสมิน 900 มิลลิกรัม รับประทานทุกวันติดต่อกัน 2 เดือน เป็นต้น

          นอกจากนี้ยงมีการกำหนดการใช้สารเฮสเพอริดินในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง รายชื่อพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560 โดยได้กำหนดให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่สกัดจาก มะนาว ไลม์ ส้มเขียวหวาน ส้ม ส้มเกลี้ยง ให้มีการระบุขนาดรับประทานโดยให้ได้รับสารเฮชเพอริดินไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/วัน อีกด้วย

ประโยชน์และโทษสารเฮสเพอริดิน

สารเฮสเพอริดินมักถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพเป็นหลัก โดยส่วนใหญ่จะถูกใช้เพื่อรักษาโรคหลอดเลือด เช่น ริดสีดวงทวาร, โรคลิ่มเลือด, เส้นเลือดขอด, ลดการอักเสบ และ โรคหลอดเลือดหัวใจ ลดความดันโลหิต ลดน้ำตาลในเลือด ป้องกันความผิดปกติในระบบประสาท ยับยั้งเชื้อไวรัส มะเร็งบางชนิด และยังถูกใช้รักษาอาการภาวะบวมน้ำเหลืองและอาการบวมน้ำ (ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดมะเร็งปอด) ลดภาวะเครียดจากออกซิเดชั่นและลดการอักเสบที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ รวมถึงยังมีส่วนช่วยลดความผิดปกติของเซลล์เยื่อบุในหลอดเลือดและลดระดับตัวบ่งชี้ของการอักเสบในผู้ป่วยที่เป็น metabolic syndrome ได้อีกด้วย

           อีกทั้งสารเฮสเพอริดิน ยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาและเสริมสร้าง เส้นเลือดดำ โดยเฉพาะการลดการซึมผ่านและความ อ่อนแอของเส้นเลือดดำ โดยเฉพาะโรคที่สัมพันธ์กับ การเพิ่มการซึมผ่านเส้นเลือด เช่น ริดสีดวงทวาร ลักปิดลักเปิด แผลเน่าเปื่อยพุพอง แผลถลอก และเมื่อร่างกายขาดเฮสเพอริดินมักจะเกิดความผิดปกติของ เส้นเลือดฝอย อาการอ่อนเพลีย และเกิดตะคริวที่ขาในเวลา กลางคืน เป็นต้น

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องของสารเฮสเพอริดิน

มีผลการศึกษาวิจัยของเฮสเพอริดินเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ มากมายหลายฉบับ อาทิเช่น 

          ฤทธิ์ยับยั้งการติดเชื้อไวรัส มีการศึกษาวิจัยพบว่า สารสกัดน้ำเดือดจากผลส้มเกลี้ยง (Citrus aurantium L.) มีผลยับยั้งการติดเชื้อโรต้าไวรัส (rotavirus) (ที่เป็นสาเหตุสำคัญของอาการท้องเดินในทารกและเด็กเล็ก) โดยเมื่อทดลองในเซลล์เพาะเลี้ยง (in vitro) สารสำคัญที่แสดงฤทธิ์ คือ เฮสเพอริดิน (hesperidin) และนีโอเฮสเพอริดิน (neohesperidin) ซึ่งมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งการติดเชื้อไวรัส 50% (IC50) เท่ากับ 10 และ 25 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ

          ฤทธิ์ลดความดันโลหิต มีการศึกษาวิจัยในหนูแรทเพศผู้ที่ถูกชักนำให้เกิดความดันเลือดสูงด้วยสารแอลเนม (40 มก./กก./วัน) ในน้ำกลั่น หรือได้รับร่วมกับการป้อนเฮสเพอริดิน (15 และ 30 มก./กก./วัน) เป็นเวลา 5 สัปดาห์ โดยวัดความดันซิสโทลิกสัปดาห์ละครั้ง และประเมินการทำงานของหลอดเลือดเอออตาร์ และมีเซนเทอริกพบว่าหนูทดลองที่ได้รับสารแอลเนมมีความดันเลือดสูงและลดการตอบสนองของหลอดเลือดต่อสารอะซิติลโคลีน การตอบสนองต่อสารโซเดียมไนโตรปรัสไซด์ไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่ม แต่เฮสเพอริดินป้องกันการเพิ่มขึ้นของความดันเลือดและบรรเทาการทำงานของหลอดเลือดที่ผิดปกติจากสารแอลเนมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ดังนั้นจึงสรุปว่าเฮสเพอริดินสามารถป้องกันการเกิดความดันเลือดสูง โดยสารแอลเนมได้บางส่วน

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและป้องกันระบบประสาท มีการศึกษาถึงกลไกการป้องกันและผลของการป้องกันระบบประสาทของเฮสเพอริดินพบว่าสารนี้ ปรับวิถีการส่งสัญญาณของเซลล์ประสาทซึ่งเกี่ยวข้องกัน synaptic plasticity นอกจากนี้เฮสเพอริดินยังสามารถเสริมสร้างการเรียนรู้และความจำและมีศักยภาพในการักษาความเสื่อมของโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทได้อีกด้วย

           และยังมีการศึกษาในหนูแรท เพศผู้ จำนวน 24 ตัว สายพันธุ์ Sprague Dawley อายุ 4-5 สัปดาห์ ถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มล่ะ 6 ตัว โดยในกลุ่มควบคุม (vehicle group) ได้รับน้ำเกลือและโพรพิลีนไกลคอล กลุ่มเฮสเพอริดิน (hesperidin group) ได้รับเฮสเพอริดิน กลุ่มเมโธเทรกเซท (methotrexate group) ได้รับเมโธเทรกเซท และกลุ่มเมโธเทรกเซทร่วมกับเฮสเพอริดิน (methotrexate+hesperidin group) ได้รับเมโธเทรกเซทร่วม กับเฮสเพอริดิน โดยเมโธเทรกเซทถูกฉีดให้กับหนูกลุ่มเมโธเทรกเซท และกลุ่มเมโธเทรกเซทร่วมกับเฮสเพอริดิน ในปริมาณ 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทางหลอดเลือดดำในวันที่ 8 และ 15 ของการทดลอง และได้รับเฮสเพอริดินทางปาก เป็นเวลา 21 วัน หลังจากสิ้นสุดการให้สาร 3 วัน หนูถูกทดสอบความจำโดยการทดสอบ novel object location และ novel object recognition ผลการศึกษา : ผลการศึกษา พบว่าการทดสอบ novel object location และ novel object recognition มีค่าระยะเวลาการสำรวจวัตถุทั้งหมดในแต่ละกลุ่มไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) การทดสอบ novel object location พบว่าหนูในกลุ่มควบคุม กลุ่มเฮสเพอริดิน และกลุ่มเมโธเทรกเซทร่วมกับเฮสเพอริดิน สามารถแยกความแตกต่างระหว่างวัตถุในตำแหน่งใหม่และตำแหน่งเก่าได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ดังนั้นในการศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าเฮสเพอริดิน สามารถป้องกันและฟื้นฟูความจำบกพร่องที่ถูกเหนี่ยวนำจากเมโธเทรกเซทในหนูแรทโตเต็มวัยได้

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอื่นๆ ยังพบว่าเฮสเพอริดิน มีฤทธิ์ในการลดน้ำตาลในเลือดยับยั้งการอักเสบ ลดระดับไขมันในเลือดและยับยั้งเซลล์มะเร็งได้อีกด้วย อีกทั้งล่าสุดยังมีงานวิจัยหลายฉบับในวารสารนานาชาติ รายงานว่า เฮสเพอริดีนในเปลือกมะนาว อาจจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ ในกลุ่ม Influenza A Virus และ Coronaviruses เช่น SARS MERS และ COVID-19 ได้ โดยมีหลักฐานการทดลองในหนูยืนยันว่า เฮสเพอร์ริดินที่ได้จากส้มสามารถเข้าไปจับกับโปรตีนตัวรับ (Protein receptor) ชื่อ ACE2 (Angiotensin Converting Enzyme 2) ของเซลล์ร่างกายได้อย่างจำเพาะ ซึ่งช่วยขัดขวางไม่ให้ spike โปรตีนของไวรัสสามารถเกาะกับเซลล์ร่างกาย จึงทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่เฮสเพอริดินมีค่าพลังงานในการจับตัว (binding energy) ต่ำ หมายความว่าเฮสเพอร์ริดินสามารถจับกับ ACE2 ได้ดีกว่ายาต้านไวรัสหลายชนิด

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ในการใช้สารเฮสเพอริดิน ซึ่งเป็นสารสกัดจากธรรมชาติถึงแม้ว่าจะไม่มีรายงานความเป็นพิษที่ระบุว่ามีความเป็นพิษ แต่ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสารสกัดชนิดอื่นๆ เพราะยังไม่มีขนาดและปริมาณการใช้ที่แน่ชัด ดังนั้น จึงควรใช้ตามขนาดและปริมาณที่แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญแนะนำอย่างเคร่งครัด รวมถึงไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ส่วนผู้ที่แพ้พืชตระกูลส้ม (RUTACEAE หรือ CITRUS) ไม่ควรใช้สารเฮสเพอริดิน เพราะอาจเกิดอาการข้างเคียงหรืออาการแพ้ที่รุนแรงได้ อีกทั้งควรใช้เฮสเพอริดินจะออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อมีวิตามินซีร่วมด้วย

เอกสารอ้างอิง เฮสเพอริดิน
  1. สารลินี แนวหล้า,กรรวี สุวรรณโคตร,วนันนันท์ แป้นนางรอง,จริยา อำดา เวลบาท.ผลของสารเฮสเพอริดิน ต่อความจำบกพร่องในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย เมโธเทรกเซท.ศรีนครินทร์เวชสาร ปีที่ 34.ฉบับที่ 1 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2562.หน้า 26-36
  2. พิจิตรา อ๊อกแอก,อิทธิพล พวงเพชร,วันทณี หาญช้าง,สะการะ ตันโสภณ.ผลของสารเฮสเพอริดินต่อการยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโอซิเดสและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของลำไส้เล็กในหนูเบาหวาน.วารสารมหาวิทยาลัยนเรศวร (วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ปีที่ 24.ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2553.หน้า 68-99
  3. ผลส้มเกลี้ยงยับยั้งการติดเชื้อไวรัส.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. ประภัสสร โพธิ์ติและคณะ.ผลของสารเฮสเพอริดินต่อความดันเลือดและการทำงานของหลอดเลือดผิดปกติในหนูแรทที่ถูกชักนำให้เกิดความดันเลือดสูงด้วยสารแอลเนม.ศรีนครินทร์เวชสารปีที่ 32.ฉบับที่ 1มกราคม-กุมภาพันธ์ 2560.หน้า 24-29
  5. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องรายชือพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560
  6. Mandel S, Youdim MB. Catechin polyphenols: neurodegeneration and neuroprotection in neurodegenerative diseases. Free Radic Biol Med. 2004; 37: 304-17.
  7. Peterson.J.J.,Beexher,G.R.,Bhagwat,S,A.,Dwyer,J.T.,Gebhardt,S.E.,Haytowitz,D.B.,&Holden,and limes:A compilation and review of the data from analytical literature. Journal of Food Composition and Analysis, 19,S74-S80.
  8. Garg A, Garg S, Zaneveld LJ, Singla AK. Chemistry and pharmacology of the Citrus bioflavonoid hesperidin. Phytother Res. 2001; 15: 655-69.
  9. Inderjit, Dakshini KM (สิงหาคม 2534). "Hesperetin 7-rutinoside (hesperidin) และ Taxifolin 3-arabinoside เป็นสารยับยั้งการงอกและการเจริญเติบโตในดินที่เกี่ยวข้องกับวัชพืช Pluchea lanceolata (DC) CB Clarke (Asteraceae)" วารสารนิเวศวิทยาเคมี . 17 (8): 1585–91 ดอย : 10.1007 / BF00984690 . PMID  24257882 S2CID  3548350 4.
  10. Spencer JP. The interactions of flavonoids within neuronal signalling pathways. Genes Nutr. 2007; 2: 257-73.
  11. Agrawal.Y.O.,Sharma,P.K.,Shrivastava,B.,Ojha,S.,Upadhya,H.M.,Arya,D.S.,&Goyal,S,N,(2014).Hesperidin produces caedioprotective activity via PP AR-y pathway in ischemic heart disease model in diabetic rats. PLoS ONE.9(11),e111212.doi:10.1371/jourmal.pone.0111212
  12. Tamilselvam K, Braidy N, Manivasagam T, Essa MM, Prasad NR, Karthikeyan S, et al. Neuroprotective effects of hesperidin, a plant flavanone, on rotenone-induced oxidative stress and apoptosis in a cellular model for Parkinson’s disease. Oxid Med Cell Longev. 2013; 2013: 102741.