ฟักทอง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ฟักทอง งานวิจัยและสรรพคุณ 26 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ฟักทอง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะฟักแก้ว, ฟักแก้ว, มะน้ำแก้ว (ภาคเหนือ), หมากอึ (ภาคอีสาน), น้ำเต้า (ภาคใต้), หมักอื้อ (เลย), หมากฟักเหลือง (แม่ฮ่องสอน), หมากปัก (ไทยใหญ่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cucurbita moschata Decne., Cucurbita moschata Duchesne.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cucurbita maxima Duch.
ชื่อสามัญ Pumpkin, Butternut squash, Winter squash, Field pumpkin, Cushaw
วงศ์ CUCURBITACEAE

ถิ่นกำเนิดฟักทอง

ฟักทองเป็นพืชในเขตร้อนมีถิ่นกำเนิดในแถบเขตร้อนของอเมริกากลาง รวมไปถึงทางตอนเหนือของเมกซิโก และทางตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกาเหนือ (ซึ่งว่ากันว่ามีการค้นพบหลักฐานว่ามีการปลูกกันมานานกว่า 8000 ปีมาแล้ว) โดยภายหลังฟักทอง ได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังอเมริกาใต้ อเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชียตามลำดับ 


ประโยชน์และสรรพคุณฟักทอง
 

  1. ช่วยป้องกันต่อมลูกหมากโต
  2. ลดความดันเลือด
  3. ลดอาการคอเลสเตอรอลสูง
  4. โรคปวดข้อเข่า
  5. ช่วยสมรรถภาพกระเพาะปัสสาวะ
  6. ลดปริมาณน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน
  7. ป้องกันโรคเบาหวาน
  8. ขับปัสสาวะ
  9. บำรุงนัยน์ตา
  10. บำรุงตับ
  11. บำรุงไต
  12. ช่วยบำรุงประสาท
  13. ช่วยบำรุงเลือด
  14. บรรเทาอาการปวดเมื่อยข้อเข่า และบั้นเอว
  15. ช่วยในการขับถ่าย
  16. แก้ปวด และอักเสบจากแผลไฟไหม้
  17. เป็นยาขับพยาธิตัวตืด
  18. ป้องกันการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
  19. ช่วยดับพิษปอดบวม
  20. ช่วยแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
  21. บรรเทาอาการไอ
  22. ช่วยแก้พิษผื่นคัน
  23. แก้เริม
  24. แก้งูสวัด
  25. ใช้แก้อาการฟกช้ำและปวดอักเสบได้
  26. ถอนพิษของฝิ่น

           ในประเทศไทยผลฟักทอง สามารถนำมาใช้เป็นอาหารได้ โดยสามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งคาว และหวาน รวมถึงยังสามารถนำใบอ่อนของฟักทองมาใช้ประกอบอาหาร หรือ ลวกจิ้มกับน้ำพริกได้เช่นกัน และฟักทองยังมีแมกนีเซียม สูง และในปัจจุบันยังได้มีการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกเช่น น้ำฟักทองพร้อมดื่ม แป้งฟักทอง ข้าวเกรียบฟักทอง ข้าวเกรียบฟักทอง เป็นต้น ส่วนในต่างประเทศก็มีการใช้ฟักทองในการประกอบอาหาร เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาประกอบอาหารจากผลสุกฟักทองหลายชนิด โดยอบ ย่าง และบดใส่ซุป ประเทศบราซิลและแอฟริกานิยมปรุงเป็นซุป ประเทศญี่ปุ่นนำมาชุบแป้งทอดเป็นเทมปุระ ในประเทศแถบยุโรปตะวันออก

ฟักทอง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ฟักทอง

           แก้ปวด และอักเสบแผลไฟไหม้ ใช้เนื้อฟักทองตำให้ละเอียด พอกบริเวณที่โดนไฟไหม้ ถ้าปวดมากให้ใส่เกร็ดพิมเสน ลงไปด้วย หรือ ใช้ไส้ฟักทองตำให้ละเอียด พอกบริเวณแผล หรือตากแห้งบดเป็นผงโรยบริเวณแผล

           ขับพยาธิใช้เมล็ดฟักทองประมาณ 60 กรัม ทุบให้แตก นำมาผสมกับน้ำตาลและนม หรือ น้ำที่เติมลงไปจนได้ปริมาณ 500 มิลลิลิตร แบ่งกิน 3 ครั้ง ห่างกันทุก 2 ชั่วโมง หลังให้ยาแล้ว 2 ชั่วโมง ให้รับประทานน้ำมันละหุ่ง ระบายตามเพื่อขับพยาธิที่ตายออก

           ขับพยาธิตัวตืด ใช้เมล็ดฟักทอง 200 เม็ด (ไม่ควรเกิน 150 กรัม) ตากแห้งหรือคั่วสุกกิน หรือ ใช้เมล็ดฟักทอง 30-60 กรัม ตำให้ละเอียดต้มกับน้ำเชื่อม (ให้เว้นการกินน้ำมัน 1 วัน) หรือ ใช้เมล็ดฟักทองสด 60 กรัม ตำให้ละเอียดผสมน้ำอุ่นแล้วคนให้เข้ากันจนคล้ายนม จะเติมน้ำตาล หรือ น้ำผึ้งลงไปพอหวานก็ได้ (สำหรับเด็กลดลงครึ่งหนึ่ง) ขับพยาธิเข็มหมุด ใช้เมล็ดฟักทองบดเป็นผง กินวันละ 2 ครั้ง ๆละ 1 ช้อนโต๊ะ ติดต่อกัน 5-6 วัน 

           แก้อาการฟกช้ำ และอาการปวดอักเสบโดยใช้เยื่อกลางของฟักทอง มาพอกบริเวณที่เป็น

           ถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย และถอนพิษของฝิ่น โดยใช้รากฟักทองนำมาต้มกับน้ำใช้ดื่ม 


ลักษณะทั่วไปของฟักทอง

ฟักทองสามารถแบ่งออกเป็น 2 ตระกูล ตระกูลแรกก็คือ ตระกูลฟักทอง อเมริกัน (Pumpkin) ที่พบเห็นกันบ่อยในโทรทัศน์ หรือ ภาพยนต์ต่างประเทศ ซึ่งจะมีลักษณะผลใหญ่ เนื้อยุ่ย ผิวของผลจะเป็นสีเหลืองทั้งตอนเป็นผลอ่อน หรือ ตอนแก่เต็มที่ และตระกูลสควอช (Squash) ซึ่งได้แก่ฟักทองไทยและฟักทองญี่ปุ่น โดยฟักทองไทยนั้น ผิวของผลขณะยังอ่อนจะเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสลับเขียว ผิวมีลักษณะขรุขระเล็กน้อย เปลือกจะแข็ง เนื้อด้านในเป็นสีเหลือง พร้อมด้วยเมล็ดสีขาวแบนๆ ติดอยู่โดยฟักทอง จะมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ คือ จัดเป็นพืชล้มลุกอายุปีเดียว มีเถายาวเลื้อยปกคลุมดิน ลำต้นมีลักษณะกลม หรือ เป็นเหลี่ยมมน ผิวเป็นร่องตามความยาว มีขนอ่อนๆ มีหนวดสำหรับยึด เกาะยึดบริเวณข้อ ใบเป็นใบเดี่ยว มีขนาดใหญ่ กว้าง 10-35 เซนติเมตร ออกเรียงสลับกัน โคนใบเว้าคล้ายรูปหัวใจ ขอบใบหยักเป็นเหลี่ยม 5 เหลี่ยม มีขนทั้ง 2 ด้าน ของตัวใบดอกเป็นดอกเดี่ยวสีเหลืองมีขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายระฆัง หรือ กระดิ่งออกบริเวณง่ามใบผลมีขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นพูเล็กๆ โดยรอบเปลือกนอกขรุขระ และแข็ง มีสีเขียว จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อน และสีเหลืองเข้ม หรือ สีเหลืองตามลำดับ เนื้อภายในมีสีเหลืองอมเขียว สีเหลือง และสีส้ม เมล็ดมีจำนวนมากซึ่งอยู่ตรงกลางผลระหว่างเนื้อฟูๆ มีรูปร่างคล้ายไข่ แบน มีขอบนูนอยู่โดยรอบ 

ฝักทอง

ฝักทอง

การขยายพันธุ์ฟักทอง

การปลูกฟักทอง คล้ายๆ กับแตงโม ควรขุดไถดินลึกประมาณ 25-30 ซม. เพราะเป็นพืชที่มีระบบรากลึก ควรตากดินทิ้งไว้ 5-7 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรค วัชพืช และใส่ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมัก เพื่อปรับปรุงสภาพดินให้ร่วนซุย และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน แล้วจึงย่อยพรวนดินให้ร่วนซุย ส่วนวิธีการปลูกใช้วิธีหยอดหลุมปลูก หลุมละ 3-5 เมล็ด ลึกประมาณ 3-5 ซม. แล้วกลบหลุม ถ้ามีฟางข้าวแห้ง ให้นำมาคลุมแปลงปลูก เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหน้าดิน และเมล็ดพันธุ์จะงอกเป็นต้นกล้า ซึ่งวิธีการหยอดหลุมปลูกในแปลง จะได้ต้นกล้าที่แข็งแรง และโตเร็วกว่า การย้ายกล้าจากถุงมาปลูก 

           สำหรับระยะการปลูก พันธุ์ที่มีลำต้นเลื้อยและให้ผลใหญ่ ใช้เนื้อที่ปลูกมาก โดยใช้ระยะปลูก 3x3 เมตรแ ละพันธุ์ที่มีทรงต้นพุ่ม ให้ผลขนาดเล็ก ใช้ระยะปลูก 75x150 ซม.

           ส่วนสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม กับการปลูกฟักทอง มีลักษณะดังนี้

           ดิน ปลูกได้ในดินแทบทุกชนิดที่มีการปลูกผัก แต่จะชอบดินร่วนปนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ดี และมีการระบายน้ำดี มีค่าความเป็นกรด-ด่างของดินระหว่าง 5.5-6.8 (ชอบดินเป็นกรดเล็กน้อย) ชอบอากาศแห้ง ดินไม่ชื้นแฉะและน้ำไม่ขัง

           ฤดูปลูก ส่วนมากจะเริ่มปลูกในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์-มีนาคม หรือ หลังฤดูทำนา แต่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในปลายฤดูฝน และต้นฤดูหนาว คือ ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม และปลูกได้ดีที่สุดคือช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธุ์


องค์ประกอบทางเคมี

ฟักทอง ประกอบไปด้วยสาร Cucurbitine (3-Amino-3 carboxylprrolidnine) ในเมล็ดฟักทอง มีฤทธิ์ขับพยาธิ และยังมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมก้า-3 และ โอเมก้า-6 สูง ได้แก่ linoleic acid, oleic acid, palmitic acid และ stearic acid มีฤทธิ์ป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด และปกป้องตับ นอกจากนี้ยังมีสาร cucurbitacin, cucurmosin spinasterl อีกด้วย

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของฟักทอง

โครงสร้างฟักทอง

ที่มา : Wikipedia

อีกทั้งฟักทอง ยังมีสารอาหารต่างๆที่มีคุณค่าทางโภชนาการอันประกอบไปด้วย


การศึกษาทางเภสัช ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของฟักทอง

           ฤทธิ์ขับพยาธิ ให้ผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ Schistosoma รับประทานเมล็ดฟักทอง 80 กรัม พบว่าสามารถฆ่าพยาธิได้ทันที เมื่อนำสารสกัดจากเมล็ดฟักทองมาแยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ละลายได้ทั้งในแอลกอฮอล และอะซีโตน กับส่วนที่ละลายได้เฉพาะในแอลกอฮอล พบว่าทั้งสองส่วนมีฤทธิ์ขับพยาธิตืดวัว (Taenia saginata) ในคน ขับพยาธิตืดแคระ (Hymenolepsis nana) ในสัตว์ทดลอง และฆ่าพยาธิใบไม้ (Dicrocoelium dendriticum) ในหลอดทดลองได้ เมื่อป้อนสารสกัดจากเมล็ดฟักทองด้วยเมทานอล 80% ขนาด 5 กรัม/กิโลกรัม (เทียบกับเมล็ดสด) ให้กับหนูเม้าส์ พบว่ามีฤทธิ์ขับพยาธิ H. nana นอกจากนี้สารสกัดด้วยน้ำ อีเธอร์ และแอลกอฮอลจากเมล็ดฟักทองก็มีฤทธิ์ขับพยาธิเช่นเดียวกัน

           ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดฟักทองพันธุ์ Cucurbita pepo มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย Klebsiella pneumoniae, Acinetobacter baumannii, รา Candida albicans และ Parainfluenza virus type-3 สารสกัดผลฟักทองด้วยเอทานอลออกฤทธิ์ต้านแบคทีเรียชนิดแกรมบวก Bacillus subtilis ได้ดี ในขณะที่โพลีแซคคาไรด์ซึ่งสกัดจากเปลือกฟักทองส่วนที่ไม่ละลายในเอทานอล จะมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของ Escherichia coli และ Clostridium perfingens แต่กระตุ้นการเจริญเติบโตของ Lactobacillus brevis, Bifidobacterium bifidum และ Bifidobacterium longum

           ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง จาการวิจัยพบว่าเบต้าแคโรทีนที่พบในเนื้อสีเหลืองของฟักทอง ลดอัตราการเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในกระเพาะอาหาร ลำไส้ ปอด และเต้านม แต่มีข้อควรระวังในผู้ที่สูบบุหรี่การรับประทานอาหารเสริมที่มีเบต้าแคโรทีนในปริมาณสูง อาจเป็นผลเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอด

           คิวเคอร์บิตาซิน (cucurbitacins) เป็นกลุ่มสาระสำคัญที่พบในเมล็ดฟักทอง จากการทดสอบกับเซลล์มะเร็งพบว่าคิวเคอร์บิตาซินมีประสิทธิภาพในการต้านมะเร็ง และเสริมฤทธิ์กับยาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษามะเร็ง เช่น ดอกโซรูบิซิน (doxorubicin) เจ็มซิทาบีน (gemcitabine)

           คิวเคอร์โมซิน (cucurmosin) เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่สกัดได้จากส่วนเปลือกชั้นซาร์โคคาร์พ (sarcocarp) ของฟักทอง ออกฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง โดยไม่มีผลต่อเซลล์ปกติ

           สไปแนสเทอรอล (spinasterol) เป็นสารต้านการก่อมะเร็ง ที่สกัดได้จากส่วนของ ดอกฟักทองพบว่าสามารถรักษามะเร็งผิวหนังในหนูทดลอง

           ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด น้ำตาลโพลีแซคคาไรด์ที่จับกับโปรตีน (protein-bound polysaccharide) ซึ่งสกัดได้จากฟักทอง จากการทดลองในหนู (rat) ที่เป็นเบาหวาน พบว่าโพลีเซคคาไรด์ดังกล่าว สามารถเพิ่มระดับอินซูลินในเลือด ทำให้น้ำตาลในเลือดลดลงและเพิ่มการทนกลูโคส (glucose tolerance)

           ส่วนของน้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดฟักทองที่ยังไม่งอก และโปรตีนที่สกัดจากเมล็ดที่งอกแล้วพบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดในหนู (rat) ที่เป็นเบาหวานได้เช่นเดียวกัน

           ฤทธิ์ในการลดไขมันไม่อิ่มตัว (unsaturated fatty acid) จากการทดลองในหนู (rat) พบว่ากรดไขมันดังกล่าว่มีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอล (hypocholesterolemia) และไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด (hypotriglyaeridemia) จึงมีประโยชน์ในการรักษาโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด (atherosclerosis)

            ฤทธิ์ในการรักษาต่อมลูกหมากโต สารสกัดจากเมล็ดฟักทอง มีฤทธิ์ในการรักษาต่อมลูกหมากโต จากการทดลองในคนไข้ 2245 คน พบว่า 41.4% มีอาการของทางเดินปัสสาวะดีขึ้น (อาการต่อมลูกหมากโตอาจไปกดทางเดินปัสสาวะ ทำให้คนไข้ปัสสาวะได้ลำบาก) 46.1% มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และไม่พบอาการที่ไม่พึงประสงค์ในคนไข้เกือบทั้งหมด ฤทธิ์ในการรักษาอาการต่อมลูกหมากโต อาจเกิดจากสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนแอนโตรเจน (antiandrogenic effect) ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของต่อมลูกหมาก

           ฤทธิ์ปกป้องตับ สารสกัดเมล็ดฟักทองในน้ำมีฤทธิ์ปกป้องตับที่ถูกทำลายด้วยคาร์บอนเตตร้าคลอไรด์, D-galactosamine (D-GalN) หรือ lipopolysaccharide (LPS) ในสัตว์ทดลองได้  เมื่อให้เอทานอลพร้อมกับตำรับสมุนไพรที่มีฟักทองเป็นส่วนผสมแก่สัตว์ทดลอง พบว่าช่วยลดพิษของแอลกอฮอลที่มีต่อตับได้ การให้สัตว์ทดลองกินอาหารที่มีเมล็ดฟักทองพันธุ์ Cucurbita pepo L. spp pepo ผสมกับเมล็ดเฟล็กซ์พบว่า ทำให้กรดไขมันอิ่มตัวในเลือด และในตับลดลง ในขณะที่กรดไขมันไม่อิ่มตัวเพิ่มขึ้น อนุมูลอิสระลดลง กลไกการต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น ช่วยปกป้องหลอดเลือด และตับ โปรตีนที่แยกจากเมล็ดฟักทองพันธุ์ Cucurbita pepo สามารถใช้ทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ และช่วยปกป้องตับจากพิษของคาร์บอนเตตร้าคลอไรด์ และยาพาราเซตามอลในสัตว์ทดลองได้ 


การศึกษาทางพิษวิทยา การทดสอบความเป็นพิษของฟักทอง

            ในสัตว์ที่ให้กินเมล็ดฟักทองปั่นกับน้ำ (10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร) ขนาด 1 มิลลิลิตร/กิโลกรัม ติดต่อกันนาน 30 วัน ไม่พบว่ามีพิษต่อหนูแรทและลูกหมู แต่พบความเป็นพิษเมื่อฉีดสารสกัดจากส่วนเหนือดินด้วย 50% แอลกอฮอลเข้าช่องท้องของหนูเม้าส์ นอกจากนี้ยังพบว่า สารสกัดจากใบ สารสกัดจากผลฟักทอง ด้วยเอทานอล แล้วสกัดต่อด้วยเฮกเซน และสารสกัดจากดอกด้วยเอทานอลแล้วสกัดต่อด้วยเอทิลอะซีเตท มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ในขณะที่สารสกัดจากใบฟักทองด้วยแอลกอฮอล์มีพิษเล็กน้อยเมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูเม้าส์

           ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ สารสกัดจากดอกฟักทองด้วยคลอโรฟอร์มขนาด 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สามารถลดฤทธิ์การก่อกลายพันธุ์จากเตตร้าซัยคลินในหนูเม้าส์ได้ (19) ในขณะที่สารสกัดจากผลฟักทอง ด้วยเฮกเซนและเอทานอล 80% มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ของ Salmonalla typhimurium สายพันธุ์ TA 98 และ TA 100 ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการกลายพันธุ์ด้วย nitrite-treated-1-aminopyrene ในหลอดทดลองได้ 


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

แม้จะมีประโยชน์ต่อร่างกายอยู่มาก แต่แพทย์แผนจีนระบุว่าฟักทอง จัดเป็นพวกหยาง (มีคุณสมบัติร้อน) มีฤทธิ์อุ่น ไม่เหมาะกับผู้ที่กระเพาะร้อน เช่น ผู้ที่มักมีอาการกระหายน้ำ ปัสสาวะเหลือง ท้องผูก มีแผลในช่องปาก หรือ เหงือกบวมเป็นประจำ ซึ่งผู้ที่มีอาการเหล่านี้ไม่ควรรับประทานฟักทองในปริมาณที่มากเกินไป หรือ บ่อยเกินไป และในทางการแพทย์แผนปัจจุบันก็ได้ระบุไว้เช่นกันว่า ผู้ที่กินผลฟักทองปริมาณมากเป็นอาหารหลักทุกวันอย่างต่อเนื่อง อาจมีอาการข้างเคียงได้ คือ มีอาการตัวเหลือง เนื่องจากผลฟักทองมีสารเบต้าแคโรทีน ในปริมาณมาก โดยเบต้าแคโรทีนเป็นสารตั้งต้นที่ร่างกายนำไปสร้างเป็นวิตามินเอ ดังนั้น การกินอาหารที่มีเบต้าแคโรทีนมากเกิน (aurantiasis cutis) อาจจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการได้รับวิตามินเอมากเกินขนาดตามไปด้วย ซึ่งบางรายอาจพบตับทำงานผิดปกติได้ 

เอกสารอ้างอิง ฟักทอง
  1. วิฑิต วัฒนาวิบูล. ฟักทอง,ยาขับพยาธิ. คอลัมน์ อาหารสมุนไพร. นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่ 69. มกราคม 2528. หน้า 43-44
  2. ฟักทอง. สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. จิรภรณ์ อังวิทยาธร. สมุนไพรในแฮรี่ พอร์ตเตอร์ คุณประโยชน์ของฟักทอง. จุลสารข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.ปีที่ 27 ฉบับที่ 4. กรกฏาคม 2553. หน้า 2-6
  4. รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ.ฟักทองลดน้ำตาลในเลือด. คอลัมน์บทความพิเศษ. นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 348. เมษายน 2551
  5. กองวิจัยทางการแพทย์. สมุนไพร พื้นบ้าน ตอนที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์.กระทรวงสาธารณสุข 2526, หน้า 59.
  6. Kazuki N, Hiroo H, Shuichi K, Takeshi N, Yasuhiro A, Noriko N. Vitamin A toxicity secondary to excessive intake of yellow-green vegetables, liver and laver. J Hepatol 1999;31:142-8.
  7.  Bailenger J, Seguin F. Anthelmintic activity of a preparation from squash seeds. Bull Soc Pharm Bordeaux 1966;105(4):189-200.
  8. Colditz GA, Branch LG, Lipnick RJ, Willett WC, Rosner B, Posner BM, Hennekens CH. Incerastd green and yellow vegetable intake and lowered cancer deaths in an elderly population, Am J Cin Nutr 1985;41: 32-36.
  9. Srivastava MC, Tewari JP, Singh SW, Gupta MI, Mistra KC. Phytopharmacology of Cucurbita maxima seeds. Labdev 1967;5(1):64-5.
  10.   Blagrove RJ, Lilley GG, Kortt AA. Partial tryptic digestion of cucurbitin from pumpkin seed.  Aust J Plant Physiol 1981;8(6):507-13.
  11. Nkosi CZ, Opoku AR, Terblanche SE. Antioxidative effects of pumpkin seed (Cucurbita pepo) protein isolate in CCl4-induced liver injury in low-protein fed rats. Phytother Res 2006;20:935-40.
  12. Pauld H, Guthric JE. Tests with miscellaneous substances for the removal of tapeworms from chickens. J Am Vet Med Assoc 1940;97(762):248-53.
  13. Hase K, Kadota S, Basnet P, Numba T. Hapatoprotective effects of traditional medicines. Isolation of the active constituent from seeds of Celosia argentea. Phytother Res 1996;10:387-92.
  14.   De Queiroz-Nato A, Mataqueiro MI, Santana AE, Alessi AC. Toxicological evaluation of acute and subacute oral administration of Cucurbita maxima seed extracts to rat and swine. J Ethnopharmacol 1994;43:45-51.
  15.    Elisha EE, Twaij HAA, Ali NM, Tarish JH, Al-omary MM. The anthelmintic activity of some Iraqi plants of the Cucurbitaceae. Int J Crude Drug Res 1987;25(3):153-7.
  16.  Mohamed Reham A, Ramadan Reham S, Ahmed Lamiaa A. Effect of substituting pumpkin seed protein isolate for casein on serum liver enzymes, lipid profile and antioxidant enzymes in CCl4-intoxicated rats. Adv Biol Res 2009;3(1-2):9-15.
  17. Kap JP, Min JL, Hyunmin K, Kang SK, Sang-Han L, Ikhyun C, Hyung HL. Saeng-Maek-San, a medicinal herb complex, protects liver cell damage induced by alcohol. Biol. Pharm Bull 2002; 25(11):1451-5.
  18. Aswal BS, Bhakuni DS, Goel AK, Kar K, Mehrotra BN, Mukherjec KC. Screening of Indian plants for biological activity: Part X. Indian J Exp Biol 4984;22(6):312-32.
  19. Makni M, Fetoui H, Gargouri NK, et al. Hypolipidemic and hepatoprotective effects of flax and pumpkin seed mixture rich in ω-3 and ω-6 fatty acids in hypercholesterolemic rats. Food Chem Toxicol 2008;46:3714-20.
  20. Bilge S, Ilkay O, Berrin O, Murat K, Sinem A, Gamze O. Antimicrobial and antiviral activities of 2 seed oil samples of Cucurbita pepo L. and their fatty acid analysis. Nat Prod Commun 2007; 2(4): 395-398.
  21. Nkosi CZ, Opoku AR, Terblanche SE. In vitro antioxidative activity of pumpkin seed (Cucurbita pepo) protein isolate and its in vivo effect on alanine transaminase and aspartate transaminase in acetaminophen-induced liver injury in low protein fed rats. Phytother Res 2006;(20):780-3.
  22. Villasenor IM, Lemon P, Palileo A, Bremner JB. Antigenotoxic spinasterol from Cucurbita maxima flowers. Mutat Res 1996;360(2):89-93.
  23. Hyun J, Chang-Hyun L, Geun-Seoup S, Young-Soo K. Characterization of the pectic polysaccharides from pumpkin peel.  LWT 2006;39(5): 554-61.
  24. Villaseñor IM, Arlene LO, Lunadel B, Daclan C, Armi JGM. Microbiological and pharmacological studies on extracts of Cucurbita maxima. Phytother Res 1995;9:376-8.
  25. Dung LH, Kangsadalampai K, Butryee C. In vitro antimutagenic studies of some sticky rice cooked with ivy gourd leaves, Momordica cochinchinensis and pumpkin fruits, mungbean and black bean seeds. Ann Res Abst, Bangkok: Mahidol University, 2001.