กระพังโหม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กระพังโหม งานวิจัยและสรรพคุณ 30 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กระพังโหม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตดหมูตดหมา (ภาคกลาง, ภาคเหนือ), พังโหม (ภาคกลาง), ผักไหม (ภาคเหนือ), ย่านพาโหม (ภาคใต้), ตำยานตัวผู้ (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Paederia linearis Hook.f., Paederia kerrii Craib, Paederia wallichii, Paederia pilifera Hook. f. Hondbesseion piliferum (Hook.f.) Kuntze, Hondbesseion wallichii (Hook.f.) Kuntze
ชื่อสามัญ Skunk-vine
วงศ์ RUBIACEA


ถิ่นกำเนิดกระพังโหม

กระพังโหม เป็นพืชเถาเลื้อยที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนชื้นของทวีปเอเชีย บริเวณภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิเช่น ในอินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทย สามารถพบกระพังโหม ได้ในป่าทั่วไป หรือ อาจพบขึ้นตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ในทุกภาคของประเทศ


ประโยชน์และสรรพคุณกระพังโหม

  1. ใช่เป็นยาอายุวัฒนะ
  2. ช่วยทำให้เจริญอาหาร
  3. ใช้ลดไข้
  4. ช่วยขับลม
  5. แก้ธาตุพิการ
  6. แก้น้ำดีรั้ว
  7. แก้ท้องเสีย
  8. ขับพยาธิไส้เดือน
  9. ช่วยขับปัสสาวะ
  10. ช่วยถอนพิษสุรา ถอนพิษสุราเรื้อรัง พิษจากอาหาร 
  11. ใช้บำรุงกำลัง สำหรับคนฟื้นไข้ หรือ คนชรา
  12. แก้ปวดฟัน
  13. แก้พิษงู
  14. แก้รำมะนาด
  15. แก้เริม
  16. แก้งูสวัด
  17. ใช้แก้ไข้จับสั่น
  18. ช่วยขับน้ำนมในสตรี
  19. แก้หืด
  20. แก้ไอ
  21. ใช้ทำให้อาเจียน
  22. แก้ตาฟาง ตาแฉะ ตามัว
  23. แก้ริดสีดวงทวาร
  24. แก้ตัวร้อน
  25. แก้ตานขโมย
  26. ใช้บรรเทาโรคเกาต์
  27. แก้บิด
  28. แก้อาเจียน
  29. ช่วยบรรเทาอาการอักเสบ
  30. ใช้แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ

           กระพังโหม ถูกนำมาใช้ประโยชน์หลายๆ ด้านอาทิเช่น มีการนำยอดอ่อน ใบอ่อน และดอก มารับประทานเป็นผัก ซึ่งจะมีรสขม และมีกลิ่นเหม็นเขียว จึงนิยมนำไปลวกจิ้มน้ำพริกมากกว่ากินสด ส่วนในภาคใต้จะนำไปซอยให้ละเอียดเป็นผักผสมปรุงเป็นข้าวยำ อีกทั้งยังมีการใช้น้ำคั้นจากเถา และใบมาผสมปรุงเป็นขนมขี้หนู เพื่อให้ขนมขี้หนูเป็นสีเขียว เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการนำทั้งต้นมาใช้เป็นยาถ่ายพยาธิในสัตว์เลี้ยงได้อีกด้วย

กระพังโหม

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยเจริญอาหาร แก้ธาตุพิการ แก้ตานซาง แก้ดีรั่ว แก้ท้องเสีย ขับพยาธิไส้เดือน ขับปัสสาวะ ถอนพิษสุราเรื้อรัง โดยนำทั้งต้นมารับประทานสด หรือ นำมาต้มกับน้ำดื่มก็ได้
  • ใช้แก้ท้องเสีย แก้ตัวร้อน แก้ธาตุพิการ โดยนำใบสดกระพังโหม มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ปวดฟันโดยนำใบมาตำอุดรูฟัน หรือ ใช้ผลมาทาฟันให้เป็นสีดำก็ได้
  • ใช้รักษาโรคเริม งูสวัด โดยนำใบมาตำพอกบริเวณที่เป็น
  • ใช้ทำให้อาเจียนโดยนำราก หรือ เถามาต้มกับน้ำดื่ม
  • ส่วนในประเทศอินเดีย มีการนำกระพังโหมมาบรรเทาโรคเกาต์ ท้องเสีย บิด อาเจียนและบรรเทาอาการอักเสบอีกด้วย


ลักษณะทั่วไปของกระพังโหม

กระพังโหม จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพันขนาดเล็ก อายุหลายปี มักจะเลื้อยตามพื้นดิน หรือ เกี่ยวพันต้นไม้อื่น โดยเถามีความยาว 1-3 เมตร มีลักษณะกลมมนสีเขียวอ่อน มีขนสีขาว ขึ้นปกคลุมตลอดเถา

           ใบกระพังโหม เป็นใบเดี่ยว รูปแถบออกเป็นคู่ตรงข้ามใบมีขนาดกว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาว 2-5 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวโคนใบกลม หรือ ยื่นเป็นติ่ง ปลายใบเรียวแหลม เนื้อใบบางมีขนเล็กๆ ขึ้นปกคลุม ขอบใบเรียบ และจะมีเส้นใบโค้งจรดกันที่ใกล้ๆ ขอบใบ ส่วนก้านใบสั้น

           ดอกกระพังโหม ออกเป็นช่อบริเวณซอกใบและปลายยอด โดยใน 1 ช่อ จะมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยกลีบดอกด้านนอกเป็นสีขาว โคนดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายหยิกย่น และแยกเป็นแฉกตื้นๆ 5 แฉก ส่วนกลีบดอกด้านในของกระพังโหม เป็นสีม่วงแดง มีเส้นผ่านศูนย์กลางของดอก 2-5 มิลลิเมตร และมีเกสรเพศผู้ 5 อันเกสรเพศเมีย 1 อัน

           ผลกระพังโหม เป็นผลแห้งรูปกลม หรือ ไข่ มีลักษณะโค้งแบนเล็กน้อย มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 3 มิลลิเมตร เมื่อผลดิบจะมีสีเขียวอมเหลือง และจะเป็นสีน้ำตาลเมื่อผลสุก และจะแห้งแตกต่อไป ส่วนด้านในมีเมล็ดสีดำเล็กๆ

กระพังโหม

กระพังโหม

การขยายพันธุ์กระพังโหม

กระพังโหมสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และการปักชำ ซึ่งในปัจจุบันได้เริ่มมีการนำกระพังโหมขยายพันธุ์กันมากขึ้น เนื่องจากมีการศึกษาวิจัยพบว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เป็นประโยชน์หลายประมาณ โดยวิธีที่นิยมขยายพันธุ์ในปัจจุบัน คือ การปักชำต้น หรือ เถา ซึ่งมีวิธีการปักชำ คือ ตัดเถากระพังโหม ให้ยาว 8-10 นิ้ว แล้วนำมาปักในถุงเพาะชำ ที่มีการเตรียมวัสดุเพาะ โดยใช้ดินผสมกับขี้เถ้าแกลบแล้วนำไปไว้ในเรือนเพาะชำ รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ กระพังโหมเริ่มแตกใบอ่อน และออกรากจึงสามารถนำไปปลูกได้ต่อไป สำหรับการปลูกกระพังโหม ส่วนมากจะปลูกตามรั้ว หรือ ตามที่ที่มีค้างให้เถาได้เลื้อยเกาะ โดยการขุมหลุมกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร ลึก 30 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมักรองก้นหลุม และควรปลูกห่างกันประมาณ 1 เมตร ทั้งนี้กระพังโหมเป็นไม้ขึ้นง่ายโตเร็ว ชอบความชุ่มชื้น


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนใบ และทั้งต้นของกระพังโหม ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารสกัดจากส่วนใบ พบสาร Propanoic acid, Benzofuran, Furaneol, Octadecanoic acid, Hexadecanoic acid, 2-Methoxy-4-vinylphenol, 3-Penten-2-one, 4-methyl- ส่วนสารสกัดจากทั้งต้นของกระพังโหม พบสาร asperuloside, scandoside, paederoside ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากใบ พบสาร sitosterol, stigmasterol, campesterol, linalool, terpineol, geraniol, ursolic acid, palmitic acid และ methyl mercaptan เป็นต้น

โครงสร้างกระพังโหม

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกระพังโหม

           มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของกระพังโหมระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           ฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ของสารสกัด 50% ethanol จากรากกระพังโหม โดยได้ทำการทดสอบในหนูแรทสายพันธุ์ albino wistar ซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วย absolute ethanol และเริ่มการศึกษาโดยป้อนสารสกัดกระพังโหม จากรากขนาด 250, 500, 750 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือ ยามาตรฐาน omeprazole ขนาด 8 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แก่หนูแต่ละกลุ่ม เป็นเวลา 15 วัน ในวันที่ 15 ของการทดสอบ จึงให้ absolute ethanol (5 มิลลิลิตร ต่อน้ำหนักตัวในหน่วยกิโลกรัม) เหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ผลการทดสอบพบว่าค่าดัชนีการเกิดแผล (ulcer index) เท่ากับ 20.50±6.40, 15.83±1.00, 7.54±1.40 และ 31.64±0.50 ตามลำดับ และมีร้อยละการยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารเท่ากับ 75.62%, 81.17%, 91.03% และ 62.37% ตามลำดับ โดยพบว่าสารสกัดทุกขนาด ออกฤทธิ์ได้ดีกว่ายามาตรฐาน omeprazole (p<0.05) การศึกษาเนื้อเยื่อกระเพาะอาหารภายใต้กล้องจุลทรรศน์พบว่าสารสกัดสามารถลดการทำลายของเยื่อบุผิว และลด หรือ ไม่พบการบวม และนิวโทรฟิว ที่เยื่อบุผิวชั้นล่าง ผลการตรวจวัดระดับสาร malondialdehyde (MDA) ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยา lipid peroxidation โดยใช้วิธีทดสอบ thiobarbituric acid reaction substances (TBARS) test และการตรวจวัดระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ ที่บริเวณเยื่อบุผิวของกระเพาะอาหาร พบว่าสารสกัดทุกขนาดสามารถลดปริมาณ MDA ได้อย่างมีนัยสำคัญ และเพิ่มระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระได้แก่ catalase (CAT), superoxide dismutase (SOD) และ glutathione (GSH) ได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ ethanol เพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้รับสารสกัด (p<0.05) โดยสารสกัดขนาด 750 mg/kg สามารถลดปริมาณ MDA และเพิ่มระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระทั้งสามชนิด ได้มากกว่ายามาตรฐาน omeprazole ขนาด 8 mg/kg โดยสรุปสารสกัดจากรากกระพังโหม มีฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารจากการเหนี่ยวนำของ ethanol ได้อย่างมีนัยสำคัญ

           และมีการศึกษาฤทธิ์รักษาอาการท้องเดินในหนูถีบจักรที่ถูกกระตุ้นให้ถ่ายด้วยน้ำมันละหุ่ง และเกลือแมกนีเซียมซัลเฟต พบว่าสารสกัดเอทานอลจากกระพังโหมขนาด 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีฤทธิ์รักษาอาการท้องเดิน และยับยั้งการบีบตัวของลำไส้หนูถีบจักรส่วนสารสกัดเมทานอลจากใบกระพังโหมมีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูขาว อีกทั้งยังมีรายงานของสารสกัดจากใบ ที่สกัดระบุว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูเบาหวานใกล้เคียงกับสารมาตรฐาน เมื่อนำไปทดสอบกับหนูเบาหวานที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยสาร alloxan และยังสามารถช่วยลดความเครียดจากการออกซิเดชั่น และยับยยั้งการอักเสบของไตในผู้ป่วยโรคเบาหวนในช่วงต้นได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและการวิเคราะห์ทางเคมีพฤกษเคมีของสารสกัดจากใบกระพังโหม เกี่ยวกับฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วย วิธี DPPH พบว่า สารสกัดเมทานอลจากใบมีสารพฤกษเคมีกลุ่มไตรเทอร์พีนอยด์ น้ำมันระเหย สเตียรอยด์ อัลคาลอยด์ และไกลโคไซด์ ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในปริมาณสูง โดยแสดงค่า IC50 เท่ากับ 2.11 mg/mL และมีค่า TEAC เท่ากับ 247.85 mg Trolox/g extract และยังมีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ acetylcholinesterase ได้อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกระพังโหม

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดจากส่วนรากของกระพังโหมระบุว่า มีการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดจากรากกระพังโหม โดยป้อนสารสกัด 50% ethanol จากรากกระพังโหม ในขนาด 2 กรัม/กิโลกรัม (น้ำหนัก) แก่หนูแรท เพียงครั้งเดียว และสังเกตอาการจนครบ 24 ชั่วโมง ไม่พบการตายของหนูทดลอง และไม่พบอาการไม่พึงประสงค์แต่อย่างใด


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในประเทศไทยพบพืชที่อยู่ในสกุลเดียวกันกับกระพังโหม ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน และมีชื่อเรียกพ้องกันหลายชนิด ซึ่งแต่ละต้นก็มีสรรพคุณที่แตกต่างกันไป ดั้งนั้นจึงควรระมัดระวังในการใช้และควรใช้โดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น


เอกสารอ้างอิง กระพังโหม
  1. นันทวัน บุณยะประภัศร, บรรณาธิการ. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน 1. กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชน จำกัด; 2543. 895 หน้า.
  2. กระพังโหม. คู่มือการกำหนดพื้นที่ปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ในทางเภสัชกรรมไทย เล่ม 1. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. กันยายน 2558.หน้า 19-21.
  3. วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล. 2539. ไม้ดอกม่วง. กุลการพิมพ์ : กรุงเทพมหานคร.
  4. พิชานันท์ ลีแก้ว. "ตดหมูตดหมา" เพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้จริงหรือ?. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  5. วงศ์สถิตย์ ฉั่วสกุล, พร้อมจิต ศรลัมพ์, พรทิพย์ สุภัทรวณิชย์. สมุนไพรพื้นบ้านอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ (2). วารสารเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2538;22(2):55-67.
  6. สุธรรม อารีกุล. องค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของไทย 2. กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด; 2552. 751 หน้า.
  7. พรทิพย์ ปัดตาเคนัง. พฤกษเคมีเบื้องต้นและฤทธิ์ทางชีวภาพของตดหมูตดหมา (Paederia linearis Hook.f.). วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยาศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม. กุมภาพันธ์ 2562 .73 หน้า
  8. ฐิติพร เทียรฆนิธิกูล, จิราภรณ์ นิคมทัศน์. คุณสมบัติการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดหยาบจากกระพังโหม และการประยุกต์ใช้สารสกัดหยาบในผลิตภัณฑ์คุกกี้เนยสด. วารสารวิทยาศาสตร์บูรพาปีที่ 28. ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2566. หน้า 1110-1127.
  9. กระพังโหม. ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=307
  10. Salehin, K., Dilara, Z., Rajib, D., Dilruba, N., Shamima, A., Ahmed, R., Mohammed, R. (2011). Antihyperglycemic Activity Studies with Methanol Extract of Madhuca Indica J.F. Gmel. Leaves and Paederia Foetida L. Stems in Mice. Advances in Natural and Applied Sciences, 5(2), 122–126.
  11. Khushbu, C., Anar, P., Mayuree, P., Carol, M., Roshni, S., & Subodh, A. (2010). Paederia foetida Linn. As a
  12. Mukherjee PK, Kumar V, Mal M, Houghton PJ. Acetylcholinesterase inhibitors from plants. Phytomedicine 2007;14(4):289-300.
  13. potential medicinal plant : A Review. Journal of Pharmacy Research, 3(12), 3135-3137
  14. Saenphet K, Saenphet S, Jirakittirat K. Gastroprotective effects and antioxidant activities of Paederia pilifera Hook.f. root extract. Chiang Mai J Sci. 2014;41(5.1):1121-31.
  15. Borgohain, M. P., Chowdhury, L., Ahmed, S., Bolshette, N., Devasani, K., Das, T. J., Lahkar, M. (2017). Renoprotective and antioxidative effects of methanolic Paederia foetida leaf extract on experimental diabetic nephropathy in rats. Journal of Ethnopharmacology, 198, 451–459.
  16. Kumar, V., Anwar, F., Ahmed, D., Verma, A., Ahmed, A., Damanhouri, A.Z., Mishra, V., Ramteke, W.P., Bhatt, P.C. & Mujeeb, M. (2014). Paederia foetida Linn. leaf extract: an antihyperlipidemic, antihyperglycaemic and antioxidant activity. BMC Complementary and Alternative Medicine, 14(76), 1-16.
  17. Silpi, C., Ahmade, S., & Singh, K. (2014). Comparison of in vitro antioxidant potential of fractioned Paederia foetida leaf extract. International Journal of Drug Development & Research, 6(2), 105–109
  18. Ingkaninan K, Temkitthawon P, Chuenchom K, Yuyaem T, Thongnoi W. Screening for acetylcholinesterase inhibitory activity in plants used in Thai traditional rejuvenating and neurotonic remedies. J Ethnopharmacol 2003;89(2-3):261-4.