โกฐกระดูก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

โกฐกระดูก งานวิจัยและสรรพคุณ 28 ข้อ

ชื่อสมุนไพร โกฐกระดูก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มู่เซียง, บักเฮียง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Aucklandia lappa DC.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Saussurea lappa C.B.Clarke
ชื่อสามัญ Costus, Costus Root 
วงศ์ COMPOSITAE - ASTERACEAE

ถิ่นกำเนิดโกฐกระดูก 

โกฐกระดูกจัดเป็นพืชเฉพาะถิ่นที่มีถิ่นกำเนิดทางตะวันตกเฉียงเหนือของเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งอยู่บริเวณประเทศ จีน และ อินเดีย ต่อมาได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณต่างๆ ของเทือกเขาหิมาลัย ปัจจุบันมีหลายประเทศที่มีการปลูกโกฐกระดูก เช่น จีน อินเดียว เนปาล ภูฏาน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม เป็นต้น ส่วนในไทยมีการใช้โกฐกระดูกกันมาตั้งแต่อดีตแล้ว แต่จะเป็นการนำเข้าจากจีน และอินเดียเป็นส่วนมาก เพราะในไทยไม่สามารถเพาะปลูกได้ เนื่องจากโกฐกระดูก เป็นพืชที่เจริญเติบโตในสภาพอากาศเย็นจัดทั้งปี

ประโยชน์และสรรพคุณโกฐกระดูก

  • ช่วยบำรุงหัวใจ
  • ช่วยบำรุงกระดูก
  • แก้โรคโลหิตจาง
  • แก้ลมวิงเวียน
  • ช่วยขับลมในลำไส้
  • แก้อาเจียน
  • แก้ปวด
  • แก้หืดหอบ
  • แก้ลมในกองเสมหะ
  • แก้ท้องเสีย
  • แก้บิด
  • แก้ปวดท้อง
  • ช่วยบำรุงธาตุ
  • ช่วยบำรุงโลหิต
  • ช่วยบำรุงตับ
  • ช่วยบำรุงปอด
  • แก้อุจจาระธาตุลามก (พิกัดสัตตะปะระเมหะ)
  • ชำระเมือกมันในลำไส้ (พิกัดสัตตะปะระเมหะ)
  • แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย
  • แก้ไข้
  • แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ
  • แก้ลมในกองธาตุ
  • ช่วยชูกำลัง
  • ช่วยขับลม
  • แก้สะอึก
  • ช่วยปรับการไหลเวียนของพลังลมปราณ
  • ช่วยในการไหลเวียนของพลัง (ชี่) ของกระเพาะอาหารและม้าม


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

สรรพคุณของโกฐกระดูก ใช้บำรุงหัวใจ บำรุงกระดูก แก้ปวด แก้อาเจียน แก้โลหิตจาง แก้หืดหอบ แก้ลมวิงเวียน ขับลม แก้ปวดท้อง โดยการนำรากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ บดเป็นผงใช้ชงแบบชาก็ได้ ใช้ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ โดยใช้โกฐกระดูก และโกฐเขมา ขาว 10 กรัม เปลือกส้ม 8 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน แก้ท้องเสีย แก้บิด ใช้โกฐกระดูก 30 กรัม, ข่าลิง 30 กรัม, หนังกระเพาะไก่,ดีปลี, ส้มมือ 15 กรัม, อบเชย 8 กรัม, และลิ้นทะเล 100 กรัม นำมาบดให้เป็นผง ใช้รับประทาน วันละ 2-3 ครั้ง

           ส่วนในตำรับยาไทยอื่นๆ เช่น ยาหอมเทพจิตร ยาหอมนวโกฐ ยาปงสะกานพลู พิกัดโกฐทั้ง 7 และพิกัดโกฐทั้ง 9 ให้ใช้ผงยารับประทาน 200-1000 มิลลิกรัม หรือ ใช้ตามที่ระบุในตำรับยา


ลักษณะทั่วไปของโกฐกระดูก

โกฐกระดูก จัดเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นตั้งตรงไม่มีกิ่งก้านแตกออกไป และลำต้นก็มีขนาดเล็ก ตามลำต้นมีร่องเป็นริ้วๆรอบลำต้น มีขนสั้นๆ ขึ้นปกคลุม มีความสูงประมาณ 1-2 เมตร ใบออกเป็นใบเดี่ยว ขนาดใหญ่คล้ายกับใบบัว แต่จะยาวกว่า และขอบใบหยักรอบใบคล้ายหนาม และมีก้านใบยาว โดยใบมีความกว้าง 20-35 เซนติเมตร ยาว 80-100 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวเข้ม มีขนขึ้นปกคลุม ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวบริเวณโคนใบ โดยดอกจะมีสีม่วงคล้ายกับดอกบานไม่รู้โรย ซึ่งใน 1 ดอกใหญ่จะมีกลีบดอกประมาณ 10 ชั้น และกลีบดอกในแต่ละชั้นจะมีความยาว 10-25 มิลลิเมตร ผลออกเป็นเส้นแบนๆ

โกฐกระดูก

การขยายพันธุ์โกฐกระดูก

ไม่มีข้อมูล

องค์ประกอบทางเคมี 

จากการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีในรากแห้งของโกฐกระดูกพบว่า โดยส่วนประกอบเป็นน้ำมันระเหยง่าย องค์ประกอบหลักเป็นสารกลุ่ม sesquiterpene lactone อัลคาลอยด์ ฟลาโวนอยด์ และแอนทราควิโนน ส่วนในน้ำมันหอมระเหยจากรากของโกฐกระดูก พบสาร Aplotaxene, Costus acid, Costus Lactone,β-Pinene, α-Phellandrene, o-cymene, β-Linalool, Camphor, Borneol, Eugenol, Copaene, Cyperene, Isosativene, α-Curcumene, Valencene, Elemicin, Bergamotol

    โครงสร้างโกฐกระดูก       

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของโกฐกระดูก

ฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรีย จากการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดด้วยเอทานอลจากรากโกฐกระดูก ความเข้มข้น 0.5-4 มก./มล. มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus mutans ที่เป็นสาเหตุโรคฟันผุ โดยการยับยั้งการสร้างกรดของแบคทีเรีย การยึดเกาะของแบคทีเรียต่อแผ่นโมเดล hydroxyapatite beads ที่เคลือบด้วยน้ำลาย (saliva-coated hydroxyapatite beads) และการสังเคราะห์กลูแคน

            ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ส่วนในประเทศอินเดียมีการศึกษาทดลองในหนูทดลอง โดยป้อนสารสกัดแอลกอฮอลล์จากรากของโกฐกระดูกในขนาด 400 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นเวลา 7 วัน พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองได้

            นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยอื่นๆ ระบุว่า โกฐกระดูก มีฤทธิ์ต้านการเกิดพิษต่อตับ ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ต้านการเกิดแผลในกระเพาะ อาหาร และกระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะ และลำไส้ ต้านมะเร็ง ต้านการเกิดออกซิเดชั่น ขับน้ำดี ฯลฯ

โกฐกระดูก

การศึกษาทางพิษวิทยาของโกฐกระดูก

มีการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาในรากของโกฐกระดูก โดยการกรอกและการฉีดใต้ผิวหนังสารสกัดเอทานอลจากราก ในปริมาณ 10 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (ซึ่งเทียบเท่ากับการรักษาในคน 3333 เท่า) พบว่าไม่พบพิษแต่อย่างใด


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้โกฐกระดูก เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรค ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ส่วนเด็ก สตรีมีครรภ์ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนใช้โกฐกระดูกควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

เอกสารอ้างอิง โกฐกระดูก
  1. จันคนา  บูรณะโอสถ, ปนัดดา พัฒนวศิน, ภัทราวดี เหลืองธุวประณีต, อุทัย โสธนะพันธุ์. การวิเคราะห์หาองค์ประกอบของสารหอมระเหยจากเครื่องยาในพิกัดนาวโกฐด้วยวิธีโครมาโทกราฟีแบบแก๊ส, แมสสเปกโทรเมทรี. วารสารโภษัชยนิพนธ์ ปีที่ 11 .ฉบับที่ 2.กรกฏาคม-ธันวาคม 2559. หน้า 45-60
  2. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “โกฐกระดูก”. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. หน้า 58.
  3. มงคล โมกขะสมิต, กมล สวัสดีมงคล, ประยุทธ สาตราวาหะ. การศึกษาพิษของสมุนไพร. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 2-4. 2513. หน้า 17-42
  4. ฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคฟันผุของโกฐกระดูก. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. วิทยา บุญวรพัฒน์. “โกฐกระดูก”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพร ไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 96.
  6. โกฐกระดูก. ฐานข้อมูลเครื่องยา. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicruddrug.com/main.php?action=viewpage&pid=25
  7. Department of Development of Thai Traditional and Alternative Medicine, Ministry of Public Health. Monograph of selected Thai materia medica, volume 1. Bangkok: Amarin  Printing and Publishing; 2008.