ขี้เหล็กเทศ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นและข้อมูลงานวิจัย

ขี้เหล็กเทศ งานวิจัยและสรรพคุณ 40 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ขี้เหล็กเทศ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ขี้เหล็กผี, ชุมเห็ดเล็ก, พรมดาน (ภาคกลาง), ขี้เหล็กเผือก, หมากกะลิงเทศ, ลับมืนน้อย (ภาคเหนือ), ผักจี๊ด (ไทยใหญ่), ว่างเจียงหนาน, กิมเต่าจี้, ม่อกังน้ำ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia Occidentalis (Linn) Link
ชื่อสามัญ Coffeaweed, Coffce senna
วงศ์ FABACEAE-CAESALPINIACEAE


ถิ่นกำเนิดขี้เหล็กเทศ

ขี้เหล็กเทศ เป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้ ต่อมาจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนอื่นๆ ของโลก ในปัจจุบันสามารถพบได้ทั่วไปในเขตร้อนชื้นต่างๆ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาคของประเทศ บริเวณที่รกร้าง หรือ ที่แห้งแล้งตามไหล่เขา ริมน้ำลำคลอง และพื้นที่โล่งทั่วไป ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลจนจนถึงระดับความสูงประมาณ 1,000 เมตร โดยมักขึ้นทั่วไปในพื้นที่โล่ง


ประโยชน์และสรรพคุณขี้เหล็กเทศ

  • แก้ไข้
  • แก้ลม
  • แก้ปวดศีรษะ
  • แก้ร้อนใน
  • แก้ไอ
  • แก้หอบหืด
  • ใช้เป็นยาระบาย
  • ใช้ถ่ายพยาธิ
  • แก้ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ช่วยดับพิษร้อนในตับ
  • ใช้รักษาโรคผิวหนัง
  • รักษากลากเกลื้อน
  • รักษาผิวหนังพุพอง
  • แก้ผื่นคัน
  • รักษาแมลงสัตว์กัดต่อย
  • แก้บวม
  • แก้อักเสบภายนอก
  • บำรุงธาตุ
  • บำรุงกระเพาะอาหาร
  • แก้โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
  • รักษาโรคกระเพาะอาหาร
  • ช่วยลดความดันโลหิต
  • แก้ไข้มาลาเรีย
  • แก้ตาแดงบวม
  • แก้วิงเวียน
  • แก้จุดเสีด
  • แก้บิด
  • ขับปัสสาวะ
  • ช่วยกล่อมตับ
  • บำรุงร่ายกาย
  • แก้รำมะนาด
  • รักษาแผลในหู
  • แก้นิ่ว
  • แก้บวมน้ำ
  • บำรุงกำลัง
  • แก้หนองใน
  • แก้เบาหวาน
  • แก้ไอหอบ
  • แก้อาหารเป็นพิษ
  • แก้ท้องผูก

           ขี้เหล็กเทศ เป็นพืชที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายประเภทเช่นเดียวกันกับขี้เหล็ก (Cassia siamea Lam.) ที่เรารู้จักกันดี โดยขี้เหล็กเทศถูกนำมาใช้ประโยชน์ เช่น ยอดอ่อน และใบอ่อนสามารถนำมานึ่งให้สุกรับประทานเช่นเดียวกันกับยอดอ่อนขี้เหล็กบ้านโดยนิยมนำมารับประทานกับแจ่ว หรือ นำไปปรุงอาหาร เช่น แกงยอดขี้เหล็ก และแกงเลียง แกงเผ็ด ผัด เป็นต้น ส่วนเมล็ดสามารถนำมาคั่วแล้วบดใช้ชงดื่มแทนกาแฟ, ชา หรือ ใช้ผสมกับกาแฟ (สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการคาเฟอีน มาก) นอกจากนี้ต้น และใบยังสามารถใช้เป็นแหล่งอาหารสัตว์ เช่น โค กระบือ แกะ หรือ อาจนำต้นสดทั้งต้น ทำปุ๋ยพืชสด โดยมีรายงานว่าจะให้ปริมาณโพแทสเซียม มาก

ขี้เหล็กเทศ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  1. โรคหนองใน ปัสสาวะเป็นเลือด โดยใช้ทั้งต้นสด 30 กรัม ต้มน้ำดื่ม
  2. ลดความดันเลือดสูง โดยใช้เมล็ดคั่วให้เกรียมมีกลิ่นหอม บดเป็นผง ใช้ครั้งละ 3 กรัม ผสมน้ำตาลกรวดพอประมาณ ชงน้ำดื่มเป็นประจำ
  3. แก้โรคกระเพาะอาหาร และลำไส้อักเสบเรื้อรัง ท้องผูกเป็นประจำ ระบบย่อยอาหารไม่ดี โดยใช้เมล็ดที่คั่วจนเหลือง 15-30 กรัม บดเป็นผงกินติดต่อกันประมาณ 10 วัน
  4. แก้ไข้มาลาเรีย โดยใช้เมล็ดที่คั่วให้เกรียมมีกลิ่นหอมบดเป็นผง กินครั้งละ 6-10 กรัม วันละ 2 ครั้ง
  5. ตาแดงบวม เห็นพร่ามัว โดยใช้เมล็ดแห้ง 15-30 กรัม ผสมน้ำตาลกรวด 30 กรัม ชงน้ำดื่ม
  6. ใช้แก้ฝีบวมอักเสบ โดยใช้ใบตากแห้งบดเป็นผง ผสมน้ำส้มสายชูพอก หรือ อาจผสมเหล้าพอกเพื่อเร่งให้หัวฝีออกเร็วขึ้น
  7. แมลงสัตว์กัดต่อย โดยใช้ใบสดตำพอก
  8. ใช้บำรุงร่างกาย แก้เบาหวาน แก้มาลาเรีย แก้อาหารเป็นพิษโดยใช้ราก หรือ ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม
  9. ใช้รักษารำมะนาด โดยใช้รากขี้เหล็กเทศ นำมาผสมกับข้าวสารเจ้า หรือ ข้าวเย็น ข้าวสารเหนียว ต้นกระไดลิง ต้นมะกอกเผือก รากเกล็ดลิ่น รากกรามช้าง รากงิ้ว รากแตงเถื่อน รากถั่วพู รากปอขาว และรากฟักข้าว ใช้ฝนกับน้ำซาวข้าวดื่ม
  10. ใช้แก้ปวดศีรษะ โดยใช้ฝัก และเมล็ด หรือ ทั้งต้น และใบนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ใบสดประมาณ 20 กรัม และเนื้อหมูอีก 250 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม
  11. ใช้แก้อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษโดยใช้ราก หรือ ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม
  12. ใช้ขับของเสียออกจากไต ใช้กล่อมตับ โดยใช้ฝัก และเมล็ดนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ต้นและใบแห้งประมาณ 6-10 กรัม
  13. ใช้แก้ปัสสาวะเป็นเลือด โดยใช้ทั้งต้น และใบแห้งประมาณ 6-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ จะใช้ยาชงจากเปลือกต้น หรือ รากก็ได้
  14. ใช้ขับปัสสาวะ โดยใช้ราก หรือ ต้นใช้ต้มกับน้ำดื่ม
  15. ใช้รักษาอาการอักเสบภายนอก ด้วยการใช้ทั้งต้น และใบสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาตำพอกบริเวณที่เป็น หรือ จะใช้เมล็ดประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มก็ได้เช่นกัน


ลักษณะทั่วไปของขี้เหล็กเทศ

ขี้เหล็กเทศ จัดเป็นไม้พุ่ม (shrub) เนื้อแข็งอายุหลายปี ต้นสูง 1-2 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นมีสีเขียวอมม่วง ไม่มีขน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น 10.4-12.74 เซนติเมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกแบบเรียงสลับ โดยใน 1 ช่อใบ จะมีแกนกลางใบยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร และส่วนก้านใบประกอบยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร มีใบย่อย 3-5 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่แกมใบหอก ไม่สมมาตรกัน มีขนาดกว้าง 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-10เซนติเมตร โคนใบกลม ปลายใบแหลมยาว ส่วนขอบใบมีขนครุย และมีสีม่วงแดง แผ่นใบเกลี้ยงบาง ผิวใบมีสีเขียวเข้มไม่มีขน ด้านหลังใบเห็นเส้นกลางใบสีม่วงแดงนูนขึ้นชัดเจน ก้านใบด้านหน้ามีสีม่วงแดง ส่วนด้านหลังเป็นสีเขียว หรือ อาจมีสีม่วงแดงประปราย ที่โคนก้านใบด้านในมีต่อมสีแดงเข้ม ก้านใบย่อยยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มีหูใบเป็นขนแข็ง และยาวได้ประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อกระจายแบบแยกแขนง (panicle) ปลายยอด และตาข้าง ช่อดอกมีความยาว 5.26-12.62 เซนติเมตร ตรงโคนช่อดอกย่อยมีต่อมสีแดงเข้ม โดยใน 1 ช่อดอก จะมีดอกย่อย 12-22 ดอกต่อช่อ ลักษณะกลีบดอก (petal) รูปไข่มี 5 กลีบ ขนาด 5-6 มิลลิเมตร สีเหลือง ซึ่งกลีบบนค่อนข้างใหญ่กว่ากลีบล่างอีก 2 คู่ และมีอับเรณู (anther) เป็นสีน้ำตาลอ่อน ผล เป็นฝักมีลักษณะเป็นรูปแถบ แบน เกลี้ยง มีขนาดกว้าง 0.7-0.8 เซนติเมตร และยาวได้ 10-12 เซนติเมตร มีรอยแบ่งระหว่างข้อไม่ชัดเจน แต่มีรอยขอบฝักชัดเจน สีฝักอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนฝักแก่เป็นน้ำตาล และไม่แตกเอง ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลประมาณ 30-40 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลม แบน ปลายข้างหนึ่งจะค่อนข้างแหลม ซึ่งเมล็ดจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-4 มิลลิเมตร

ขี้เหล็กเทศ

ขี้เหล็กเทศ

การขยายพันธุ์ขี้เหล็กเทศ

ขี้เหล็กเทศเป็นไม้พุ่มที่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด ซึ่งโดยส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติมากกว่าการปลูก โดยมนุษย์ แต่ในปัจจุบันได้เริ่มมีการนำขี้เหล็กเทศ มาเพาะเมล็ดปลูกกันบ้างแล้ว เนื่องจากสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้หลายประการ สำหรับการเพาะเมล็ด และการปลูกขี้เหล็กเทศนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด และการปลูกไม้พุ่มชนิดอื่นๆที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของขี้เหล็กเทศ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดดังนี้

           ส่วนใบพบสาร oxymethylanthraquinones และพบสาร physcion, hydroxyanthraquinone, dianthronic heteroside, heterodianthrones quercetin, chrysophanol, 4, 5, 5′, 5′, -tetrahydroxy-2, 2′-dimethybianthraquinone emodin, 1, 8-dihydroxyanthraquinone, matteucinol-7-rhamonside, jaceidin-7-rhamnoside

           รากพบสาร anthraquinone, oxymethylanthraquinone, islandicin, chrysophanol, xanthorin, heterodianthrone, chrysophanol, cassiollin, emodin, helminthosportin, physcon quercetin, stigmasterol

           ดอก พบสาร emodin, β-sitosterol, physcion, physcion-l-β-D-glucopyranoside
           ผล พบสาร oxymethylanthraquinones

          เมล็ด พบสาร Cassiollin, Aloe-emodin, Emodin, Dianthronie heteroside, Homodianthrone, Islandicin, Physcion, Physcion-l-glycoside, N-methylmorpholine alkaloid, Physcion homodianthrone, Chrysophanol, Toxalbulmin, Rhein และยังพบกรดอะมิโนต่างๆ อีกหลายชนิด เป็นต้น

โครสร้างขี้เหล็กเทศ

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของขี้เหล็กเทศ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของขี้เหล็กเทศ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           ฤทธิ์ป้องกันผลข้างเคียงของยารักษามะเร็ง มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ป้องกันผลข้างเคียงจากยารักษาโรคมะเร็งในหนูทดลอง โดยเมื่อป้อนสารสกัดน้ำจาก ขี้เหล็กเทศ (Cassia occidenta  L.) แก่หนูถีบจักรขนาด 100 มก./กก.นน.ตัว ติดต่อกัน 14 วัน และฉีดไซโคลฟอสฟาไมด์ขนาด 50 มก./กก.นน.ตัว ทางช่องท้องในวันที่ 12 ของการทดลอง พบว่าสารสกัดมีผลป้องกันฤทธิ์ในการกดภูมิคุ้มกันชนิดฮิวมอลราลของไซโคลฟอสฟาไมด์ โดยวัดจาก plaque forming cell ( PFC ), antibody titre และการแตกของเม็ดเลือดแดง (Quantitative hemolysis of sheep red blood cells, QHS) ทั้งไซโคลฟอสฟาไมด์ และสารสกัดขี้เหล็กเทศ มีผลทำให้น้ำหนักม้ามของหนูลดลง อย่างไรก็ตามเมื่อวัดจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวในอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน คือ ม้าม ไขกระดูก และต่อมไธมัส พบว่าสารสกัดมีผลป้องกันการลดจำนวนเซลล์ของไซโคลฟอสฟาไมด์ในอวัยวะดังกล่าวข้างต้น

           ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคมีเรีย มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดด้วยปิโตรเลียมอีเธอร์ เบนซิน แอลกอฮอล์ จากใบ ราก และเมล็ดของขี้เหล็กเทศระบุว่า มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น Staphylococcus aureus, Bacillus subtilis B. proteus และ Vibrio cholerae โดยฤทธิ์ฆ่าเชื้อนี้เกิดจากน้ำมันระเหยของขี้เหล็กเทศ นอกจากนี้สารสกัดด้วยน้ำของขี้เหล็กเทศยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้อีกด้วย

           ส่วนน้ำต้มจากใบ และต้น สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ของขี้เหล็กเทศ มีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อลำไส้เล็ก และมดลูกของหนูใหญ่ ลดความดันเลือดสุนัขที่ใช้ในการทดลอง นอกจากนี้น้ำต้มจากใบ และต้น ยังมีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจของกระต่ายเล็กน้อย ยังมีการศึกษาวิจัยสารสกัดจากต้นขี้เหล็กเทศ ด้วยแอลกอฮอล์ผสมอีเธอร์ขนาด 100 มก. พบว่ามีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ทำให้อัตราปริมาณน้ำปัสสาวะของสุนัขที่ใช้ในการทดลองที่ทำให้สลบ และให้น้ำสม่ำเสมอนั้น มีปัสสาวะเพิ่มขึ้น 300% เมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์ทดลองกลุ่มที่ไม่ให้สารสกัดนี้

           ยังมีการศึกษาหลอดลมของหนูเม้าส์หรือหนูแรทในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดจากใบขี้เหล็ก (Cassia occidentalis) ที่สกัดด้วยน้ำ และเอทานอล มีฤทธิ์ขยายหลอดลม โดยสารสกัดเอทานอล ออกฤทธิ์ดีกว่าสารสกัดน้ำ โดยสารสกัดจากขี้เหล็กเทศขนาด 1 มก./มล. ทำให้มีการขยายของหลอดลมได้ถึง 70%


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของขี้เหล็กเทศ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาจากส่วนของเมล็ดขี้เหล็กเทศ รวมถึงสารสกัดจากเมล็ดของขี้เหล็กเทศ ระบุว่ามีความเป็นพิษเนื่องจาก ในเมล็ดขี้เหล็กเทศจะมีโปรตีนที่เป็นพิษ ที่ชื่อ Toxalbumin ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีพิษทำให้มีอาการถ่ายท้องอย่างแรง ซึ่งมีการศึกษาวิจัยโดยให้หนูเล็ก หนูใหญ่ และม้า กินเมล็ด หรือ ฉีด สารสกัดจากเมล็ดพบว่าสัตว์ทดลองมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรงสารสกัดด้วยเบนซินจากเมล็ด เมื่อฉีดเข้าหลอดเลือดดำพบว่าเป็นพิษต่อตับ และไต นอกจากนี้ยังมีการทดลองนำส่วนของทั้งต้นที่มีฝักแห้งหนัก 14 กก. ให้แกะกินติดต่อกันมากกว่า 17 วัน พบว่ามีผลระคายเคืองต่อระบบการย่อยอาหาร


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

การใช้ขี้เหล็กเทศไม่ว่าจะเป็นการรับประทานเป็นอาหาร หรือ ใช้เป็นยาสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เฉพาะส่วนของเมล็ดเนื่องจากในเมล็ดมีโปรตีนที่เป็นพิษ คือ Toxalbumin ซึ่งเป็นสารพิษที่ก่อให้เกิดอาการถ่ายท้องอย่างแรง ซึ่งหากได้รับสารนี้เข้าไปจะมีอาการอาเจียน และท้องร่วงอย่างรุนแรง ดังนั้นการใช้ขี้เหล็กเทศเป็นยาสมุนไพรโดยเฉพาะส่วนของเมล็ดควรใช้โดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น


เอกสารอ้างอิง ขี้เหล็กเทศ
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ขี้เหล็กเทศ”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 140-145.
  2. ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ. ข้าวฟ่าง สมุทรโคดม และขี้เหล็กเทศ. คอลัมน์อื่นๆ. นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 24. เมษายน 2524.
  3. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ชุมเห็ดเล็ก”. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. หน้า 63.
  4. ณัฎฐณิชชา มหาวงษ์. สมุนไพรกับโรคหอบหืด, จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 29. ฉบับที่ 3 เมษายน 2555. หน้า 2-15
  5. วิทยา บุญวรพัฒน์. “ขี้เหล็กเทศ”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 138.
  6. ขี้เหล็กเทศป้องกันผลข้างเคียงของยารักษามะเร็ง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. Irie-N'guessan G, Champy P, Kouakou-Siransy G, Koffi A, Kablan BJ, Leblais V. Tracheal relaxation of five Ivorian anti-asthmatic plants: role of epithelium and K channels in the effect of the aqueous-alcoholic extract of Dichrostachys cinerea root bark. J Ethnopharmacol 2011;138(2):432-8.