บลูเบอร์รี่ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

บลูเบอร์รี่ งานวิจัยและสรรพคุณ 25 ข้อ


ชื่อสมุนไพร บลูเบอร์รี่
ชื่อวิทยาศาสตร์ Vaccinium spp.
ชื่อสามัญ Blueberry
วงศ์ ERICACEAE

ถิ่นกำเนิดบลูเบอร์รี่

บลูเบอร์รี่ จัดเป็นพืชในตระกูลเบอร์รี่ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปอเมริกาบริเวณแคนาดา และสหรัฐอเมริกา ต่อมาในช่วง ค.ศ.1930 จึงได้มีการกระจายพันธุ์ไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป สำหรับในทวีปเอเชียพบว่ามีการปลูกในเขตอบอุ่น และเขตหนาว เช่นในจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นต้น


ประโยชน์และสรรพคุณบลูเบอร์รี่

  • การรักษาบาดแผล
  • รักษาโรคกระเพาะอาหาร
  • รักษาโรคเริม
  • รักษาแผลในปาก
  • รักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
  • การป้องกันโรคมะเร็ง
  • ป้องกันโรคหวัด
  • ป้องกันโรคเบาหวาน
  • ช่วยลดการเป็นโรคเลือดออกตามไรฟัน
  • ลดอาการของโรคเก๊าท์
  • แก้อาการปวดตามข้อ
  • ช่วยลดการระคายเคืองในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ช่วยเพิ่มประสิทภาพการทำงานของเซลล์
  • ช่วยลดการอักเสบของหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุของโรคหัวใจ
  • รักษาโรคทางประสาทและสมอง
  • ช่วยป้องกันการเสื่อมของร่างกาย
  • ช่วยฟื้นฟูการสร้างคอลลาเจนที่ผิว
  • ทำให้ผิวแลดูอ่อนเยาว์ ลบเลือน ริ้วรอย
  • ช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอล
  • ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  • ช่วยล้างพิษในร่างกาย
  • มีส่วนช่วยทำให้สายตาทำงานได้ดีขึ้นในที่มืด
  • ป้องกันอาการอ่อนล้าจากการใช้สายตาหนัก
  • ช่วยป้องกันต้อกระจก ต้อหิน ต้อลม
  • ช่วยลดความดันในลูกตา

           บลูเบอร์รี่จัดเป็น 1 ผลไม้ในตระกูลเบอร์รี่ที่มีการนิยมนำมารับประทานสด รวมถึงนำมาแปรรูปเป็นอาหารและขนมต่างๆ เช่น แยม น้ำผลไม้ ไพน์ เค้ก หรือ ใช้ทำเป็นบลูเบอร์รี่ อบแห้งเพื่อบริโภค ส่วนในทางการแพทย์นั้นบลูเบอร์รี่ยังถือเป็นผลไม้ที่ให้คุณค่าในทางการแพทย์หลายประการ เช่น เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อช่วยทำให้เซลล์ในร่างกายสามารถซ่อมแซมตัวเองจากโรคต่างๆ ได้ดี

บลูเบอร์รี่

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

สำหรับการแนะนำรูปแบบ และขนาดวิธีใช้ ของบลูเบอร์รี่นั้นโดยส่วนมากแล้ว จะแนะนำเป็นการรับประทานเป็นผลบลูเบอร์รี่ สดมากกว่า เนื่องจากมีสารออกฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอยู่ครบถ้วย เพราะยังไม่ถูกความร้อนในการแปรรูปที่จะทำให้สารต่างๆ สลายตัวไป แต่ในปัจจุบันได้มีการสกัดเอาสารสำคัญต่างๆ ของบลูเบอร์รี่ออกมาโดยไม่ทำให้สารต่างๆ นั้นสลายไป ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสารสกัดบลูเบอร์รี่ เป็นต้น

ลักษณะทั่วไปของบลูเบอร์รี่

บลูเบอร์รี่ จัดเป็นพืชล้มลุก หรือ ไม้ยืนต้น (แล้วแต่สายพันธุ์) อายุหลายปีมีความสูงของต้นตั้งแต่ 10 เซนติเมตร – 4 เมตร ทรงพุ่มมีลักษณะทรงรี ลำต้นกลมมีสีน้ำตาล แตกกิ่งก้านเป็นพุ่ม ใบเป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ถึงรูปหอก ยาวรี โคนใบสอบมนปลายใบแหลมทู่ ใบด้านบนสีเขียวเข้มด้านล่างสีอ่อนกว่ามีเส้นกลางใบลากจากโคนใบถึงปลายใบชัดเจน ใบกว้าง 0.5-3.5 เซนติเมตร และยาว 1-8 เซนติเมตร ผล ออกเป็นพวงโดยในแต่ละพวงจะมีผลเดี่ยวอยู่ 5-10 ผล โดยผลจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-16 มิลลิเมตร บริเวณปลายผลมีวงแหวนเล็กๆ คล้ายมุงกุฎ ผิวผลเรียบมีนวลผลเมื่อยังอ่อนจะเป็นสีเขียวจางๆ พอแก่ก็จะมีสีม่วงแดง และเมื่อสุกจะมีสีม่วงดำ หรือ ฟ้าอมม่วง หรือ ม่วงอมน้ำเงินแล้วแต่สายพันธุ์ และเมื่อผลสุกเต็มที่จะมีรสหวาน หรือ หวานอมเปรี้ยวมีกลิ่นหอม (ปลูกที่อเมริกาเป็นหลักเนื้อข้างในมีเขียว หรือ เขียวอบขาว ต่างจาก บิลเบอร์รี่ เนื้อข้างในจะเป็นสีแดง) ดอกออกเป็นช่อบริเวณซอกใบซอกกิ่งและปลายยอด มีก้านช่อดอกยาว โดยใน 1 ช่อ จะมีดอกย่อย 5-10 ดอก มีดอกย่อยลักษณะรูปทรงระฆังคว่ำ กลีบดอกมีสีขาว สีชมพู สีแดง แล้วแต่สายพันธุ์ และมีกลีบเลี้ยวสีเขียว เมล็ดฝังอยู่ในเนื้อมีลักษณะแข็งทรงรีเล็กๆ มีสีน้ำตาล

บลูเบอร์รี่ 

บลูเบอร์รี่

บลูเบอร์รี่

การขยายพันธุ์บลูเบอร์รี่

บลูเบอร์รี่ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำ ทั้งนี้บลูเบอร์รี่เป็นพืชในเขตหนาวไม่เหมาะกับสภาพอาการในประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อน แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการผสมสายพันธุ์ให้สามารถปลูกได้ในเขตร้อนบ้างแล้ว เช่นสายพันธุ์กลุ่ม Southern Highbush ซึ่งเป็นพันธุ์ผสมระหว่าง Vaccinium Corymbosum กับบลูเบอร์รี่ท้องถิ่นของฟลอริด้า V.darrowii โดยสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องการความหนาวเย็นน้อยในการสร้างดอก และสามารถปลูกได้ในเขตร้อน แต่สายพันธุ์ที่เป็นที่นิยมทางการค้า ได้แก่สายพันธุ์บลูเบอร์รี่พุ่มเตี้ย lowbush blueberry (Vaccinium angustifolium Aiton) สายพันธุ์บลูเบอร์รี่พุ่มสูง highbush blueberry (V. corymbosum L. และสายพันธุ์บลูเบอร์รี่ แรบบิตอายส์ rabbiteye blueberry (V. virgatum Aiton) เป็นต้น


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของผลบลูเบอร์รี่ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ผลบลูเบอร์รี่พุ่มสูง และบลูเบอร์รี่พุ่มเตี้ย ที่มีน้ำหนักสด 100 ก. มีปริมาณสารกลุ่มแอนโทไซยานิน เท่ากับ 387 และ 487 มก. ตามลำดับ โดยสารแอนโทไซยานินที่สําคัญ ได้แก่ pelargonidin, cyanidin, delphinidin, peonidin, petunidin, malvidin, delphinidin3-galactoside และ delphinidin-3-glucoside รวมถึงสารกลุ่มแอนโทไซยาโนไซด์ที่สำคัญ คือ myrtillin และยังมีสารที่สำคัญอีก 2 ชนิด คือ ellagic acid และ pterostilbene  นอกจากนี้ยังมีสารกลุ่มโพรแอนโทไซยานิดิน (proanthocyanidins) ฟลาวานอล (flavonols) และสารประกอบฟีนอลิก (phenolic compounds) นอกจากนี้บลูเบอร์รี่ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

คุณค่าทางโภชชนาการของบลูเบอร์รี่ (100 กรัม)

  • พลังงาน 57 กิโลแคลอรี่
  • คาร์โบไฮเดรต 14.49 กรัม
  • น้ำตาล 9.96 กรัม
  • ใยอาหาร 2.4 กรัม
  • ไขมัน 0.33 กรัม
  • โปรตีน 0.74 กรัม
  • น้ำ 84.21 กรัม
  • วิตามินA 54 หน่วยสากล
  • วิตามินB1 0.037 มิลลิกรัม
  • วิตามินB2 0.041 มิลลิกรัม
  • วิตามินB3 0.418 มิลลิกรัม
  • วิตามินB6 0.052 มิลลิกรัม
  • วิตามินB9 6 ไมโครกรัม
  • วิตามินC 9.7 มิลลิกรัม
  • วิตามินE 0.57 มิลลิกรัม
  • วิตามินK 19.3 ไมโครกรัม
  • แคลเซียม 6 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 0.28 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 6 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 12 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม 77 มิลลิกรัม
  • โซเดียม 1 มิลลิกรัม
  • สังกะสี 0.16 มิลลิกรัม

โครงสร้างบลูเบอร์รี่

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของบลูเบอร์รี่

มีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญของสารสกัดบลูเบอร์รี่ จากผล ระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ หลายประการ เช่น

           ฤทธิ์ปกป้องสมองและต้านการอักเสบ มีการศึกษาวิจัยพบว่าสาร pterostilbene ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม polyphenols และได้มากในผลของบลูเบอร์รี่ โดยได้ทำการทดสอบฤทธิ์ปกป้องสมองในเซลล์สมองของมนุษย์ชนิด SH-SY5Y ที่เซลล์ถูกทำลายด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) และฤทธิ์ต้านการอักเสบในเซลล์แมคโครฟาจ ชนิด RAW 264.7 ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย lipopolysaccharide (LPS) พบว่า 3-methyl-4'-glucuronate-resveratrol ซึ่งเป็นสารเมแทบอไลต์ของ pterostilbene สามารถยับยั้งการตายของเซลล์สมองได้ โดยทำให้ระดับของ reactive oxygen species ลดลง และเพิ่มปฏิกิริยารีดอกซ์ (REDOX activity) ภายในเซลล์สมอง นอกจากนี้ยังออกฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบภายในเซลล์แมคโครฟาจ โดยยับยั้งการสร้างสารก่อการอักเสบชนิด interleukin-6 และ nitric oxide

           ฤทธิ์ลดความดันโลหิต มีการศึกษาวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง จำนวน 50 คน อายุระหว่าง 30-60 ปี ที่มีความดันโลหิต SBP อยู่ในช่วง 140-179 มม.ปรอท และมีความดันโลหิต DBP อยู่ในช่วง 90-109 มม.ปรอท โดยให้ผู้ป่วยทุกคนรับประทานบลูเบอร์รี่สด หรือ ปั่นละเอียด ขนาด 100 ก. วันละ 1 ครั้ง ก่อนอาหารมื้อกลางวัน หรือ หลังจากการรับประทานอาหารเช้าอย่างน้อย 6 ชม. นาน 2 เดือน พบว่าระดับความดันโลหิต SBP ลดลงจาก 134.68 ± 2.15 เป็น 127.56 ± 1.83 มม.ปรอท และระดับความดันโลหิต DBP ลดลงจาก 93.58 ± 2.34 เป็น 87.66 ± 1.61 มม.ปรอท อย่างมีนัยสําคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังการศึกษา และการศึกษาแบบสุ่มในหญิงวัยหมดประจำเดือน และผู้ชาย อายุระหว่าง 18-50 ปี ความดันโลหิตเริ่มสูง มากกว่า 120/80 มม.ปรอท จํานวน 25 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 รับประทานผงบลูเบอร์รี่ฟรีซดราย ขนาด 38 ก./วัน (เทียบเท่ากับบลูเบอร์รี่แห้ง 250 ก.) กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มควบคุม รับประทานผงหลอก ในขนาดที่เท่ากัน นาน 6 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มที่ได้รับผงบลูเบอร์รี่ฟรีซดราย ความดันโลหิต SBP ลดลงจาก 117.23 ± 7.85 เป็น 114.15 ± 11.47 มม.ปรอท ความดันโลหิต DBP ลดลงจาก 74.61 ± 11.46 เป็น 73.07 ± 5.8 มม.ปรอทและความดันโลหิตหลอดเลือดแดงใหญ่ช่วงหัวใจบีบตัว (aortic systolic pressure: ASP) ลดลงจาก 112.4 ± 10.2 เป็น 101.5 ± 7.1 มม.ปรอท ในขณะที่กลุ่มควบคุมระดับความดันโลหิต SBP และ ASP ลดลงเล็กน้อยและ DBP สูงขึ้น

           และมีการศึกษาทางคลินิกแบบปกปิดทั้ง 2 ฝ่าย (double-blind randomized controlled trial) ในผู้ชายที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จํานวน 52 คน อายุระหว่าง 51-75 ปี โดยมีระดับน้ําตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด (glycated hemoglobin, HbA1c) มากกว่า 6.5 แต่น้อยกว่า 9 มก.% ดัชนีมวลกายมากกว่า 25 กก./ตรม. แบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้รับประทานผงบลูเบอร์รี่ฟรีซดราย ขนาด 22 ก./วัน แบ่งรับประทานครั้งละ 11 ก. ร่วมกับน้ำเปล่า 240 มล. วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มควบคุมให้รับประทานผงหลอก ในขนาดที่เท่ากัน นาน 8 สัปดาห์ พบว่าหลังสิ้นสุดการศึกษากลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่รับประทานผงบลูเบอร์รี่ฟรีซดรายมีค่าระดับความดันโลหิตช่วงหัวใจบีบตัว (systolic blood pressure: SBP) ลดลงจาก 130 ± 3 เป็น 126 ± 3 มม.ปรอท แต่ไม่มีผลต่อระดับความดันโลหิตช่วงหัวใจคลายตัว (diastolic blood pressure: DBP) ในขณะที่กลุ่มควบคุมไม่มีการเปลี่ยนแปลงระดับความดันโลหิตทั้ง SBP และ DBP ส่วนการศึกษาแบบสุ่มในผู้ป่วยเมตาบอลิกซินโดรมจำนวน 48 คน (ผู้ชาย 4 คน และผู้หญิง 44 คน) อายุเฉลี่ย 50 ± 3 ปีดัชนีมวลกาย 37.8 ± 2.3 กก./ตรม. แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้รับประทานผงบลู-เบอร์รี่ฟรีซดราย ขนาด 50 ก. ผสมกับน้ำเปล่า 960 มล. (เทียบเท่ากับผลบลูเบอร์รี่สด 350 ก.) แบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น นาน 8 สัปดาห์ กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มควบคุม ให้ดื่มน้ำเปล่า ขนาด 960 มล./วัน แบ่งรับประทาน 2 ครั้ง เช่นกัน พบว่ากลุ่มที่รับประทานผงบลูเบอร์รี่ฟรีซดราย ค่าความดันโลหิต SBP และ DBP ลดลง 6 และ 4% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าความดันโลหิตก่อนเริ่มการศึกษา ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีค่าความดันโลหิตSBP และ DBP ลดลง 1.5 และ 1.2% ตามลำดับ

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาแบบสุ่มและปกปิดทั้ง 2 ฝ่าย ในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน และเป็นโรคอ้วน จำนวน 115 คน ทั้งเพศชายและหญิง อายุระหว่าง 50-75 ปี มีดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 25.8 - 39.6 กก./ตรม. แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 และ 2 ให้รับประทานบลูเบอร์รี่ สด ขนาด 150 ก. และ 75 ก. (เทียบเท่ากับผงบลูเบอร์รี่ฟรีซดราย 26 และ 13 ก. ซึ่งมีสารแอนโทไซยานิน เท่ากับ 364 และ 182 มก., สารฟีนอลิก เท่ากับ 879 และ 439 มก.ตามลำดับ) กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มควบคุมให้รับประทานผงหลอก ขนาด 26 ก. (ไม่มีสารแอนโทไซยานินและฟีนอลิก) นาน 6 เดือน พบว่ากลุ่มที่รับประทานบลูเบอร์รี่สดขนาด 150 ก. ระดับ SBP ลดลงจาก 136 เป็น 134 มม.ปรอท เมื่อเปรียบเทียบก่อน และหลังการศึกษา ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับประทานบลูเบอร์รี่สดขนาด 75 ก. ความดันโลหิต SBP ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนความดันโลหิต DBP ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทุกกลุ่ม ซึ่งจากการศึกษาในครั้งนี้สรุปว่า การรับประทานบลูเบอร์รี่สดขนาด 75 และ 150 ก./วัน นาน 6 เดือน ไม่สามารถลดความดันโลหิต SBP และ DBP ได้ในผู้ที่เป็นโรคอ้วน


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของบลูเบอร์รี่

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา warfarin ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานบลูเบอร์รี่ เนื่องจากในบลูเบอร์รี่มีวิตามิน K อยู่สูงซึ่งวิตามินชนิดนี้ มีฤทธิ์ทำให้เลือดแข็งตัว และอาจทำให้เกิดการต้านฤทธิ์กัน ทำให้ประสิทธิภาคของยาลดลง นอกจากนี้ผู้ป่วยโรค G6PD  ก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานบลูเบอร์รี่ เนื่องจากอาจทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้ง่ายขึ้น และอาจทำให้อาการแย่ลง

เอกสารอ้างอิง บลูเบอร์รี่
  1. พนิดา ใหญ่ธรรมสาร. บลูเบอร์รี่ (Blueberry) ช่วยลดความดันโลหิตสูง, บอกกล่าวเล่าเรื่องสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. นิศารัตน์ ศิริวัฒนเมธานนท์.อาหารหลากสีมีประโยชน์หลากหลาย (ตอนที่ 3).สารเคมีที่มีประโยชน์จากผักผลไม้ที่มีสีม่วงและสีน้ำเงิน. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มิถุนายน 2553
  4. ฤทธิ์ปกป้องสมองและต้านการอักเสบของสารสำคัญจากบลูเบอร์รี่. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. Shanmugam J, Preetha S. Effect of intake of blueberries in hypertensive patients. Int J Sci Res. 2016;5(8):156-9.
  6. Kalt W, Cassidy A, Howard LR, Krikorian R, Stull AJ, Tremblay F, et al. Recent research on the health benefits of blueberries and their anthocyanins. Adv Nutr. 2020;11:224- 36
  7. Stote KS, Wilson MM, Hallenbeck D, Thomas K, Rourke JM, Sweeney MI, et al. Effect of blueberry consumption on cardiometabolic health parameters in men with type 2 diabetes: an 8-week, double-blind, randomized, placebo-controlled trial. Curr Dev Nutr 2020;4(4):nzaa030.
  8. Pascual-TeresaMaria S, Sanchez-Ballesta T. Anthocyanins: from plant to health. Phytochemistry Reviews. 2008; 7 (2): 281-299.
  9. Basu A, Du M, Leyva MJ, Sanchez K, Betts NM, Wu M, et al. Blueberries decrease cardiovascular risk factors in obese men and women with metabolic syndrome. J Nutr. 2010;140:1582-7.
  10. McAnulty LS, Collier SR, Landram MJ, Whittaker DS, Isaacs SE, Klemka JM, et al. Six weeks daily ingestion of whole blueberry powder increases natural killer cell counts and reduces arterial stiffness in sedentary males and females. Nutr Res. 2014;34:577- 84.
  11. Yousefi M, Shadnoush M, Khorshidian N, Mortazavian AM. Insights to potential antihypertensive activity of berry fruits. Phytother Res. 2021;35:846-63.
  12. Curtis PJ, van der Velpen V, Berends L, Jennings A, Feelisch M, Umpleby AM, et al. Blueberries improve biomarkers of cardiometabolic function in participants with metabolic syndrome results from a 6-month, double-blind, randomized controlled trial. Am J Clin Nutr. 2019;109:1535-45.