ตับเต่าต้น ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ตับเต่าต้น งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ


ชื่อสมุนไพร ตับเต่าต้น
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น  ตับเต่า ,เฮื้อนกวาง,มะไฟผี,มะโกป่า(ภาคเหนือ),ตับเต่าใหญ่,เฮื้อนกวง,แฮกวาง,มะมัง,มะเมี้ยง,กากะลา(ภาคอีสาน),เรื้อนกวาง,ชิ้นกวาง,ลิ้นกวาง(ปราจีนบุรี),มะพลับคอ,ตับเต่าหลวง(ราชบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros ehrelioides Wall. Ex G. Don
วงศ์ EBENACEAE


ถิ่นกำเนิดตับเต่าต้น

ตับเต่าต้นเป็นพืชในวงศ์มะพลับ (EBENACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิเช่น พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ในป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่ง และป่าเต็งรังทั่วไป ที่มีความสูง 100-450 เมตร จากระดับน้ำทะเลซึ่งจะพบได้เกือบทุกภาคของประเทศยกเว้นทางภาคใต้


ประโยชน์และสรรพคุณตับเต่าต้น

  • ใช้ดับพิษร้อน
  • แก้ไข้
  • แก้ร้อนใน
  • แก้พิษไข้
  • แก้พิษทั้งปวง
  • แก้อาเจียนเป็นเลือด
  • แก้ถ่ายเป็นเลือด
  • แก้วัณโรค
  • รักษาแผลเรื้อรัง
  • ใช้บำรุงปอด
  • ใช้บำรุงเลือด
  • ดับพิษร้อน
  • แก้ร้อนใน
  • บำรุงน้ำนม
  • ใช้แก้ท้องร่วง
  • รักษาโรครำมะนาด
  • แก้ผิดสำแดง
  • รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ
  • รักษาโรคมะเร็งในตับ

           คนไทยในอดีตได้มีการนำตับเต่าต้นมาใช้ประโยชน์ หลากหลายอย่างเช่น ลำต้นที่มีอายุมากและมีขนาดใหญ่ มีการนำเนื้อไม้มาใช้สร้างบ้านเรือน ทำเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ส่วนกิ่งสดนำมาทุบใช้สีฟันแทนแปรงสีฟัน ทำให้เหงือกและฟันทน กิ่งแห้งนำมาใช้ทำฟืนหุงต้ม ผลหรือลูกตับเต่าต้นนำมาใช้ทำเป็นสีย้อมผ้าหรือนำมาตำผสมกับน้ำใช้เป็นยาเบื่อปลา ส่วนเยื่อไม้และเปลือกสามารถนำมาทำเป็นเยื่อกระดาษได้อีกด้วย

ตับเต่าต้น

รูปแบบและขนาดวิธีการใช้ตับเต่าต้น

  • ใช้แก้ผิดสำแดง โดยนำเปลือกต้น ผสมกับลำต้นเฉียงพร้านางแอ และลำต้นหนามแทน นำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ โดยนำเปลือกต้นตับเต่าต้น ผสมกับรากขี้เหล็ก รากสลอด และรากหญ้าเรงชอน นำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้รักษาโรคมะเร็งในตับ โดยใช้เปลือกต้นและใบตับเต่าต้น ผสมกับลำต้นตับเต่าเครือ ใบหรือรากกล้วยเต่า และผักบุ้งร้วมทั้งต้น นำมาบดให้เป็นผงละเอียด ละลายกับน้ำร้อนดื่ม
  • ใช้บำรุงน้ำนม บำรุงเลือด ให้สตรีหลังคลอดโดยใช้แก่นตับเต่าต้น 2 กำมือ นำมาต้มดื่มวันละ 3-4 ครั้ง ตลอดช่วงที่อยู่ไฟ
  • ใช้แก้อาเจียนเป็นเลือดและถ่ายเป็นเลือด โดยนำรากตับเต่าต้น ใช้ผสมกับรากโคลงเคลงขน และหญ้าชันกาดทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปของตับเต่าต้น

ตับเต่าต้นจัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ทรงพุ่มเป็นรูปกรวยโปร่ง ต้นสูงประมาณประมาณ 10-15 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลปนเทาหรือสีเทาอมขาว ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลอมแดง ใบออกเป็นใบเดี่ยวมีสีเขียว แบบออกเรียงสลับ มีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน รูปวงรี หรือรูปไข่กว้างประมาณ 7-23 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-28 เซนติเมตร โคนใบกลมหยักคล้ายรูปหัวใจ ปลายใบกลมหรือมน เนื้อใบหนาเกลี้ยง ด้านล่างผิวใบมีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย มีเส้นแขนงใบมีประมาณ 6-12 คู่  และมีก้านใบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง ดอกเป็นแบบแยกเพศต่างต้นโดยดอกเพศผู้จะออกเป็นช่อหรือออกเป็นกระจุก บริเวณกิ่งเหนือง่ามใบ ซึ่งในหนึ่งช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 3 ดอก โดยจะมีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 4 กลีบ กลีบดอกสีขาวเป็นรูปไข่ ยาว 0.3-0.5 เซนติเมตร ปลายแฉกลึกลงไป 1 ใน 3 ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นรูประฆัง ยาว 0.2-0.3 เซนติเมตร กลีบแฉกลึกลงไป 1 ใน 3 มีขนด้านนอก โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย มีก้านดอกยาวประมาณ 0.3 เซนติเมตร และมีเกสรเพศผู้มีประมาณ 20-30 อัน สำหรับดอกเพศเมียจะออกเป็นดอกเดี่ยวหรืออาจจะออกเป็นช่อกระจุกสั้นๆ ช่อละ 3-5 ดอก มีลักษณะคล้ายดอกเพศผู้ แต่จะมีขนาดใหญ่กว่า  ผลออกเป็นผลสด รูปไข่ หรือรูปกลมป้อม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ผลมีสีเขียวอมเหลืองเมื่อแก่แห้งเป็นสีดำและไม่แตก โดยผลจะมีกลีบเลี้ยงติดคงทน กลีบเลี้ยงมีขนด้านดอก ปลายกลีบแฉกเกินกึ่งหนึ่งเกือบจรดโคน กลีบพับงอเล็กน้อย มีก้านผลยาวประมาณ 1 เซนติเมตร

 ดอกตับเต่าต้น

ตับเต่าต้น 

 

การขยายพันธุ์ตับเต่าต้น

ตับเต่าต้นสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด ซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่าการนำมาเพาะปลูกเอง สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปลูกตับเต่าต้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีสารสกัดจำตับเต่าต้นระบุว่า มีการศึกษาสารสกัดชั้นไดคลอโรมีเธนและเมทานอลจากผลของตับเต่าต้น พบว่าสามารถแยกสารกลุ่ม napthoquinone ใหม่ 2 ตัว คือ isodispyrin และ isodispyrol A  และสารกลุ่ม deoxypreussomerin คือ  palmarumycin JC1 และ palmarumycin JC2 เป็นต้น

โครงสร้างตับเต่าต้น

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของตับเต่าต้น

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารออกฤทธิ์สำคัญบางชนิดที่สกัดได้จากสารสกัดชั้นไดคลอโรมีเทนและเมทานอลจากผลของตับเต่าต้นระบุว่า สาร isodispyrol A มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย (Plasmodium falciparum) โดยมีค่า IC50 2.7 mg/mL มีฤทธิ์ต้านเชื้อจลุชีพ (Mycobacterium tuberculosis H37Ra)  โดยมีค่า MIC 50 mg/mL และมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเต้านม (breast cancer; BC) โดยมีค่า IC50 12.3 mg/mL เป็นต้นส่วนสาร palmarumycin JC2  แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย โดยมีค่า IC50 4.5 mg/mL ฤทธิ์ต้านเชื้อรา Candida albicans (ATCC 90028) โดยมีค่า IC50 12.5 mg/mL และเชื้อจุลชีพ (M. tuberculosis H37Ra) โดยมีค่า MIC 6.25 mg/mL และมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งตับ (small cell lung cancer; NCI-H187) โดยมีค่า IC50 11.0 mg/mL อีกด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของตับเต่าต้น

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ตับเต่าต้นเป็นสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาดและปริมาณที่พอเหมาะที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์และผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนใช้ตับเต่าต้นเป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ตับเต่าต้น
  1. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ตับเต่าต้น”.  หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  หน้า 92.
  2. ประไพรัตน์ สีพลไกร,รัตนาภรณ์ ตรัยสถิตย์.สรรพคุณทางยา สารเมแทบอไลต์ทุติยภูมิและฤทธิ์ทางชีวภาพของพืชสมุนไพรไทยบำรุงน้ำนมบางชนิด.วารสารวิทยาศาสตร์บูรพา ปีที่25.ฉบับที่3กันยายน-ธันวาคม 2563.หน้า1287-1288
  3. บุษบัน ศิริธัญญาลักษณ์ และผู้แต่งคนอื่นๆ. (2551) สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากผลของต้นลิ้นกวาง. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,:ม.ป.ท.
  4. Singh, G. (2010). Plant systematics an integrated approach. (3rd ed.). India: Science Publishers.
  5. Prajoubklang, A., Sirithunyalug, B., Charoenchai, P., Suvannakad, R., Sriubolmas, N., Piyamongkol, S., Kongsaeree, P., & Kittakoop, P. (2005). Bioactive deoxypreussomerins and dimeric naphthoquinones from Diospyros ehretioides fruits: Deoxypreussomerins may not be plant metabolites but may be from fungal epiphytes or endophytes. Chemistry & Biodiversity, 2(10), 1358-1367.