ตะโกสวน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ตะโกสวน งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ตะโกสวน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตะโกไทย, พลับป่า (ภาคกลาง), ปลาม [ภาคใต้ (เพชรบุรี)], มะเขือเถื่อน (ภาคอีสาน), มะสุลั๊วะ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros malabarica (Desr.) Kostel.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Diospyros peregrina (Grertn) Gurke, Embryopterina Gaertn.
ชื่อสามัญ Bo Tree
วงศ์ EBENACEAE
ถิ่นกำเนิดตะโกสวน
ตะโกสวน จัดเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมเป็นบริเวณกว้างในทวีปเอเชีย บริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิเช่น ประเทศ พม่า ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงบางส่วนในอินเดีย และบังคลาเทศ แต่ในปัจจุบันได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังประเทศเขตร้อนใกล้เคียงรวมถึงเขตร้อนในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกอีกด้วย สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วไปตามไร่ หรือ สวนรวมถึงตามชายป่า ป่าเบญจพรรณและป่าดิบชื้น แต่จะพบมากทางภาคใต้ของไทย
ประโยชน์และสรรพคุณตะโกสวน
- ช่วยลดไข้
- แก้บิด
- แก้ท้องร่วง
- แก้ไข้มาลาเรีย
- ลดน้ำตาลในเลือด
- ช่วยสมานแผล
- ช่วยบำรุงกำลัง
- รักษาแผลในปาก
- แก้คออักเสบ
- ช่วยขับปัสสาวะ
- ห้ามเลือด
- ช่วยย่อยอาหาร
- ช่วยบำรุงธาตุ
- แก้อาเจียน
- แก้ปวดฟัน
- แก้พยาธิ
- แก้บวมช้ำ
- แก้ฝีเฝื่อน
- ช่วยแก้น้ำกัดเท้า
- แก้ท้องเดิน
มีการนำผลสุกของตะโกสวน มารับประทานเป็นผลไม้โดยมีรสหวานอมเปรี้ยวนิดๆ ส่วนเปลือกต้นจะให้น้ำฝาดนิยมใช้สำหรับฟอกหนัง เปลือกต้นให้น้ำฝาดใช้สำหรับฟอกหนัง และยางของลูกตะโกสวนให้สีน้ำตาล สามารถนำมาละลายน้ำใช้ย้อมผ้า แห และอวน เพื่อให้ทนทานยิ่งขึ้น ส่วนเนื้อไม้สามารถนำมาทำเป็นเครื่องใช้ไม้สอยในครัวเรือน หรือ เครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร เช่น ด้ามจอบ ด้ามเสียบ และยังสามารถใช้ในงานแกะสลักได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการนิยมนำตะโกสวนมาปลูกเป็นไม้ประดับ หรือ ไม้ดัด โดยนำมาปลูกในกระถาง แล้วตัดกิ่งก้าน และดัดแต่งใบให้เป็นพุ่ม หรือ ดัดให้เป้นรูปทรงต่างๆ แล้วนำมาประดับในอาคารบ้านเรือน หรือ ตามสวนสาธารณะต่างๆ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง ลดไข้ ลดระดับน้ำตาลในเลือด แก้บิด แก้ท้องร่วง โดยนำเปลือกตะโกสวน ต้น 4-6 ชิ้น มาต้มกับน้ำ 1 ลิตร ใช้ดื่มต่างน้ำ
- ใช้แก้อาเจียน แก้ปวดฟัน แก้บวม สมานแผล แก้ฝีเปื่อยผุพัง โดยนำเปลือกรากมาต้มกับน้ำดื่ม หากใช้ภายนอกให้ใช้เปลือกรากมาทุบพอกบริเวณที่เป็น
- ใช้แก้คออักเสบ ช่วยย่อยอาหารโดยการนำเนื้อไม้หรือแก่นไม้ 4-6 ชิ้นมาต้มกับน้ำ 1 ลิตรดื่ม ใช้แก้แผลน้ำกัดเท้าโดยใช้ยาวจากต้น หรือ ผลมาใส่แผล
ลักษณะทั่วไปของตะโกสวน
ตะโกสวน จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 10-20 เมตร ทรงพุ่มถึงเปลือกนอกเรียบถึงแตกเป็นแผ่น หรือ ลอกหลุดเป็นแอ่งตื้นๆ มีสีดำแต้มขาว ส่วนเปลือกในสีน้ำตาลอมแดง กิ่งอ่อนเกลี้ยง กระพี้มีสีขาว ส่วนยอดอ่อนมีสีน้ำตาลอมดำ
- ใบเป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ ใบอ่อนเป็นสีแดง ใบเป็นรูปของขนาน หรือ ขอบขนานแกมหอกกลับกว้าง 3-8 เซนติเมตร ยาว 10-23 เซนติเมตร โคนใบโค้งมน หรือ สอบเป็นรูปลิ่ม เนื้อใบหนาคล้ายแผ่นหนัง และมักจะมีต่อมเห็นได้ชัดเจน มีเส้นแขนงใบ 10-18 คู่ และมีก้านใบยาว 1-1.5 เซนติเมตร
- ดอกเป็นแบบแยกเพศต่างต้น โดยเป็นดอกเพศผู้จะออกดอกเป็นช่อสั้นๆ บริเวณง่ามใบซึ่งในแต่ละช่อจะมีดอกย่อย ช่อละประมาณ 2-7 ดอก ลักษณะดอกย่อยมีกลีบดอก 4-5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ด้านนอกมีขนยาวด้านในมีขนสั้นๆกลีบดอกและมีสีขาวจนถึงสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบเลี้ยงยาว 2-3 มิลลิเมตรมีขนอ่อนๆ ขึ้นปกคลุม ส่วนดอกเพศเมียออกดอกตามซอกใบ และจะออกเป็นดอกเดี่ยวและมีขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้ ลักษณะของดอกเหมือนกับดอกเพศผู้แต่มีขนาดใหญ่กว่า
- ผล รูปร่างกลม ผิวมีเกล็ดคล้ายกับตะโกนา แต่ผลโตและยาวกว่า โดยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-6 เซนติเมตร มีกลีบจุกผล 4 กลีบ มีขนสีน้ำตาลทั้งสองด้าน ผลอ่อน มีขนปกคลุม มีสีเขียวอ่อน ส่วนผลแก่สีเหลืองแก่หรือสีส้มเหลือง เนื้อค่อนข้างเละมีก้านผลยาวประมาณ 0.3-1 ซม. สำหรับเมล็ดด้านในผลมีได้ 8-12 เมล็ด ลักษณะทรงรีแป้นสีน้ำตาลดำ ขนาด 1-2 เซนติเมตร
การขยายพันธุ์ตะโกสวน
ตะโกสวนจัดเป็นไม้ยืนต้นที่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดให้เป็นต้นกล้าก่อนนำไปปลูก หรือ การปลูกด้วยเมล็ด แต่วิธีที่นิยมทำกันในปัจจุบันคือการปลูกด้วยเมล็ดโดยนำผลตะโกสวน มาแกะเอาเมล็ด จากนั้นนำไปตากแดดจนแห้งแล้วจึงนำเมล็ดมาเพาะปลูกในดิน ส่วนวิธีการปลูกเริ่มจากขุดหลุมประมาณ 40x40 เซนติเมตร แยกดินชั้นล่างและบนออกเป็น 2 ส่วน ตากแดดประมาณ 5-7 วัน จากนั้นรองก้นหลุมด้วยฟางข้าว หรือ หญ้าแห้งแล้วนำดินปลูกที่มีส่วนผสมของดินปุ๋ยคอกใส่รองก้นหลุม 15 เซนติเมตร จากนั้นจึงทำการเพาะปลูกด้วยเมล็ดที่เตรียมไว้แล้วทำการกลบหลุมโดยดินที่เป็นส่วนผสมของดินปลูกและปุ๋ยคอก กับดินก้นหลุมที่ขุดขึ้นมา เพื่อให้รากได้คุ้นเคยกับสภาพดิน แล้วจึงทำการปิดทับด้านบนด้วยดินชั้นบนของหลุมปลูกผสมกับดินปลูกปุ๋ยคอก จากนั้นคลุมทับด้วยฟางข้าว หรือ เศษหญ้าแห้งเพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้นแล้วรดน้ำให้ชุ่มเช้าเย็น
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากเปลือกต้น และผลของตะโกสวน พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น β-amyrin, cystine, diospyros, peregrinol, glucopyranosyl, daucosterol,gallic acid, hexacosane, myristic acid, leucopelargonidin, betulin, linoleic acid, linolenic acid, lupeol, L-sorbose, marsformosanone, nonadecan-7-ol-2-one, oleanolic acid, raffinose และ sitosterol เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยระบุว่าน้ำมันหอมระเหยจากส่วนผลของตะโกสวนยังพบสารต่างๆ อีกเช่น trans-a-Methyl isoeugenol, β-Bisabolene, g-Terpinene, Terpinolene, Myrcene, β-Asarone, α-Cubebene, b-Elemene, α-Phellandrene, Elemol และ Preisocalamendiol เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของตะโกสวน
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดตะโกสวน จากเปลือกต้นพบว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการอาทิเช่น มีการศึกษาวิจัยในประเทศอินเดียสารสกัดเมทานอลจากเปลือกต้นตะโกสวน มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ปกป้องตับ ต้านอนุมูลอิสระ ของสัตว์ทดลอง ส่วนสารสกัดแอลกอฮอล์จากเปลือกต้นมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ขับปัสสาวะ ต้านอาการท้องเสีย ต้านมาลาเรีย และต้านเนื้องอกในสัตว์ทดลอง นอกจากนี้ยังมีรายงานอีกฉบับหนึ่งระบุว่าลดอาการเครียด ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านเชื้อบิด และเชื้อไวรัส อีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของตะโกสวน
มีผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดจากเปลือกต้นยังมีฤทธิ์จากเปลือกต้นตะโกสวน ที่สกัดด้วยเอทานอล และน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 โดยทำการฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าขนาดที่สัตว์ทดลองทนได้สูงสุด คือ 250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการใช้ตะโกสวน เป็นสมุนไพร โดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทาน ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โด่ยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาที่นานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง ตะโกสวน
- สวนพฤกษศาสตร์ป่าไม้, ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม), พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด 2544.
- จำลอง เพ็งคล้ำย. 2526. วงศ์ไม้มะเกลือ. ไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจของไทย ตอนที่ 3: น. 8-149.
- เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “ตะโก”. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. หน้า 81-82.
- ตะโกสวน, ไม้ยืนต้น, หนังสือชุดธรรมชาติ สรรพสิ่งศาลายา,มหาวิทยาลัยมหิดล. 2553. หน้า 39
- ความหลากชนิดของไม้สกุลมะเกลือในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกรุงจังหวัดสุราษฎร์ธานี. เอกสารเผยแพร่ทางวิชาการ. กลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 (สุราษฎร์ธานี). 2563. 35 หน้า
- Kaushik, V., Saini, V., Pandurangan, A., Khosa, R. L. and Parcha, V. (2012). A review of Phytochemical and biological studies of Diospyros malabarica. Int J Pharm Sci Lett. v. 2 p. 167-169.
- M. Maridass, Essential oils of an ethnomedicine, Diospyros malabarica (Desr.) Kostel, M. Sc. Thesis,Manonmaniam Sundaranar University, Alwarkurichi, India 1999
- Joshi, S. G. (2000) Medicinal Plants. Oxford and IBH Publishing Co Pvt. Ltd India, p. 173.
- Y. Masada, Analysis of Essential Oils by Gas Chromotography and Mass Spectrometry, Wiley, NewYork 1976
- Alex, A.T., Nawagamuwa, N.H., Joseph, A., Rao, J.V. (2012). In vitro anti-cancer and antioxidant activity of different fractions of Diospyros peregrina unripe fruit extract. Free Radicals and Antioxidants. v. 46 p. 49-53.