ว่านกาบหอย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ว่านกาบหอย งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ว่านกาบหอย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ว่านหอยแครง (ทั่วไป), อ่อเปาลึ้ง, ฮั่งเต๊กเฮี๊ยะ, อั่งเต๊ก (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ tradescantiaSpathacea stearm.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Rhoeodiscolor ttance, Tradescantia discolor, Rheoe spathacea stearn.
ชื่อสามัญ Oyster plant, Oyster lily, Boat lily, White flowered tradescantia
วงศ์ COMMELINACEAE

ถิ่นกำเนิดว่านกาบหอย

ว่านกาบหอย เป็นพรรณพืชที่มีถิ่นกำเนิดนทวีปอเมริกากลาง บริเวณแถบประเทศ เม็กซิโก คิวบา และทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา ต่อมาจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วภูมิภาคของประเทศ โดยมักพบตามสวนสาธารณะ สนาม และตามที่รกร้าง หรือ ริมถนน และในบางพื้นที่

ประโยชน์และสรรพคุณว่านกาบหอย

  • แก้ร้อนใน
  • แก้กระหายน้ำ
  • แก้บิด
  • แก้ไอ
  • แก้อาเจียนเป็นโลหิต
  • แก้ไข้ตัวร้อน
  • แก้ฟกช้ำภายใน
  • แก้ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ช่วยขับเสมหะ
  • แก้เลือดกำเดาออก
  • แก้บิดถ่ายเป็นเลือด
  • ใช้ห้ามเลือด
  • ใช้เป็นยาบำรุงตับและม้านพิการ
  • แก้กรดไหลย้อน
  • แก้ต่อมน้ำเหลืองบวม
  • แก้อาการตกเลือดในลำไส้
  • แก้โรคผิวหนัง
  • แก้โรคเท้าช้าง
  • ใช้แก้คุดทะราด
  • ใช้แก้กลาก
  • แก้ริดสีดวงทวาร

          ว่านกาบหอย เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ หลายด้าน อาทิเช่นในอินโดนีเซีย และอินเดีย ใช้ใบอ่อนของว่านกาบหอย มาทำอาหารรับประทาน และยังมีการนำมาใช้ทำเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อีกทั้งยังมีการนำว่านกาบหอยมาต้มร่วมกับมะเกลือ เพื่อใช้ย้อมผ้า ซึ่งจะทำให้สีของมะเกลือติดผ้าได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังนิยมนำว่านกาบหอยมาปลูกในไม้ประดับ
 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ว่านกาบหอย

ใช้แก้หวัด แก้ไอขับเสมหะปนเลือด เลือดกำเดาออก แก้บิดจากแบคทีเรีย โดยใช้ดอกแห้ง 20-30 กรัม ต้มน้ำดื่ม ใช้แก้ไอ แก้เจ็บคอ ร้อนใน กระหายน้ำ แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้ฟกช้ำภายใน ใช้ใบสด 3 ใบ ต้มน้ำผสมน้ำตาลกรวดเล็กน้อยดื่ม ใช้แก้เลือดกำเดาไหลโดยใช้ดอกแห้ง 10 กรัม หรือ ดอกสดประมาณ 20-30 ดอก นำมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้บิดโดยใช้ดอกสด 120 กรัม กับน้ำตาล 30 กรัม ต้มกับน้ำดื่มตอนอุ่นๆ ติดต่อกันไปอีก 3-4 ครั้ง ใช้แก้กรดไหลย้อน โดยใช้ใบว่านกาบหอย แครง และใบเตยสด อย่างละเท่ากันนำมาต้มกับน้ำ ใช้ดื่มวันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละครึ่งแก้ว โดยให้ผสมกับน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา น้ำมะนาว 1 ช้อนชา และเกลือป่นเล็กน้อย ติดต่อกันเป็นเวลา 3-6 เดือน ส่วนในตำรายาจีนระบุ ดังนี้ แก้อุจจาระเป็นเลือด บิดขาวบิดเลือด บิดมูก ไอเพราะปอดร้อนเป็นเลือด ใช้ว่านกาบหอย 2 ตำลึง ต้มกับกวยแชะดื่ม แก้ไอกรนไอหอบ โดยใช้ว่านกาบหอย 2 ตำลึง ดอกบานไม่รู้โรย 1 ตำลึง ต้มกับน้ำตาลกรวดดื่ม หากมีไข้ตัวร้อน ให้ใช้ใบแก่ประมาณ 10-15 ใบ นำมาต้มกับน้ำจนเดือดแล้วตักใบออก เติมน้ำตาลกรวด ใช้ดื่นกินเป็นประจำเป็นยาแก้ไข้

ลักษณะทั่วไปของว่านกาบหอย

ว่านกาบหอย จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกใบเลี้ยงเดี่ยวอายุหลายปี ออกเป็นกอๆ ลำต้นอวบใหญ่ ทรงพุ่มเตี้ยลำต้นไม่มีการแตกกิ่งก้าน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร มีความสูงของต้นประมาณ 30-50 เซนติเมตร

          ใบ แตกออกจากลำต้นเรียงวนรอบหลายชั้นโดยจะออกใกล้ๆ กัน ติดกันเป็นกระจุกลักษณะใบหนา แข็งเรียว ยาวเป็นรูปหอกโดยจะยาวประมาณ 15-30 ซม. กว้าง 2.5-6 ซม. หลังใบมีสีเขียว ท้องใบสีม่วงแดง ไม่มีก้านใบ

          ดอก ออกเป็นช่อที่ตามซอกใบ หรือ โคนใบ ซึ่งช่อดอกมีทั้งช่อเดี่ยวและหลายช่อ และในแต่ละช่อจะประกอบไปด้วยใบประดับสีม่วงแซมเขียว ลักษณะเป็นรูปหัวใจโค้ง มีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ที่เป็นลักษณะเป็น 2 กาบ คล้ายหอยแครง โดยกาบทั้งสองประกบเกยซ้อนและโอบหุ้มดอกขนาดเล็กสีขาว ที่มีกลีบดอกมี 3 กลีบ เป็นแผ่นกลีบดอกหนาลักษณะเป็นรูปไข่ กว้างประมาณ 4-6 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ตรงใจกลางดอกมีเกสรเพศผู้เป็นขนฝอย 6 อัน มีก้านชูอับเรณูเป็นสีขาว รูปเรียว ส่วนปลายก้านแผ่แบนเป็นสีเหลือง อับเรณูเป็นสีแดง รังไข่ผนังเรียบ ภายในมีช่อง 3 ช่อง ในแต่ละช่องจะมี ออวุล 1 เม็ด

          ผล เป็นแบบผลแห้งเป็นรูปกระสวย เมื่อแก่แตกจะแยกเป็นแฉก 2-3 แฉก โดยผลมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3.5 มิลลิเมตร มีขนเล็กน้อย ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กหลายเม็ด

ว่านกาบหอย

ว่านกาบหอย

การขยายพันธุ์ว่านกาบหอย

ว่านกาบหอยสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี อาทิเช่น การใช้เมล็ด การใช้ไหลมาปลูก หรือ การใช้ยอดปักชำเป็นต้น แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันคือการปักชำ โดยจะใช้ยอด หรือ ไหลมาปักชำสำหรับในช่วงนอกฤดูฝน จะปักชำไว้ในถุงเพาะชำในโรงเรือน และให้น้ำสม่ำเสมอ ส่วนในฤดูฝนจะปักชำในพื้นที่เพาะปลูก ที่ต้องการได้เลย ทั้งนี้ว่านกาบหอย เป็นพืชที่ชอบน้ำปานกลาง และชอบพื้นที่ปลูกที่มีแดดส่องถึงครึ่งวันส่วนระยะปลูกหากเป็นพันธุ์ปกติควรปลูกในระยะ 16x16 นิ้ว แต่หากเป็นพันธุ์แคระ ควรปลูกในระยะ 10x10 นิ้ว

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนใบและดอกของว่านกาบหอย ระบุไว้ว่าพบ สารกลุ่ม Protein เช่น alanine, arginine, arginine, glycine, methionine สารกลุ่ม flavonoid เช่น rhoeonin นอกจากนี้ยังพบสาร Carboxylic acid และ latex อีกด้วย

โครงสร้างว่านกาบหอย

การศึกษาทางเภสัชวิทยาว่านกาบหอย

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของว่านกาบหอยระบุไว้ว่า สารสกัดว่านกาบหอย มีความสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4 ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีความสำคัญ ต่อการเทตาบอลิซึมยาที่เข้าสู่ร่างกาย แตกต่างกัน ได้แก่ ส่วนสกัดน้ำให้ผลยับยั้งการทำงานของ CYP3A4 คิดเป็น 54.10% ส่วนสกัดเฮกเซนยับยั้ง 52.82% และส่วนสกัดเมทานอล 31.46%

           ฤทธิ์ต้านวัณโรค มีการศึกษาสารสกัดน้ำจากใบของว่านกาบหอย ที่ได้จากการหมักโดยใช้สำหรับมาตรฐานสายพันธุ์ของมัยโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส H37Rv และสายพันธุ์ที่ดื้อต่อยาหลายชนิด ซึ่งใช้ปริมาณสารสกัดแห้ง 2.5 กรัม ละลายในไดเมทิลซัลฟอกไซด์ ปรากฏว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถต้านเชื้อไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส H37Rv เท่ากับ 100%, 82.1%, 78.5%, 100% และ 100% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ ยังระบุไว้ว่าสารสกัดว่านกาบหอยมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านไวรัส ต้านมะเร็ง ต้านการอักเสบ และต้านเชื้อแบคทีเรีย ได้อีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาว่านกาบหอย

มีรายงานการเกิดพิษของว่านกาบหอย ระบุว่าน้ำยางของว่านกาบหอยมีความเป็นพิษเล็กน้อยต่อทั้งมนุษย์ และสัตว์ โดยหากโดนผิวหนังอาจทำให้เกิดอาการคัน และแดงหากกลืนเข้าไปอาจทำให้เกิดการระคายเคืองในปาก และทำให้ปวดท้องได้

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในตำรายาไทย และตำรายาจีนรุบุไว้ว่า เด็ก สตรีมีครรภ์ รวมทั้งผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ผอมแห้งแรงน้อย ห้ามใช้ว่านกาบหอยเป็นสมุนไพร สำหรับรับประทาน ส่วนผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงปกติ ก็ควรระมัดระวังในการใช้สมุนไพรชนิดนี้เช่นเดียวกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยใช้ในขนาดปริมาณที่เหมาะสมที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาวได้

เอกสารอ้างอิง ว่านกาบหอย
  1. วิทยา บุญวรพัฒน์. “ว่านกาบหอย” หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.หน้า 506.
  2. เศรษฐมนตร์ กาญจนกุล. ว่าน. กทม. เศรษฐศิลป์. 2553 หน้า 18.
  3. ภก.ชัยโย ชัยชาติทิพยุทธ.ว่านกาบหอย คอลัมน์ สมุนไพรน่ารู้. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 7. พฤศจิกายน 2522.
  4. ชลธิชา นิวาสประกฤติ. จันทรา ปานขวัญ. และ บุญเรียม น้อยชุมแพ. ว่านกาบหอย สมุนไพรไทย ของดีที่มีอยู่. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปีที่ 32, ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน) 2560 หน้า 34.
  5. “ว่านกาบหอยใหญ่” หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หน้า 179.
  6.   ว่านกาบหอย.กลุ่มยาแก้อาเจียน. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โดยการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_11_6.htm
  7.  Rahmatullah, M. , Ferdausi, D. , Mollik, M. A. H. , Azam, M. N. K. , Rahman, M. T., & Jahan, R. (2009). Ethnomedicinal survey of the Bheramara area in Kushtia district, Bangladesh. American Eurasian Journal of Sustainable Agriculture, 3 (3), 534-541.
  8. Chan, Y. S. , Khoo, K. S. , & Sit, N. W. W. (2016). Investigation of twenty selected medicinal plants from Malaysia for anti-chikungunya virus activity. Int Microbiol, 19 (3), 175-182.
  9. Sriwanthana, B., Treesangsri, W., Boriboontrakul, B., Niumsakul, S., & Chavalittumrong, P. (2007). In vitro effects of Thai medicinal plants on human lymphocyte activity. In vitro, 29,1.
  10. Prakash, R. , & Rajesh, R. (2014). Aberrant expression of WNT / Beta-catenin signalling pathway and in-vitro cytotoxic activity of TradescantiaSpathacea medicinal plant used to treat human breast adenocarcinoma (MCF 7 Cell Lines). International Journal of Pharmaceutical Sciences and Research, 5 (12), 5230.
  11. Parivuguna, V. (2008). Antimicrobial Properties and Phytochemical Constituents of Rheo discolor Hance. Ethnobotanical Leaflets, 2008 (1), 114.
  12. Russo, D. , Balistreri, C. , Tapanes-Castillo, A. , & Pina, M. Antioxidant Properties of Oyster Plant (TradescantiaSpathacea) Extracts using Different Methods.
  13. Baez Acosta, J. R. (2008). U.S. Patent Application No. 11 / 843,154. Sriwanthana, B. , Treesangsri, W. , Boriboontrakul, B. , Niumsakul, S. , & Chavalittumrong, P. (2007). In vitro effects of Thai medicinal plants on human lymphocyte activity. In vitro, 29,1.
  14. Radji, M. , Kurniati, M. , & Kiranasari, A. (2015). Comparative antimycobacterial activity of some Indonesian medicinal plants against multi-drug resistant Mycobacterium tuberculosis. Journal of Applied Pharmaceutical Science, 5 (1), 019-022.