หน่อกะลา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

หน่อกะลา งานวิจัยและสรรพคุณ 14 ข้อ

ชื่อสมุนไพร หน่อกะลา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ข่าน้ำ, กะลา ,เร่ว (ภาคกลาง), กูม (มอญ), ทาลังคา, ทาลูโค (อินเดีย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Alpinia nigra (Gaertn.) B.L.Burtt. H.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Alpinia allughas Roscoe.
วงศ์ ZINGIBERACEAE


ถิ่นกำเนิดหน่อกะลา

หน่อกะลา จัดเป็นพืชในวงศ์ ขิง (ZINGIBERACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย พม่า มาเลเซีย ต่อมาจึงได้มีการกระจายพันธุ์ไปยัง บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ภูฏาน และจีน เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยหน่อกะลา จัดเป็นผักพื้นเมืองของไทย โดยจะสามารถพบได้มากที่เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งชาวมอญบนเกาะเกล็ด ใช้หน่ออ่อนกะสามารถประกอบอาหารหลายอย่าง


ประโยชน์และสรรพคุณหน่อกะลา

  • ใช้ขับลม
  • แก้ท้องอืด
  • แก้จุดเสียดแน่นเฟ้อ
  • แก้ร้อนใน
  • แก้เม็ดประดงผื่นคันตามผิวหนัง
  • ใช้พอกแผล
  • ช่วยฆ่าเชื้อในลำไส้
  • ช่วยเสริมความแข็งแรงให้กระดูก
  • ใช้เป็นยาในสตรีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • ใช้แก้หืดหอบ
  • แก้อาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย
  • รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
  • แก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน
  • แก้ฝ้า

           หน่อกะลา เป็นพืชพื้นบ้านที่นิยมนำมาใช้บริโภคเป็นอาหาร โดยการลอกเปลือกนอกให้เหลือเพียงหน่ออ่อน แล้วจึงนำมาใช้ประกอบอาหารได้หลายชนิด หรือ สามารถนำมารับประทานสด หรือ ใช้จิ้มน้ำพริก ห่อหมก แกงคั่วหอย ใช้แทนข่า ในการทำเครื่องแกงส้ม ต้มข่าไก่ หรือ ต้มยำ รวมไปถึงสามารถใช้แทนถั่วฝักยาว ในการทำทอดมันหน่อกะลา ส่วนในรัฐอัสสัม ของอินเดียมีการนำแกนของหน่อกะลามาผสมหมักกับไก่แล้วจึงนำไปทอด ซึ่งจะทำให้มีรสชาติเผ็ดนิดๆ และมีกลิ่นหอม ส่วนใบใช้ห่อปลาเพื่ออบ คั่ว หรือ นึ่งเพื่อเพิ่มกลิ่นให้หอม

หน่อกะลา
แหล่งที่มาของภาพ KRUA.CO

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้ขับลม แก้ท้องอืด แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ ใช้ฆ่าเชื้อในลำไส้ ใช้แก้เม็ดประดงคันตามผิวหนัง โดยนำเหง้าสดหน่อกะลามาทุบให้แตก ต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้ขับลมแก้หืดหอบ แก้อาการอาหารไม่ย่อย แก้ท้องอืด รักษาแผลในกระเพาะอาหาร โดยนำรากสดหน่อกะลา มาทุบให้แตกต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน แก้ฝ้า โดยนำรากหน่อกะลามาตำผสมกับเหล้าขาว ทาบริเวณที่เป็น
  • ในประเทศอินเดีย โดยใช้หน่อกะลา อ่อนเสริมความแข็งแรงให้กระดูก ใช้เป็นยาในสตรีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ  รากใช้แก้หืดหอบ ขับลม แก้อาการท้องอืดอาหารไม่ย่อย รักษาแผลในกระเพาะอาหาร แก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน แก้ฝ้า


ลักษณะทั่วไปของหน่อกะลา

หน่อกะลา จัดเป็นไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน มีเหง้า (rhizome) เป็นลำต้นใต้ดิน ส่วนลำต้นบนดินเป็นลำต้นเทียม (pseudostem) มีความสูงประมาณ 1.5-3 เมตร แตกกอแน่น

           ใบหน่อกะลา เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับสองแถว ใบเป็นใบเดี่ยวแบบขอบขนานคล้ายใบของข่า

           ดอกหน่อกะลา เป็นช่อดอกเป็นแบบช่อแยกแขนง (penicle) ออกบริเวณปลายยอดเป็นช่อยาว ช่อดอกย่อยมีวงใบประดับ (involucre) ห่อหุ้ม ส่วนดอกย่อยมีกลีบเลี้ยง (sepal) 3 กลีบ เชื่อมติดกันตรงโคนดอก ส่วนปลายแยกกลีบดอก (petal) มีสีขาวอมเขียว หรือ สีขาวอมชมพูจำนวน 3 กลีบ กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันตรงปลายแยก โดยจะมีกลีบปาก (labellum) 1 อัน เป็นแผ่นแบนปลายแยก 4 แฉก สีชมพูอ่อน มีรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ แบบรอบแกนร่วม (axile placenta)

           ผลหน่อกะลา เป็นผลสดออกเดี่ยวแบบเบอรี่ ลักษณะค่อนข้างกลม เปลือกบางเปราะ เมื่อผลอ่อนมีสีเขียวผลแก่ผิวสีดำ เมล็ดเป็นแบบแห้งสีน้ำตาลมีเยื้อหุ้มเมล็ดสีขาว

หน่อกะลา
หน่อกะลา
หน่อกะลา

การขยายพันธุ์หน่อกะลา

หน่อกะลาสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เหง้าปลูก หรือ การแยกหน่อ เช่นเดียวกับพืชวงศ์ขิง อื่นๆ เช่น ขิง กระชาย ข่า ไพล ฯลฯ และสามารถแตกกอได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ในการปลูกหน่อกะลาจะต้องอาศัยดินร่วนที่มีความชื้นสูง ซึ่งจะต่างจากพืชชนิดอื่นๆ ในวงศ์เดียวกัน


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ ของหน่อกะลา ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ลำต้นอ่อน พบน้ำมันหอมระเหยที่มีองค์ประกอบทางเคมี ได้แก่ trans-caryophyllene และ β-selinene เหง้า พบน้ำมันหอมระเหยที่มีองค์ประกอบทางเคมี ได้แก่ 1,8-cineole, limonene, geraniol, eudesmool และ α-pinene ราก พบสาร 1’-Acetoxychavicol acetate ใบพบน้ำมันหอมระเหยที่มีสาร Bornoel, Camphor, Vanillic acid, Acetate, Palmitic acid และ Bornyl เมล็ดพบสาร astragalin, kaempferol-3-o-glucuronide และ heptatriacontanoic acid 2,3-dihydroxypropyl ester

โครงสร้างหน่อกะลา

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของหน่อกะลา

มีรายงานการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดหน่อกะลา จากส่วนต่างๆ ของหน่อกะลาระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการ เช่น

           ฤทธิ์ป้องกันระบบประสาท มีรายงานผลการศึกษาวิจัยสารสกัดเมทานอล 95% จากเหง้าหน่อกะลา พบว่ามีฤทธิ์ป้องกันระบบประสาทของหนูทดลอง โดยเมื่อป้อนกสารสกัดขนาด 0.5 และ 1 ก./กก./วัน เป็นเวลา 14 วัน ให้หนูขาวเพศผู้ ก่อนการถูกเหนี่ยวนำให้เกิดความเป็นพิษต่อระบบประสาทด้วยการฉีดเอทานอลเข้าทางช่องท้องในขนาด 4 ก./กก./วัน เป็นเวลา 7 วัน พบว่าสารสกัดขนาด 0.5 ก./กก. มีฤทธิ์ป้องกันความเป็นพิษจากเอทานอลต่อสมองส่วน hippocampus บริเวณ CA1 อย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่มีฤทธิ์ป้องกันความเป็นพิษจากเอทานอลต่อสมองส่วน hippocampus บริเวณ CA2 CA3 DG และสมองส่วน Cerebral cortex

           ฤทธิ์ต้านปรสิต มีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์ฆ่าพยาธิใบไม้ Fasciolopsis buski ซึ่งเป็นปรสิตในลำไส้สุกรในหลอดทดลองของสารสกัดแอลกฮอล์จากหน่อกะลา พบว่าสารสกัดแอลกอฮอล์ที่ความเข้มข้น 5, 10 และ 20 มก./มล. มีผลทำให้พยาธิใบไม้ดังกล่าวเกิดอัมพาต และตายภายในเวลา 6.8, 4.5 และ 3 ชม. ตามลำดับ

           ฤทธิ์ต้านเชื้อรา มีรายงานว่า สาร 1’Acetoxychavicol acetate ที่พบในส่วนรากของหน่อกะลา สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราบนผิวหนังเช่น เชื้อราชนิด Trichophyton mentagrophytes, Trichophyton concentricum, Trichophyton rubrum และ Epidermophyton floccosum โดยมีค่า MICs อยู่ระหว่าง 50-250 มก./มล. นอกจากนี้ยังสามารถยับยั้งเชื้อราชนิดอื่น เช่น Penicillium expansum, Rhizopus stolonifer และ Asprgilus niger ซึ่งมีค่า MICs สูงกว่า 250 มก./มล.  

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีรายงานผลการศึกษาสมบัติการต้านออกซิเดชั่นของสารสกัดเอทานอล 95% จากส่วนเหง้าใบและลำต้นของหน่อกะลา ด้วยเบต้า-แคโรทีน / กรดลิโนเลอิก พบว่าสารสกัดจากส่วนใบและลำต้นแสดงฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นสูงสุด โดยให้ค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งการเกิดออกซิเดชั่น 50% (IC50) เท่ากับ 12.517±0.438 และ 13.260±0.319 ไมโครกรัม/มล. ตามลำดับ ส่วนการศึกษาคุณสมบัติในการกำจัดอนุมูลอิสระ 2,2-Diphenyl-1-picryhydrazyl (DPPH) พบว่าสารสกัดจากส่วนใบ มีคุณสมบัติในการกำจัดอนุมูล DPPH สูงกว่าสารสกัดจากส่วนอื่น และให้คุณสมบัติดังกล่าวสูงกว่าสารสกัดจากเหง้าข่า (Alpinia galanga (L.) Willd.) โดยให้ค่าความเข้มข้นที่กำจัดอนุมูลอิสระ DPPH 50% (SC50) เท่ากับ 0.136±0.002 มก./มล. ขณะที่สารสกัดจากเหง้าข่าให้ค่า SC50 เท่ากับ 0.627±0.053 มก./มล.

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคโดยวิธี Disc diffusion พบว่าสารสกัดเอทานอลและสารสกัดน้ำจากเหง้าหน่อกะลาที่ความเข้มข้น 1 มก./แผ่น มีฤทธิ์ที่ดีในการยับยั้งเชื้อ Staphylococcus aureus และ Salmonella typhimurium โดยค่าความเข้มข้นต่ำสุด (MICs) ของสารสกัดจากเอทานอลในการยับยั้งเชื้อ S. aureus และ S. typhimurium มีค่าเท่ากับ 2.64 มก./มล. และค่า MICs ของสารสกัดจากน้ำต่อเชื้อ S. typhimurium มีค่าเท่ากับ 2.64 มก./มล. และยังมีรายงานว่าสาร trans-caryophyllene และ β-selinene ในลำต้นอ่อน มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis ส่วนสาร 1,8-cineole และ limonene ในเหง้า มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli, S. aureus และ B. subtilis อีกทั้งสาร 1’-Acetoxychavicol acetate จากรากหน่อกะลา ยังสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis H37 Ra  ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อโรควัณโรค โดยมีค่า MICs เท่ากับ 0.1 มก./มล.


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของหน่อกะลา

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของหน่อกะลา ระบุว่า จากการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ของสาร 1’-Acetoxychavicol acetate ที่ความเข้มข้น 22.0 มก./มล. มีความเป็นพิษต่อ Vero cells (African green monkey kidney cell line) ส่วนสาร 1’-Acetoxychavicol acetate ที่ความเข้มข้น 7.0-8.5 มก./มล. มีความเป็นพิษต่อเซลล์ L929 (mouse lung cells) และเซลล์ BHK 21 (hamster kidney cells) และที่ความเข้มข้น 23.4 มก./มล. มีความเป็นพิษต่อเซลล์ HepG2 (human liver cells)


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ลำต้นอ่อนของหน่อกะลามารับประทานในรูปแบบอาหารถือว่ามีความปลอดภัย แต่หากนำมาใช้ในรูปแบบของยาสมุนไพรควรใช้ความระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะส่วนรากของหน่อกะลา เนื่องจากมีรายงานการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาระบุว่าสาร 1’-Acetoxychavicol acetate มีความเป็นพิษต่อเซลล์ตับของคนในหลอดทดลอง


เอกสารอ้างอิง หน่อกะลา
  1. ลัดดาวัลย์ บุญรัตนกรกิจ, ถนอนจิต สุภาวิดา. ชื่อพืชสมุนไพร และประโยชน์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ หน้า 8.
  2. เต็ม สมิตินันท์. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544:26.
  3. สมาคมแพทย์แผนโบราณ วัดมหาธาตุฯ/ตำราเภสัชกรรมไทยแผนโบราณ. กรุงเทพฯโรงพิมพ์พิทักษ์อักษร. 2523:หน้า 106
  4. อังคณา ประเทืองเดชกุล.หน่อกะลา. จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 26 ฉบับที่ 2. มกราคม 2552. หน้า 12-17
  5. นรินทร์ เจริญพันธ์, จิราณีย์ พันมูล, สุธิษา เละเซ็น. การพัฒนาคุกกี้หน่อกะลา (Alpinia nigra Burrt) ปราศจากกลูเตน. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่ 28. ฉบับที่ 4. เมษายน 2563. หน้า 642-266
  6. Riwluang K., Kanpuy T., Sormpracert R. Morphology and Palynology of Kala (Alpinianigra) in Kokret, Pakkret district, Nonthaburi province. Program of Biology, Faculty of Science and Technology, Chandakasem Rojabhat University. Bangkok 10900, Thailand.
  7. Paliittapongampim P, Kirdmanee C, Kittakoop P, Rudseree K, 1’-acetoxychavicol acetate tuberculosis treatment Patent Application Publication US 2002/0192262 A1.
  8. Wattanathorn J, Tong-un T. Brown K, Singhara S Chaichun A, Kanla P, Puapairoj P, Picheansoonthon C, tiyaworanant S Screening the Neuroprotecttive Effect of Alpinia nigra Extract Againt Ethanol Neurotoxicity in rat North-Eastern Thai Journal of Neuroscience page13-20.
  9. Kankamol, C., 2010, Factors Affecting in vitro Microrhizome Induction of Alpinia galanga Swartz and Alpinia nigra Burrt, Research Report, Suan Sunandha Rajabhat University, Bangkok, 80 p. (in Thai)
  10. Aunphak J, Sriubolmas N, De-Eknamkul W, Ruangrungsi N, Chemical composition and antimicrobial activity of essential oil from the young stem and rhizome of Alpinia nigra (Gaertn.) B.L. Burtt H. Thai J Pharm. 1998;22(3):S42.
  11. Cheotacha R., Kankamol C, Antoxidant activities of Nog Kala (Alpinia nigra B.L. Burtt) Extracts Department of Chemistry, Facultry of Science and Technoiogy, Suan Sunandha Rajabhat University. Bangkok 10300, Thailand.
  12. Roy B, Tandon V, Flukicidal activity of Alpinia nigra (Zinglberaceae) againt Fascioiop-sis Buski Oral Seessions/Parasitology lnterantional 1998;47(Suppl):241.
  13. Pratuangdejkul, A., 2009, Orchid ginger, Med.Plant Newslett. 26(2): 12-17. (in Thai)