กระเจี๊ยบมอญ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

กระเจี๊ยบมอญ งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กระเจี๊ยบมอญ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กระเจี๊ยบเขียว, มะเขือมอญ, มะเขือทวาย (ภาคกลาง), มะเขือมื่น ,มะเขือละโว้ (ภาคเหนือ), กะต๊าด (สมุทรปราการ), ถั่วและ (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Abelmoschus esculentus (L.) Moench
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Hibiscus esculentus Linn
ชื่อสามัญ Okra, Lady’s finger, Gombo, Bindi
วงศ์ MALVACEAE

ถิ่นกำเนิดกระเจี๊ยบมอญ

สำหรับถิ่นกำเนิดที่แท้จริงของกระเจี๊ยบมอญนั้นนักพฤกษศาสตร์ระบุว่ายังไม่ทราบแน่ชัดเนื่องจากมีการปลูกแต่โบราณแล้ว และมีการปลูกแพร่หลายในระยะเวลาใกล้กัน ดังนั้นการสืบหาถิ่นกำเนิดจึงเป็นเรื่องยากแต่อย่างไรก็ตามมีการค้นพบกระเจี๊ยบมอญ สายพันธุ์ป่าของเอธิโอเปีย ในรัฐที่ใกล้กับแม่น้ำไนล์ และสายพันธุ์เก่าแก่ที่เป็นไม้ยืนต้นในแอฟริกาตะวันตกซึ่งอาจบ่งบอกว่าถิ่นกำเนิดของกระเจี๊ยบมอญอยู่ในทวีปแอฟริกา และอาจเป็นไปได้ว่าอาจมีถิ่นกำเนิดใน Ethiopia หรือ Eritrea และแพร่กระจายไปยังทางเหนือ และตะวันออกของประเทศอินเดีย และแอฟริกาตะวันตก ซึ่งกลุ่มธาตุนำไปปลูกในยุคดินแดนที่เป็นฐานที่ตั้งใหม่ก่อนปี ค.ศ.1700

ประโยชน์และสรรพคุณกระเจี๊ยบมอญ

  1. บำรุงสมอง
  2. ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ได้
  3. บำรุงตับ
  4. บำรุงข้อกระดูก
  5. ช่วยลดความดัน
  6. ช่วยป้องกันอาการหลอดเลือดตีบตัน
  7. แก้หวัด
  8. ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ
  9. รักษาโรคกระเพาะ แผลในกระเพาะ
  10. แก้บิด
  11. แก้กรดไหลย้อน
  12. ช่วยขับพยาธิ
  13. ช่วยขับเหงื่อ
  14. ช่วยแก้อาการขัดเบา
  15. รักษาโรคหนองใน
  16. แก้ปากนกกระจอก
  17. ช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอล
  18. แก้ปวดบวม
  19. ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น
  20. แก้ซิฟิลิส
  21. รักษาฝี
  22. รักษาแผล

กระเจี๊ยบมอญ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้กระเจี๊ยบมอญ

ใช้บำรุงสมอง บำรุงข้อและกระดูก บำรุงตับ รักษาโรคกระเพาะ แผลในกระเพาะ เป็นยาระบาย แก้หวัด แก้กรดไหลย้อน แก้บิด ขับพยาธิ โดยนำฝักกระเจี๊ยบมอญ มารับประทานเป็นอาหารทั้งแบบสดและปรุงสุก ใช้ขับเหงื่อรักษาโรคปากนกกระจอก โดยนำใบสดมาต้มกับน้ำ จากนั้นกรองเอาแต่น้ำมาดื่ม ใช้แก้ปวดบวมอักเสบ ทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นโดยใช้ใบกระเจี๊ยบมอญผสมกับสมุนไพร ชนิดอื่นๆ มาโขลกประคบบริเวณที่เป็นใช้รักษาโรคซิฟิลิสโดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้รักษาฝีโดยนำดอกมาต้มประคบบริเวณที่เป็นฝี ใช้รักษาแผลโดยการนำยางจากต้นหรือผลมาทาบริเวณที่เป็นแผล

ลักษณะทั่วไปกระเจี๊ยบมอญ

กระเจี๊ยบมอญ จัดเป็นพืชล้มลุก อายุประมาณ 1 ปี มีระบบรากประกอบด้วยรากแก้ว และรากฝอยแผ่ขยายไปด้านข้างและหยั่งลึกได้ถึง 30-60 ซม. ส่วนลำต้นจะตั้งตรงสูง 0.80-2 เมตร ลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อน มีสีขาวนวล ขาวเขียว หรือ อาจมีสีแดงปน มีขนอ่อนขึ้นปกคลุม เปลือกลำต้นบาง แตกกิ่งน้อย กิ่งมีขนาดสั้น และมีขนขึ้นปกคลุมเช่นเดียวกับลำต้น

           ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ โดยจะออกแบบเรียงสลับ ลักษณะของใบมีสีเขียวคล้ายรูปฝ่ามือรูปร่างกลม หรือเ กือบกลม และมักเว้าเป็นสามแฉก แบบร่องลึกมีความกว้างประมาณ 10-30 เซนติเมตร ปลายใบหยักแหลม โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ มีเส้นใยออกจากโคนใบ 3-7 เส้น ใบมีขนหยาบสากมือ ก้านใบยาว

           ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวโดยจะแทงออกบริเวณเหนือซอกใบ เป็นดอกสมบูรณ์เพศเป็นรูปไข่กลับ หรือ ค่อนข้างกลมมีสีเหลืองอมขาว บริเวณกลางดอกมีสีม่วง มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก มีกลีบดอก 5 กลีบ เมื่อบานเต็มที่จะมีขนาด 4-8 เซนติเมตร ดอกที่ผสมติดแล้ว กลีบดอกจะฝ่อและร่วงไปประมาณ 3-4 วัน

           ผล ออกเป็นฝักรูปร่างห้าเหลี่ยมทรงกระบอกยาว 5-30 เซนติเมตร (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์) ปลายเรียวแหลมลักษณะฝักโค้งงอเล็กน้อย มีขนปกคลุมภายในฝักพบเมล็ดจำนวนมาก

           เมล็ด รูปร่างกลมคล้ายเมล็ดนุ่น โดยเมล็ดอ่อนจะมีสีขาวเหลือง ส่วนเมล็ดที่แก่แต่ยังไม่แห้งจะมีสีดำเป็นมันวาว และเมื่อเมล็ดแห้ง เมล็ดจะมีขนาดเล็กลงเล็กน้อย ผิวจะไม่มันวาวและมีสีดำอมเทา

กระเจี๊ยบมอญ

 กระเจี๊ยบมอญ 

การขยายพันธุ์กระเจี๊ยบมอญ

กระเจี๊ยบมอญ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดโดยมีขั้นตอนดังนี้

           เริ่มจากเตรียมดินด้วยการไถกลบหน้าดิน และตากดินให้แห้ง 7-10 วัน จำนวน 2 ครั้ง ก่อนการไถครั้งที่ 2 สำหรับพื้นที่ดินเป็นกรด ให้หว่านด้วยปูนขาวอัตรา 80 กิโลกรัม/ไร่ ปุ๋ยคอก 2 ตัน/ไร่ ปุ๋ยเคมี 15-15-15 จำนวน 35 กิโลกรัม/ไร่ หลังจากนั้นทำร่องปลูกให้เป็นแถวลึกประมาณ 5 ซม. ระยะห่างของแถว 75 ซม. จากนั้นเลือดเมล็ดแก่จากฝักกระเจี๊ยบมอญแห้ง แล้วนำเมล็ดมาแช่น้ำรวมกับน้ำยาฆ่าเชื้อรา และป้องกันแมลง นาน 30-40 นาที จากนั้นนำลงหยอดในร่อง ให้ระยะห่างระหว่างเมล็ด 50 ซม. ซึ่งจะได้ระยะของต้นที่ 50x75 ซม.

องค์ประกอบทางเคมี 

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของกระเจี๊ยบมอญ ระบุว่าสาระสำคัญหลายชนิดดังนี้

          ในกระเจี๊ยบมอญพบสาร pectin, mucilage (สารเมือก), lectin ซึ่งสารเมือก (mucilage) ของผลกระเจี๊ยบมอญจะประกอบไปด้วยสาร flavonoids, d-galactose, l-rhammnose และ d-galacturonic acid ส่วนเมล็ดมีน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ α-terpenylacetate, citral และสารอื่นๆ เช่น β-sitosterol และ 3β-galactoside ส่วนอีกรายงานหนึ่งระบุว่าสาร flavonoids ที่พบในผลกระเจี๊ยบมอญ ได้แก่ quercetin, epigallo-catechin, cathechin, eipicathechin, rutin, procyanidin B1 และ B2 ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ยังพบสาระสำคัญอีกหลายชนิดเช่น tocopherols, β-carotene, lycopene, และสารจากเมล็ดที่มีความเป็นพิษที่ชื่อ gossypol เป็นต้น สำหรับคุณค่าทางโภชนาการของกระเจี๊ยบมอญในฐานะอาหาร มีดังนี้

โครงสร้างกระเจี๊ยบมอญ

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกระเจี๊ยบมอญ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกระเจี๊ยบมอญระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายด้าน อาทิเช่น

           ฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีการศึกษาในหนูแรทโดยการป้อนสารสกัดแอลกอฮอล์ 95% ของผลกระเจี๊ยบมอญขนาด 500, 250, 100 มก./กก. นน.ตัว เปรียบเทียบกับยารักษาโรคกระเพาะอาหาร famotidine 20 มก./กก. และ quercetin 75 มก./กก. จากนั้นอีก 60 นาที ป้อน 80% เอทานอล เพื่อกระตุ้นให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารพบว่าสารสกัดแอลกอฮอล์ 95% ของผลกระเจี๊ยบมอญขนาด 500, 250, 100 มก./กก. และยา famotidine 20 มก./กก. และ quercitin 75 มก./กก. สามารถต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 81.0,67.5,67.0,76.3 และ 72.4 ตามลำดับ ส่วนอีกการศึกษาหนึ่ง lectin จากผลกระเจี๊ยบมอญขนาด 0.01, 0.1, 1.0, 10,0 มก./กก. นน.ตัว ฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำหนูเมาส์ที่เหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยการป้อน 80% เอทานอล และเปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหาร พบว่าสารสกัด lectin จากผลกระเจี๊ยบมอญ ขนาด 1 มก./กก. สามารถป้องกันการถูกทำลายของเนื้อเยื่อในกระเพาะอาหารด้วย 80% เอทานอล ได้

           ฤทธิ์ลดไขมัน มีการศึกษาฤทธิ์ลดไขมัน ของกระเจี๊ยบมอญ ในหนูเมาส์โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มที่กินอาหารไขมันสูง กลุ่มที่กินอาหารไขมันสูงเสริมด้วยผลกระเจี๊ยบมอญ1% และ 2% เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าหนูที่ได้รับอาหารเสริมด้วยกระเจี๊ยบมอญ จะมีระดับคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในตับและในเลือดลดลง และเพิ่มการขับกรดน้ำดีออกทางอุจจาระ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับกระเจี๊ยบมอญ โดยกลไกในการออกฤทธิ์ คือ เพิ่มการแสดงออกของเอนไซม์ cholesterol 7-hydroxylase ซึ่งเกี่ยวกับการควบคุมการเปลี่ยนคอเรสเตอรอลในตับเป็นน้ำดี และควบคุมการแสดงของยีนของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างไขมัน โดยลดการแสดงออกของ sterol regulatory element-binding protein 1c และ fatty acid synthase แต่ไม่มีผลต่อ sterol regulatory element-binding protein2, 3-hydroxy-3-methylglutaryl-CoA reductase, low-desity lipoprotein receptor และ carnitine palmitoyltransferase-1A นอกจากนี้ยังพบว่า ผงกระเจี๊ยบมอญ สารโพลีแซคคาไรด์ และส่วนสกัดที่แยกได้จากโพลีแซคคาไรด์ของกระเจี๊ยบมอญ มีฤทธิ์จับกับกรดน้ำดีได้ดี เมื่อทดลองในหลอดทดลอง

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการศึกษาวิจัยโดยให้สารสกัด lectin จากเมล็ดกระเจี๊ยบมอญกับหนูเมาส์ ขนาด 0.1, 1 และ 10 มก./กก. นน.ตัว ทางเส้นเลือดดำในการทำ abdominal writhing test ในแบบจำลองภาวะปวดด้วย acetic acid พบว่าสารสกัด lectin จากเมล็ดกระเจี๊ยบมอญสามารถยับยั้งอาการอักเสบได้ 52, 57 และ 69% ตามลำดับ เช่นเดียวกับสารสกัดแอลกอฮอล์ของผลกระเจี๊ยบขนาด 500 มก./กก. สามารถต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และต้านการอักเสบในหนูแรทได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยดูจากคะแนนที่ทำให้เกิดอาการบวม อักเสบ ลดลงอย่างชัดเจน

           ฤทธิ์ลดอาการเมื่อยล้าและต้านความเครียด มีการศึกษาฤทธิ์ลดอาการเมื่อยล้า และต้านความเครียดของสาร quercetin-3-gentiobiose จากกระเจี๊ยบมอญโดยทำการทอลองในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำทำให้เกิดภาวะเครียดโดยการว่ายน้ำ วันละ 50 นาที เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ในระหว่างการทดลองป้อนหนูด้วยสาร QG ขนาดวันละ 25, 50 และ 75 มก./กก. ผลจากการทดลองพบว่าหนูที่ถูกป้อนด้วยสาร QG มีพฤติกรรมที่ทนต่อความเครียดได้มากขึ้น ว่ายน้ำได้นานขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และผลจากการตรวจวัดค่าทางชีวเคมีในเลือดเมื่อเสร็จสิ้นการทดลองพบว่า ค่า lactin acid และ blood urea nitrogen ในเลือด ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงภาวะเมื่อยล้าในร่างกายของหนูมีค่าลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมนอกจากนี้ซ่อมแซมความเสียหายของผนังหลอดเลือดที่เกิดจากการทำงานหนัก ในการสูบฉีดเลือดเมื่อออกกำลังกาย และสาร QG มีผลเพิ่มระดับเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการต้านอนุมูลอิสระได้แก่ superoxide dismutase และ glutatione peroxidase และลดระดับโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับ glutathione สบได้แก่ monocyte chemoattractant protein-1, interleukin 6 และ tumor necrosing factor-α

           ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร มีรายงานการศึกษาพบว่าสารประกอบไกลโคไซเลต ซึ่งประกอบด้วยโพลีแซกคาไรด์ และไกลโคโปรตีน ในกระเจี๊ยบมอญ มีฤทธิ์ยับยั้งความสามารถของเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโรไล ในการเกาะเยื่อบุผิวของกระเพาะอาหาร ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดแผงในกระเพาะอาหาร แต่สารไกลโคไซด์เลตจะมีฤทธิ์ลดลงเมื่อถูกความร้อน ส่วนสารสกัดน้ำของเนื้อผล และเมล็ดกระเจี๊ยบมอญ ที่ความเข้มข้น 1 มก./มล. สามารถต้านการยึดติดของเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ที่เซลล์เยื่อบุกระพาะอาหารของคนได้ 67% และ 75% ตามลำดับ

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของผลกระเจี๊ยบมอญ ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มของสารกลุ่ม flavonoid glycosides ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระดังนั้นจึงมีการนำสารสกัดกระเจี๊ยบมอญ มาศึกษาวิจัยซึ่งพบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดกะเจี๊ยบมอญยังสามารถช่วยลด และป้องกันเซลล์ประสาทในสมองส่วน hippocampus ชั้น CA3 และส่วน prefrontal cortex ช่วยเพิ่มการเรียนรู้และการจดจำ ตลอดจนมีส่วนช่วยในการป้อกันการเสียหายต่อการงอกใหม่ของเซลล์ประสาท ในหนูที่ทำให้เกิดความเครียดโดยการฉีด dexamethasone ขนาด 60 mg/kg ของนน. ตัว เข้าทางช่องท้องเป็นเวลา 21 วันอีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของกระเจี๊ยบมอญ

มีการศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันของเมล็ดกระเจี๊ยบมอญ ระบุว่า เมื่อป้อนสารสกัดน้ำหรือเมทานอลของเมล็ดกระเจี๊ยบมอญให้กับหนูเม้าส์สูงสุกถึง 2,000 มก./กก. นน.ตัว พบว่าไม่เกิดพิษใดๆ และไม่มีหนูตายภายใน 14 วัน ที่สังเกตอาการ ส่วนสารสกัดแอลกฮอล์ของผลกระเจี๊ยบมอญ เมื่อป้อนให้หนูแรทขนาด 5,000 มก./กก. นน.ตัว พบว่าไม่เกิดพิษใดๆ ต่ออวัยวะต่างๆในร่างกาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากระเจี๊ยบมอญ ค่อนข้างมีความปลอดภัยสูงในการนำมารับประทาน

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการรับประทานฝักของกระเจี๊ยบมอญแบบสดๆ ควรล้าง และขัดขนของกระเจี๊ยบมอญให้เกลี้ยงเพราะอาจทำให้ระคายคอได้ และการรับประทานกระเจี๊ยบมอญ ควรรับประทานแต่พอประมาณเพราะกระเจี๊ยบมอญมีฤทธิ์เป็นยาระบายหากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้ถ่ายท้องได้ นอกจากนี้ เมล็ดกระเจี๊ยบเขียวที่เริ่มแก่ หรือ เมล็ดแก่ จะมีสารพิษที่มีผลต่อระบบประสาท คือ gossypol รวมกับโปรตีนในเมล็ดดังนั้นจึงควรระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำมาใช้ประโยชน์

เอกสารอ้างอิง กระเจี๊ยบมอญ
  1. นิดดา หงส์วิวัฒน์. กระเจี๊ยบเขียว กระเจี๊ยบมอญ. ครัว. ปีที่ 18 ฉบับที่ 200 สิงหาคม 2554 หน้า 18-26
  2. รศ.ดร. สุธาทิพ ภทรประวัติ. กระเจี๊ยบมอญ .คอลัมน์บทความพิเศษ. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 347. มีนาคม 2551.
  3. พะยอม ตันติวัฒน์. สมุนไพร. กรุงเทพฯ” โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521: 142 หน้า
  4. พนดา ใหม่ธรรมสาร. กระเจี๊ยบมอญ (กระเจี๊ยบเขียว)...รักษาโรคกระเพสะอาหาร. บอกกล่าวเล่าเรื่องสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  5. ฤทธิ์ลดการเมื่อยล้าและต้านความเครียดของกระเจี๊ยบมอญ.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  6. เทพพนม เมืองแมน ภรณี หวังธำรงวงศ์ อรา สุตเธียรกุล วรัญญา แสงเพชรส่อง ร่มไทร กล้าสุนทร. คู่มือสมุนไพรรักษาโรคตามกลุ่มอาการ. กรุงเทพฯ: คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2533:190 หน้า
  7. ฤทธิ์ลดไขมันของกระเจี๊ยบมอญ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  8. สมจินตนา ทั่วทิพย์ และคณะ. ผลของสารสกัดจากกระเจี๊ยบมอญต่อเนื้อเยื่อวิทยาของตับและไตในหนูที่ได้รับสารเดกซาเมทาโซนอย่างต่อเนื่อง.วารสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีที่ 35. ฉบับที่ 5 กันยายน-ตุลาคม 2559. หน้า 486-501.
  9. กระเจี๊ยบเขียว สรรพคุณ และการปลูกกระเจี๊ยบเขียว. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  10. Ribeiro KA, Chaves HV, Pereira Filho SM, Pinto IR, Monteiro DNM, Matos SO, et al. Alpha-2 adrenergic and opioids receptors participation in mice gastroprotection of Abelmoschus esculentus lectin. Curr Pharm Des. 2016; 22 (30): 4736-42.
  11. Saha D, Jain B, Jain V. Phytochemical evaluation and characterization of hypoglycemic activity of various extracts of Abelmoschus esculentus Linn. fruit. Int J Pharm Pharm Sci. 2011; 3 (Suppl2): 183-5
  12. Soares, GSF, Assreuy AMS, Gadelha CAA., Gomes VM, Delatorre PSimoes RC, Santi-Gadelha, T. Purification and biological activities of Abelmoschus esculentus seed lectin. ProteinJ. 2012; 31: 674 80.
  13. Ansari NM, Houlihan L, Hussain B, Pieroni A. Antioxidant activity of five vegetables traditionally consumed by South-Asian migrants in Bradford, Yorkshire, UK. Phytother Res 2005; 19: 907-911.
  14. Lengsfeld C, Titgemeyer F, Faller G, Hensel A. Glycosylated compounds from okra inhibit adhesion of Helicobacter pylori to human gastric mucosa. J Agri Food Chem. 2004; 52: 1495-503.
  15. Zhou Y, Jia X, Shi J, Xu Y, Jing L, & Jia L. Two new pentacyclic triterpenes from Abelmoschus esculentus. Helv Chim Acta. 2013; 96: 533-7.
  16. Doreddula SK, Bonam SR, Gaddam DP, Desu BS, Ramarao N, Pandy V. Phytochemical analysis, antioxidant, antistress, and nootropic activities of aqueous and methanolic seed extracts of ladies finger (Abelmoschus esculentus L. ) in mice. Sci World J. 2014: article ID: 519848 (14 pages).
  17. Manach C, Texier O, Morand C, Crespy V, Regerat F, Demigne C, Remesy C. Comparison of the bioavailability of quercetin and catechin in rats. Free Radic Biol Med 1999; 27: 1259-1266.
  18. Ortaç D, Cemek M, Karaca T, Büyükokuroğlu ME, Özdemir Z. Ö, Kocaman A. et al. In vivo anti ulcerogenic effect of okra (Abelmoschus esculentus) on ethanol-induced acute gastric mucosal lesions. Pharm Biol. 2018; 56: 165-75.
  19. Thoele C, Koenig S, Kumar NS, Hensel A. Glycosylated compounds from immature okra fruits inhibit the adhesion of Helicobacter pylori to gastric cells. Planta Med. 2015; 81-SL2B_02
  20. Gao Y, Chen ZW. Protective effect of Abelmischl manihot L. medic against cerebral ishemia-reperfu sion injury. Chin Pharmacol Bull 2002.