มะเดื่อฝรั่ง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
มะเดื่อฝรั่ง งานวิจัยและสรรพคุณ 31 ข้อ
ชื่อสมุนไพร มะเดื่อฝรั่ง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะเดื่อญี่ปุ่น, ลูกฟิก (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus carica L.
ชื่อสามัญ Fig, Common fig
วงศ์ MORACEAE
ถิ่นกำเนิดมะเดื่อฝรั่ง
เป็นพืชพื้นเมืองในประเทศแถบตะวันออกกลาง ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันตกและแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในยุโรปรวมถึงในแอฟริกาเหนือ โดยจัดเป็นพืชในวงศ์เดียวกันกับขนุน และจัดอยู่ในสกุลเดียวกับมะเดื่อไทย ต้นโพธิ์ และต้นไทร ต่อมามีการแพร่กระจายในประเทศเขตร้อนในทุกทวีป แต่พบมากในยุโรปและเอเชีย เช่น ตุรกี, กรีช, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, รวมถึงในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น สำหรับในประเทศไทย ได้มีการนำมะเดื่อฝรั่ง มาทดลองปลูกครั้งแรกที่ดอยอ่างขางเมื่อ พ.ศ.2524 โดยมูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่นต่อมาจึงได้ขยายพื้นที่การปลูกไปในภาคอื่นๆ จนในปัจจุบันสามารถปลูกและให้ผลผลิตได้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยสามารถปลูกในสภาพพื้นที่ราบ และมีอากาศร้อนก็ได้
ประโยชน์และสรรพคุณมะเดื่อฝรั่ง
- ใช้สำหรับทำกระดาษ
- ใช้ทำผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มหรือของใช้
- ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- ช่วยลดปริมาณการใช้อินซูลินในผู้ป่วยเบาหวาน
- ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยขับถ่าย เป็นยาระบาย
- ช่วยฟอกตับและม้ามแก้กามโรค
- แก้อาการท้องร่วง
- ใช้เป็นยาแก้ไอ
- ช่วยขับเสมหะ
- แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- แก้อาการฟกช้ำ
- ใช้ล้างบาดแผล
- ใช้ทารักษาแผล
- ช่วยสมานแผล
- ช่วยรักษาฝี
- แก้ปวดท้อง
- แก้บิด
- แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- ช่วยห้ามเลือด
- ช่วยบำรุงน้ำดี
- ช่วยต้านโรคมะเร็ง
- รักษาโรคเบาหวาน
- ต้านโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
- ช่วยลดความดันโลหิต
- ช่วยส่งเสริมการซ่อมแซมเซลล์ประสาท กระตุ้นความทรงจำ
- ช่วยต้านโรคอัลไซเมอร์
- ช่วยป้องกันหลอดเลือดแดงแข็ง
- ช่วยต้านการอักเสบ
- ช่วยให้ความเป็นกรดเป็นด่างในร่างกายเกิดการสมดุล
- ช่วยป้องกันโรคนิ่ว
- ช่วยป้องกันและยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็งในลำไส้
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
มะเดื่อฝรั่ง เป็นผลไม้ที่มีเส้นใยอาหารสูง จึงนิยมนำผลสุกมารับประทานสดๆ เพื่อจึงช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยในการขับถ่าย กำจัดของเสียออกจากร่างกาย และยังช่วยป้องกันอาการท้องผูก
นอกจากนี้ยังมีการนำมาใช้ประโยชน์ตามตำรายาไทยดังนี้
- ช่วยบำรุงน้ำดี โดยใช้ใบแห้งบดละเอียดนำมาผสมกับน้ำผึ้งรับประทาน
- เปลือกและลำต้น ใช้ต้มน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการปวดท้อง แก้อาการโรคบิด แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
ลักษณะทั่วไปของมะเดื่อฝรั่ง
มะเดื่อฝรั่งจัดเป็นไม้ผลยืนต้นขนาดกลางมีอายุนานหลายปี ลำต้นแตกกิ่งมากเป็นทรงพุ่มแผ่กว้าง ลำต้นสูงประมาณ 3-10 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมน้ำตาล และมียางสีขาว โดยมะเดื่อฝรั่งจัดเป็นไม้เนื้ออ่อน ไม่นิยมใช้เนื้อไม้ในการก่อสร้างหรือแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์
ใบแตกใบออกเดี่ยว เรียงสลับกันตามปลายกิ่ง มีความกว้าง 20-25 เซนติเมตร และยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา และค่อนข้างแข็ง โดยแผ่นใบขรุขระสากมือ แผ่นใบด้านล่างมีขนปกคลุม ส่วนขอบใบหยักลึก 3-7 หยัก ส่วนของก้านใบมีสีเหลืองอมเขียว
มีดอกขนาดเล็ก ออกตามข้อบริเวณซอกใบ ประกอบไปด้วยดอกตัวเมียที่มีก้านเกสรยาวและดอกตัวเมียที่มีก้านเกสรสั้น และดอกตัวผู้
มะเดื่อฝรั่ง มีดอกคล้ายผล ที่ทำให้มองเห็นเป็นดอกเดี่ยว แต่แท้จริง คือ ดอกรวมที่เจริญจากส่วนของก้านช่อดอกบริเวณฐานรองดอกพัฒนามาหุ้มดอกไว้
ผลมีรูปทรงและขนาดที่แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ บางสายพันธุ์อาจเป็นรูปทรงกลม ทรงระฆัง หรือ ผลกลวงโบ๋ ซึ่งเนื้อผลมีรสหวานอมเปรี้ยว ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็ก ที่มีลักษณะแบน แข็ง เป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาลอ่อนจำนวนมากมาย ซึ่งเป็นเมล็ดที่มีผนังชั้นในของผลห่อหุ้มอยู่
การขยายพันธุ์มะเดื่อฝรั่ง
มะเดื่อฝรั่ง สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งจากการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำ หรือ จากการเสียบยอด และพันธุ์ของมะเดื่อฝรั่งที่นิยมปลูกในบ้านเรามักจะเป็นพันธุ์ญี่ปุ่นพันธุ์บราวน์ตุรกี, พันธุ์ออสเตรเลียเพราะเป็นพันธุ์ที่ทนทานต่อสภาพอากาศร้อนได้ดี และให้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี ส่วนวิธีที่นิยมขยายพันธุ์ในปัจจุบันได้แก่วิธีการขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง เมื่อกิ่งมีรากที่เจริญเต็มที่แล้วจึงค่อยย้ายลงไปปลูกในกระถางขนาด 5 นิ้ว ผสมดินปลูกด้วยกาบมะพร้าวและขุยมะพร้าวก่อนนำกิ่งพันธุ์ลงปลูก รดน้ำพอชุ่มเช้า-เย็น อย่างสม่ำเสมอทุกวัน รอจนกว่ารากขยายออกจนทั่วกระถางจึงค่อยย้ายไปปลูกในบ่อปูนขนาด 80 ซม. ก่อนย้ายปลูกควรใส่วัสดุปลูกที่เป็นกาบมะพร้าว ขุยมะพร้าว และปุ๋ยคอก ผสมคลุกเคล้ากับดินให้เข้ากันดีเสียก่อนเช่นกัน ซึ่งการปลูกในบ่อ หรือกระถาง จะทำให้ง่ายต่อการดูแลบำรุงรักษา
ทั่งนี้ควรตัดแต่งกิ่ง และทรงพุ่มอยู่เสมอเพื่อไม่ให้มีลำต้นที่สูงเกินไป หลังจากทำการตัดแต่งกิ่งได้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ มะเดื่อฝรั่ง จะมีการติดผล และใช้เวลาต่อไปอีกราว 2-3 เดือน ก็สามารถทยอยให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวต่อไปได้นานหลายเดือน
องค์ประกอบทางเคมี
ในส่วนต่างๆของมะเดื่อฝรั่ง พบสาร Quercetin, Rutin, Kaempferol, Catechin, Gallic acid, Syringic acid, Ellagic acid, Chlorogenic acid นอกจากนี้ยังพบสาร Luteolin-8- C-glucoside, Cyanidin-3-glucoside, Cyanidin 3,5-diglucoside, Pelargonidin 3-O-glucoside, Peonidin 3-O-rutinoside และสำหรับคุณค่าทางโภชนาการนั้น ในผลมะเดื่อยังมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายหลายชนิด เป็น ที่ มีคุณค่าทางอาหารสูงอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลกอีกด้วย ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของมะเดื่อฝรั่ง อบแห้ง ต่อ (100 กรัม)
-พลังงาน 249 กิโลแคลอรี
-คาร์โบไฮเดรต 63.87 กรัม
-น้ำตาล 47.92 กรัม
-เส้นใย 9.8 กรัม
-ไขมัน 0.93 กรัม
-โปรตีน 3.3 กรัม
-วิตามินบี 1 0.085 มิลลิกรัม
-วิตามินบี 2 0.082 มิลลิกรัม
-วิตามินบี 3 0.619 มิลลิกรัม
-วิตามินบี 5 0.434 มิลลิกรัม
-วิตามินบี 6 0.106 มิลลิกรัม
-วิตามินบี 9 9 ไมโครกรัม
-โคลีน 15.8 มิลลิกรัม
-วิตามินซี 1.2 มิลลิกรัม
-วิตามินเค 15.6 ไมโครกรัม
-ธาตุแคลเซียม 162 มิลลิกรัม
-ธาตุเหล็ก 2.03 มิลลิกรัม
-ธาตุแมกนีเซียม 68 มิลลิกรัม
-ธาตุแมงกานีส 0.51 มิลลิกรัม
-ธาตุฟอสฟอรัส 67 มิลลิกรัม
-ธาตุโพแทสเซียม 680 มิลลิกรัม
-ธาตุโซเดียม 10 มิลลิกรัม
-ธาตุสังกะสี 0.55 มิลลิกรัม
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของมะเดื่อฝรั่ง
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะเดื่อฝรั่ง
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยพบว่า ในผลมะเดื่อฝรั่งประกอบไปด้วยสารต่างๆที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ เช่น สารโพลิฟินอล (Polyphenols) ฟลาโวนอยล์
ฤทธิ์รักษาหูดจากการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพการรักษาหูดโดยการจี้ด้วยความเย็นกับการใช้ยางของมะเดื่อฝรั่งทาบริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อเป็นเวลา 6 เดือน พบว่าการรักษาหูดด้วยยางของมะเดื่อฝรั่ง ส่งผลดีในหลายด้าน ทั้งช่วยลดระยะเวลาในการรักษา ใช้งานง่าย ไม่พบผลข้างเคียง และมีอัตราการเกิดหูดซ้ำต่ำ
ฤทธิ์ต่อผิวหนัง มีการศึกษาหนึ่งชี้ว่า ครีมที่มีส่วนผสมของมะเดื่อฝรั่งส่งผลต่อผิวหนังหลายด้าน เช่น ลดเม็ดสีและรอยแดง เพิ่มความชุ่มชื้น ปรับสมดุลไขมันใต้ผิวหนัง และมีประสิทธิภาพช่วยต่อต้านริ้วรอย กระ สิว และจุดด่างดำได้
ฤทธิ์อื่นๆ มีรายงานว่าในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้นำเอนไซม์ฟิซินในรูปของยางมะเดื่อฝรั่งไปใช้เป็นยาขับหนอนพยาธิแทนการใช้ตัวยาสังเคราะห์ทางด้านเภสัชกรรมพบว่า เอนไซม์ฟิซินช่วย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของยาช่วยลดคอเลสเตอรอล และระดับน้ำตาลในเลือดได้
การศึกษาทางพิษวิทยาของมะเดื่อฝรั่ง
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรเฝ้าระวังและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เสมอ เนื่องจากการรับประทานมะเดื่อฝรั่งอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำเกินมาตรฐานได้
- มะเดื่อฝรั่งมีวิตามินเค สูง ซึ่งเป็นวิตามิน ช่วยให้เลือดแข็งตัว ดังนั้น ผู้ที่กำลังใช้ยารักษาที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (warfarin) ควรระมัดระวังในการบริโภค
- มะเดื่อฝรั่งช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย หากรับประทานในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้ท้องเสียได้
- การบริโภคมะเดื่อฝรั่ง อาจทำให้เกิดอาการแพ้ หรือ อาจมีปฏิกิริยากับยาบางตัวได้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการบริโภค
- ผู้ที่แพ้ผลไม้ในวงศ์ขนุน (Moraceae) เช่น ขนุน หรือ น้อยหน่า อาจเกิดการแพ้มะเดื่อฝรั่งได้ เพราะพืชเหล่านี้อยู่ในวงศ์เดียวกัน
เอกสารอ้างอิง มะเดื่อฝรั่ง
- ธิดารัตน์ จันทร์ดอน.ผลไม้เพื่อสุขภาพจากโครงการหลวง. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมิดล.
- นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. มะเดื่อฝรั่ง ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 149
- Mawa S, Husain K, Jantan I. Ficus carica L. (Moraceae): phytochemistry, traditional uses and biological activities. Evid-Based Compl Alt 2013;2013:974256.
- The Fig: its History, Culture, and Curing, Gustavus A. Eisen, Washington, Govt. print. off., 1901
- Barolo MI, Ruiz Mostacero N, López SN. Ficus carica L. (Moraceae): an ancient source of food and health. Food Chem 2014;164:119-27.
- Badgujar SB, Patel VV, Bandivdekar AH, Mahajan RT. Traditional uses, phytochemistry and pharmacology of Ficus carica: a review. Pharm Biol 2014;52(11):1487-503.
- มะเดื่อฝรั่ง มีผลดีต่อสุขภาพจริงหรือ.พบแพทย์ดอทคอม(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com
- มะเดื่อ/มะเดื่อฝรั่ง(Fig)สรรพคุณและการปลูกมะเดื่อฝรั่ง .พืชเกษตรดอทคอมเว็บพืชเกษตรไทย(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.puechkaset.com