Aegeline

Aegeline

ชื่อสามัญ N-(2-Hydroxy-2- (4-methoxyphenyl) cinnamamide


ประเภทและข้อแตกต่างของสาร Aegeline

สาร Aegeline เป็นสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ (Alkaloids) ที่ได้จากพืชธรรมชาติโดยเป็นสารประกอบอินทรีย์ที่เรียกว่า cinnamic acid amides หรือ เป็นเอไมด์ของกรดซินามิก มีสมบัติทางเคมีกายภาพเป็นของแข็ง มีความสามารถในการละลายน้ำ 0.013 กรัม/ลิตร และมีสูตรโมเลกุล คือ C18 H19 NO3 มีน้ำหนักโมเลกุลเท่ากับ 297.3 g/mol สำหรับประเภทของสาร Aegeline นั้น จากการศึกษาวิจัยพบว่ามีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาสาร Aegeline

ดังที่กล่าวไปแล้วว่าสาร Aegeline เป็นสารในกลุ่ม alkaloids ที่ได้จากธรรมชาติ โดยจะพบได้ในส่วนต่างๆ ของมะตูม (Aegle marmelos (L.) Correa ex Roxb.) ได้แก่ ผล ใบ และเมล็ด นอกจากนี้ในส่วนต่างๆ ของมะตูม เหล่านี้ ยังพบสารในกลุ่ม Alkaloids ชนิดอื่นๆ อีกเช่น skimmianine, aegelinosides A และ fagarine เป็นต้น

สาร Aegeline

ปริมาณที่ควรได้รับของสาร Aegeline

สำหรับปริมาณและขนาดของสาร Aegeline ที่ใช้ได้อย่างปลอดภัยต่อวันนั้นในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์การใช้สารดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน อีกทั้งการได้รับ และการบริโภค สาร Aegeline ยังเป็นการได้รับผ่านการบริโภค สารสกัดหยาง (crude extract) ของมะตูม หรือ การรับประทานมะตูม ในรูปแบบของผลไม้ซึ่งเป็นรูปแบบการบริโภคที่มีความปลอดภัยสูง แต่ทั้งนี้มีรายงานการศึกษาวิจัยโดยให้หนูแรทได้รับสารสกัด Aegeline ในขนาด 100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว พบว่า ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง โดยมีค่าชีวเคมีต่างๆ ในเลือดเป็นปกติ อีกด้วย

ประโยชน์และโทษสาร Aegeline

คุณสมบัติและประโยชน์ของสาร Aegeline หลักๆ ที่ได้มีการศึกษาวิจัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือ ช่วยต้านโรคเบาหวาน ลดน้ำตาลในเลือด เพิ่มระดับอินซูลิน ต้านอนุมูลอิสระ ฯลฯ ส่วนโทษของสาร Aegeline นั้น มีรายงานการเกิดพิษของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของสาร Aegeline (โดยมีจุดประสงค์ช่วยลดน้ำหนัก) ในสหรัฐอเมริกา พ.ศ.2556 โดยพบว่า มีอาการของโรคตับอักเสบ หลังจากนั้น องค์การอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) จึงไม่อนุญาตให้ใช้สารสกัด Aegeline เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีกต่อไป

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสาร Aegeline

ดังที่กล่าวไปแล้วว่าสาร Aegeline มีคุณสมบัติและประโยชน์เกี่ยวกับการต้านโรคเบาหวาน ซึ่งมีผลการศึกษาวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารดังกล่าวหลายฉบับ ดังนี้

           ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด มีการศึกษาในหนูแรทโดยป้อนสารสกัด Aegeline จากใบมะตูมขนาด 100 มก./กก.นน.ตัว ให้กับหนูแรทเพศผู้หลังจากนั้น 30 นาที จึงทำการฉีดซูโครส ขนาด 2.5 ก./กก.น้ำหนักตัว เข้าช่องท้องของหนูแรทจากนั้นทำการเจาะดูระดับน้ำตาลในเลือดเป็นระยะๆ จนครบ 24 ชม. แล้วจึงทำการเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (ที่ไม่ได้รับอะไรเลย) และกลุ่มควบคุม (ที่ได้รับยาต้านเบาหวาน metformin) ผลการศึกษาวิจัยพบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัด Aegeline จากใบมะตูมมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลง 12.9% ในชั่วโมงที่ 5 หลังการศึกษา และเมื่อครบ 24 ชม. น้ำตาลในเลือดลดลง 16.9% ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับยา metformin ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง 23.5% ในชั่วโมงที่ 5 หลังการศึกษา และเมื่อครบ 24 ชม. น้ำตาลในเลือดลดลง 26.5% ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า สารสกัด Aegeline จากใบมะตูมมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีในระดับหนึ่งแต่น้อยกว่ายาต้านเบาหวาน metformin ส่วนอีกการศึกษาวิจัยหนึ่งได้ทำการป้อนสารสกัดเมทานอลจากเปลือกมะตูม ขนาด 200 และ 400 มก./กก. แก่หนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocin เป็นเวลา 30 วัน พบว่าระดับน้ำตาลในเลือด ระดับของ glycosylated hemoglobin (HbA1c) เอนไซม์ alanine aminotransferase (ALT), aspartate aminotransferase (AST), alkaline phosphatase (ALP), glucose-6-phosphatase และ fructose-1,6-bisphosphatase ลดลง ส่วนระดับของอินซูลิน โปรตีนรวมเอนไซม์ hexokinase และไกลโคเจนในเลือดมีค่าเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับหนูเบาหวานที่ได้รับยา glibenclamide พบว่าหนูเบาหวานที่ได้รับสารสกัดขนาด 400 มก./กก. มีค่าต่างๆ ใกล้เคียงกับหนูเบาหวานที่ได้รับยา glibenclamide นอกจากนี้สารสกัดยังมีผลทำให้เบต้าเซลล์ในหนูที่เป็นเบาหวานสามารถแบ่งตัวขึ้นมาใหม่ได้ ซึ่งสารสำคัญในเปลือกมะตูมที่ออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด คือ aegelin และ lupeol ซึ่งสอดคล้องกับอีกการศึกษาที่พบว่าสารสกัดเมทานอลจากเปลือกมะตูม ขนาด 200 และ 400 มก./กก.น้ำหนักตัว (มีสาร Aegeline 1.27%) เมื่อทดสอบกับหนูแรทที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วยสาร steptozotocin นาน 30 วัน พบว่า สารสกัดดังกล่าวสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ 19.14% และ 47.32% ตามลำดับ อีกทั้งยังมีการทดสอบฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด และฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน ในหนูขาวเพศผู้ ของสารสกัดน้ำที่ได้จากใบมะตูม (ที่มีสาร Aegeline เป็นส่วนประกอบในส่วนใบ) โดยกระตุ้นให้หนูเป็นเบาหวานด้วยการให้สาร alloxan จากนั้นป้อนสารสกัดขนาด 500 mg/kg ทุกวัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ จากนั้นจึงบันทึกผลการทดลอง โดยวัดระดับน้ำตาลกลูโคส และระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ GST (glutathione-S-transferase) ในเลือด, วัดระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ glutathione (GSH) และ malondialdehyde (MDA) ในเม็ดเลือดแดง ผลการทดสอบพบว่าระดับกลูโคสในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวาน (ไม่ได้รับสารสกัด) และหนูที่เป็นเบาหวานที่ได้รับสารสกัด เท่ากับ 156.875±49.637และ 96.111±15.568mg/dl (p=0.003) ตามลำดับ  ปริมาณสาร MDA เท่ากับ 20.973±4.233 และ 16.228±2.683 nmol/gm Hb(p=0.01) ตามลำดับ, ระดับเอนไซม์ GSH เท่ากับ 6.766±1.406 และ 14.861±4.946 mg/gm Hb(p=0.0005) ตามลำดับ, ระดับเอนไซม์ GST เท่ากับ 18.420±2.046 และ 13.382±1.166µmol/min/dL(p<0.0001) ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากในหนูที่เป็นเบาหวาน จะมีภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) เกิดขึ้น โดยมีปริมาณสาร MDA เพิ่มขึ้น และ GSH ลดลง การได้รับสารสกัดน้ำจากใบมะตูม ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของหนูลดลง และพบว่าระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระได้แก่ GSH และ GST เพิ่มขึ้น ปริมาณสาร MDA ที่บ่งบอกภาวะเครียดออกซิเดชันลดลงและยังมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Cytochrome P450 ชนิด CYP3A4 และ CYP1A2 ของสารแอลคาลอยด์ (aegeline) ที่แยกได้จากส่วนผลของมะตูมในไมโครโซม (microsome) จากตับมนุษย์ โดยพบว่าสาร aegeline สามารถยับยั้ง CYP3A4 ได้อย่างอ่อน โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 76 ไมโครโมลาร์ และไม่มีฤทธิ์ยับยั้ง CYP1A2

สาร Aegeline 

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ในการใช้สาร Aegeline ทั้งการได้รับผ่านการบริโภคสารสกัดหยาบของมะตูม (crude extract) หรือการรับประทานมะตูมในรูปแบบผลไม้ควรระมัดระวังในการใช้ควบคู่ไปกับยาในกลุ่มลดน้ำตาลในเลือด เพราะอาจทำให้เกิดการเสริมฤทธิ์กันได้ อีกทั้งสาร Aegeline มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Cytochrome P450 ชนิด CyP3 A4 ดังนั้นจึงควรระมัดระวังการใช้ยาในกลุ่มที่ต้องใช้เอนไซม์ Cytochrome P450 ชนิด CYP3A4 ในการกำจัดยาออกจากร่างกาย เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยา และสมุนไพร

เอกสารอ้างอิง Aegeline
  1. พนิดา ใหญ่ธรรมสาร. มะตูม...ลดน้ำตาลในเลือด. รอบรู้เรื่องสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสารสกัดจากเปลือกมะตูม. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Cytochrome P450 ชนิด CY P3 A4 และ CY P1 A2 ของมะตูม. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. มะตูม. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http: //www. Phargerden.com/main.php? action= viewpage & pid = 262
  5. Gandhi GR, Ignacimuthu S, Paulraj MG. Hypoglycemic and β-cells regenerative effects of Aegle marmelos (L. ) Corr. bark extract in streptozotocin-induced diabetic rats. Food Chem Toxicol. 2012;50:1667-74.
  6. Upadhya S, Shanbhag KK, Suneetha G, Balachandra Naidu M, Upadhya S. A study of hypoglycemic and antioxidant activity of Aegle marmelos in alloxan induced diabetic rats. Indian J physiol and pharmacol. 2004;48(4):476-480.
  7. Mustahil NA, Riyanto S, Sukari MA, Rahmani M, Mohd SM, Ali AM. Antileukemic activity of extracts and constituents of Aegle marmelos. Res J Chem Envir. 2013;17(1):62-7.
  8. National center for Biotechnology Information. (2007). Aegeline.
  9. Narender T, Shweta S, Tiwari P, Papi Reddy K, Khaliq T, Prathipati P, et al. Antihyperglycemic and antidyslipidemic agent from Aegle marmelos. Bioorg Med Chem Lett. 2007;17:1808-11.