องุ่น ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

องุ่น งานวิจัยและสรรพคุณ 32 ข้อ

ชื่อสมุนไพร องุ่น
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผูเถา, ผูท้อ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Vitis vinifera Linn.
ชื่อสามัญ Grape
วงศ์ VITACEAE


ถิ่นกำเนิดองุ่น

องุ่นจัดเป็นไม้ผลเก่าแก่ชนิดหนึ่งของโลกที่มีอายุกว่า 5000 ปีมาแล้ว โดยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในแถบ Asia Minor บริเวณทางตอนใต้ระหว่างทะเลดำ และทะเลแคสเปียน แล้วต่อมาจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยนั้นได้มีการปลูกองุ่น ในทางการค้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 โดยในช่วงแรกนั้น พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่บริเวณภาคกลางแถบจังหวัดนครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม จนกระทั่วในปัจจุบันพบว่าการปลูกองุ่นกันอย่างแพร่หลาบเกือบทั่วทุกภาคของประเทศ

ประโยชน์และสรรพคุณองุ่น

  • ใช้ขับปัสสาวะ
  • ช่วยลดอาการบวมน้ำ
  • แก้อาการปวดข้อ
  • แก้อาเจียนเป็นเลือด
  • แก้เคล็ดขัดยอก
  • แก้ปวดข้อ
  • แก้ฟอกช้ำ
  • แก้ตาแดง
  • แก้ฝี
  • ใช้บำรุงครรภ์
  • ช่วยบำรุงเลือด
  • แก้โลหิตจาง
  • แก้ไอ
  • แก้อาการปวดข้อ
  • แก้ปวดหลัง
  • รักษาอาการเหงื่อออกมากผิดปกติ
  • แก้โรคหนองใน
  • ใช้เป็นยาระบาย
  • ใช้ลดไขมันในเลือด
  • ช่วยขับน้ำดี
  • ช่วยในการบำรุงกำลัง
  • ช่วยบำรุงหัวใจ
  • บำรุงไต
  • บำรุงเส้นเอ็น
  • บำรุงกระดูก
  • ช่วยบำรุงสมอง
  • แก้อาการกระหายน้ำ
  • ใช้สำหรับคนที่ผอมแห้งแรงน้อย ไร้เรี่ยวแรง
  • แก้แก่ก่อนวัย
  • แก้อาการจุกแน่นหน้าอก
  • แก้อาการเคล็ดขัดยอก กระดูกร้าว กระดูกหัก
  • ช่วยทำให้ร่างกาย แข็งแรง

           องุ่น ถือเป็นผลไม้ที่เป็นที่นิยมในการรับประทานทั่วโลกชนิดหนึ่ง โดยการรับประทานมีทั้งการรับประทานในลักษณะของผลไม้สด และผลไม้แห้ง รวมถึงยังมีการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารหลายรูปแบบ เช่น ไวน์ น้ำองุ่น ลูกเกด และแยม เป็นต้น อีกทั้งในปัจจุบันยังมีการนำมาเมล็ดองุ่น มาสกัดเอาสารที่สำคัญ เช่น สาร OPC (oligomeric  praanthocyanidin) มาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรวมถึงยังใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางต่างๆ อีกด้วย

องุ่น

องุ่น

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • บำรุงร่างกาย หลังฟื้นไข้ โดยนำองุ่นแห้ง 30 กรัม หรือ เหล้าองุ่น 30 กรัม กินวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น กินเป็นประจำ
  • ใช้บวมน้ำเพราะขาดอาหาร: ใช้ลูกเกด 30 กรัม และเปลือกขิง สด 15 กรัม ต้มกินวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
  • ใช้แก้คอแห้ง กระหายน้ำ บำรุงกำลัง บำรุงเลือด บำรุงครรภ์ บำรุงไต บำรุงเส้นเอ็น บำรุงกระดูก แก้โลหิตจาง แก้ไอ แก้อาการเหงื่อออกมาก โดยใช้องุ่นสด 250 กรัม ล้างให้สะอาด กินเช้า-เย็น
  • ใช้แก้อาการจุกแน่นหน้าอก โดยใช้องุ่น 30 กรับ ต้มกับน้ำดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
  • ใช้รักษาอาการอาเจียนเป็นเลือด โดยใช้รากสดขององุ่น รากหญ้าคา รากบัวหลวง รากไวเช่า ใบสนหางสิงห์ และดอกแต้ฮวย อย่างละ 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้อาการปวดข้อเนื่องจากลมชื้นเข้าข้อกระดูก ด้วยการใช้รากองุ่น 100 กรัม, คากิ 1 อัน นำมาตุ๋นกับเหล้า และน้ำอย่างละ 1 ส่วน แล้วนำมารับประทาน
  • ใช้ลดไขมันในเลือด โดยนำเมล็ดองุ่นนำมาบดให้เป็นผงแห้ง บรรจุแคปซูลรับประทาน 1-2 เม็ด เช้าและเย็น
  • ใช้แก้ปัสสาวะขัด มีเลือดออก แก้หนองใน โดยนำผลสดนำมาคั้นเอาน้ำ นำไปผสมกับน้ำผึ้งแล้ว น้ำต้มรากบัวหลวง น้ำต้มจากโกฐขี้เถ้า นำไปต้มกินครั้งละ 2 ถ้วยชา
  • ใช้ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก กระดูกร้าว กระดูกหัก ด้วยการใช้รากองุ่นสดนำมาตำแล้วพอก หรือ จะนำมาตำแล้วนำมาคั่วกับเหล้าใช้พอกบริเวณที่เป็นก็ได้
  • ใช้ปัสสาวะสีเข้ม หรือ มีอาการแสบทางเดินปัสสาวะเวลาถ่ายปัสสาวะ โดยใช้องุ่นสด 250 กรัม คั้นน้ำ แล้วเติมน้ำอุ่นใช้ดื่มครั้งเดียวให้หมด
  • ใช้แก้ปัสสาวะเป็นเลือด โดยใช้องุ่นสด 120 กรัม เหง้าบัวสด 250 กรัม ตำให้ละเอียด คั้นน้ำกินวันละ 3 ครั้ง
  • ใช้กระทุ้งหัด โดยนำลูกเกด 30 กรัม ต้มกินดื่ม และใช้เถา หรือ ใบองุ่น จำนวนพอประมาณต้มน้ำอาบด้วย

 

ลักษณะทั่วไปขององุ่น

องุ่น จัดเป็นไม้พุ่มเลื้อยจำพวกเถา มีความยาวตั้งแต่ 2-10 เมตร เถาอ่อนผิวเรียบสีเขียว ตามข้อเถามีมือสำหรับยึดเกาะ บริเวณข้อของเถา และเมื่อเถาแก่ ผิวจะขรุขระและจะมีสีเทา โดยตลอดเถาจะ มีขนปกคลุมทั้งต้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปกลมรี หรือ รูปไข่ คล้ายโล่ของใบมีหยักคล้ายรูปฝ่ามือ ซึ่งจะมีรอยเว้าประมาณ 3-5 รอย โคนใบเว้าเข้าหากันคล้ายรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้าง และยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร เนื้อใบมีสีเขียวบาง และสากมือเล็กน้อย ใต้ใบมีขนสั้นๆ ปกคลุม และมีก้านใบยาว 4-8 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อแยกแขนงตรงข้ามกันใบ หรือ บริเวณซอกใบ ลักษณะช่อดอกกลมยาว มีดอกย่อยเป็นสีเหลืองอมสีเขียว มีกลีบดอก 5 กลีบ โดยจะแตกออกเป็นแฉก 5 แฉก ภายในดอกจะมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ซึ่งก้านเกสรเพศผู้จะมีขนาดยาว ส่วนเกสรเพศเมียจะมีก้านกลม และยังมีรังไข่ 2 อัน โดยในแต่ละรังไข่จะมีไข่อ่อน 2 เมล็ดสั้น ผลออกเป็นพวง ในแต่ละพวงจะมีผลย่อยจำนวนมาก ผลย่อยมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม หรือ กลมรี ผลเป็นสีเขียว สีม่วงแดง สีม่วงเข้ม หรือ ดำขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เปลือกผลจะมีผง หรือ ไข่สีขาวเคลือบอยู่ เนื้อในผลฉ่ำน้ำ รสหวาน หรือ อาจเปรี้ยว ใน 1 ผลจะมีเมล็ดประมาณ 1-3 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดองุ่นเป็นรูปยาวรี หรือ ไข่กลับ

องุ่น

องุ่น

การขยายพันธุ์องุ่น

องุ่น สามารถขยายพันธุ์ได้ หลายวิธี เช่น การใช้เมล็ด การปักชำ การตอน การเสียบยอด การติดตา และการเสริมราก แต่ไม่นิยมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดเพราะจะทำให้กลายพันธุ์ โดยวิธีที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน คือ การปักชำ ซึ่งมีขั้นตอนการทำเช่นเดียวกันกับการปักชำไม้เถาทั่วไป

           สำหรับวิธีการปลูกองุ่นนั้นสามารถทำได้โดยเริ่มจาก การเตรียมพื้นที่ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับพื้นที่เพาะปลูกองุ่นในแต่ละพื้นที่ เช่น พื้นที่ลุ่ม น้ำท่วมขังได้ง่าย หรือ พื้นที่ดอน หากเป็นพื้นที่ราบลุ่มควรปลูกแบบยกร่อง โดยยกร่องให้แปลงมีขนาดกว้าง 6 เมตร ส่วนความยาวร่องแล้วแต่ขนาดของพื้นที่ และควรให้ความสูงของร่อง สูงกว่าระดับปริมาณน้ำที่เคยท่วมสูงสุดโดยให้อยู่สูงกว่าแนวระดับน้ำท่วม 50 เซนติเมตร ให้มีขนาดร่องน้ำกว้าง 1.5 เมตร ลึก 1 เมตร และควรปลูกแถวเดียวตรงกลางแปลง เว้นระยะระหว่างหลุมให้ห่างกัน 3-3.50 เมตร ส่วนการปลูกในที่ดอน ควรไถพรวนเพื่อกำจัดวัชพืช ทำให้ดินร่วนซุย และให้ใช้ระยะปลูก 3×4-3.50×5 เมตร สำหรับวิธีการปลูกเริ่มจากขุดหลุมปลูกให้มีขนาด กว้างxยาวxลึก ประมาณ 50 เซนติเมตรผสมดิน ปุ๋ยคอก เข้าด้วยกันในหลุมให้สูงประมาณ 2 ใน 3 ของหลุมแล้ว นำกล้าต้นองุ่นวางในหลุม โดยให้ระดับของดินในถุงต้นกล้าสูงกว่าระดับดินปากหลุมเล็กน้อยแล้วใช้มีดที่คมกรีดจากก้นถุงขึ้นมาถึงปากถุงทั้ง 2 ด้าน แล้วดึงถุงพลาสติกออกแล้วจึงกลบดินลงไปในหลุมให้เต็มกดดินให้แน่นปักไม้หลักและผูกเชือกยึดต้นกล้าคลุมหน้าดินบริเวณโคนต้นด้วย ฟางข้าว หรือ หญ้าแห้งรดน้ำให้ชุ่มแล้วทำร่มเงา เพื่อช่วยพรางแสงแดด หลังจกที่ปลูกแล้วประมาณ 1 ปี จึงทำค้างให้องุ่น ซึ่งต้นองุ่นจะสูงพอดีที่จะขึ้นค้างได้ โดยทำค้างแบบเสาคู่แล้วใช้ลวดขึงให้ต้นองุ่นยึดเกาะต่อไป


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ ขององุ่น ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ผลองุ่น พบสารประเภท กรดอินทรีย์ ได้แก่ malic acid, citric acid, loxzlic acid oxalic acid และ tartaric acid ผลและรากพบสาร delphinidin, cyanidin, oenin, malvidin, peonidin, ƿ-coumaric acid, vesveratrol, petunidin และ malic acid เปลือกผลองุ่น พบสาร cyanidin, peonidin, petunidin, delphindin,malvidin, malvidin-3-B-glycoside เมล็ดองุ่นพบสาร Catechol, Gallocatechol gallic acid, procyanidin B2 และสาร OPC รากและเถาพบสาร quercitrin, isoquercitrin, rutin ใบองุ่น พบมีกรดอินทรีย์ ได้แก่ citric acid, fumaric acid, glyceric acid, quinic acid, malic acid, shikimic acid, succinic acid, tartaric acid, oxalic acid

           นอกจากนี้องุ่นยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้  คุณค่าทางโภชชนาการขององุ่นเขียว หรือ แดง (100 กรัม)

  • พลังงาน 69 กิโลแคลอรี่
  • คาร์โบไฮเดรต 18.1 กรัม
  • น้ำตาล 15.48 กรัม
  • ใยอาหาร 0.9 กรัม
  • ไขมัน 0.16 กรัม
  • โปรตีน 0.72 กรัม
  • วิตามินB1 0.069 มิลลิกรัม
  • วิตามินB2 0.07 มิลลิกรัม  
  • วิตามินB3 0.188 มิลลิกรัม      
  • วิตามินB5 0.05 มิลลิกรัม
  • วิตามินB6 0.086 มิลลิกรัม
  • วิตามินB9 2 ไมโครกรัม  
  • วิตามินC3.2 มิลลิกรัม  
  • วิตามินE0.19 มิลลิกรัม  
  • วิตามินK14.6 ไมโครกรัม  
  • โคลีน 5.6 มิลลิกรัม  
  • แคลเซียม 10 มิลลิกรัม  
  • ธาตุเหล็ก 0.36 มิลลิกรัม  
  • แมกนีเซียม 7 มิลลิกรัม  
  • ฟอสฟอรัส 0.071 มิลลิกรัม  
  • โพแทสเซียม 191 มิลลิกรัม  
  • โซเดียม 2 มิลลิกรัม  
  • สังกะสี 0.07 มิลลิกรัม  
  • ฟลูออไรด์ 7.8 ไมโครกรัม

โครงสร้างองุ่น

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาขององุ่น

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ขององุ่น ดังนี้

           ฤทธิ์ด้านอนุมูลอิสระ มีการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระขององุ่นมีการทดสอบทั้งในสารสกัดองุ่น จากผล ส่วนต่างๆ ขององุ่น และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากองุ่น ได้แก่ น้ำองุ่น เหล้าไวน์แดง และไวน์ขาว อาทิเช่น มีการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในส่วนของเมล็ดองุ่นพบว่าสารสกัดเมล็ดองุ่น (ไม่ระบุประเภทสารสกัด) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดอนุมูลอิสระ และการเกิดออกซิเดชั่นของไขมัน เมื่อทดสอบในหลอดทดลอง และเมื่อให้สารสกัดดังกล่าวกับหนูขาวทำให้การเกิดอนุมูลอิสระ และออกซิเดชั่นของไขมันลดลง ส่วนเอนไซม์ catalase และ superocide dismutase ซึ่งใช้ทำลายอนุมูลอิสระมีปริมาณเพิ่มขึ้น เมื่อให้คนรับประทานสารสกัดเมล็ดองุ่น (ไม่ระบุประเภทสารสกัด) ทำให้สามารถลดผลของอนุมูลอิสระจากการเผาไหม้ของใบยาสูบต่อการทำลายช่องปากส่วน oropharynx ส่วนสารสกัดเปลือกองุ่น ด้วยน้ำแอลกอฮอล์ เมทานอล สารสกัดส่วน polyphenol พบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และลดการเกิดอนุมูลอิสระ

           ฤทธิ์ลดการเกาะของเกล็ดเลือด มีการทดสอบในหลอดทดลองพบว่าไวน์แดง น้ำองุ่นแดง ความเข้มข้น 10% สามารถลดการเกาะกันของเกล็ดเลือดที่เหนี่ยวนำให้เกาะกันด้วย ADP หรือ thrombin โดยสารสกัดส่วน polyphenol จากเปลือกและเนื้อของผลองุ่น ที่ความเข้มข้น 500 มค.ก./มล. หรือ จากเมล็ดที่ความเข้มข้น 50 มค.ก./มล. มีผลยับยั้งการเกาะกันของเกล็ดเลือดที่เหนี่ยวนำด้วย collagen และยังมีการทดลองให้สัตว์ทดลองกินสารสกัดก่อนนำเลือดมาทดสอบการเกาะกันของเกล็ดเลือดที่เหนี่ยวนำโดยสารต่างๆ พบว่าสารสกัด polyphenol จากเมล็ดองุ่นที่ใช้ผสมอาหารให้หนูกินเป็นเวลา 2 เดือน มีผลทำให้เลือดหนูเกิดการเกาะกันของเกล็ดเลือดลดลงเมื่อเหนี่ยวนำด้วย thrombin และ phorbol myristate acetate (PMA) และยังมีการทดลองป้อนน้ำองุ่นขนาด 10 มล./กก. ให้สุนัข หรือ ขนาด 5 มล./กก. ให้ลิง จะมีผลลดการเกาะกันของเกล็ดเลือดได้อีกด้วย 

           ฤทธิ์ต้านหลอดเลือดตีบ มีการทดลองให้สารสกัดจากเมล็ดองุ่นให้หนูถีบจักรปกติ และหนูถีบจักรพันธุ์ที่มีระดับ cholesterol ในเลือดสูง ขนาด 0.2 มก./กก. น้ำหนักตัว เป็นเวลานาน 21 สัปดาห์

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีผลการศึกษาวิจัยระบุว่าสาร polyphenol จากใบองุ่น สารสกัดจากเมล็ดองุ่น สารสกัด proanthocya-nidins สารสกัด procyanidins และสาร melanin มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยลดการบวมในหนูขาวที่เหนี่ยวนำด้วย croton oil carraginan และยังลดการหลั่ง cytokines และลดการเพิ่ม permeability ของหลอดเลือดฝอย รวมถึงลดการทำงานของเอนไซม์ collagenase nitric oxide synthase (NOS) อีกทั้งการทดลองยังพบว่าการฉีดสาร proanthocyanidins เข้าช่องท้องหนูขาวขนาด 10 มก./กก. จะลดการสร้าง prostagiandin E ได้อีกด้วย

           ฤทธิ์ต้านการเกิดมะเร็ง มีรายงานว่าสารสกัด phenol และ stiibenoids จากเซลล์เนื้อเยื่อองุ่น ก็มีผลยับยั้งการเกิดมะเร็งที่เต้านมของหนูถีบจักรที่เหนี่ยวนำด้วย 7,12-dimethylben[α]anthracene นอกจากนี้ยังพบสารสกัด polyphenol ในองุ่นยังเหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งตับ (mouse hepatoma heap-1c1c7) เกิด apoptosis ส่วนสาร resveratrol trans-dehydrodimer และ pallidol เป็นพิษต่อเซลล์ lymphoblastoid แสดงว่าผลด้านการเกิดมะเร็งของสารสกัดองุ่นอาจมาจากฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และความเป็นพิษต่เซลล์ ซึ่งจะทำให้เซลล์ตายแบบ apoptosis

           ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในทางเดินอาหาร มีรายงานว่าเมื่อทำการป้อนสารสกัด proanthocyanidins จากเมล็ดองุ่นในขนาด 100 มก,/กก./วัน ให้หนูขาวพบว่าสามารถป้องกันการเกิดแผลในทางเดินอาหารจากการเหนี่ยวนำให้เป็นแผลด้วยความเครียด และ oxidative stress ได้

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยอื่นๆ ที่ระบุฤทธิ์ทางเภสัชทางเภสัชวิทยาขององุ่น อาทิเช่น  มีรายงานว่าโพลีฟีนอลจากเมล็ดองุ่นสามารถลดภาวะดื้อยาของเซลล์มะเร็ง GBC-SD cell lines ต่อยา adriamycin ซึ่งเป็นยารักษามะเร็งได้ โดยพบว่าโพลีฟีนอลในความเข้มข้นที่ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ คือ 3 มคก./มล. และที่ความเข้มข้นที่เป็นพิษต่อเซลล์ต่ำ คือ 6 มคก./มล. จะลดการแสดงออกของ P-glycoprotein, bcl-2 และยับยั้ง MDR1 mRNA และเพิ่มการสะสมของยา adriamycin ในเซลล์

           ฤทธิ์ต้านภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ มีการทดสอบฤทธิ์ของสาร proanthocyanidin extract (GSPE) จากเมล็ดองุ่น ซึ่งประกอบด้วย 56% dimeric proanthocyanidins, 12% trimeric proanthocyanidins, 6.6% tetrameric proanthocyanidins, monomeric and high-molecular-weight oligomeric proanthocyanidins และ flavonoids ต่อกล้ามเนื้อหัวใจของหนูแรท ที่มีภาวะหัวใจขาดเลือด โดยผูกหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ 30 นาที แล้วเปิดหลอดเลือดให้ไปเลี้ยงหัวใจ (reperfusion) 120 นาที ป้อนหนูด้วย GSPE ขนาด 200 มก./กก./วัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ก่อนทำให้หัวใจขาดเลือด พบว่าสารดังกล่าว สามารถลดความผิดปกติของหัวใจห้องล่างซ้าย โดยมีผลลดการเต้นที่เร็วผิดปกติ (ventricular tachycardia) และลดการกระตุกรัวของกล้ามเนื้อ (ventricular fibrillation) จากการศึกษาในระดับโปรตีนแสดงให้เห็นว่า กลไกในการป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดปกติของ GSPE มาจากการเพิ่มการแสดงออกของ Na+/K+-ATPase alpha 1 subunit ซึ่งลดลงในหนูที่มีภาวะหัวใจขาดเลือด

           ฤทธิ์ปกป้องตับ มีรายงานการศึกษาฤทธิ์ในการปกป้องตับของน้ำองุ่นดำ ในหนูแรทที่ได้รับรังสีเอ็กซ์แบบทั้งตัว โดยให้ดื่มน้ำองุ่นดำแบบไม่จำกัดปริมาณ (ad libitum) เป็นเวลา 6 วัน ก่อนได้รับรังสีเอ็กซ์ ขนาด 6 Gy และดื่มต่อหลังจากรับรังสีอีก 15 วัน เปรียบเทียบผลกับกลุ่มที่ได้รับรังสีแต่ไม่ได้รับน้ำองุ่น พบว่าหนูที่ได้รับน้ำองุ่น ปริมาณของ thiobarbituric acid-reactive substances (TBARS) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดของการเกิด lipid peroxidation ในตับจะลดลง ขณะที่เอนไซม์ Cu/Zn superoxide dismutase (Cu/ZnSOD), glutathione peroxidase และปริมาณของ glutathione ซึ่งเกี่ยวข้องกับการต้านอนุมูลอิสระจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลเพิ่มการแสดงออกของ Poly(ADP-ribose) polymerase (PARP-1) และ Cu/ZnSOD ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตายของเซลล์แบบ apoptosis แต่ไม่มีผลต่อ p53 และยังมีผลป้องกันไม่ให้เกิดการแตกหักของ DNA แสดงว่าน้ำองุ่นดำมีผลปกป้องตับจากการถูกทำลายด้วยรังสีได้ โดยเป็นผลมาจากฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ

           ฤทธิ์ต้านอาการวิตกกังวล มีรายงานการศึกษาประสิทธิภาพของผงองุ่น* (Vitis vinifera L.) ต่ออาการวิตกกังวลในหนูแรทชรา (Rodent model of aging) ซึ่งหนูดังกล่าวจะมีการรับรู้และความจำที่ผิดปกติ รวมทั้งมีอาการวิตกกังวล ในการทดลองจะแบ่งหนูเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นหนูหนุ่ม (อายุ 3 เดือน) ได้รับน้ำประปา กลุ่มที่ 2 เป็นหนูหนุ่ม ได้รับน้ำประปาที่ผสมผงองุ่นในขนาด 15 ก./ลิตร กลุ่มที่ 3 เป็นหนูชรา (อายุ 21 เดือน) ได้รับน้ำประปา และกลุ่มที่ 4 เป็นหนูชรา ได้รับน้ำประปาที่ผสมผงองุ่นในขนาด 15 ก./ลิตร ใช้เวลาในการทดลองนาน 3 สัปดาห์ พบว่าหนูชราที่ได้รับผงองุ่นมีอาการวิตกกังวลน้อยกว่าหนูชราที่ได้รับน้ำประปา แต่ผงองุ่นไม่มีผลต่อการรับรู้และความจำที่ผิดปกติของหนูชรา นอกจากนี้ผงองุ่นยังช่วยยับยั้งการเพิ่มขึ้นของสาร corticosterone และสาร 8-isoprostane ในเลือด ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิด เป็นตัวชี้วัดความเครียดของร่างกาย ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เพิ่มขึ้นจากความชรา และยับยั้งการทำลายโปรตีน (protein carbonylation) ในสมองส่วน amygdale ด้วย ทำให้สรุปได้ว่า ผงองุ่นสามารถบรรเทาอาการวิตกกังวลในหนูแรทชราได้ โดยมีกลไกที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภาวะเครียดออกซิเดชั่น (oxidative stress) แต่ไม่สามารถบรรเทาความผิดปกติของความจำที่เกิดจากความชราได้

            ฤทธิ์ปกป้องสมอง มีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์ปกป้องสมองของสาร proanthocyanidins ซึ่งสกัดได้จากเมล็ดองุ่น (grape seed proanthocyanidins; GSPE) ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดความเป็นพิษต่อสมองด้วยสาร bisphenol A (BPA) โดยแบ่งหนูเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 7 ตัว กลุ่มที่ 1 เป็นหนูปกติ (control group), กลุ่มที่ 2 ได้รับ BPA ขนาด 50 มก./นน.ตัว 1 กก./วัน เพียงอย่างเดียว, กลุ่มที่ 3 ได้รับ GSPE ขนาด 200 มก./นน.ตัว 1 กก./วัน ร่วมกับ BPA และกลุ่มที่ 4 ได้รับ GSPE เพียงอย่างเดียว ทำการศึกษานาน 70 วัน พบว่า BPA ทำให้ระดับ malondialdehyde และ nitric oxide สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และทำให้ระดับ glutathione, total thiols, glutathione peroxidase, superoxide dismutase, และ glutathione-S-transferase ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ BPA ทำให้ระดับของ dopamine และ serotonin ในสมองเพิ่มขึ้น รวมทั้งกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ acetylcholinesterase และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Na/K-ATPase และ total ATPase ในสมอง นอกจากนี้ BPA ยังกระตุ้นการแสดงออกของยีนที่ก่อให้เกิดการอักเสบ ได้แก่ tumor necrosis factor-α, cyclooxygenase-2, tumor suppressor และ pro-oxidant p53 protein ซึ่งการได้รับ GSPE สามารถทำให้ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวลดลง แสดงให้เห็นว่า สาร proanthocyanidins จากเมล็ดองุ่นสามารถยับยั้งความเป็นพิษต่อสมองของสาร BPA ได้ โดยคาดว่ากลไกการออกฤทธิ์อาจเกี่ยวข้องกับความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ

           ฤทธิ์ลดความดันโลหิต มีการศึกษาแบบสุ่มและปกปิดทั้ง 2 ฝ่าย ในผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นความดันโลหิตสูง (ความดันโลหิตช่วงบน 120-139 มม.ปรอท ความดันโลหิตช่วงล่าง 80-89 มม.ปรอท) ทั้งชาย และหญิงจำนวน 28 คน ทุกคนจะได้รับเครื่องดื่มที่เป็นยาหลอกก่อน 2 สัปดาห์ จากนั้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มที่เป็นยาหลอกต่อไปอีก จำนวน 16 คน ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มที่มีสารสกัดจากเมล็ดองุ่น 300 มก./วัน (แบ่งรับประทานครั้งละ 150 มก. วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น) นาน 4 สัปดาห์ โดยวัดความดันโลหิตก่อนเริ่มการศึกษา และในสัปดาห์ที่ 6 และ 10 ของการศึกษา และเจาะเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาล ระดับอินซูลินในเลือด ก่อนเริ่มการศึกษา และในสัปดาห์ที่ 3, 6 และ 10 ของการศึกษา พบว่ากลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มที่มีสารกัดจากเมล็ดองุ่นความดันโลหิตช่วงบนลดลง 5.6% ความดันโลหิตช่วงล่างลดลง 4.7% หลังสัปดาห์ที่ 6 ของการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มที่เป็นยาหลอก และความดันโลหิตจะกลับสู่สภาวะปกติเท่ากับตอนเริ่มการศึกษา เมื่อไม่ได้รับเครื่องดื่มที่มีสารสกัดจากเมล็ดองุ่นติดต่อกันนาน 4 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังพบว่าในช่วงที่ได้รับเครื่องดื่มที่มีสารสกัดจากเมล็ดองุ่น ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และลดภาวะดื้อต่ออินซูลินด้วย แต่หากไม่ได้รับเครื่องดื่มที่สารสกัดเมล็ดองุ่นติดต่อนาน 4 สัปดาห์ ระดับน้ำตาลในเลือด ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ก็จะเข้าสู่สภาวะปกติเท่ากับก่อนเริ่มการศึกษา การศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่า เครื่องดื่มที่มีสารสกัดจากเมล็ดองุ่นสามารถลดระดับความดันโลหิตในผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง และค่อนข้างปลอดภัย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาขององุ่น

ไม่มีข้อมูล

 

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการรับประทานองุ่น เป็นผลไม้ไม่ควรรับประทานองุ่นในปริมาณมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการร้อนใน คอแห้ง เจ็บคอ ไอ บางครั้งอาจมีอาการท้องผูกร่วมด้วย ส่วนผู้ที่ระบบการย่อยไม่ดี หรือ ท้องอืดเป็นประจำ ไม่ควรกินองุ่น เนื่องจากเปลือกองุ่นย่อยยากอาจทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อได้

           นอกจากนี้ผู้ที่ใช้ยา doxorubicin, adrimycin, ADR และ adria ซึ่งเป็นกลุ่มยาต้านมะเร็ง ควรระมัดระวังในการรับประทานองุ่น เนื่องจากสาร proanthocyanidin จากเมล็ดองุ่นอาจทำให้เกิดอันตรกิริยากับยาดังกล่าวได้โดยจะเข้าไปเสริมฤทธิ์ของยา


เอกสารอ้างอิง องุ่น
  1. .ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “องุ่น”.  หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 หน้า 832-834.
  2. วิฑิต วัณนาวิบูล. องุ่น : สำหรับผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ.คอลัมน์อาหารสมุนไพร. นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 81. มกราคม 2529.
  3. ราชันย์ ภู่มา, สมราน สุดดี, บรรณาธิการ. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตตินันทน์ ฉบับแก้ไข เพิ่มเติม พ.ศ.2557.กรุงเทพฯ:สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช; 2557.
  4. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “องุ่น” หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. หน้า 205-206.
  5. วิสุดา สุวิทยาวัฒน์. องุ่นกับฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ.จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 21.ฉบับที่ 3 เมษายน 2547.หน้า13-20
  6. วิทยา บุญวรพัฒน์. “องุ่น”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 640.
  7. ฤทธิ์ปกป้องสมองของสาร prarnthoctanidins ตกเมล็ดองุ่น. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. ฤทธิ์ต้านอาการวิตกกังวลของผงองุ่น. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  9. ฤทธิ์ปกป้องตับของน้ำองุ่นดำ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  10. Pace-Asciak CR, Rounova O, Hahn SE, Diamandis EP, Goldberg DM. Wines and grape juices as modulators of platelet aggregation in healthy human subjects Clin Chim Acta 1996;249(1/2):16-82.
  11. Avramidis N. Kourounakis A, Hadjipetrou L, Senchuk V. Anti-inflammatory and immunomodulating properties of grape melanin. Lnhibitory effects on paw edema and adjuvant induced disease. 1998:48(7):764-71.
  12. Bagchi M, Milnes M, Williams C, Balmoori J, Ye X, Stohs S, Bagchi D. Acute and chronic stress-induced oxidative gastrointestinal injury in rats, and the protective ability of a novel grape seed proanthocyanidin extract Nutr Res (N Y) 1999;19(8):1189-99.
  13. Xu S, Hang H. Scavening effect of grape seed and grape peel on free radicals Shipin Kexue (Beijing) 1999:20(12):28-30
  14. Sen CK Bagchi D. Regulation of inducible adhesion molecule expression in human endothelial cells by grape seed proanthocyanidin extract. Molecular and Cellular Biochemistry 2001;216(182):1-7.
  15.    Zhang XY,Bai DC, Wu YJ, Li WG, Liu NF. Proanthocyanidin from grape seeds enhances anti-tumor effect of doxorubicin both in vitro and in vivo. Pharmazie 2005c;60(7):533-8.
  16. Ahn HS, Jeon TI, Lee Jy, Hwang SG Lim Y, Park DK Antionxidative activity of persimmon and grape seed extract: in vitro and in vivo  Nutrition Research (New York. NY, United States) 2002:22(11)1265-73
  17. Waffo-Teguo P, Hawthome ME, Cuendet M, Merillon J-M, Kinghorm AD. Pezzuto JM, Mehta RG. Potential cancer-chemopreventive activities of wine stilbenoids and flavans extracted from grape (vitis vinifera) cell cultures Nutrition and Cancer 2001:40(2):173-9.
  18. Backer CA, Brink RCB. Flora of Java Voll.ll Groningen :N.V.Wloter-Norodhoff 1965:941 pp.
  19. Yu H, Wang S, Zhao C, Xu G, Zhao X. Study of anti-atherosclerosclerosis effect of grape seed extract and its mechanism Weisheng Yanjiu 2002:31(4):263-5
  20. Xia J, Allengrand B, Sum GY Dietary supplementation of grape polyphenols and chronic ethanol administration on LDL oxidation and platelet function in rats Life Sci 1998:63(5):383-90
  21. Cichexicz RH, Kouzi SA Hamann MT Dimerization of resveratrole by the grapevine pathogen Botrytis cinerea J Nat Prod 2000:63:29-33.
  22. Hersh T Hersh R, Glutathione green tea grape seed extract to neutralize tobacco free radicaes Patent U S Pat Appl Publ US 2002 117.180 1998:10 pp.