บัวหิมะ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

บัวหิมะ งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ

ชื่อสมุนไพร บัวหิมะ (Yacon)
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เสวี่ยนเหลียกว่อ (จีน), ผลบัวหิมะ, รากบัวหิมะ, หัวบัวหิมะ (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Smallanthus sonchifolius (Poepp.) H. Rob
ชื่อสามัญ Yacon, Argonne, Ground ginseng fruit, Daisy potato
วงศ์ ASTERACEAE

ถิ่นกำเนิดบัวหิมะ

บัวหิมะ (Yacon) มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า ยาคอน (Yacon) ซึ่งหมายถึง ผลไม้แห่งพระเจ้า โดยเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ ทานตะวัน (Asteraceae) เช่นเดียวกันกับชิโครี แก่นตะวัน ทานตะวัน และรักแร่ ซึ่งจัดเป็นพืชท้องถิ่นของทวีปอเมริกาในบริเวณเทือกเขาแอนดีสซึ่งชนพื้นเมืองในบริเวณดังกล่าว ได้นำมารับประทานมาตั้งแต่อดีตแล้ว จากนั้นจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลก ในปัจจุบันพบว่ามีการปลูก ในเชิงเกษตรกรรมกันมากในเชิงเกษตรกรรมกันมาก ในประเทศจีนบริเวณมณฑลยูนนาน สำหรับในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันมีการปลูกบัวหิมะทั่วภูมิภาคของประเทศแต่ส่วนใหญ่ปลูกกันมากในบริเวณภาคเหนือตอนบน เช่น เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เป็นต้น

ประโยชน์และสรรพคุณบัวหิมะ

  • ช่วยบำรุงร่างกาย
  • ป้องกันอาการเหนื่อยล้า
  • บรรเทาอาการท้องผูก
  • บรรเทาความผิดปกติในลำไส้
  • ป้องกันการเกิดตะคริว
  • ป้องกันการเกิดโรคตับ
  • ป้องกันการเกิดโรคไต
  • ช่วยคืนความอ่อนเยาว์ให้ กับผิวหนัง
  • ช่วยในการขับถ่าย
  • ต้านโรคเบาหวาน
  • ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือด
  • ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคทางเดินหายใจ
  • ช่วยเสริมสร้างกระดูก
  • ต้านอนุมูลอิสระ
  • ต้านมะเร็งตับ
  • ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
  • ต้านมะเร็งมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • ต้านการอักเสบ
  • ลดระดับไขมันในเลือด
  • กระตุ้นการสร้างอสุจิ

          บัวหิมะ นิยมนำมารับประทาน คือ ส่วนหัว หรือ ส่วนรากที่เป็นหัวสะสมอาหาร ซึ่งมีลักษณะกรอบ ฉ่ำน้ำ มีรสหวาน รสชาติ และเนื้อสัมผัสคล้ายกับแอปเปิ้ลผสมแตงโม และมีความพิเศษขอกรากบัวหิมะ คือ จะสะสมคาร์โบไฮเดรตในรูปของฟรุกแทน (fructan) และ Fos ยังมีความหวานน้อยกว่าน้ำตาลทราย รวมทั้งให้พลังงานน้อยกว่า 30-50% จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก หรือ ผู่ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการเผาผลาญอาหาร เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วนลงพุง ซึ่งแตกต่างจะพืชชนิดอื่นๆ ที่สะสมคาร์โบไฮเดรตจำพวกแป้ง นอกจากการกินสดแล้ว ในปัจจุบันยังมีการนำบัวหิมะไปปรุงสุกในรูปแบบของน้ำซุป ตุ๋นกับเนื้อหรือ นำไปผัดก็ได้รสชาติอร่อยที่แตกต่างเฉพาะตัว และยังมีการนำไปแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม และชาแปรรูปบรรจุเป็นอาหารกระป๋อง หรือผสมกับไอศกรีม อีกด้วย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้บัวหิมะ

ในปัจจุบันการใช้บัวหิมะ (yacon) จะเป็นการใช้ในรูปแบบการรับประทานเป็นอาหารมากกว่าใช้ในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งยังไม่มีการกำหนดถึงขนาดการใช้ และการรับประทาน แต่ทั้งนี้มีการศึกษาวิจัยฉบับหนึ่งระบุว่า หากร่างกายได้รับสาร fructo-oilgasaccharides (Fos) ที่อยู่ในหัวของบัวหิมะมากกว่า 20 กรัม/วัน อาจทำให้ เกิดอาการข้างเคียงได้

ลักษณะทั่วไปของบัวหิมะ

บัวหิมะ (yacon) จัดเป็นพืชล้มลุกที่มีหัวอยู่ใต้ดิน โดยมีลักษณะส่วนต่างๆ ดังนี้ ลำต้นแทงออกจากเหง้าที่อยู่ใต้ดินเป็นลำต้นเดี่ยวตั้งตรง สูง 2-3 เมตร คล้ายต้นทานตะวัน มีลักษณะทรงกลม สีเขียว มีขนอ่อนๆ ปกคลุม ราก เป็นรากฝอยแพร่กระจายโดยรอบๆ โดยรากจะเป็นลักษณะหัวสะสมอาหาร มีหลายรูปทรง เช่น ทรงกรวย ทรงกลมรี ทรงกระบอก ยาวรี คล้ายหัวมันเทศ เปลือกสีน้ำตาลบาง มียางเหนียว เนื้อแน่น ฉ่ำน้ำ มีสีเหลืองอ่อน รสชาติหวานกรอบ และมีหน่อตาเล็กๆ ที่ใช้สำหรับขยายพันธุ์
           ใบ เป็นใบเดี่ยวรูปหัวใจขนาดใหญ่ มีลักษณะออกเรียงสลับ โคนใบกว้าง ใบแหลม ใบมีสีเขียว ขอบใบมีรอยเว้า มีขนอ่อนปกคลุม หยักตื้น ก้านใบยาว มีครีบสีเขียวออกขนานตามก้าน
           ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยว ตรงปลายยอด มีลักษณะคล้ายดอกทานตะวันแต่เล็กกว่า หรือ คล้ายกับดอกเดซี่ กลีบดอกมีสีเหลือง ตรงกลางมีเกสรสีเหลือง มีก้านยาวรองรับ กลีบเลี้ยงมีสีเขียว มีขนอ่อนๆ ปกคลุม
           ผล หรือเมล็ดออกเป็นกระจุกตรงฐานดอก มีลักษณะทรงรีเล็กๆ สีน้ำตาล ผิวเรียบมัน

บัวหิมะ 

บัวหิมะ

การขยายพันธุ์บัวหิมะ

บัวหิมะ (Yacon) สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้หน่อตาที่อยู่บริเวณโคนต้นมาเพาะเป็นต้นอ่อนโดยมีวิธีการดังนี้ สำรวจตาของบัวหิมะที่บริเวณโคนต้น จากนั้นวางแนวตัดโดยตัดที่เป็นบริเวณรอยเว้า ซึ่งเป็นบริเวณที่มีตาน้อยจากนั้น จึงทำการเตรียมดินเพื่อเพาะหน่อตาบัวหิมะ โดยดินร่วน 1 ส่วน ขุยมะพร้าว 1 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน แกลบดิน 1 ส่วน แล้วจึงนำมาผสมคลุกเคล้ากันให้ทั่วจากนั้นนำหน่อตาที่เตรียมไว้มาเพาะกับดินที่เตรียมไว้ในกระถาง รดน้ำให้ชุ่ม เช้า-บ่าย เมื่อหน่อเริ่มแตกใบได้ 4-5 ใบ (ประมาณ 30-45 วัน) จึงย้ายมาปลูกในกระถางใหญ่ หรือแปลงที่เตรียมไว้โดยให้ใช้ฟางคลุมหน้าดิน ซึ่งในช่วงนี้ใส่ปุ๋ยคอก และให้น้ำได้ตามปกติ หลังจากปลูกประมาณ 5 เดือน จะเริ่มให้หัวช่วงนี้ควรลดการใส่ปุ๋ย หลังจากนั้นประมาณ 7-8 ก็สามารถเริ่มเก็บหัวได้ (สังเกตจากดอกที่เหี่ยว)

องค์ประกอบทางเคมี

มีผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของบัวหิมะ (yacon) พบว่า ใบและรากของบัวหิมะ ประกอบด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญ โดยใบ ประกอบด้วย กรดโปรโตคาเตชูอิก (protocatechuic acid) กรดคลอโรจีนิก (chlorogenic acid) กรดคาเฟอิก (caffeicacid ) และกรดเฟอรูลิก (ferulic acid) ส่วนสารสำคัญในราก (หัว) ของบัวหิมะได้แก่ fructo-oligosaccharides (FOS), tryptophan, chlorogenic acid, ferulic acid, และ caffeic acid โดยสารสำคัญที่ได้รับความสนใจในราก (หัว) ของบัวหิมะ คือ สาร FOS ซึ่งมีอยู่ประมาณ 70-80% ของนน.แห้ง หรือ ประมาณ 3-19% ของ นน.สด นอกจากนี้บัวหิมะ (yacon) ยังมีการระบุถึงคุณค่าทางโภชนาการดังนี้ หัวบัวหิมะสด 100 ก. ให้พลังงาน ประมาณ 54 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย น้ำ 81.3 ก. คาร์โบไฮเดรต 13.8 ก. ใยอาหาร 0.9 ก. โปรตีน 1.0 ก. ไขมัน 0.1 ก. เถ้า 1.1 ก. โพแทสเซียม 334 มก. ฟอสฟอรัส 34 มก. แคลเซียม 12 มก. แมกนีเซียม 8.4 มก. โซเดียม 0.4 มก. ธาตุเหล็ก 0.2 มก. วิตามิน B1 0.07 มก. วิตามิน B2 0.31 มก. วิตามิน C 5.0 มก. เบต้า-แคโรที 0.13 มก

ตารางและคุณค่าทางโภชนาการของบัวหิมะสด (100 กรัม) ในพลังงาน 54 กิโลแคลอรี่

 

โครงสร้างบัวหิมะ

การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของบัวหิมะ

มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาต่างๆ ของบัวหิมะ (yacon) หลาบฉบับดังนี้
           ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งตับ มีการศึกษาฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งตับของสารสกัดเมทานอลจากใบของ yacon (เสวี่ยเหลียนกว่อ) หรือ บัวหิมะ (Smallanthus sonchifolius) ในขนาด 0, 20, 40, 60, และ 100 มคก./มล ในหลอดทดลองกับเซลล์มะเร็งตับของมนุษย์ชนิด HepG2 และเซลล์ปกติชนิด HEK 239 ด้วยวิธี MTT assay พบว่าสารสกัดดังกล่าวมี ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งอย่างชัดเจนและไม่มีผลต่อเซลล์ปกติ โดยมีค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 58.2 ± 1.9 มคก./มล และการศึกษากลไกการออกฤทธิ์เพิ่มเติมด้วย cell migration assay, colony formation assay, cell cycle analysis, western blot analysis, และ reactive oxygen species (ROS) production assay พบว่า สารสกัดสามารถยับยั้งการแบ่งตัว (cell proliferation) และการเคลื่อนตัว (cell migration) ของ HepG2 รวมทั้งเหนี่ยวนำให้เกิดการหยุดวงจรชีวิตของเซลล์ (cell cycle arrest) และการตายของเซลล์แบบการตายเฉพาะส่วน (necrosis) โดยประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดที่ให้ นอกจากนี้ สารสกัดยังมีผลยับยั้งการสร้าง ROS ภายใน HepG2 ด้วย และการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีด้วย LC/Q-TOF-MS พบว่าสารออกฤทธิ์น่าจะเป็นสารในกลุ่ม melampolide-type sesquiterpenoids
           ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ มีการศึกษาทดลองในหนูทดลองตัวผู้ที่ได้รับสาร ไดเมทิลไฮดราซีน เพื่อชักนำให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายพบว่าส่วนหัวบัวหิมะช่วยลดการงอกของเซลล์ ลดจำนวน และความหลากหลายของเนื้องอก และลดการรุกรานของมะเร็งได้
           ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด มีการศึกษาทางคลินิกแบบสุ่ม โดยมีการไขว้กลุ่ม และปกปิดสองทาง (Randomized, crossover, double-blind clinical trial) เพื่อศึกษาผลของการบริโภคน้ำเชื่อมรากบัวหิมะ (Smallanthus sonchifolius; Yacon syrup) ต่อระดับน้ำตาล และระดับไขมันในเลือดหลังมื้ออาหาร ในอาสาสมัครเพศหญิงจำนวน 40 คน ที่มีอายุ 19-40 ปี และ มีน้ำหนักตัวปกติ (BMI 18.50–24.99 kg/m2) จำนวน 20 คน และมีภาวะอ้วนระดับ 1 (BMI 30.0–34.99 kg/m2) จำนวน 20 คน โดยสุ่มแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้รับอาหารเช้าร่วมกับยาหลอก 40 ก. และกลุ่มที่ 2 ได้รับอาหารเช้าร่วมกับน้ำเชื่อมบัวหิมะ 40 ก. (มี fructooligosaccharides 14 ก.) อาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่ม จะได้รับสารทดสอบหลังจากอดอาหารมาเป็นเวลานาน 12 ชม. และทำการวิเคราะห์ผลเลือดที่เวลา 15, 30, 45, 60, 90, และ 120 นาที ก่อนการไขว้กลุ่มอาสาสมัครจะมีระยะเวลาในการล้างยา (wash-out period) 1 สัปดาห์ จากผลการทดลองพบว่า กลุ่มที่ได้รับน้ำเชื่อมรากบัวหิมะมีความเข้มข้นของน้ำตาลกลูโคส (ที่เวลา 30 นาที) และอินซูลิน (ที่เวลา 15, 30, และ 45 นาที) ต่ำลง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก แต่ไม่มีผลต่อความเข้มข้นของไตรกลีเซอไรด์ แสดงให้เห็นว่า น้ำเชื่อมรากบัวหิมะสามารถลดระดับน้ำตาล และอินซูลินในเลือดหลังมื้ออาหารได้
           ส่วนอีกการทดลองได้ใช้หนูที่ได้รับสารสเตรปโตโซโตซิน เพื่อชักนำให้เกิดโรคเบาหวาน จากนั้นให้อาหารที่เสริมด้วยแป้งบัวหิมะที่มีปริมาณ Fos 340 มิลลิกรัม และ 6,800 มิลลิกรัม ของน้ำหนักตัวเป็นเวลา 90 วัน พบว่าจำนวนของเซลล์ตับอ่อน และ glucagon-like peptide 1 (GLP-1, กลุ่มฮอร์โมนในทางเดินอาหารที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในขณะที่ไขมันในช่องท้องลดลง และระดับอินซูลินในเลือดหลังอดอาหารเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อีกการศึกษาหนึ่งทดลองโดยใช้หนูตัวผู้ ให้บริโภคบัวหิมะสัดส่วน .5% ของอาหาร พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และเพิ่มความไวต่อการตอบสนองของอินซูลินในตับ
           ฤทธิ์ปกป้องตับ มีการทดสอบฤทธิ์ปกป้องตับของแป้งจากหัวบัวหิมะ (Smallanthus sonchifolius (Poepp.) H.Rob) (yacon flour; YF) จากการเหนี่ยวนำให้ตับผิดปกติด้วยอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง (มีธาตุเหล็ก 500 มก./อาหาร 1 กก.) ในหนูแรท โดยหนูจะได้รับอาหารที่มี YF เป็นส่วนประกอบ 18% (มี FOS เป็นส่วนประกอบ 3.6%/อาหาร 1 กก.) ทำการทดลองนาน 92 วัน จากผลการทดลองพบว่า YF ไม่มีผลต่อน้ำหนักตัว การกินอาหาร การขับถ่าย และเม็ดเลือดต่างๆ แต่ทำให้อุจจาระมีความชื้นเพิ่มขึ้น การดูดซึม Cu เพิ่มขึ้น ระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และ VLDL ในเลือดลดลง ค่า AST ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการได้รับอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง มีระดับลดลง (แต่ไม่มีผลต่อ ALT) ทำให้การทำงานของเอนไซม์ catalase และ GPx ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการได้รับอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ลดลง และทำให้ความผิดปกติที่ตับลดลงได้
           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางเภสัชวิทยาอื่นๆ อีกเช่น บัวหิมะ(yacon) มีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก ช่วยกระตุ้นของโพรไบโอติกหลายชนิด และกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในลำไส้ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดและทางเดินหายใจ ช่วยเสริมสร้างกระดูก ต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นการสร้างอสุจิ และทำให้ระดับ testosterone ในเลือดเพิ่มขึ้น มีฤทธิ์อาการซึมเศร้า
           ส่วนการศึกษาวิจัยทางคลินิกระบุว่า หัวบัวหิมะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือด การบรโภคอาหารและน้ำหนักตัวลดลง อีกทั้งยังทำให้รู้สึกอิ่มนาน และช่วยลดความอยากอาหาร รวมทั้งช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน นอกจากนี้การบริโภคหัวบัวหิมะยังทำให้ความถี่ในการขับถ่ายเพิ่มขึ้น ช่วยลดอาการไม่สบายท้องหลังการขับถ่าย และอุจจาระมีลักษณะดีขึ้น ทำให้จำนวนแบคทีเรียที่ดีต่อร่างกายเพิ่มขึ้น และจำนวนแบคทีเรียก่อโรคน้อยลง

การศึกษาทางพิษวิทยาของบัวหิมะ

มีการศึกษาความเป็นพิษในสัตว์ทดลองพบว่าหัวบัวหิมะ ค่อนข้างมีความปลอดภัยโดยมีการศึกษาความเป็นพิษของบัวหิมะระยะเวลา 4 เดือน โดยการให้ผลบัวหิมะแห้ง (340 มิลลิกรัม และ 6,800 มิลลิกรัม Fos/กิโลกรัมของน้ำหนัก) เป็นอาหารเสริมของหนูที่มีสุขภาพดี และไม่เป็นโรคอ้วน พบว่าไม่ก่อให้เกิดพิษใดๆ ยิ่งไปกว่านั้นการบริโภคบัวหิมะทั้ง 2 ระดับ ยังช่วยลดไตรเอซิลกลีเซอรอล หรือ ที่รู้จักกันดีในชื่อ ไตรกลีเซอไรด์ ลงอย่างมีนัยสำคัญ ได้อีกด้วย รายงาน case report ระบุว่า มีผู้ป่วยเพศหญิงอายุ 55 ปี เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง หลังจากรับประทานหัวบัวหิมะเป็นเวลา 5 นาที โดยมีอาการคัน มีผื่นลมพิษ เกิดอากรวูบและโคม่า ซึ่งคาดว่าหญิงดังกล่าว อาจจะแพ้พืชในวงศ์ ทานตะวัน

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

⦁ บัวหิมะจัดว่าเป็นพืชโพแทสเซียมในปริมาณสูง ดังนั้นผู่ป่วยโรคไตหรือผู้ที่ต้องควบคุมระดับโพแทสเซียมควรระมัดระวังการบริโภค
⦁ ผู้ที่แพ้พืชในวงศ์ทานตะวัน หรือ Asteraceae ควรระมัดระวังการบริโภคบัวหิมะ เนื่องจากเป็นพืชในวงศ์เดียวกันอาจทำให้เกิดการแพ้ได้
⦁ สาร Fos ในหัวหิมะ อาจทำให้เกิดอาการท้องอืด ผายลมบ่อย ท้องเสีย และอาการปวดท้องได้ และหากได้รับในปริมาณมาก เช่น 20 ก./วัน จะทำให้เกิดอาการมากขึ้น

เอกสารอ้างอิง บัวหิมะ (yacon)

⦁ นัย บํารุงเวช. 2557. คลายปม บัวหิมะ. เทคโนโลยีชาวบ้าน. 26(578): 108.
⦁ ภญ.กฤติยา ไชยนอก. หัวบัวหิมะ...ทั้งหวานและกรอบและชอบอยู่ใต้ดิน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
⦁ ฤทธิ์ปกป้องตับจากบัวหิมะ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
⦁ วรรณคล เชื้อมงคล. ประโยชน์ของฟรุคโตโอลิโกแซคคาไรด์ในอาหารทางการแพทย์. วารสารไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ. 2556;8(3):122-8.
⦁ ผลของน้ำเชื่อมบัวหิมะ (yacon syrup) ต่อระดับน้ำตาลในเลือด. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
⦁ พิสุทธิ์ บุตรสุวรรณ์. บัวหิมะและประโยชน์เชิงคุณภาพ. วารสารอาหารปีที่ 50. ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2563. หน้า 37-46.
⦁ ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งตับจากใบเสวี่ยเหลียนกว่อ (บัวหิมะ). ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
⦁ De Souza Lima Sant’Anna M, Rodrigues VC, Araujo TF, de Oliveira TT, Peluzio MCG, Ferreira CLLF. Yacon product (PBY) modulates intestinal constipation and protects the integrity of crypts in Wistar rats. Food Nutr Sci. 2018;9(12):1391-407.
⦁ Ojansivu I, Ferreira CL, Salminen S. Yacon, a new source of prebiotic oligosaccharides with a history of safe use. Trends Food Sci Technol. 2011;22(1):40-6.
⦁ Delgado GT, Thomé R, Gabriel DL, Tamashiro WM, Pastore GM. Yacon (Smallanthus sonchifolius)- derived fructo-oligosaccharides improves the immune parameters in the mouse. Nutr Res. 2012;32(11):884-92.
⦁ Park JS, Hwang SY, Hwang BY, Han K. The spermatogenic effect of 50% ethanol extracts of Yacon and its ameliorative effect against 2,3,7,8-tetrachlorodibenzo-p-dioxin induced testicular toxicity in the rat. Nat Prod Sci. 2008;14(2):73-80.
⦁ Delgado GT, Tamashiro WM, Maróstica Junior MR, Pastore GM. Yacon (Smallanthus sonchifolius) : a functional food. Plant Foods Hum Nutr. 2013;68(3):222-8.
⦁ Genta SB, Cabrera WM, Grau A, Sánchez SS. Subchronic 4 - month oral toxicity study of dried Smallanthus sonchifolius ( yacon) roots as a diet supplement in rats. Food Chem Toxicol. 2005;43(11):1657-65.
⦁ Topolska K, Radzki RP, Filipiak- Florkiewicz A, Florkiewicz A, Leszczynska T, Cieslik E. Fructan- enriched diet increases bone quality in female growing rats at calcium deficiency. Plant Foods Hum Nutr. 2018;73(3):172-9.2007.
⦁ Jimenez ME, Rossi A, Sammán N. Health properties of oca (Oxalis tuberosa) and yacon (Smallanthus sonchifolius). Food Funct. 2015;6(10):3266-74.
⦁ Manrique I, Párraga A, and Hermann M. (2005). Yacon Syrup: Principles and Processing. Conservación y uso de la biodiversidad de raíces y tubérculos andinos: una década de investigación para el desarrollo (1993–2003) No 8B, Lima, Perú: International Potato Center, Universidad Nacional Daniel Alcides Carrión, Erbacher Foundation Swiss Agency for Development and Cooperation. p. 3.
⦁ de Moura NA, Caetano BF, Sivieri K, Urbano LH, Cabello C, Rodrigues MA, et al. Protective effects of yacon (Smallanthus sonchifolius) intake on experimental colon carcinogenesis. Food Chem Toxicol. 2012;50(8):2902-10.
⦁ Lachman J, Fernandez EC, Orsak M. Yacon [Smallanthus sonchifolia (Poepp. et Endl.) H. Robinson] chemical composition and use - a review. Plant Soil Environ. 2003;49(6):283-90.
⦁ Park JS, Yang JS, Hwang BY, Yoo BK, Han K. Hypoglycemic effect of Yacon tuber extract and its constituent, chlorogenic acid, in streptozotocin-induced diabetic rats. Biomol Ther. 2009;17(3):256-62.
⦁ Geyer M, Manrique I, Degen L, Beglinger C. Effect of yacon (Smallanthus sonchifolius) on colonic transit time in healthy volunteers. Digestion. 2008;78(1):30-3.
⦁ Yan MR, Welch R, Rush EC, Xiang X, Wang X. A sustainable wholesome foodstuff; health effects and potential dietotherapy applications of yacon. Nutrients. 2019;11(11):2632.
⦁ Yun EY, Kim HS, Kim YE, Kang MK, Ma JE, Lee GD, et al. A case of anaphylaxis after the ingestion of yacon. Allergy Asthma Immunol Res. 2010;2(2):149-52.
⦁ Caetano BF, de Moura NA, Almeida AP, Dias MC, Sivieri K, Barbisan LF. Yacon (Smallanthus sonchifolius) as a food supplement: health-promoting benefits of fructo-oligosaccharides. Nutrients. 2016;8(7):436.
⦁ Silva MFGD, Dionísio AP, Ferreira Carioca AA, Silveira Adriano L, Pinto CO, Pinto de Abreu FA, et al. Yacon syrup: Food applications and impact on satiety in healthy volunteers. Food Res Int. 2017;100:460-7.