ว่านสากเหล็ก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
ว่านสากเหล็ก งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ว่านสากเหล็ก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ว่านพร้าว, กูดพร้าว (ภาคเหนือ), พร้าวบก, พร้าวนกคุ้ม (ภาคใต้), ละโมยอ (มลายู)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Molineriala tifolia Herd. Ex Kurz
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Curculigo latifolia Dryand. Ex W.Aiton
วงศ์ HYPOXIDACEAE
ถิ่นกำเนิดว่านสากเหล็ก
ว่านสากเหล็กเป็นพรรณพืชที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณประเทศพม่า ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่จะพบมากทางภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ บริเวณป่าดิบชื้น ป่าดงดิบหรือตามสวนป่าและสวนผลไม้ของภาคดังกล่าว
ประโยชน์และสรรพคุณว่านสากเหล็ก
- ช่วยดับพิษร้อน
- ช่วยถอนพิษไข้
- ช่วยกระจายโลหิต
- ช่วยฟอกโลหิต
- ช่วยทำให้โลหิตไหลเวียนได้สะดวก
- แก้ไอ
- แก้เจ็บคอ
- ช่วยแก้อาการปวดข้อ เคล็ดขัดยอก
- แก้บวม
- ช่วยรักษาฝีภายนอก
- ช่วยแก้พิษงู
- ช่วยแก้แมลงกัดต่อย
- ช่วยบำรุงกำลัง
- ช่วยรักษาอาการอักเสบของมดลูก มดลูกลอย
- ช่วยลดอาการปวดประจำเดือน
- ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น
- แก้มดลูกพิการ
- แก้เคล็ดขัดยอก
- แก้อาการฟกช้ำ
- แก้สิว ฝ้า จุดด่างดำบนใบหน้า
- แก้ปวดท้อง
- ช่วยขับปัสสาวะ
นอกจากนี้ว่านสากเหล็กยังจัดอยู่ในตำรับยา "พิกัดเหล็กทั้งห้า" ซึ่งประกอบไปด้วยว่านสากเหล็ก แก่นขี้เหล็ก แก่นพญามือเหล็ก เถาวัลย์เหล็ก และสนิมเหล็ก ซึ่งมีสรรรพคุณเป็นยาแก้พิษโลหิตทั้งบุรุษและสตรี เป็นยาบำรุงกำลัง และแก้กษัยอีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ว่านสากเหล็ก
ใช้ฟอกโลหิต แก้ไอ เจ็บคอ แก้ปวดข้อ ดับพิษร้อน ถานพิษไข้ โดยใช้ใบแห้ง 3-10 กรัม หรือ ใบสด 15-35 กรัมมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้มดลูกอักเสบ แก้มดลูกลอย แก้ปวดประจำเดือน ช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่ แก้มดลูกพิการ โดยใช้ รากมาหั่นบางๆ ตากแห้ง ดอกกับสุรารับประทาน แก้อาหารฟกช้ำ โดยใช้รากแห้ง นำมาบดให้เป็นผง ครั้งละ 10 กรัม นำมาชงกับน้ำอุ่นดื่ม ใช้แก้สิวฝ้าจุดด่างดำ โดยใช้รากมาฝนทาบริเวณใบหน้า แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะโดยนำ ดอก 100-150 กรัม หรือ ราก 10-15 กรัม ต้มน้ำดื่มวันละสามครั้ง หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น ใช้รักษาฝีภายนอก แก้พิษแมลงกัดต่อย แก้อาการฟกช้ำ โดยใช้ต้นสดมาตำดอกบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปของว่านสากเหล็ก
ว่านสากเหล็กจัดเป็นไม้ล้มลุก ลักษณะคล้ายพืชพวกปาล์ม มีความสูงของต้นเหนือดินประมาณ 30-40 เซนติเมตร โดยลำต้นเหนือดินจะมีลักษณะกลมชุ่มน้ำ และมีหัวคล้ายรากลักษระกลมรีรูปไข่แทงลึกลงไปในดินอีกประมาณ 10-30 เซนติเมตร ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับสากตำข้าว ใบ ออกเรียงสลับติดกันที่โคนต้น ใบมีสีเขียวแผ่นใบรูปขอบขนานแกมรูปหอก พับเป็นร่องๆ ตามยาว คล้ายใบปาล์ม ปลายใบเรียวแหลมโคนใบสอบแคบ กว้างประมาณ 4–6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30–40 เซนติเมตร มีก้านใบยาว 25–30 เซนติเมตร โคนแผ่กว้างหุ้มลำต้น ลักษณะดอก มี 6 กลีบ สีเหลือมีขนขึ้นปกคลุม โคนเชื่อมติดกัน ซึ่งดอกจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-2.5 เซนติเมตร มีใบประดับสีเขียว ยาว 1-6 เซนติเมตร ดอกแทงออกมาจากใต้ดินโดยจะออกเป็นช่อรวมกันแน่นเป็นรูปทรงกระบอกปลายแหลม ยาว 5-7 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร ผลเป็นผลสดมีลักษณะกลมเมื่อผลอ่อนจะมีสีเหลืองอมเขียวอ่อน ส่วนผลแก่เป็นสีขาวถึงแดง โดยผลจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร ส่วนที่ด้านขั้วป่องออกปลายเป็นจะงอย ผลมีรสหวานอมฝา
การขยายพันธุ์ว่านสากเหล็ก
ว่านสากเหล็กสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการแยกหน่อและเพาะเมล็ด แต่ส่วนมากแล้วจะนิยมการแยกหน่อมากกว่าการเพาะเมล็ด ซึ่งการนำว่านสากเหล็กมาปลูกต้องผสมวัสดุในถุงเพาะชำก่อน โดยการผสมดินกับปุ๋ยคอกและมะพร้าวสับแล้วจึงนำหน่อว่านสากเหล็กมาปลูก โดยการตัดแต่งใบออกบ้าง เมื่อปลูกแล้วนำไปไว้ในเรือนเพาะชำ รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ เมื่อว่านสากเหล็กอายุได้ 3-4 เดือน ลำต้น และรากจะแข็งแรง จึงสามารถเอาลงปลูกได้ในหลุมที่เตรียมไว้แล้วกลมดินแล้วกดให้แน่น รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ
ทั้งนี้ว่านสากเหล็กเป็นพืชที่ไม่ชอบแดด ควรปลูกที่ร่มรำไรใต้ต้นไม้ และควรขุดหลุมที่จะทำการปลูกให้กว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร ลึก 30 เซนติเมตร แล้วรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมักเว้นระยะระหว่างต้นประมาณ 30-40 เซนติเมตร
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของว่านสากเหล็ก ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารกลุ่ม Alkaloids ได้แก่ Tazettine, Lycorine, Crinamrine สารกลุ่ม benzenoid ได้แก่ 2,6-dimethoxy benzoic acid และสารกลุ่ม steroid ได้แก่ beta-sitosterol
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของว่านสากเหล็ก
มีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของว่านสากเหล็กระบุไว้ว่า ใบ และรากของว่านสากเหล็กมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระรวมถึงยังสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียกลุ่มก่อโรคทางผิวหนัง เช่น Candida albicans, Pseudomonas aeruginosa และ Stapphylococcus aureus ได้โดยฤทธิ์ต้านอนุมูลิอิสระนั้น จากการศึกษาวิจัยพบว่าการสกัดสารสกัดหยาบด้วยน้ำอุณหภูมิห้องจากส่วนใต้ดิน (ราก และ เหง้า) ให้อัตราร้อยละของผลผลิตสูงสุด รองลงมา คือ เอธานอล และสารสกัดหยาบด้วยเอธานอลจากส่วนเหนือดิน (ใบ และลำต้น) จากนั้นนำไปศึกษาฤทธิ์การต้านอนุมูนอิสระด้วยวิธี Frap และ DPPH พบว่าสารสกัดหยาบทั้งส่วนเหนือดิน และใต้ดินมีฤทธิ์การต้านอิสระสูง โดยสารสกัดหยาบด้วยน้ำร้อนจากส่วนเหนือดิน ให้ฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุด
ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งระบุว่า สาร Tazettine ที่สกัดได้จากว่านสากเหล็กในปริมาณ 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม มีฤทธิ์ในการกระตุ้นหัวใจ โดยทำให้มีการบีบตัวแรงขึ้น นอกจากนี้ว่านสากเหล็กยังมีฤทธิ์ทางเภสัชอื่นๆ อีกเช่น ฤทธิ์การต้านการอักเสบ ลดอาการเจ็บปวด บวม เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของว่านสากเหล็ก
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการนำว่านสากเหล็กมาใช้จะต้องมีกระบวนการนำไปกำจัดพิษออกก่อน จึงจะสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ ดังนั้นการเตรียม (ว่านสากเหล็ก) จึงควรเตรียมโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น อีกทั้งควรใช้สมุนไพรดังกล่าวก็ควรใช้อย่างระมัดระวังไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันนานเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง ว่านสากเหล็ก
- วิทยา บุญวรพัฒน์. “ว่านสากเหล็ก”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 516.
- ว่านสากเหล็ก. คู่มือการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ในทางเภสัชกรรมไทย เล่ม .1 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. กันยายน 2558. หน้า 235-237
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.“ว่านสากเหล็ก”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 730-731.
- ว่านสากเหล็ก.กลุ่มยาขับประจำเดือน.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนาราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_26_7.htm