กอมขน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กอมขน งานวิจัยและสรรพคุณ 15 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กอมขน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ดีงูต้น, ตะพานก้น, ขางครั่ง, ขางขาว, มะค้า (ภาคเหนือ), จันเขา, ก้ามกุ้งต้น, ดำ, หงีน้ำ, หยี้ใบเล็ก (ภาคใต้), หมาชล, กะลำเพาะต้น (ภาคตะวันออก), มะปอจอ, เนียปะโจ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Picrasma javanica Blume.
วงศ์ SIMAROUBACEAE


ถิ่นกำเนิดกอมขน

กอมขน จัดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยมีเขตการกระจายพันธุ์บริเวณทางฝั่งตะวันออกของอินเดีย รวมถึงในพม่า ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทยพบกอมขน ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ บริเวณริมน้ำในป่าดิบทั่วไป และในป่าดิบชื้น ที่มีความสูง 200-600 เมตรจากระดับน้ำทะเล


ประโยชน์และสรรพคุณกอมขน

  1. ใช้เป็นยาบำรุงน้ำดี
  2. ใช้บำรุงเลือด
  3. ใช้แก้ไข้ตัวร้อน
  4. แก้ไข้จับสั่น
  5. รักษามาลาเรีย
  6. แก้ไข้เหลือง
  7. แก้พยาธิในเด็ก
  8. ใช้แก้ผื่นคัน จากลมพิษ
  9. แก้แมลงสัตว์กัดต่อย
  10. ใช้แก้เจ็บคอ
  11. แก้ไอ
  12. ใช้แก้แผลอักเสบ
  13. รักษาแผลเป็นหนอง
  14. ใช้แก้พิษแมลง และตัวบุ้ง
  15. ใช้พอกแผล

           ในภาคเหนือมีการนำเปลือกต้นของกอมขน มาใช้เป็นยาฆ่าแมลงทั้งแมลงภายในบ้าน และแมลงทางการเกษตร

กอมขน
ที่มาของภาพ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้บำรุงน้ำดี บำรุงเลือด แก้ไข้ ไข้มาลาเรีย หรือ ไข้จับสั่น ไข้ตัวร้อน ไข้เหลือง โดยนำเปลือกต้น และเนื้อไม้กอมขน มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้อาการไอ เจ็บคอ โดยนำผลกอมขน มาบดเป็นยากวาดคอ
  • ใช้รักษาอาการคันตามตัว หรือ ผื่นคัน โดยนำใบ และเปลือกกอมขน ต้นมาต้มน้ำอาบ
  • ใช้พอกแผลให้แผลหายเร็ว แก้แผลอักเสบเป็นหนองโดยนำเปลือกต้น หรือ ใบสดมาตำพอกบริเวณที่เป็น ใช้แก้พิษแมลง และตัวบุ้ง โดยนำใบสดกอมขน มาต้มน้ำล้างบริเวณที่ถูกกัดต่อย


ลักษณะทั่วไปของกอมขน

กอมขน จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูง 8-20 เมตร ทรงพุ่มโปร่งแตกกิ่งก้านแผ่ออกเล็กน้อย เปลือกต้นขรุขระเล็กน้อย มีสีเทาหรือสีเทาอมน้ำตาล

           ใบกอมขน เป็นใบประกอบปลายคี่ โดยจะออกเรียงสลับแบบขนนก ใน 1 ใบ จะมีใบย่อย 3-7 ใบ ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปรี รูปไข่ หรือ รูปไข่แรมรี ใบมีขนาดกว้าง 2.2-6 เซนติเมตร และยาว 4-15 เซนติเมตร โคนใบมน หรือ แหลมเล็กน้อยส่วนปลายใบแหลมยาว ขอบใบย่นเป็นคลื่น แผ่นใบบางผิวใบเรียบเกลี้ยง ด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม เป็นมัน ส่วนด้านล่างมีสีอ่อนกว่า มีก้านใบย่อยยาว 0.2-0.7 เซนติเมตร

           ดอกกอมขน ออกเป็นช่อกระจุกบริเวณซอกใบและปลายกิ่ง โดยจะออกแตกแขนงมีความยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร และมีดอกย่อยจำนวนมาก โดยดอกย่อยเป็นแบบแยกเพศต่างช่ออยู่ในต้นเดียวกัน ดอกย่อยจะมีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาว 1 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกมีสีเหลืองเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนานมี 4 กลีบ บริเวณขอบกลีบดอกงอเข้าหากันเป็นกระพุ้งเล็กน้อย มีเกสรเพศผู้ 4 อัน รังไข่มีลักษณะกลมรี มี 5 พู และดอกเพศเมียจะมียอดเกสรเพศเมียจะแยกเป็นแฉกสั้นๆ 4 แฉก ส่วนดอกเพศผู้จะไม่มีเกสรเพศเมีย ทั้งนี้ดอกเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้ประมาณ 2 เท่า และมีก้านดอกยาวประมาณ 0.6-1 เซนติเมตร

           ผลกอมขน เป็นผลสดฉ่ำน้ำมีลักษณะค่อนข้างกลม ที่ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8-1 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีขาวอมเขียว ผลห่ามเป็นสีม่วง ส่วนผลแก่เป็นสีดำ แต่เมื่อผงสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ และลักษณะผิวผลจะแห้งย่นคล้ายร่างแหไม่เป็นระเบียบ ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ดค่อนข้างแข็ง

กอมขน

ที่มาของภาพ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช

การขยายพันธุ์กอมขน

โดยส่วนมากแล้วกอมขมเป็นพืชที่ขึ้นอยู่ในป่าไม่ค่อยมีการนิยมนำมาปลูกไว้ในบริเวณบ้าน หรือ บริเวณเรือกสวนไร่นา ซึ่งหากจะนำมาใช้ประโยชน์จะเข้าไปเก็บมาจากในป่า ส่วนการขยายพันธุ์ของกอมขน นั้นจะเป็นการขยายพันธุ์ โดยการใช้เมล็ดตามธรรมชาติ โดยอาศัยสัตว์มากินผลแล้วขับถ่ายเมล็ดออกมา และเจริญเป็นต้นใหม่


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนใบ ลำต้น เนื้อไม้ และเปลือกไม้ ของกอมขน ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดดังนี้

           ส่วนใบพบสาร Javanicins H, Javanicins K, Javanicins P, Nigakilactones B, ลำต้นพบสาร Javanicins A, Javanicin N, Picrasin A, Javacarbooine, Hispidol A เนื้อไม้พบสาร Javanicin N, (16R)-Methoxyjavanin B, methoxyjavanin B และเปลือกไม้พบสาร Javanicin B, Javanicins E, Dihydrojavanicin Z, Picrajavanins A, Picrajavainins C, Picrajavanins H, Javanicinosides A ,5-gydroxydehydrocrenatine, 5-hydroxyerenatine และ 4-methoxy-l-vinyl-β-carboline เป็นต้น

โครงสร้างกอมขน

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกอมขน

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดกอมขน จากส่วนต่างๆ ของกอมขน ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้ มีรายงานการศึกษาวิจัยระบุว่า สารอินโดอัลคาลอยด์ และสารกลุ่ม quassinoids จากเปลือกต้น และใบของกอมขนมีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียได้ดีกว่ายา คลอโรควิน และสารกลุ่ม quassinoids ยังมีฤทธิ์ยับยั้งไวรัส SAR และ Herpes simplex นอกจากนี้สารสกัดจากเปลือกต้นของกอมขน มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย สารพันธุ์ Micrococcus สายพันธุ์ Staphylococcus Pseudomonas aeruginosa Salmonella typhi ได้อีกด้วย อีกทั้งยังมีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าสารอัลคาลอยด์ที่ได้จากเปลือกต้นมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางและลดไข้ได้ปานกลาง


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกอมขน

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้กอมขนเป็นยาสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคนั้นควรระมัดระวังในการใช้ เนื่องจากกอมขน มีรสขม ซึ่งการใช้เป็นระยะเวลานานอาจส่งผลต่อตับได้ ส่วนในการใช้ตามตำรายาต่างๆ นั้น ก็ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่พอเหมาะที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายานั้นๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง กอมขน
  1. ราชบัณฑิตยสถาน.2539. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก.กรุงเทพมหานคร:เพื่อนพิมพ์.
  2. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้.2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็มสมิตตินันทน์.พิมพ์ครั้งที่ 2. (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม). สำนักวิชาการป่าไม้.กรมป่าไม้.กรุงเทพฯ.ประชาชน.
  3. กอมขน. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2. ไม้ต้นในสวน Tree in the Garden
  4. วงศ์สถิต ฉั่วกุล, พร้อมจิต ศรลัมพ์, วิชิต เปานิล และรุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล.2539. สมุนไพรบ้านล้านนา.กรุงเทพฯ.อมรินทร์พริ้นติ้ง.แอนด์ พับลิชชิ่ง
  5. พญ.เพ็ญนภา พทรัพย์เจริญ.กอมขน.หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 92.
  6. วิทยา ปองอมรกุล และสันติ วัฒฐานะ หนังสือชุดพรรณไม้เมืองไทย.พืชสมุนไพร 1.-เชียงใหม่. องค์การสวนพฤกษศาสตร์, 2553. 112 หน้า
  7. Bora, U., Sahu, A., Saikia, A.P., Ryakala, V.K. & Goswami, P. 2007. Medicinal plants used by the people of Northeast India for curing malaria. Phytotherapy Research 21: 800-804.
  8. Saiin, C., Rattanajak, R., Kamchonwongpaisan, S., Ingkaninan, K., Sukontason, K., Baramee, A. & Sirithunyalug, B. 2003. Isolation and in vitro antimalarial activity of hexane extract from Thai Picrasma javanica B1 stembark. Southeast Asian J. Trop. Med. Public Health 34(Suppl 2): 51-55.
  9. Win, N.N., Ito, T., Win, Y.Y., Ngwe, H., Kodama, T., Abe, I. & Morita, H. 2016b. Quassinoids: Viral protein R inhibitors from Picrasma javanica bark collected in Myanmar for HIV infection. Bioorganic & Medical Chemistry Letters 26: 4620-4624.
  10. Win, N.N., Ito, T., Ismail, Kodama, T., Win, Y.Y., Tanaka, M., Ngwe, H., Asakawa, Y., Abe, I. & Morita, H. 2015. Picrajavanicins A-G, Quassinoids from Picrasma javanica collected in Myanmar. Journal of Natural Products 78: 3024-3030.
  11. Poljuha, D., Sladonja, B., Šola, I., Dudaš, S., Bilić, J., Rusak, G., Motlhatlego, K.E. & Eloff, J.N. 2017. Phenolic composition of leaf extracts of Ailanthus altissima (Simaroubaceae) with antibacterial and antifungal activity equivalent to standard antibiotics. Natural Product Communications 12: 1609-1612.