หางไหลแดง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

หางไหลแดง งานวิจัยและสรรพคุณ 8 ข้อ

ชื่อสมุนไพร หางไหลแดง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น โล่ติ๊น, หางไหล (ภาคกลาง), ไหลน้ำ, เครือไหลน้ำ (ภาคเหนือ), อวดน้ำ (สุราษฎร์ธานี), กะลำเพาะ (เพชรบุรี), โพตะโกส้า (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Derris elliptica (Roxb.) Benth.
ชื่อสามัญ Derris, Tuba Root
วงศ์ LEGUMINOSAE- PAPILIONACEAE

ถิ่นกำเนิดหางไหลแดง 

หางไหลแดงเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียงในเขตร้อนของเอเชีย เช่น ในภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับในประเทศไทยมีรายงานว่ามีชาวจีนนำหางไหลแดงเข้ามาปลูกในปี พ.ศ.2470 แต่ในปัจจุบันสามารถพบหางไหลแดง ได้ตามธรรมชาติทั่วทุกภาคของประเทศ โดยจะพบมากในบริเวณป่าลุ่มแม่น้ำ หรือ ในพื้นที่ราบลุ่ม ที่มีฝนตกชุก หรือ มีความชื้นสูง ทั้งนี้ในประเทศไทยจะพบได้ทั้งหางไหลแดง และหางไหลขาว (Derris malaccensis)

ประโยชน์และสรรพคุณหางไหลแดง

  1. เป็นยาขับประจำเดือนสตรี
  2. แก้ระดูเป็นลิ่ม หรือ เป็นก้อน
  3. เป็นยาขับลม
  4. ช่วยบำรุงโลหิต
  5. ช่วยลดเสมหะ
  6. ถ่ายเส้นเอ็นทำให้เอ็นหย่อน
  7. ใช้รักษาหิด เหา
  8. รักษาเรือดตามเส้นผม

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้ขับลม ขับเสมหะ บำรุงโลหิต ขับระดู ถ่ายเส้นเอ็นทำให้เส้นเอ็นหย่อน โดยใช้เถาหางไหลแดง หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ตากให้แห้งแล้วนำมาดองกับเหล้าโรงกินเป็นยาวันละ 1 ครั้ง ใช้รักษา หิด เหา โดยใช้เถาสดยาว 2-3 นิ้วฟุต ตำให้ละเอียดผสมน้ำมันพืช ชะโลมบนเส้นผมทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง จึงสระให้สะอาด โดยควรสระติดต่อกัน 2-3 วัน ใช้ขับประจำเดือนแก้ระดูเป็นลิ่ม หรือ เป็นก้อนโดยใช้เถา หรือ รากของหางไหลแดงผสมกับตัวยาอื่นๆ ในตำรับยาท้องถิ่นต่างๆ


ลักษณะทั่วไปของหางไหลแดง
 

หางไหลแดง จัดเป็นไม้เถา เนื้อแข็ง เถา หรือ ลำต้นมีลักษณะกลม โดยเถาที่แก่จะมีสีน้ำตาลปนแดง ส่วนเถาอ่อน และบริเวณเถาใกล้ๆ ปลายยอดจะมีสีเขียวซึ่งจะเห็นได้ชัดตรงปล้องที่อยู่ก่อนถึงยอดประมาณ 2-3 ปล้อง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่เรียงสลับ ยาว 22.5-37.5 ซม. โดยจะมีใบย่อยสีเขียว 9-13 ใบ แต่ส่วนมากจะพบ 9 ใบ โดยใบจะเกิดเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกัน ซึ่งใบคู่แรก (นับจากโคนก้านใบ) จะมีขนาดเล็กที่สุด และเริ่มใหญ่ขึ้นเป็นลำดับจนถึงใบสุดท้ายที่อยู่ตรงยอดจะเป็นใบเดี่ยว ซึ่งมีขนาดของใบใหญ่ที่สุดลักษณะของใบจะเป็นรูปขอบขนานถึงรูปใบหอกแกมขอบขนาน กว้าง 2.5-3.5 ซม. ยาว 7.5-15 ซม. ปลายใบเป็นติ่งแหลม ขอบใบเรียบ พื้นใบด้านบนเป็นสีเขียวมัน มองเห็นเส้นแขนงลักษณะด้านท้องใบมีสีเขียว และเห็นเส้นใบชัดกว่าด้านบน ใบอ่อน และยอดอ่อนจะมีสีน้ำตาลแดง ปกคลุมไปด้วยขนสั้นๆ ดอกออกเป็นช่อกระจะตามซอกใบ ลักษณะคล้ายดอกแคฝรั่งซึ่งช่อดอกแต่ละช่อมีความยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร มีขนสั้นหนานุ่ม ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปดอกถั่ว ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร กลีบล่างเป็นรูปโล่ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย หรือ รูประฆัง กลีบเลี้ยงยาวได้ถึงประมาณ 6 มิลลิเมตร ดอกเป็นสีชมพูอมม่วง เมื่อบานเต็มที่จะเป็นสีชมพูอ่อน และจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีขาว ผลออกเป็นฝักลักษณะแบนรูปขอบขนานปลายแหลม กว้าง 2 เซนติเมตร ยาว 3.5-8.5 เซนติเมตร ตะเข็บบนจะแผ่เป็นปีก ฝักอ่อนมีสีเขียว และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนแดงเมื่อฝักแก่ และปริแตกเมื่อฝักแห้ง ภายในมีเมล็ดลักษณะกลมแบนเล็กน้อย 1-4 เมล็ด

หางไหลแดง

การขยายพันธุ์หางไหลแดง

หางไหลแดง สามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ 
           การปักชำกิ่ง และการปลูกด้วยเมล็ด แต่ในปัจจุบันนิยมปลูกด้วยการปักชำกิ่งเป็นส่วนใหญ่ โดยการปลูกด้วยการปักชำกิ่งจะใช้กิ่งพันธุ์ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป ซึ่งควรจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 25 เซนติเมตร จากนั้นตัดในแนวเฉียงให้มีข้อ 2-4 ข้อต่อท่อน และแช่ท่อนพันธุ์ด้วยฮอร์โมนเร่งรากแล้วจึงนำท่อนพันธุ์ไปปักชำตามแปลงดินที่ว่าง หรือ ปักชำใส่ถุงเพาะชำ หรือ กระถางเพาะชำ ด้วยการใช้วัสดุเพาะชำที่เป็นมูลสัตว์ เศษใบไม้ หรือ วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรผสมกับดินในอัตราส่วน ดินต่อวัสดุเพาะชำ 2:1 หรือ 1:1 ก็ได้ โดยควรมีระยะปลูกอย่างน้อย 1x.5 เมตร

           ทั้งนี้ในระหว่างการปักชำ ควรมีการรดน้ำอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง และควรใส่ปุ๋ยคอก หรือ มูลสัตว์ต่างๆ เป็นประจำทุกๆ 1-2 เดือน เมื่อกิ่งพันธุ์แตกราก และยอดประมาณ 45 วัน จึงย้ายลงปลูกตามจุดที่เหมาะสม ทั้งนี้ให้พิจารณาจุดที่จะปลูกให้เหมาะสมต่อไป

           สำหรับการเก็บเกี่ยวราก หรือ เถาหางไหลแดง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ควรเก็บเมื่อหางไหลมีอายุอย่างน้อย 2 ปี ด้วยการเก็บเพียงบางส่วนของราก หรือ เถา ไม่ควรตัดรากหรือทั้งลำต้น

องค์ประกอบทางเคมี

มีผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของราก และเถาของหางไหลแดง พบว่า พบสารต่างๆ มากมาย โดยจะพบสาร Rotenone มากที่สุด (ซึ่งเป็นสารที่มีความเป็นพิษกับมนุษย์ และสัตว์) นอกจากนี้ยังพบสารอื่นๆ อีกเช่น Deguelin, Elliptone, α-toxicarol, Luteolin, Formonnetin, Apigenin 7-0-B-D-glucoside ฯลฯ

โครงสร้างหางไหลแดง  

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของหางไหลแดง

มีรายงานสารสำคัญที่พบในหางไหลแดง ส่วนใหญ่ คือ โรติโนน (rotenone) โดยพบในส่วนของโคนต้น ก้านใบ ลำต้น ใบ รากกิ่ง รากขนาดเล็ก รากขนาดใหญ่ ในขนาด 0.4, 0.5, 2.7, 16.6, 26.7, 1003.9 และ 8981.1 ppm ตามลำดับ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าพบสารโรติโนนมากในส่วนของราก และในการศึกษาความเป็นพิษของสาร rolenone พบว่าสารพิษเฉียบพลันทางปากต่อหนู (rats) LD50 132-1500 มก./กก. ความเป็นพิษทางปากต่อหนูตะเภา (guinea pig) LD50 60-1500 มก./กก.    

           ส่วนการศึกษาในหนูเม้าส์พบว่า ระดับที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (ค่า LD50) ของสารสกัดคลอโรฟอร์ม น้ำร้อน และปิโตรเลียมอีเธอร์จากส่วนราก มีค่า 700, 600 และ 700 มก./กก. ตามลำดับ

           ส่วนในการศึกษาความเป็นพิษเรื้อรังใช้เวลาในการศึกษา 90 วัน ทางปากของหนูทดลองพบว่า ทำให้หนูเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ อาเจียนบ่อย เบื่ออาหาร และเมื่อศึกษาเนื้อเยื่อที่อยู่ภายในกระเพาะ ลำไส้ ตับ ไต พบว่ามีความพิษปกติของเนื้อเยื่อ 

           สำหรับการทดสอบเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ พบว่า เมื่อหนู กระต่าย และหนูตะเภา ได้รับสาร rotenone หนูตัวเมียจะลดการตั้งครรภ์ และหนูที่ตั้งครรภ์แล้วลูกหนูจะตายในครรภ์แม่ ส่วนลูกหนูที่รอดตายน้ำหนักตัวจะน้อยกว่าปกติซึ่งแสดงให้เห็นว่า rotenone เป็นพิษกับตับอ่อนเมื่อเริ่มปฏิสนธิ

การศึกษาทางพิษวิทยาของหางไหลแดง

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  • ในการใช้หางไหลแดงควรระมัดระวังในการใช้เพราะสาร rotenone ที่พบในหางไหลแดงมีฤทธิ์ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร โดยจะมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน และเจ็บคอ เยื่อตาขาวอักเสบมีเลือดคั่งในตาถ้าได้รับในปริมาณมาก สารนี้จะไปกระตุ้นระบบหายใจ แล้วกดการหายใจ ทำให้เกิดอาการชัก หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้
  • ในการจะใช้หางไหลแดง เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาอาการตามสรรณคุณทางยาในตำรายาต่างๆ นี้ ไม่ควรเตรียมตัวยาใช้โดยลำพัง ควรมีการเตรียมตัวยาโดยผู้เชี่ยวชาญ หรือ หาซื้อตัวยาพร้อมใช้ตามห้างร้านที่สามารถเชื่อถือได้ หรือ ตามห้างร้านที่ได้มีการขึ้นทะเบียนตัวยากับ อย.เท่านั้น

เอกสารอ้างอิง หางไหลแดง
  1. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. “หางไหลแดง ”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 192.
  2. เสงี่ยม พงษ์บุญรอด. 2522 .หางไหลแดง และหางไหลขาว ไม้เทศ-เมืองไทย สรรพคุณยาเทศ และยาไทย. หน้า 557-558.
  3. หางไหลแดง-โล่ติ๊น. เอกสารวิชาการกรมวิชาการเกษตร. กรมวิชาการเกษตรกระทรวงเกษตร และสหกรณ์. 114 หน้า
  4. เฉลิม เนตรศิริ. 2526. มาปลูก....ไล่ดิ้น หรือ หางไหลแดงไว้ฆ่าแมลงกันดีไหม. ชาวเกษตร. ฉบับที่ 28 ประจำเดือนกันยายน หน้า 3-15.
  5. ชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “โล่ติ๊น Tuba Root/Derris”. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขหน้า 100.
  6. วินัย ปิติยนต์.อารมย์ แสงวนิชย์. 2539 “การศึกษาสารสกัดจากหางไหล เพื่อใช้ในการควบคุมแมลงศัตรูพืช” The second conference of Agricultural Toxic Substances Division 84-92.
  7. หางไหลแดง, พญาวานร. กลุ่มสมุนไพรไล่ยุงหรือฆ่าแมลง. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก  http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_25_3.htm.
  8. ข้อมูลสมุนไพร. กระดาษถาม-ตอบ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.megplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6082
  9. หางไหล/โล่ติ๊นประโยชน์ และสรรพคุณหางไหล. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com