หญ้าชันกาด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

หญ้าชันกาด งานวิจัยและสรรพคุณ 14 ข้อ

ชื่อสมุนไพร หญ้าชันกาด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หญ้าชันอากาศ, หญ้าใบไผ่ (ภาคกลาง), แซมมัน, หญ้าอ้อน้อย (ภาคเหนือ), หญ้าครุน (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Panicum repens Linn.
ชื่อสามัญ Torpedograss
วงศ์ POACEAE-GRAMINEAE


ถิ่นกำเนิดหญ้าชันกาด

หญ้าชันกาดจัด เป็นพืชตระกูลหญ้าที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย แต่จะพบการแพร่กระจายพันธุ์ในหลายประเทศ บริเวณเขตร้อน และกึ่งเขตร้อนต่างๆ ของโลก ตั้งแต่ละติจูด 35 องศา ได้ ถึง 43 องศาเหนือ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบหญ้าชันกาดจัด ได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณที่รกร้างว่างเปล่าต่างๆ ตามสองข้างถนน หรือ ตามบริเวณเรือกสวนไร่นา จนกลายเป็นวัชพืชที่สำคัญชนิดหนึ่งของเกษตรกร


ประโยชน์และสรรพคุณหญ้าชันกาด

  1. รักษาโรคทางเดินปัสสาวะพิการ
  2. ช่วยขับปัสสาวะ
  3. แก้นิ่ว
  4. แก้ขัดเบา
  5. แก้หนองใน
  6. แก้เบาหวาน
  7. ช่วยกระตุ้นการทำงานของไต
  8. แก้ไตพิการ
  9. แก้ไข้
  10. แก้ปวดลูกตา ตาฟาง
  11. แก้อาการบวมมน้ำเนื่องจากโรคไตและหัวใจ
  12. ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติในสตรี
  13. แก้ปวดเคืองในลูกตา
  14. แก้อาการโรคทุราวสา

           มีการนำหญ้าชันกาด มาใช้ประโยชน์ โดยนำมาใช้เป็นอาหารหยาบเลี้ยงโค กระบือ แพะ และแกะ อีกทั้งมีการนำมาใช้ปลูกเพื่อเป็นพืชคลุมดิน เพื่อป้องกันหญ้าดินพัง

หญ้าชันกาด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้ไตพิการช่วยให้ไต ทำงานสะดวก แก้กระเพาะปัสสาวะ แก้นิ่ว หนองใน พิษไข้กาฬ ตาฟาง ตามัว ปวดเคืองในลูกตา โดยนำราก หรือ เหง้าหญ้าชันกาด มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้เบาหวานโดยใช้ราก หรือ เหง้าหญ้าชันกาดผสมหัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นใต้ รากทองพันชั่ง ลำต้นกำแพงเจ็ดชั้น ลำต้นหัวร้อยรู และแก่นสัก ต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้อาการโรคทุราวสา หรือ อาการปัสสาวะออกมาสีดำ โดยหัวหญ้าชันกาด รากหญ้านาง รากกระทุงหมาบ้า ฝาง เถาวัลย์เปรียง หัวแห้วหมู แก่นขี้เหล็ก รากตะไคร้ หางนาค ขมิ้นอ้อย ไพล รากพุงตอ รากหวายขม หนักสิ่งละเท่าๆ กัน ใส่หม้อต้มเคี่ยวให้น้ำงวด กินครั้งละ 3-4 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 เวลาก่อนอาหาร


ลักษณะทั่วไปของหญ้าชันกาด

หญ้าชันกาด เป็นไม้ล้มลุกจำพวกหญ้ามีอายุหลายปี โดยหญ้าชัดกาด จะมีลำต้น 2 ชนิด คือ ลำต้นใต้ดิน และลำต้นเหนือดิน ลำต้นใต้ดิน มีลักษณะเป็นไหลลักษณะกลม สีน้ำตาล มีช่องปล้องสั้นๆ ยาวเลื้อยอยู่ลึกจากหน้าดิน 5-15 เซนติเมตร และจะไหลขนานกับหน้าดิน เมื่อไหลมีอายุมากจะเกิดเป็นปมหรือสีน้ำตาลที่ช่อ และจะแตกลำต้นแทงตั้งตรงโผล่ขึ้นเป็นลำต้นเหนือดิน ลำต้นเหนือต้น เป็นลำต้นที่เกิดบริเวณข้อของไหล แทงขึ้นโผล่เหนือดิน ลำต้นเป็นทรงกลมมีขนาดเล็ก อวบน้ำมีความเหนียว และแข็งแรง สูงประมาณ 50-100 เซนติเมตร หากลำต้นสูงมากจะโน้มลงเลื้อยตามพื้นดิน

           ใบหญ้าชันกาด จะแตกสลับข้างกันเป็นคู่ๆ บริเวณข้อลักษณะแผ่นใบมีสีเขียวใบเล็ก เรียวแหลมมีขนาดกว้าง 0.5-1 เซนติเมตร ยาว 18-27 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายใบแหลม แผ่นใบมีขนปกคลุม และมีกาบใบหุ้มที่ข้อ และลำต้น มีขนาดยาว 7-9 เซนติเมตร และมีก้านใบสั้น

           ดอกหญ้าชันกาด ออกเป็นช่อแขนงที่บริเวณปลายยอด โดยแต่ละช่อจะมีความยาว 10-18 เซนติเมตร และจะมีดอกย่อยเรียงซ้อนกัน ส่วนดอกย่อยเป็นรูปไข่ มีสีขาว เมื่อแก่จะมีสีเหลืองมีขนาดยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร

           ผลหญ้าชันกาด ออกเป็นเมล็ดมีเปลือกหุ้มโดยด้านในมีเมล็ดขนาดเล็ก รูปไข่ เปลือกเมล็ดมีสีเหลืองหม่น

หญ้าชันกาด

การขยายพันธุ์หญ้าชันกาด

หญ้าชันกาด สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดและการใช้เหง้าหรือไหล ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติ ไม่นิยมนำมาเพาะปลูกขยายพันธุ์ เนื่องจากหญ้าชันกาด จัดเป็นวัชพืชที่มีการกระจายพันธุ์ได้รวดเร็วสร้างความเสียหายให้แก่ผลผลิตของเกษตรกรและกำจัดได้ยาก


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของเหง้าหญ้าชันกาด ซึ่งมีการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารกลุ่ม flavonoids ได้แก่ rutin, quercetin และ apigenin-7-glucoside สารกลุ่ม phenolic acids ได้แก่ gallic acid, chicoric acid, primulic acid และ chlorogenic acid ส่วนอีกรายงานหนึ่งระบุว่าพบสาร 16-O-α-l-rhamnopyranosyl-cholest-5-en-2α,3b,16b-triol-22- one-3-O-a-l-rhamnopyranoside, 16-O-α-Lrhamnopyranosyl-cholest-5-en-3b, 16bdiol-2αmethoxy-22-one-3-O-α-L-rhamnopyranoside และ 16-O-α-L-rhamnopyranosyl-cholest-5- en-3b, 16b-diol-2α-methoxy-3-O-α-L-rhamnopyranoside อีกด้วย

โครงสร้างหญ้าชันกาด

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของหญ้าชันกาด

จากการศึกษาค้นคว้าพบว่ามีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของหญ้าชันกาด ทั้งในไทย และต่างประเทศน้อยมาก แต่พบการศึกษาวิจัยฉบับหนึ่งในต่างประเทศระบุว่ามีรายงานการศึกษาวิจัยแบบพรีคลินิกพบว่าสารสกัดหญ้าชันกาด จากรากและเหง้าของหญ้าชันกาดมีฤทธิ์ขับปัสสาวะโดยสามารถเพิ่มปริมาณปัสสาวะในสัตว์ทดลองอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อให้สารสกัดทางปากในปริมาณ 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (น้ำหนักตัว) เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม และยับพบว่าสารสกัดดังกล่าวยังมีฤทธิ์ลดไขมันในเลือดของหนูทดลองอีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของหญ้าชันกาด

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้หญ้าชันกาดเป็นสมุนไพรนั้น สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้เนื่องจากตามสรรพคุณของหญ้าชันกาด มีสรรพคุณขับประจำเดือน ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ ส่วนการใช้โดยบุคคลกลุ่มอื่นๆ คนใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง หญ้าชันกาด
  1. สมาคมโรงเรียนแพทย์แผนโบราณในประเทศไทย สำนักวัดพระเชตุพนฯ. ประมวลสรรพคุณยาไทย (ภาคสอง) ว่าด้วยพฤกษชาติ วัตถุธาตุ และ สัตว์วัตถุนานาชนิด. กรุงเทพฯ : นำอักษการพิมพ์.2521. หน้า 27.
  2. เจมส์ ผึ้งผล และคณะ. การศึกษาพฤษเคมีเบื้องต้น และฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะของสมุนไพร เบญจผลธาตุ. วารสารการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ปีที่ 17 ฉบับที่ 1. มกราคม-เมษายน 2562. หน้า 86-94.
  3. ประเสริฐ พรหมณี. โรคทุราวสา. คอลัมน์การรักษาพื้นบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 57. มกราคม 2527.
  4. สันติไมตรี ก้อนคำดี, 2545, ผลของแอดจูแวนท์ รูปของสาร และความชื้นในดินต่อประสิทธิภาพของไกลฟอเสทในการควบคุมหญ้าชันกาด (Panicum repens L.).
  5. หญ้าชันกาด สรรพคุณ และวิธีกำจัดหญ้าชันกาด. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก httP://www.puechkaset.com
  6. Holm, L. G., D. L. Plucknett, J. V. Pancho, and J. P. Herberger. 1977. The world's worst weeds: distribution and biology. University Press of Hawaii, Honolulu
  7. Bunyapraphatsara N, Chokchaichareonporn O, editors.Herbs: folk herbs (5). Bangkok: Faculty of Pharmacy,Mahidol University; 2000. 580 p.
  8. Hozaien HE, El-Tantawy WH, Temraz A, El-Gindi OD, Taha KF. Diuretic activity of ethanolic extract of Panicum repens L. roots and rhizomes. Natural product research.2019 Jun 18;33(12):1832-3.
  9. Noda, K., Teerawatsakul, M., Prakongvongs, C., Chaiwiratnukul, L.1994. Major weed in Thailand. Ministry of Agriculture and cooperative
  10. El-Tantawy WH, Temraz A, Hozaien HE, El-Gindi OD, Taha KF. Anti-hyperlipidemic activity of an extract from roots and rhizomes of Panicum repens L. on high cholesterol diet-induced hyperlipidemia in rats. Zeitschrift für Naturforschung C. 2015 May 1;70(5-6):139-44.
  11. Temraz A, Hozaien HE, El-Tantawy WH, El-Gindi OD, Taha KF. Cholestane and spirostane-type glycosides from the roots and rhizomes of Panicum repens L. Phy­tochemistry letters.  2014;10:173-8.