มะระจีน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
มะระจีน งานวิจัยและสรรพคุณ 27 ข้อ
ชื่อสมุนไพร มะระจีน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะระ (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Momordica charantia Linn. var. maxima Williums & Ng
ชื่อสามัญ Bitter Gourd, Balsam apple, Leprosy Gourd, Bitter melon
วงศ์ CUCURBITACEAE
ถิ่นกำเนิดมะระจีน
มะระจีน มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนทวีปเอเชีย และทวีปแอฟริกา เป็นพืชที่มีการปลูกในแถบประเทศเขตร้อนอย่างแพร่หลาย โดยมีการปลูกกันในหลายประเทศ เช่น จีนอินเดีย, พม่า, ไทย, เวียดนาม ฯลฯ ส่วนในประเทศไทยปลูกมะระจีน มากในภาคเหนือ ซึ่งมีการปลูกหลายสายพันธุ์
ประโยชน์และสรรพคุณมะระจีน
- แก้พิษ (ราก), (ดอก), (ผล)
- รักษาโรคริดสีดวงทวาร (ราก)
- ใช้ยาบำรุง (ราก), (ผล)
- บำรุงน้ำดี (เถา), (ผล)
- ยาระบายอ่อนๆ (เถา)
- ช่วยเจริญอาหาร (เถา), (ผล)
- แก้ไข้ (ใบ)
- ดับพิษร้อน (ใบ), (ผล)
- ช่วยขับพยาธิ (ใบ), (ผล)
- ช่วยขับลม (ใบ), (ผล)
- แก้บิด (ดอก)
- แก้พิษฝี (ผล)
- แก้ฟกบวม (ผล)
- แก้อักเสบ (ผล)
- บำบัดโรคเบาหวาน (ผล)
- ต้านเบาหวาน
- แก้อาการป่วยไข้
- แก้อาการคอแหบแห้ง เสียงไม่มี เนื่องจากโรคหวัด
- แก้ท้องผูก
- บำรุงสายตา
- บำรุงเลือด
- เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ
- แก้ปากเปื่อย
- แก้ตับม้ามพิการ
- แก้ฟกช้ำบวม
- แก้ผิวแห้ง
- ช่วยลดอาการระคายเคือง อักเสบ
สำหรับการแพทย์แผนปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยระบุว่ามะระจีน มีฤทธิ์ต้านเบาหวาน ช่วยระบาย และฆ่าเชื้อ โดยทางการแพทย์แผนไทยใช้เข้าตำรับยาแก้ไข้ที่มีอาการติดเชื้อต่างๆ สารต้านเบาหวานในมะระจีนได้แก่สารชาแรนทิน ซึ่งมี ฤทธิ์ต้านเบาหวานได้ดีกว่ายา tolbutamide นอกจากนี้ พบ สารไวซีน (vicine) โพลีเพปไทด์-พี และสารออกฤทธิ์อื่นที่ กำลังศึกษากันอยู่ โพลีเพปไทด์-พี ออกฤทธิ์ลดน้ำตาลใน เลือดเมื่อฉีดแบบอินซูลินให้กับผู้ป่วยเบาหวานประเภท ฤทธิ์ต้านเบาหวานของมะระจีนได้ถูกศึกษาอย่างมากมาย ทั้งโดยการเพาะเลี้ยงเซลล์ การศึกษาในสัตว์ทดลอง และการศึกษาทางคลินิก สารจากมะระจีนให้ผลทั้งในแง่การควบคุมปริมาณการหลั่งอินซูลินและเปลี่ยนแปลงเมแทบอลิซึมของกลูโคส การแพทย์ทางเลือกของสหรัฐอเมริกาแนะนำการใช้น้ำคั้นผลมะระจีน เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยเบาหวาน
รูปแบบและขนาดวิธีใช้มะระจีน
- แก้อาการป่วยไข้ ให้นำมะระจีนทั้ง 5 คือ ดอก ผล ใบ ราก และเถาอย่างละ 1 กำมือใส่น้ำให้ท่วมแล้วต้มจนเดือด กินครั้งละ 1 แก้ว ก่อนอาหาร วันละ 3-4 ครั้ง ติดต่อกันเพียง 3-4 วันก็จะหายไข้
- แก้อาการคอแหบแห้ง เสียงไม่มี เนื่องจากโรคหวัด นำผลมะระจีน ต้มกิน หรือ ใช้ประกอบเป็นอาหารช่วยรักษาให้ทุเลาจนถึงหายขาดได้
- ให้นำมะระจีน ใกล้สุก มาหั่นทั้งเนื้อ และเม็ดแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง คั่วจนหอมแล้วตำให้ละเอียดผสมน้ำผึ้ง ปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดหัวแม่มือกินครั้งละ 1 เม็ดก่อนนอน แก้ท้องผูก
- บำรุงสายตา ให้นำผลมะระจีนและยอดอ่อนมาปรุงอาหารตามใจชอบ ควรกินวันเว้นวันสม่ำเสมอ สายตาจะดีขึ้น
- บำรุงเลือด บำรุงกำลัง เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ให้นำเม็ดมะระจีนแก่จัดมาตากแห้งแล้วแกะเปลือกนอกออก ใช้เนื้อในบดจนละเอียด ละลายน้ำร้อนกินครั้งละ 1 ช้อน กาแฟวันละ 1 ครั้งก่อนนอน ติดต่อกัน 2 อาทิตย์ เว้น 2 อาทิตย์ กินอีก 2 อาทิตย์ จะทำให้เจริญอาหาร มีกำลังวังชาขึ้น ยาขนานนี้ยังช่วยขับพยาธิตัวเล็กได้อีกด้วย
- ใบมะระจีนใช้ ต้มดื่ม แก้ไข้หวัด บำรุงน้ำดี ดับพิษฝี แก้ปากเปื่อย แก้ตับม้ามพิการ แก้อักเสบ ฟกช้ำบวม ใช้ทาภายนอก แก้ผิวแห้ง ลดอาการระคายเคือง อักเสบ
ลักษณะทั่วไปของมะระจีน
มะระจีน เป็นไม้เถาเลื้อย ลำต้นมีลักษณะเหลี่ยม เถาเลื้อยมีสีเขียว มีขนเล็กๆ จะมีมือเกาะบนเถา อยู่บริเวณใต้ข้อต่อของใบ
- ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันคนละข้างตามเถา มีลักษณะเป็นแฉกเว้าลึก 5 แฉก โคนใบมีลักษณะกลม มีก้านใบยาว ใบมีสีเขียว มีขนสากเล็กๆ มีมือเกาะยื่นออกมาจากที่ข้อ
- ราก เป็นระบบรากแก้ว รากมีลักษณะกลม แทงลึกลงดิน มีรากแขนงและรากฝอยเล็กๆ แทงออกตามรอบๆ มีสีน้ำตาล
- มือเกาะ มีลักษณะกลม เป็นเส้นเล็กๆ คล้ายหนวดขนาดเล็กๆ แตกออกบริเวณข้อใต้ใบของเถา จำนวนมือเกาะ 1 เส้นต่อข้อ ส่วนปลายมีขนาดเล็กสุดม้วนงอ จะม้วนงอเข้ายึดเกาะรอบข้าง ยึดลำต้นเพื่อเลื้อยแผ่ขึ้นที่สูง ใช้มือเกาะใช้ปลายหนวดม้วนใช้ยึดของ เป็นเกลียวพันรอบคล้ายสปริง
- ดอก ดอกเป็นดอกเดี่ยว มีลักษณะรูประฆัง กลีบดอกจะมีเหลือง ก้านดอกยาว ออกตามซอกใบ
- ผล มีลักษณะทรงยาวรี เปลือกบาง ผิวขรุขระมีร่องลึกตามยาว ผลใหญ่เนื้อหนา ผลดิบจะมีสีเขียวอ่อน ใช้รับประทาน เมื่อผลสุกจะมีสีแดง แต่รับประทานไม่ได้ ภายในผลจะมีหลายเมล็ด มีเนื้อฉ่ำน้ำ มีรสชาติขม
- เมล็ด จะอยู่ภายในผล จะมีเมล็ดเล็กๆจำนวนมาก เรียงอยู่ข้างในผล เมล็ดมีลักษณะกลมแบนรี ผิวเรียบ เปลือกเมล็ดแข็ง สีน้ำตาล
การขยายพันธุ์มะระจีน
มะระจีนเป็นพืชที่นิยมปลูกกันมากในประเทศไทย และเป็นสายพันธุ์เดียวกับมะระขี้นก โดยมะระจีนเป็นพืชปีเดียว สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล และปลูกขึ้นได้ดีกับดินแทบทุกประเภท แต่ดินควรมีความชื้นสูงสม่ำเสมอ และควรได้รับแสงแดดเต็มที่ตลอดทั้งวัน มะระจีนที่ปลูกในประเทศส่วนมากมีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 45-50 วัน การเก็บมะระควรเก็บวันเว้นวัน เลือกผลที่โตได้ขนาด มีสีเขียวยังไม่แก่เกินไป ถ้าเริ่มมีสีขาวและเริ่มแตกถือว่าแก่เกินไป
ส่วนวิธีการขยายพันธุ์มะระจีน สามารถขยายพันธุ์โดยวิธีการหยอดเมล็ดหรือปลูกจากต้นกล้าเท่านั้น โดยมีวิธีการดังนี้
การเตรียมดินทำการไถพรวนดิน พร้อมกำจัดวัชพืช และตากแดดประมาณ 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดดิน แล้วทำแนวปลูกด้วยการขึงเชือก หรือ กะระยะ ในระยะระหว่างแถว 1-1.5 เมตร แล้วทำการไถตามจุดของแนวปลูกตามแนวยาวของแปลงให้เป็นร่องลึกประมาณ 30 ซม. จากนั้นหว่านโรยปุ๋ยหมักหรือมูลโค ปริมาณ 1000 กก./ไร่ และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ปริมาณ 30 กก./ไร่ แล้วทำการไถกลบหรือกลบแนวร่อง ตากดิน 2-3 วัน
การเตรียมกล้าทำการเพาะกล้าในกระบะเพาะกล้า โดยใส่ดินผสมมูลสัตว์ หรือ วัสดุอื่นๆ เช่น ขี้เถ้า กากมะพร้าว แล้วรดน้ำให้ชุ่ม วันละ 1-2 ครั้ง เช้า-เย็น หากกล้าเริ่มแตกใบ 4-6 ใบ หรือ 15-20 วัน สามารถนำมาปลูกได้
วิธีการปลูก การปลูกด้วยกล้ามะระ ให้ปลูกในระยะห่างของหลุม 1.5-2 เมตร แต่หากเป็น การปลูกด้วยการหยอดเมล็ด ให้หยอดเมล็ด 1-2 เมล็ด/หลุม ในระยะห่างของหลุมเช่นเดียวกัน หลังการปลูกหรือหยอดเมล็ดเสร็จ ต้องรดน้ำหลุมปลูกให้ชุ่ม
องค์ประกอบทางเคมี
องค์ประกอบทางเคมีและสารออกฤทธิ์ จากส่วนต่างๆ ของมะระจีน ได้แก่ ผล เมล็ด ใบ ลำต้น เอนโดสเปิร์ม และแคลลัส มีสารสำคัญมากถึง 228 ชนิด ที่อาจจะออกฤทธิ์แบบเดี่ยวๆ หรือ ออกฤทธิ์แบบร่วมกัน charantin, polypeptide-p, vicine, momordin และสารอนุพันธ์ที่คล้ายกัน เช่น momordinol, momordicilin, momorcharin, momordicin, Gallic acid, Caffeic acid และ Catechin เป็นต้น ส่วนคุณค่าทางโภชนาการของมะระจีน (100 กรัม) ประกอบด้วย ใยอาหาร 2.8 กรัม, เถ้า 1.1 กรัม, โปรตีน 1 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 3.7 กรัม, ไขมัน 0.17 กรัม, พลังงาน 17 กิโลแคลอรี, วิตามิน A 380 มิลลิกรัม, วิตามิน B1 0.04 มิลลิกรัม, วิตามิน B2 0.4 มิลลิกรัม, วิตามิน B3 0.4 มิลลิกรัม, วิตามิน B5 0.212 มิลลิกรัม, วิตามิน B6 0.043 มิลลิกรัม, วิตามิน C 84 มิลลิกรัม, สังกะสี 0.8 มิลลิกรัม, แคลเซียม 19 มิลลิกรัม, เหล็ก 0.43 มิลลิกรัม, ทองแดง 0.034 ไมโครกรัม, แมกนีเซียม 17 มิลลิกรัม, แมงกานีส 0.089 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 31 มิลลิกรัม, โพแทสเซียม 296 ไมโครกรัม, โซเดียม 5 มิลลิกรัม
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของมะระจีน
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะระจีน
มีการศึกษาถึงผลของมะระจีนในมนุษย์หลายการศึกษาทั้งในผู้ที่มีสุขภาพดีและผู้ป่วยเบาหวานชนิดต่างๆ พบว่า มีหลายการศึกษาที่รายงานว่าสารสกัด หรือ น้ำจากผลมะระมีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดลงได้
โดยการศึกษาพบฤทธิ์รักษาเบาหวานของมะระจีนเริ่มตั้งแต่ปี 1942 โดยพบว่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในกระต่าย และเสริมฤทธิ์ยาลดน้ำตาลในกระต่ายที่เป็นเบาหวาน จึงได้มีผู้ศึกษาฤทธิ์ของมะระในสัตว์ทดลองต่างๆ ได้แก่ กระต่าย หนูขาว หนูถีบจักร แมว gerbils ลิง ตลอดจนการทดลองทางคลินิก ซึ่งในการทดลองได้ใช้มะระจีนทั้งในรูปสารสกัดด้วยอัลกอฮอล์ สารสกัดด้วยอะซีโตนสารสกัดด้วย้ำในรูปผลแห้งและน้ำคั้น ได้มีผู้ทดลองสกัดแยกสารซึ่งมีฤทธิ์ลดเบาหวาน ได้แก่ charantin, polypeptide, polypeptide P และ purified protein
สำหรับกลไกการออกฤทธิ์ พบว่ามะระจีน มีฤทธิ์เหมือนอินซูลิน และกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากเบต้าเซลล์ เพิ่มการใช้น้ำตาลกลูโคสในเนื้อเยื่อต่างๆ โดยไปเพิ่ม tissue respiration เมื่อให้น้ำคั้นผลมะระจีนก่อนให้น้ำตาลกลูโคส พบว่ามีการนำกลูโคสไปใช้จึงมีการสะสมของ glycogen ในตับและกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจเนื่องจากไปเร่งการหลั่งอินซูลิน และเร่งการดูดซึมของกลูโคสก็ได้ นอกจากนี้น้ำคั้นยังมีผลต่อ gluconegensis ในไตคล้ายกับสาร hypoglycin ซึ่งลดน้ำตาลเนื่องจากเบาหวาน และพบว่าการทดลองให้หนูที่เหนี่ยวนำด้วย strepotozotocin ให้เป็นเบาหวาน มะระจีนไม่ให้ผล อาจเพราะเบต้าเซลล์ถูกทำลายไปแล้ว
ไม่เพียงแต่มีการทดลองโดยใช้ผลมะระจีนเท่านั้น ยังมีการทดลองผลของเมล็ดมะระจีนอีกด้วย จากการศึกษาของนักวิจัยในฮ่องกง พบว่าในเมล็ดมีสารซึ่งมีฤทธิ์เช่นเดียวกับอินซูลิน ซึ่งต่อมาได้พบว่า คือ α-momorcharin, β-momorcharin, α-trichosantin และเลคติน ในเวลาใกล้ๆ กัน ได้มีผู้นำเมล็ดมะระมาสกัดด้วย 50% เมทานอล และ 0.9% น้ำเกลือ เมื่อนำสารสกัดไปทดสอบในหนูซึ่งอดอาหาร พบว่าปริมาณน้ำตาลในเลือดลดลง และสารสกัดเมทานอลและน้ำเกลือยังป้องกันไม่ให้ adrenaline ไปเหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวาน
โดยมีรายงานว่า สารสกัดมะระจีนยับยั้ง glucose optake ใน cell Ehrlich ascites tumor cell ซึ่งใช้เป็นการตรวจสอบเบื้องต้นของพืชที่ยับยั้งเบาหวาน มีการศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของตำรับยาซึ่งมีมะระจีนเป็นส่วนผสม (ไม่ระบุชนิดของสารสกัด) โดยฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร ขนาด 0.1 ก./กก. พบว่าลดน้ำตาลในเลือด เมื่อทดลองฉีดสารสกัดอินซูลินจากมะระจีนเข้าทางช่องท้อง หรือ ให้ทางปากหนูขาวปกติ และหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน ด้วย alloxan หรือ streptozotocin พบว่าน้ำตาลในเลือดลดลง ต่อมามีการศึกษาผลของสารสกัดเมทานอล : น้ำ ของดอกแห้งและใบมะระจีนขนาด 10 และ 30 มก./กก. เมื่อกรอกเข้าทางกระเพาะอาหารหนูขาว พบว่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด และสารสกัด 95% เอทานอลของผลสด ขนาด 200 มก./กก. กรอกเข้าทางกระเพาะอาหารของหนูขาวที่ใช้ streptozotocin เหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวาน มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดลง 22% และน้ำคั้นผลดิบสดของมะระจีน (ไม่ระบุขนาด) กรอกเข้าทางกระเพาะอาหารหนูขาว มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด
นอกจากนี้เมื่อให้น้ำสกัดผลมะระจีน 2 มล.เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ในหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย alloxan ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงจาก 220 มก.% เป็น 105 มก.% คิดเป็น 54% ซึ่งมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้มากกว่าผงแห้ง ซึ่งลดลง 25%
การศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำโดย alloxan ทดลองใช้สารสกัดเอทานอลขนาด 250 มก./กก. ทดลองเป็นเวลา 2 สัปดาห์ พบว่ามะระมีฤทธิ์อย่างแรงในการลดน้ำตาลในเลือด สารสกัดมะระ 3 ตัวอย่าง คือ สารสกัด A เป็นผลแห้งมะระ 0.5 กก. ในเมทานอล (1:10) สารสกัด B เป็นผลแห้งมะระ 0.5 กก. ในคลอโรฟอร์ม (1:10) สารสกัด C เป็นผลสดมะระ 0.5 กก. ในน้ำ (10:25) ในขนาด 20 มก/กก มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย alloxan เมื่อทดลองใช้เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ไม่พบความเป็นพิษต่อตับ และไต และทดลองใช้ในขนาดสูงไม่พบพิษต่อตับ และไตเช่นกัน โดยดูจากค่า SGOT, SGPT และ lipid profile
การศึกษาที่ประเทศแอฟริกาใต้ ปี พ.ศ.2549 ถึงฤทธิ์ของการใช้สารสกัดมะระจีนทั้ง 5 เพื่อลดปริมาณน้ำตาลในเลือดของหนูที่ทำให้เป็นโรคเบาหวานโดยใช้สารสเตรปโทโซโทซิน พบว่าปริมาณน้ำตาลในเลือดหนูลดลงทั้งหนูปกติ และหนูที่เป็นเบาหวาน ผลการลดปริมาณน้ำตาลแปรผันตามปริมาณสารสกัดที่ได้รับ
ส่วนการทดลองให้สารสกัดมะระจีนทั้ง 5 โดยการฉีดเข้าหลอดเลือดกับหนูปกติและหนูที่ถูกทำให้มีความดันสูง (hypertensive Dahl salt-sensitive rats) พบว่าลดความดันช่วงบน และอัตราการเต้นของหัวใจของหนูทั้งที่เป็นปกติและมีอาการความดันสูงอย่างแปรผันกับปริมาณสารสกัดดังกล่าว การให้สารอะโทรพีนต่อหนูไม่มีผลต่อการลดความดันเลือดในการทดลองนี้ จึง เชื่อว่าผลการลดความดันดังกล่าวไม่ได้เกิดจากกลไกโคลิเนอร์จิก
ส่วนการศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น ปี พ.ศ.2549 พบว่าไทรเทอร์พีนอะไกลโคนจากสารสกัดแอลกอฮอล์ของผลมะระจีนแห้งจำนวน 2 ชนิด แสดงผลลดปริมาณน้ำตาลในเลือดหนูทดลองที่เป็นเบาหวาน (หนูเบาหวานตัวผู้ พันธุ์ ddY) สารดังกล่าว คือ epoxydihydroxycucurbitadiene และ trihydroxycucurbitadien-al
การทดลองทางคลินิกในคนปกติพบว่า เมื่อรับประทานผลมะระจีน สด (ไม่ระบุขนาด) มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด มีการศึกษาโดยใช้ใบมะระจีนพบว่า มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหาร (postpandrial glucose level) ทั้งในคนปกติและผู้ป่วนเบาหวานประเภทที่ 2 และใบมะระจีน ลดน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 ได้ 60% อย่างมีนัยสำคัญเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับกลูโคส 75 ก. (97%) แต่ระดับอินซูลินและกลูโคสในเลือดไม่แตกต่างกัน
นอกจากนี้จากผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยังพบว่าทั้งมะระจีนมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ HIV โดยออกฤทธิ์ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน มีรายงานวิจัยว่าชาวฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อได้ใช้สารสกัดจากมะระจีนนาน 4 ปี พบว่ามีจำนวน T lymphocytes เพิ่มขึ้น และมีแพทย์ชาวจีนรายงานว่ามีผู้ใช้มะระจีนนาน 4 เดือน ถึง 3 ปี พบว่ามีจำนวน T lymphocytes เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่ามะระจีนมีฤทธิ์ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
การศึกษาทางพิษวิทยาของมะระจีน
การทดสอบความเป็นพิษ เมื่อฉีดสารสกัดพืชทั้งต้นด้วยเอทานอล (50%) เข้าใต้ผิวหนังในขนาด 20 ก./กก. หรือ ให้หนูถีบจักรกินในขนาด 10 ก./กก. ไม่พบพิษ สารสกัดส่วนเหนือดินและไม่ระบุส่วนที่ใช้ด้วยเอทานอล (50%) เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร ขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่าเท่ากับ 681 มก./กก. และมีค่าสูงกว่า 1,000 มก./กก. แอลคาลอยด์ที่แยกได้จากมะระจีน เมื่อให้กระต่ายกินขนาด 56 มก./ตัว หรือฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร 14 มก./กก. ไม่พบพิษ ฉีดน้ำคั้นจากผลเข้าช่องท้องหนูขาวขนาด 15 ซีซี/กก. หรือ 40 ซีซี/กก. พบว่าทำให้สัตว์ทดลองตายภายใน 18 ชม.และเมื่อฉีดน้ำคั้นผลเข้าช่องท้องของกระต่ายในขนาด 15 ซีซี/กก. พบว่าทำให้กระต่ายตายภายใน 18 ชม. แต่เมื่อให้เข้าทางกระเพาะของกระต่ายในขนาด 6 ซีซี/กก. พบว่ากระต่ายตายหลังจากได้รับสารสกัดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 23 วัน
ส่วนน้ำต้มผลสดฉีดเข้าช่องท้อง หรือ ฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนูถีบจักร ค่า LD50 เท่ากับ 16 มคก./ซีซี และ 270 มคก./ซีซี ตามลำดับ เมื่อฉีดสารสกัดผลด้วยเอทานอล (50%) เข้าช่องท้องหนูถีบจักรพบว่า LD50 เท่ากับ 681 มก./กก. ให้หนู gerbil กินสารสกัดผลด้วนเอทานอล (95%) ขนาด 1.1 ก./กก. นานติดต่อกัน 30 วัน และสารสกัด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) ด้วยเอทานอล (95%) เมื่อผสมอาหารในขนาด 50 มคก./ตัว ในหนูถีบจักรกิน พบว่าไม่ทำให้เกิดพิษ เมื่อฉีดสารสกัดเมล็ดด้วยน้ำเข้าช่องท้องหนูขาวพบว่า LD50 เท่ากับ 25 มก./กก. สารสกัดผลด้วยคลอโรฟอร์ม เมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องหนูถีบจักรในขนาด 1,000 มก./กก. ทำให้สัตว์ทดลองอ่อนแรง และตายหลังได้รับสารสกัดเป็นเวลา 24 ชม.
พิษต่อระบบสืบพันธุ์ เมื่อให้น้ำคั้นจากผล ขนาด 6 ซีซี/กก. ในกระต่ายที่ตั้งท้อง ทำให้มีเลือดออกจากมดลูก และมีกระต่ายตายจากการตกเลือด เมื่อฉีดสารสกัดผลซึ่งมีสาร charantin และเมล็ดซึ่งมีสาร vicine เข้าทางช่องท้องของสุนัขในขนาด 1.75 ก./ตัว พบว่าฤทธิ์ยับยั้งขบวนการสร้างอสุจิ และในหนูถีบจักรเพศเมีย เมื่อได้รับสารสกัด (ไม่ระบุชนิด) พบว่ามีผลยับยั้งการผสมพันธุ์เมื่อให้ใบและเปลือกลำต้น (ไม่ระบุขนาด) เข้าทางกระเพาะในหนูขาวที่ตั้งท้อง พบว่ามีเลือดออกผิดปกติจากมดลูก น้ำคั้นผลสดเมื่อให้ในหนูถีบจักรเพศเมียมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญพันธุ์ และน้ำคั้นผลสดเมื่อให้เข้าทางกระเพาะของหนูขาว เมื่อให้น้ำคั้นจากผล (ไม่ระบุขนาด)
สารสกัดด้วยน้ำ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) ในขนาด 200 มก./กก. เมื่อให้หนูขาวที่ท้องกินไม่พบว่าเป็นพิษต่อตัวอ่อน หรือ ทำให้แท้ง และสารสกัดด้วยเอทานอลในขนาดที่เท่ากับ ก็ไม่พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อนหรือทำให้แท้ง น้ำต้มจากใบเมื่อให้หนูขาวเพศเมียกินในขนาด 500 มก./กก พบว่าไม่มีฤทธิ์ยับยั้งการฝังของตัวอ่อน และไม่เป็นพิษต่อตัวอ่อน
ผลต่อเม็ดเลือดขาว น้ำคั้นจากผลในขนาดที่มีผลทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวปกติ (lymphocyte) ตายครึ่งหนึ่ง มีค่าเท่ากับ 0.35 มก./จานเพาะเชื้อ สารสกัดด้วยน้ำเกลือ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) เมื่อทดสอบกับเซลล์เม็ดเลือดขาว (lymphocyte) ในขนาด 40 มคก./จากเพาะเชื้อ พบว่ามีความเป็นพิษต่อยืน (gene) lectin และโปรตีนบางชนิดในเมล็ดของมะระจีน มีผลยับยั้งบางขั้นตอนการสังเคราะห์ DNA ของทั้งเซลล์เม็ดเลือดขาวปกติและเซลล์มะเร็ง ป้อนน้ำคั้นจากผลสด และเมล็ดของมะระจีนให้หนูขาวเพศผู้ในขนาด 1 ซีซี/น้ำหนักตัว 100 ก. เป็นเวลา 30 วัน พบว่าทำให้ enzyme serum Ƴ-glutamyltransferase และ alkaline phosphatase มีความเข้มข้นสูงขึ้นจึงคาดว่าน่าจะมีสารที่ทำให้เกิดความเป็นพิษต่อตับ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ใบมะระจีน ใช้ ต้มดื่ม แก้ไข้หวัด บำรุงน้ำดี ดับพิษฝี แก้ปากเปื่อย แก้ตับม้ามพิการ แก้อักเสบ ฟกช้ำบวม ใช้ทาภายนอก แก้ผิวแห้ง ลดอาการระคายเคือง อักเสบ
- ผู้ที่มีภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD) ไม่ควรรับประทานเมล็ดมะระ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น โลหิตจาง ปวดศีรษะ ปวดท้อง มีไข้ และอาจมีภาวะโคม่าได้ในบางราย
- หญิงตั้งครรภ์และอยู่ในช่วงให้นมบุตร ไม่ควรรับประทานมะระจีน เนื่องจากมีการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า สารเคมีในผลหรือเมล็ดมะระอาจทำให้มีเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์ และอาจเป็นสาเหตุให้แท้งได้
- ผู้ป่วยเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด เช่น อินซูลิน ไกลพิไซด์ โทลบูตาไมด์ ไกลเบนคาไมด์ ไพโอกลิตาโซน เป็นต้น ควรระมัดระวังในการรับประทานมะระ เนื่องจากมะระอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมากเกินไป
เอกสารอ้างอิง มะระจีน
- เสาวนิตย์ ดาวรัตนชัย. มะระกับเบาหวาน. จุลสารข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.ปีที่ 21 ฉบับที่ 1. ตุลาคม .2546. หน้า 12-21
- รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ.มะระต้านเบาหวาน. คอลัมน์ บทความพิเศษ.นิตยสารหมอขาวบ้าน. เล่มที่ 336.เมษายน 2550
- นิรามัย ฝางกระโทก. "เบาหวาน" vs. “มะระ”. บทความวิชาการ คณะเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยบูรพา. หน้า 1-5
- นันทวัน บุณยะประภัศร, อรนุช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 3.กรุงเทพฯ:ประชาชน จำกัด, 2542.823 หน้า.
- การปลูกมะระจีน. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
- สอบถามเรื่องมะระ. กระดานถามตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5709
- Rajurkar NS, Pardeshi BM.Analysis of some herbal plants from lndia used in the control of diabeter mellitus by NAA and AAS techniques. Appl Radiat lsot 1997;48(8):1059-62.
- Kar A, Choudhary BK, Bandyopadhyay NG. Preliminary studies on the inorganic constituents of some lndigenous hypoglycaemic herbs on oral glucose tolerance test. J Ethnopharmacol 1999;64:179-84.
- Singh J, Cumming E, Manoharan G, Kalasz H,Adeghate E. 2011. Medicinal chemistry of the anti-diabetic effects of Momordica charantia: Active constituents and modes of actions. Open Medicinal Chemistry Journal.5:70-77
- Aslam M, Stoclkley IH. Lnteraction between curry ingredient (karela) and drug (chloropamide). Lancet 1979;607.
- Khanna P. Protein/polypeptide-K obtained from Momordica charantia, a process for the extraction thereof, and therapeutic uses for diabetes mellitus. PCT lnt Appl Won00 61,619 2000;30pp.
- Jain SR, Sharma SN. Hypoglycaemic drugd of lndian indigenous origin. Planta Med 1967;15(4):439-42.
- Ng TB, Wong CM,Li WW,Yeung MW. Lnsulin like molecuies in Momordica charantia seeds. J Ethnopharmacol 1986;15107-17.
- Murakami C, Myoka K, Kasai R, Ohtani K, Kurokawa T, lshibshi S, Sadahiko D, Fabian P, Willam G, Yamasaki K. Screening of plant constituents for effect on glucose transport activity on Ehrilich escites tumor cells. Chem Pharm Bull 1993;41(12):2129-31.
- Tan MJ, Ye JM, Turner N, Hohnen-Behrens C, Ke CQ, Tang CP, Chen T, Weiss HC, Gesing ER, Rowland A, et al. 2008. Antidiabetic activities of triterpenoids isolated from bitter melon associated with activation of the AMPK pathway. Chemistry & Biology. 15:263–273.
- Baldwa VS, Bhandari CM, Pangaria A, Goyal RK, Clinical trial in patients with diabetes mellitus of an insulin-like compound obtained from plant source. UPS J Med Sci 1977;82(1):39-42.
- Oliver-Bever B. Oral hypoglycaemic plants in West Africa. J Ethnopharmacol 1980;2(2):119-27.
- Raman A, Lau C. Anti-diabetic properties and phytochemistry of Momordica charantia L. (Curcuditaceae). Phytomedicine 1996;2(4):349-62.
- Ng TB, Wong CM, Li WW, Yeung MW. Effects of α-momorcharin, β- momorcharin, และ α-trichosantin on lipogenesis and adrenal steroidogensis in vitro and plasma-glucose levels in vivo. J Ethnopharmacol 1986;18:45-53.
- Runnedaum B, Rabe T, Kiesel L, Prakash AO. Biological evaluation of some medicinal plant extracts for contraceptive efficacy in females. Future aspects in contraception. Part 2. Female contraption. Boston:MTP Press, Ltd,1984:115-28.
- Prakash AO, Mathur R. Screening of lndian plants for antifertility activity. Lndian J Exp Biol 197;14:623-6.
- Dixit VP, Khanna P, Bhargava SK. Effects of Momordica charantia fruit extract on the testicular function of dog. Planta Med 1978;34:280-6.
- Liu Y. Pharmaceutical composition containing extracts of fruits and vegetables for freating and preventing diabetes. Patant-Us-4,985-248 1991:6pp.
- Leatherdala BA, Panesar RK, Singh G, Atkins TW, Bailey CJ, Bignell AH, lmprovement in glucose tolerance due to Momordica charantia (Karela). Bri Med J 1981;282:1823-4.
- Fu M, Chen J, Zhuang D. Momordica charantia extract : antionxidant, antibacterial, and antihyperglycemic properties. Shioin Kexue (Beijing) 2001;22(4):88-90.
- Cakici l, Hurmoglu C, Tunctan B, Abacioglu N, Kanzik l, Sener B. Hypoglycemic effect of Momordica charantia extracts in nomoglycemic or cyproheptadine-induced hyperglycemic mice. J Ethnopharmacol 1994;44:117-21.
- Vikrant V, Grover JK,Tandon N, Rathi SS, Gupta N. Treatment with extracts of Momordica charantia and Eugenia jambolana prevents hypewglycemia and hyperinslinemia in fructose fad rats. J Ethnophamacol 2001;76:139-43.
- Platel K, Srinivasan K.Effect of dietry intake of freeze dried bitter gourd (Momordica charantia) in streptozotocin induced diabetic rats. Nahrung 1995;39(4):26-8.
- Naseem MZ, Patil Sr, Patil SB. Antispermatogenicand androgenic activities of Momordica charantia (Karela) in albino rats. J Ethnophamacol 1998;61(1):9-16.