หนามแท่ง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

หนามแท่ง งานวิจัยและสรรพคุณ 7 ข้อ

ชื่อสมุนไพร หนามแท่ง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กะแทง, เค็ด, หนามเค็ด, มะเค็ด (ภาคกลาง, ภาคเหนือ, ภาคอีสาน), แท้ง, หนมขี้แรด (ภาคเหนือ, ภาคอีสาน), เคล็ดทุ่ง (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Catunaregam tomentosa (Blume ex DC.) Triveng
วงศ์ RUBIACEAE


ถิ่นกำเนิดหนามแท่ง

หนามแท่ง จัดเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยมีถิ่นกำเนิดกระจายเป็นบริเวณกว้างในประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม รวมถึงทางตอนใต้ของจีน จากนั้นจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปทั่วเขตร้อนของทวีปเอเชีย และแอฟริกา สำหรับในประเทศไทยสามารถพบหนามแท่ง ได้ทั่วทุกภาคของประเทศแต่จะพบได้มากใตภาคอีสานบริเวณป่าดิบ ป่าแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าละเมาะ ป่าชายหาด และบริเวณทุ่งหญ้า หรือ ตามที่รกร้างว่างเปล่า ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 300 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณหนามแท่ง

  1. ใช้รักษาเบาหวาน
  2. แก้โรคมะเร็งตับ
  3. มะเร็งในกระดูก
  4. แก้วัณโรค
  5. ใช้แก้ไข้
  6. ช่วยขับปัสสาวะ
  7. ใช้รักษาแผลที่ถูกหนามต่างๆ ทิ่มแทงหักคาในเนื้อ

           คนไทยในอดีตมีการนำเนื้อในรอบเมล็ดของหนามแท่ง มาขยี้กับน้ำทำให้เกิดฟองแล้วใช้ซักผ้าสระผม หรือ นำไปใช้เป็นยาเบื่อปลา และหญิงไทยในอดีตยังมีการใช้เนื้อในผลหนามแท่ง มาขยี้ผสมกับน้ำซาวข้าว ใช้สระผมเพื่อทำให้ผมนุ่มเงางามอีกด้วย

หนามแท่ง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้เบาหวาน แก้โรคมะเร็งตับ มะเร็งในกระดูก แก้วัณโรค โดยนำทั้งต้น หรือ แก่นกับรากของหนามแท่ง มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ไข้ ขับปัสสาวะ โดยนำใบสดมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ นำใบมาตากแห้ง แล้วใช้ชงเป็นชาดื่ม เช้า-เย็น
  • ใช้รักษาแผลที่ถูกหนามทิ่มหักคามือ โดยนำเนื้อไม้มาฝนทาบริเวณที่เป็นแผล


ลักษณะทั่วไปของหนามแท่ง

หนามแท่ง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 4-10 เมตร ทรงพุ่มยอดรูปปลายตัด กิ่งแตกออกเกือบขนานกับพืช ลำต้น และกิ่งก้านทรงกระบอก แต่เมื่อต้นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนปลายของลำต้นจะมีลักษณะยอดบิดคดไปมา คล้ายไม้บอนไซ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล กิ่งก้านมีหนามออกเป็นคู่ตรงข้ามหนามมีลักษณะแข็ง แหลม ยาว 1-2 นิ้ว บริเวณกิ่ง และยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม

          ใบหนามแท่ง เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามชิดติดกันเป็นกระจุก บริเวณกิ่งใหญ่ ลักษณะในเป็นรูปไข่กว้าง หรือ รูปไข่แกมวงรี กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 5-7 เซนติเมตร ใบมักม้วนลงเล็กน้อย โคนใบสอบเรียว ปลายใบกลม หรือ มน หรือ อาจมีติ่งเล็กน้อย ขอบใบเรียบ แผ่นในกิ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย ด้านบนของใบมีสีเขียวเข้มกว่าด้านล่างมีขนสีเทานวล มีเส้นแขนงที่มองเห็นชัดเจนใบข้างละ 6-12 เส้น ใบด้านบนมีเส้นใบย่อยแบบร่างแหชัดเจน และมีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบ เป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนก้านใบยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร มีขนสั้นหนานุ่มปกคลุม

           ดอกหนามแท่ง เป็นดอกเดี่ยว หรือ อาจออกเป็นกระจุกบริเวณปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็ก โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยกเป็น 8-10 แฉก กลีบดอกเป็นรูปใบหอกกลับแกมรูปไข่ กว้าง 4-6 มิลลิเมตร ยาว 1-1.5 เซนติเมตร ปลายแหลม กลีบดอกมักบิดเป็นกังหัน เมื่อเริ่มออกดอกกลีบดอกจะมีสีขาว แต่เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง ดอกกลิ่นหอม เกสรเพศผู้จำนวนเท่ากับแฉกกลีบดอก ส่วนเกสรเพศเมีย มีรังไข่ใต้วงกลีบ และมีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมีย มี 2 แฉก ขนาดใหญ่สีครีม และมีกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร มีขนปลายแยกเป็น 8-10 แฉก

           ผลหนามแท่ง เป็นผลสดมีเนื้อ ลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-4 เซนติเมตร เปลือกผลนุ่มมีขนเหมือนกำมะหยี่สีน้ำตาลปกคลุม เมื่อผลแห้งแล้วจะไม่แตกด้านในผลมีเมล็ดรูปรี หรือ รูปไข่จำนวนมากมีขนาดเล็ก

หนามแท่ง

หนามแท่ง

การขยายพันธุ์หนามแท่ง

หนามแท่ง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด ซึ่งในปัจจุบันการขยายพันธุ์ของหนามแท่งจะเป็นการขยายพันธุ๋ในธรรมชาติเท่านั้น ไม่พบว่ามีการนำหนามแท่งมาปลูกตามบ้านเรือน หรือ ไร่นา เนื่องจากมีความเชื่อว่าต้นหนามแท่ง มีหนามหากมีต้นหนามแท่งในบ้านอาจมีอุปสรรคขวากหนามในชีวิต ดังนั้นการกระจายพันธุ์ของหนามแท่งในธรรมชาติจึงเป็นการอาศัยผลที่ร่วงลงพื้น แล้วเมล็ดเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่เท่านั้น สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกหนามแท่ง นั้นก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนเปลือกต้น และผลของหนามแท่ง ในต่างประเทศระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น Catunaregin, ficusal, pinoresinol, scopoletin, daucosterol, randialic acid β, morindolide, scoparone และ secoisolaricoresinol เป็นต้น

โครงสร้างหนามแท่ง

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของหนามแท่ง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยา ของสารสกัดหนามแท่ง จากเปลือกต้น เปลือกผล ใบ และผล ระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้

           มีผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดเอทานอลจากผลของหนามแท่ง พบว่าเมื่อบ่มสารสกัดความเข้มข้น 0-1.25 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ร่วมกับเซลล์ไมโครฟาจนาน 24 ชั่วโมง ไม่พบความเป็นพิษต่อเซลล์แมคโครฟาจนอกจากนี้สารสกัดเมทานอลจากผลหนามแท่งที่ความเข้มข้น 50-200 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ยังสามารถยับยั้งการแสดงออกของยีนไซโคลออกซิจีเนส-2 (COX-2) และยีนทูเมอร์เนโครซีสแฟคเตอร์-อัลฟา (TNF-α) ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และสูงขึ้นตามปริมาณที่ใช้ และใกล้เคียงกับยาอินโดเมทาซิน

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเอทานอลจากส่วนใบของหนามแท่ง โดยการทดสอบ 2,2-diphenyl-1-picrylhydrazyl (DPPH) พบว่าสารสกัดดังกล่าวมีสาร ฟินอล และฟลาโวนนอยด์สูงที่สุด อีกทั้งยังแสดงให้เห็นฤทธิ์การต้านอนุมูลอสิระ โดยมีค่า IC50 ที่ 20.07±0.51 ไมโครกรัมมิลลิลิตร

           อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัยสารสกัดจากผล และใบของหนามแท่งต่อเชื้อศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Bacllus subills และ Staphylococcus aureus พบว่าสารสกัดจากผล ใบหนามแท่งที่ 1,000 ไมโครกรัม/แผ่น แสดงประสิทธิภาพสูงสุดต่อ B. subtilis และ S. aureus ด้วยค่า MIC 1,000 µg/mL


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของหนามแท่ง

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้หนามแท่ง เป็นสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง หนามแท่ง
  1. มะเค็ด. โครงการสำรวจและจัดทำข้อมูลพืชสมุนไพรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ปีงบประมาณ พ.ศ.2562. กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  2. จินตนา จุลทัศน์, ปิยะพร ทรจักร, กัญญารัตน์ เป็งงำเมือง, ฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบของสารสกัดผลหนามแท่ง. วารสารหมอยาไทยวิจัยปีที่ 4. ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2561. หน้า 57-65
  3. หนามแท่ง. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=124
  4. Li J., Huang X., Jiang X.-H., et al. Catunarosides I-L, four new triterpenoid saponins from the stem bark of catunaregam spinosa. Chemical and Pharmaceutical Bulletin. 2015;63(5):388–392.
  5. Gao G., Qi S, Zhang S, et al. Minor compounds from the stem bark of Chinese mangrove associate Catunaregam spinosa. Die Pharmazie. 2008;63(7):542–544.
  6. Varadharajan M., Sunkam Y., Magadi G., Rajamanickam D., Reddy D., Bankapura V. Pharmacognostical studies on the root bark and stem bark of Catunaregam spinosa (Thunb.) Tiruv. (Madanaphala) - an Ayurvedic drug. Spatula DD - Peer Reviewed Journal on Complementary Medicine and Drug Discovery. 2014;4(2):89–99.
  7. Gao G.-C., Wei X.-M., Qi S.-H., Yin H., Xiao Z.-H., Zhang S. Catunaregin and epicatunaregin, two norneolignans possessing an unprecedented skeleton fromcatunaregam spinosa. Helvetica Chimica Acta. 2010;93(2):339–344.