กระบือเจ็ดตัว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
กระบือเจ็ดตัว งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ
ชื่อสมุนไพร กระบือเจ็ดตัว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น บัวลา, บัว, กระทู้ (ภาคเหนือ), ลิ้นกระบือขาว, ลิ้นควาย, ตาตุ่มนม (ภาคกลาง), ใบท้องแดง (จันทบุรี), กระเบือ (ราชบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Excoecaria cochinchinensis Lour. Var.cochinchinensis.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Excoecaria cochinchinensis Lour, Antidesma bicolor Hassk., Excoecaria bicolor (Hassk.) Zoll. ex Hassk., E. orientalis Pax & K.Hoffm., Sapium cochinchinense (Lour.) Kuntze
ชื่อสามัญ Chinese croton, Jungle fireplant, Blindness tree, Picara, Buta buta
วงศ์ Euphorbiaceae
ถิ่นกำเนิดกระบือเจ็ดตัว
กระบือเจ็ดตัวเป็นพรรณพืชที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณ เขตร้อนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ แล้วต่อมาจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ในทวีปเอเชีย และแอฟริกา สำหรับในประเทศไทย สามารถพบกระบือเจ็ดตัว ได้ทั่วทุกภาคของประเทศแต่จะพบได้มาก ในภาคกลาง และภาคเหนือมากกว่าภาคอื่นๆ
ประโยชน์และสรรพคุณกระบือเจ็ดตัว
- ใช้ขับเลือดเน่าเสีย
- ช่วยขับเลือดพิษ
- แก้สัดนิบาตเลือด
- ช่วยทำให้เลือดกระจาย
- ช่วยน้ำคาวปลาให้สะอาด
- แก้สันนิบาดหน้าเพลิง (บาดทะยักในปากมดลูก)
- แก้อักเสบบริเวณปากมดลูก
- ใช้ดับพิษร้อน
- ช่วยถอนพิษไข้
- แก้กษัย
- แก้บวมฟกช้ำ ดำเขียว
- แก้พิษบาดทะยัก
- แก้ประจำเดือนขัดข้อง
- แก้พิษสำแดง
- แก้ร้อนภายใน
- แก้คางทูม
- แก้ไข้
- แก้ร้อนในกระหายน้ำ
- แก้ต่อนทอมซิลอักเสบ
- แก้อาการออกหัด
- แก้ปวดตึงกล้ามเนื้อต่างๆ
มีการนำกระบือเจ็ดตัว มาใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านเรือนและอาคารสถานที่ทั่วๆไป เพราะมีสีของใบ (ด้านหน้าและท้องใบ) ตัดกันสวยงาม และยังมีการนำใบของกระบือเจ็ดตัวมาผสมกับใบกะเพรา และหญ้าตีนกาทำลูกประคบอีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้แก้ไข้ แก้กษัย แก้ร้อนในกระหายน้ำ โดยใช้ใบแห้งนำมาชงกับน้ำร้อนดื่ม ใช้แก้อักเสบบริเวณปากมดลูก แก้สันนิบาตหน้าเพลิง ใช้ขับเลือดร้าย แก้สันนิบาตเลือด ขับน้ำคาวปลา ขับเลือดพิษ แก้ประจำเดือนผิดปกติ ช่วยทำให้เลือกกระจายโดยใช้ใบสดพอประมาณมาตำ หรือ คั้นกับเหล้าโรงแล้วนำน้ำที่ได้รับประทาน ใช้แก้ปวดบวมฟกช้ำดำเขียว โดยใช้ใบสดกระบือเจ็ดตัว ตำให้แหลกพอกบริเวณที่เป็น ใช้ถอนพิษสำแดง แก้พิษสำแดง ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ กระพี้ หรือ เนื้อไม้มาต้มกับน้ำดื่ม
ลักษณะทั่วไปของกระบือเจ็ดตัว
กระบือเจ็ดตัว จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ดที่มีการแตกกิ่งก้านสาขามาก และมีความสูงตั้งแต่ 0.5-2 เมตร โดยตามกิ่งจะมีรูอากาศ และมีน้ำยางสีขาวเหมือนน้ำนมอยู่ตามกิ่งก้าน ใบเป็นเดี่ยว ออกเรียงสลับรอบกิ่งหรืออาจจะออกตรงข้าม ลักษณะใบเป็นรูปไข่กลับ หรือ รูปใบหอก กว้าง 2-5 เซนติเมตร ยาว 5-13 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบสอบขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยตื้น หลังใบเรียบเป็นมันมีสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเรียบเป็นสีม่วงแดง (เป็นที่มาของชื่อต้นใบท้องแดงที่ชาวจันทบุรีใช้เรียก) ดอกเป็นแบบช่อกระจะเป็นแบบแยกเพศที่อยู่บนต้นเดียวกัน โดยจะออกตามงามใบปลายยอด และปลายกิ่ง ซึ่งดอกจะมีขนาดเล็กสีเหลืองอมเขียว ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม ฐานตัด ปลายผลเว้าเข้าแต่มีขนาดเล็ก ประมาณ 7-8 มิลลิเมตร โดยผลจะมีพู 3 พู และเป็นผลแห้ง เมื่อแก่จะแตกออกได้เป็น 3 ส่วน เมล็ดเกือบกลมขนาดเล็กมีศูนย์กลางประมาณ 2-3 มิลลิเมตร
การขยายพันธุ์กระบือเจ็ดตัว
กระบือเจ็ดตัว สามารถขยายพันธุ์ได้โดย การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำกิ่ง ส่วนวิธีการขยายพันธุ์นั้น ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง หรือ ปักชำไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้กระบือเจ็ดตัวเป็นพืชที่ชอบดินร่วนที่มีการระบายน้ำได้ดี ขอบความชื้นในระดับปานกลาง ชอบแสงแดดพอประมาณ และเป็นพืชที่เจริญเติบโตง่าย การดูแลไม่ยุ่งยาก และสามารถเพาะปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
องค์ประกอบทางเคมี
จากการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมี จากส่วนต่างๆ ของกระบือเจ็ดตัว พบว่าในใบพบสาร methyl 10-epipheophorbide-a, beta-sitosterol, beta-sitosteryl-3-O-D-glucopyranoside, gallic acid, chiro-inositol, KCI, kaempferol, ellagic acid และในยางพบสาร daphnane triterpene ในลำต้น และรากพบสาร shikimic acid, beta-sitosterol, palmic acid, I-cyclohexene-1-cyclohexexe-1-carboxylic acid-5-hydroxy-3, 4-isoprpylidene-dioxy, oxy-bis (5-methylene-2-furaldehyde), tetracosanoic acid,hentriacontane.
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกระบือเจ็ดตัว
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีผลการศึกษาวิจัยโดยการใช้สารสกัดจากใบด้วยเอทานอล 95% พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ S. aureus, Pseudomonas aeruginosa และ β-hemolytic streptococcus group A
นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอื่นๆ อีก เคยพบว่าส่วนต่างๆของกระบือเจ็ดตัว มีฤทธิ์ทางเภสัชดังนี้ ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ฤทธิ์ทำให้การบีบตัวของกล้ามเนื้ออ่อนลง ฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ ฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัว มีฤทธิ์ระคายเคือง เป็นต้น
การศึกษาทางพิษวิทยาของกระบือเจ็ดตัว
แม้จะยังไม่มีข้อมูลความเป็นพิษของกระบือเจ็ดตัว แต่มีการศึกษาวิจัยระบุว่าในยางของกระบือเจ็ดตัวมีสารออกฤทธิ์ที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนังที่ไปสัมผัสโดยยางดังกล่าว
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- มีข้อมูลจากการใช้ของหมอยาพื้นบ้านระบุว่าคนที่มีร่างกายแข็งแรงเป็นปกติ หรือ คนที่ไม่ได้เจ็บป่วยอะไร ไม่ควรใช้กระบือเจ็ดตัว เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ และการใช้กระบือเจ็ดตัวต้องใช้โดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
- การใช้กระบือเจ็ดตัว เป็นยาสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันนานเกินไป ส่วนเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยเรื้อรังรวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนจะใช้กระบือเจ็ดตัวเป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
เอกสารอ้างอิง กระบือเจ็ดตัว
- ราชันย์ ภู่มา และสมราน สุดดี.(บรรณาธิการ). (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทยเต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557.กรุงเทพฯ : สำนักงานหาพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ และพันธุ์พืชกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- แสงชัย นทีวรนารถ. กระบือเจ็ดตัว. วารสารนิติเวชศาสตร์ปีที่ 10. ฉบับที่ 2. กรกฎาคม-ธันวาคม 2561. หน้า 91-94
- วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม."ใบท้องแดง". หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพ;รวมสาส์น 2542. หน้า 442.
- อารีรัตน์ ลออปักษา. สุรัตนา อำนวยผล และวิเชียร จงบุญประเสริญ. การศึกษาสมุนไพร ที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบหายใจ (ตอนที่ 1): ไทยเภสัชสาร. กรุงเทพ, 2531:23-31
- นิจศิริ เรืองรังสี, ธวัชชัย มังคละคุปต์ หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม “กระบือเจ็ดตัว (Kra Bue Chat Tua)” กรุงเทพ; บี เฮลทตี้ 2547 หน้า 32.
- ช่อลัดดา โชคสมบูรณ์กุล. องค์ประกอบทางเคมีของใบลิ้นกระบือ Excoecaria cochinchinchineisis Lour. Var. Viridis Merr. วิทยานิพนธิวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เคมี).จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539.
- คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.หนังสือสมุนไพรสวยสิรีรุกขชาติ.”กระบือเจ็ดตัว ”.พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพ ; คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2539 หน้า 111.
- ธิดาสวรรค์ อิทธิวิทยาวาทย์.การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อ Staphylococcus aureus และ Propionibacterium acnes ของสารสกัดจากสมุนไพร. รายงานกระบวนวิชาปัญหาพิเศษทางเทคโนโลยีเภสัชกรรม. เชียงใหม่. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2545
- กระบือเจ็ดตัว.ฐานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargrden.com/main.php?action=viewpage&pid=189
- Wiriyachitra, P.,Hajiwangoh, H.,Boonton, P., et al. Investigation of Medicinal Plants of Euphorbiaceae and Thymeleaceae Occuring and Used in Thailand; II. Cryptic Irritants of the Diterpine Ester Type from Three Excoecaria species. Planta Medica.1985:368-371