โหราเดือยไก่ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
โหราเดือยไก่ งานวิจัยและสรรพคุณ 11ข้อ
ชื่อสมุนไพร โหราเดือยไก่
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ฟู่จื้อ , ชวนอู (จีนกลาง) , หู้จื้อ (จีนแต้จิ๋ว)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Aconitum carmichaelii Debx
ชื่อสามัญ Aconite , Monkshood , Prepared Common
วงศ์ RANUNCULACEAE
ถิ่นกำเนิดโหราเดือยไก่
เชื่อกันว่าโหราเดือยไก่เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน เพราะเป็นพืชที่มีความเป็นพิษ แต่ก็สามารถนำมาใช้เป็นสมุนไพรได้ หากมีการเตรียมเครื่องยาชนิดนี้ให้ดี ซึ่งชาวจีนสามารถนำเครื่องยาชนิดนี้มาใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพรมาตั้งแต่ในอดีตหลายร้อยปีมาแล้ว และยังปรากฏในตำรายาจีนหลายตำรับอีกด้วย ดังนั้นจึงมีการสันนิษฐานกันว่าถิ่นกำเนิดของโหราเดือยไก่น่าจะอยู่ในประเทศจีน สำหรับในประเทศไทยข้อมูลเกี่ยวกับโหราเดือยไก่มีน้อยมาก และยังไม่ปรากฏว่ามีการพบเจอในธรรมชาติ หรือการปลูกในเชิงพาณิชย์ใดๆเลย ในการใช้เป็นสมุนไพรของไทยจะเป็นการใช้โดยการสั่งนำเข้าจากจีนมากกว่า
ประโยชน์และสรรพคุณโหราเดือยไก่
- แก้พิษสัตว์
- ช่วยขับลม
- ช่วยขับระดูสตรี และขับโลหิตช้าๆ
- ช่วยบำรุ่งระบบหัวใจ
- ให้ความอบอุ่นแก่กระเพาะอาหารเสริมความแข็งแรงของไต
- ช่วยบำรุงธาตุไฟ
- ช่วยบรรเทาอาการปวด
- ช่วยฟื้นฟูร่างกายอ่อนแอจากป่วยเรื้อรัง
- แก้อาการอาเจียนมาก ถ่ายมาก
- แก้โรคมือเท้าเย็น
- ช่วยแก้อาการปวดปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
ลักษณะทั่วไปโหราเดือยไก่
โหราเดือยไก่จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุหลายปี ลำต้นตั้งตรงมีความสูงประมาณ 60-120 เซนติเมตร เปลือกต้นเรียบเป็นมัน มีขนขึ้นเล็กน้อยบริเวณยอดต้น ลำต้นด้านบนและกิ่งก้านกลม มีหัวอยู่ใต้ดิน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ออกเป็นคู่มีรูปร่างคล้ายรูปไข่กลับหรือเป็นรูปกระสวย เปลือกเป็นสีน้ำตาลดำ โดยจะมีทั้งรากแก้วและรากแขนงติดอยู่ที่หัวใต้ดิน ซึ่งใช้เป็นเครื่องยาสมุนไพรได้เช่นเดียวกัน ใบออกเป็นใบเดี่ยว แบบเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แฉกเว้า เป็นแฉก 3 แฉก ขอบใบหยักไม่เท่ากันโดยแฉกบนจะหนักลึกกว่าด้านล่าง ซึ่งอาจหยักลึกถึงโคนใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-15 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างแข็ง หลังใบเป็นสีเขียวมัน ส่วนท้องใบมีสีอ่อนกว่า ทั้งนี้ใบที่บริเวณโคนต้นจะมีก้านใบยาวกว่าใบด้านบน ดอกออกเป็นช่อบริเวณยอดต้นและง่ามใบ ดอกมีสีน้ำเงินอมม่วงหรืออาจเป็นสีเหลี่ยมอมเขียว กลีบดอกค่อนข้างกลม มีจำนวน 5 กลีบ กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร และยาวได้ประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงมี 2 กลีบและก้านช่อดอกจะมีขนปกคลุมเล็กน้อย ผลกลมยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีลายเส้นอยู่ที่ผิวของเปลือกผล
การขยายพันธุ์โหราเดือยไก่
โหราเดือยไก่ สามารถขยายพันธุ์ได้โดย การใช้เหง้าและการใช้เมล็ด และเป็นพืชที่ยังไม่มีข้อมูลในการปลูกในประเทศไทย แต่เชื่อว่าวิธีการปลูกจะสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการใช้เหง้าปลูกและการเพาะเมล็ด พืชล้มลุกชนิดอื่นๆตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ความชื้นและสภาพอากาศที่เหมาะสมกับพืชชนิดนี้ด้วย
องค์ประกอบทางเคมี
มีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของรากแก้วและรากแขนงของโหราเดือยไก่ ที่นำมาใช้เป็นสมุนไพรพบว่ามีสาระสำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะสารในกลุ่ม Alkaloids , Mesaconitine เช่น , Chuan-wubase A, B,Aconitine, Carmichaeline, Talatisamine, Hypaconitine และ Carmichaeline นอกจากนี้ยังพบสาร pinoresinol , salicylic acid , honokiol , songorine , karakoline และ ƿ-hydroxycinamic acid เป็นต้น
ที่มา : Wikipedia
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
โหราเดือยไก่เป็นสมุนไพรที่มีพิษ ดังนั้นก่อนนำมาใช้จึงต้องฆ่าฤทธิ์ยาก่อนใช้ โดยในการใช้ตามสรรพคุณของแพทย์แผนจีน จะใช้ตัวยาโหราเดือยไก่ที่สกัดเอาพิษออกแล้วในขนาด 3-15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม หรือใช้แก้อาการปวดข้อ ปวดขา ปวดเอว โดยใช้หัวโหราเดือยไก่ที่กำจัดพิษแล้ว 6 กรัม ห่อซินโฮว 15 กรัม โซยหนี่เกี๋ยง และตุ๊ยตี่หวงอย่างละ 10 กรัม มารวมกันแช่ในเหล้า 500 มิลลิลิตร 2 วัน แล้วนำมารับประทานครั้งละ 5-10 ซีซี วันละ 3 ครั้ง หรือใช้แก้อาการชาที่บริเวณใบหน้าหรือผิวหนัง โดยใช้หัวโหราเดือยไก่โทว่โซ๊ยซิง แซหนำแซ ,โหราข้าวโพด อย่างละ 10 กรัม, พริกหาง 4 กรัม และหนังคางคกตากแห้ง 4 กรัม นำมารวมกันบดให้เป็นผง แล้วนำไปแช่ในเหล้า 100 มิลลิลิตร ใส่เกล็ดสะระแหน่และการบูรเล็กน้อย ใช้ทาบริเวณที่มีอาการ
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
มีการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของรากแก้วและรากแขนงโหราเดือยไก่ พบว่ามีฤทธิ์ต้านอักเสบในหนูถีบจักร และหนูขาว ลดความดันโลหิตในสุนัข เสริมภูมิต้านทานในหนูขาว ระงับปวดในหนูถีบจักรและมีฤทธิ์ในการกระตุ้นหัวใจ โดยในตอนแรกจะทำให้หัวใจเต้นช้าลง ต่อมาจะทำให้หัวใจเริ่มเต้นเร็ว และทำให้หัวใจมีการบีบตัวแรงขึ้น มีผลทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติอย่างเฉียบพลัน
การศึกษาทางพิษวิทยา
มีการศึกษาพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักร โดยฉีดสารสกัดน้ำเข้าหลดเลือดดำพบว่า ขนาดสารสกัดเทียบเท่าผงยาที่ทำให้หนูถีบจักรตายร้อยละ 50(LD50) มีค่าเท่ากับ 13.75 กรัม/กิโลกรัม และขนาดของสารสกัดต่ำสุดที่ทำให้หนูขาวตายเทียบเท่าผงยา 23.40 กรัม/กิโลกรัม และยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอีกหลายฉบับระบุว่า ความเป็นพิษของสมุนไพรชนิดนี้จะสูงกว่าขนาดที่รับประทานมาก โดยอาการเป็นพิษจะเกิดขึ้นเมื่อรับประทานในขนาด 15-60 กรัม หรือสาร aconitine 0.2 มิลลิกรัม โดยความเป็นพิษที่พบ คือ พิษต่อระบบประสาทและหัวใจ ซึ่งจะมีอาการแสบร้อนในปาก น้ำลายไหล คลื่นไส้ อาเจียน แขนขาชา ตาพร่า รูม่านตาขยาย วิงเวียนศีรษะ กลัวหนาว ซีด เพ้อ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ใจสั่น หัวใจเต้นช้า กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลาย ความดันโลหิตสูง ช็อก โคม่า และอาจตายได้
นอกจากนี้ความเป็นพิษของโหราเดือยไก่มีความแตกต่างกันมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับแหล่งปลูก อายุการเก็บเกี่ยว วิธีฆ่าฤทธิ์ของยา และระยะเวลาในการต้ม โดยมีรายงานว่ามีการทดลองความเป็นพิษของโหราเดือยไก่จากแหล่งต่างๆ ปรากฏว่ามีความเป็นพิษแตกต่างกันถึง 8 เท่า แต่เมื่อฆ่าฤทธิ์ของยาโดยวิธีการที่ถูกต้องจะสามารถลดพิษได้มากถึง 81%
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- โหราเดือยไก่เป็นสมุนไพรที่มีพิษมาก การนำมาใช้เป็นยาจึงควรใช้ยาที่ผ่านกรรมวิธีกำจัดพิษแล้วเท่านั้น และไม่ควรรับประทานมากเกินกำหนดและไม่ควรใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป
- สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ห้ามรับประทานโหราเดือยไก่ รวมถึงตำรับยาที่มีโหราเดือยไก่ผสมอยู่
- ในทางการแพทย์แผนจีนระบุว่าห้ามใช้ร่วมกับตัวยา ปั้นเซี่ย เปย์หมู่ กวาโหลว ไป๋จี๋ เพราะเมื่อใช้ร่วมกันแล้วจะทำให้ฤทธิ์ของตัวยาหมดไป
เอกสารอ้างอิง
- ชยันต์ วิเชียรสุนทร. แม้นมาส ชวลิต วิเชียร จีรวงศ์ คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์.พิมพ์ครั้งที่2 กรุงเทพมหานคร.สำนักพิมพ์อมรินทร์ 2548.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โหราเดือยไก่”. หน้า 634.
- โหราเดือยไก่.คู่มือการใช้สมุนไพรไทย-จีน.กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.หน้า192-195
- ลีนา ผู้พัฒนพงศ์ ก่องกานดา ชยามฤต. ธีรวัฒน์ บุญทวีคูณ (คณะบรรณาธิการ) ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544.) สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่2 กรุงเทพมหานคร บริษัท ประชาชน จำกัด 2544.
- สถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้. “หู่จื้อ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : tcm.dtam.moph.go.th. [20 ก.ย. 2014].