ทรงบาดาล ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ทรงบาดาล งานวิจัยและสรรพคุณ 14 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ทรงบาดาล
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ขี้เหล็กหวาน (ทั่วไป), ขี้เหล็กบ้าน, สะเก้ง (ภาคเหนือ), สะเก๋ง (ภาคอีสาน), ทรงบันดาล, ตรึงบาดาล (ภาคตะวันออก และภาคกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna surattensis (Burm.f.) H.S.Irwin&Barneby
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cassia surottensis Burm.f.
ชื่อสามัญ Scram b.led eggs, Kalamona
วงศ์ CAESALPINIACEAE


ถิ่นกำเนิดทรงบาดาล

ทรงบาดาล จัดเป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของไทยอีกชนิดหนึ่ง โดยมีถิ่นกำเนิดบริเวณเขตร้อนของทวีปเอเชีย ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพันธ์ไม้กลางแจ้ง สามารถขึ้นได้ในดินทุกชนิด สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ


ประโยชน์และสรรพคุณทรงบาดาล

  • ใช้ถานพิษไข้
  • ใช้ถอนพิษผิดสำแดง
  • แก้สะอึก
  • ช่วยกระเพาะอาหารขยายตัว
  • แก้ปวดศีรษะ
  • รักษาอาการบวม
  • รักษาตาแดง
  • แก้ท้องผูก
  • ช่วยบรรเทาอาการไอ
  • แก้หอบ
  • แก้ถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย
  • ช่วยบำรุงกระเพาะ
  • ใช้เป็นยาระบาย
  • แก้ปวดท้อง

             ทรงบาดาล เป็นไม้ดอกที่คนไทยพบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน เพราะเป็นต้นไม้ยืนต้นที่คนในอดีตนิยมปลูกเป็นไม้ประดับริมทาง และสวนสาธารณะ เนื่องจากขยายพันธุ์ง่าย แข็งแรง ทนทาน ตัดแต่งรูปทรงได้ ใบดกให้ร่มเงา ดอกสีเหลืองสดใส สามารถนำไปปลูกได้ในหลายสถานที่

ทรงบาดาล

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้ถอนพิษไข้ ถอนพิษสำแดง โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้สะอึก เนื่องจากกระเพาะอาหารขยายตัว โดยนำรากทรงบาดาล มาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้รากร่วมกับเถาสะอึก และรากมะกล่ำเครือนำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้เป็นยาระบาย บำรุงกระเพาะอาหารแก้ปวดท้อง โดยนำเมล็ดมาทุบให้แตกแล้วนำมาต้มกับน้ำดื่ม

ลักษณะทั่วไปของทรงบาดาล

ทรงบาดาล จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่มีความสูง 3-7 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทา แตกเป็นสะเก็ดเล็ก ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามากใบออกเป็นประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกัน โดยจะออกตามข้อบริเวณปลายยอด และในแต่ละช่อใบจะประกอบไปด้วยใบย่อยรูปรี โคนและปลายใบมน ประมาณ 5-10 คู่ ความกว้างของใบย่อยมีประมาณ 1-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร ส่วนขอบใบเรียบ แผ่นใบสีเขียวด้านบนในเรียบเนียน ท้องใบจะมีขนสั้นๆ ขึ้นปกคลุม ดอกออกเป็นช่อรวมบริเวณซอกใบใกล้ปลายยอด ก้านดอกรวมยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และใน 1 ช่อดอก จะมีดอกย่อยประมาณ 10-15 ดอก ดอกย่อยมีสีเหลือง มีกลีบดอก เป็นรูปไข่ 5 กลีบ มีขนาด 4-5 มิลลิเมตร เมื่อดอกบานจะกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวอมเหลือง ดอกย่อยมีเกสรเพศผู้จำนวน 10 ก้าน ผลออกเป็นฝักลักษณะแบนยาวเรียบ มีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7-20 เซนติเมตร ขอบฝักบางส่วนคอดเล็กน้อยปลายฝักเป็นติ่งแหลม เมื่อฝักแก่แล้วจะแตกออกตามตะเข็บ เป็น 2 ส่วน ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 15-25 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดแบนเป็นมันเงา มีขนาดกว้าง 4 มิลลิเมตร และยาว 8-10 มิลลิเมตร

ทรงบาดาล

ทรงบาดาล

การขยายพันธุ์ทรงบาดาล

ทรงบาดาล สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และตอนก่องแต่วิธีส่วนใหญ่ที่นิยม คือ การขยายพันธุ์ด้วยการเพาะจากเมล็ด ซึ่งสามารถทำได้เช่นเดียวกับการเพาะเมล็ดไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ แต่มีเคล็ดลับ คือ ก่อนนำเมล็ดลงเพาะในวัสดุปลูก ควรนำเมล็ดที่จะเพาะไปแช่ทิ้งไว้ในน้ำที่มีความร้อนประมาณ 80-90 องศาเซลเซียส แล้วปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 16 ซม. เสียก่อน เพื่อให้เมล็ดมีอัตราการงอกได้ดีขึ้น


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมี จากส่วนต่างๆ ของทรงบาดาล ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น เปลือกต้นพบสาร Chrysophanol, Physcion, Aloe-Emodin ใบพบสาร Apigenin, Luteolin, Quercetin, Quercetin-3-O-β-D-glucopyranoside, Kaempferol-3-O-rutinoside, Rutin น้ำมันจากเมล็ดพบสาร Palmitic acid, Stearic acid, Oleic acid, Linoleic acid, Linolenic acid, Arachidic acids และลำต้นพบสาร β -Sitosterol- β–D- glucoside และ Galactomannan เป็นต้น

โครงสร้างทรงบาดาล

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของทรงบาดาล

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดทรงบาดาล จากส่วนต่างๆ พบว่าสารสกัดจากลำต้น ดอก และใบทรงบาดาลด้วย ethanol สามารถยับยั้งเชื้อรา C. gloeosporioides ได้ นอกจากนี้ยังมีรายงายว่า สารสกัดเมทานอลจากใบ ดอก ลำต้น และฝักของทรงบาดาล รวมถึงสารสกัดอะซิโตนจากเมล็ดมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และสารสกัดเอทานอลจากใบทรงบาดาลมีฤทธิ์ต้านเบาหวาน สารสกัดเมทานอลจากใบ ดอก และเมล็ดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และแก้ปวด นอกจากนี้สารสกัดเมทานอลจากใบ และเมล็ดยังมีฤทธิ์ปกป้องตับ อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของทรงบาดาล

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ทรงบาดาลเป็นยาสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้ “ขี้เหล็ก” เป็นยาสมุนไพร โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมตามที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ หรือ เป็นพิษต่อตับได้

เอกสารอ้างอิง ทรงบาดาล
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ทรงบาดาล”.  หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 356.
  2. ภูมิพิชญ์ สุชาวรรณ.2536 .พืชสมุนไพรใช้เป็นยา 2. กรุงเทพฯ:องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกษ
  3. เดชา ศิริภัทร.ทรงบาดาล : ความมั่นคงและคุ้มครองของไม้มงคล. คอลัมน์ ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 279.มีนาคม 2547
  4. สมสุข มัจฉาชีพ. 2534. พืชสมุนไพร.กรุงเทพฯ:แพร่พิทยา.
  5. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ทรงบาดาล (Song Badan)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 141.
  6. ขวัญใจ กนกเมธากุล,สมเดช กนกเมธากุล และเกษม สร้อยทอง. 2537.การทดสอบสารสกัดจากพืชบางชนิดในสกุล Cassia L.ต่อเชื้อรา Coiletotrichum gloeosporiodes. วารสารวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น.ปี20-22(3-3) (ฉบับพิเศษ):112-119.
  7. เสาวลักษณ์ พงษ์ไพจิตร,วัชรินทร์ รุกขไชยศิริกุล. ฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ของสารสกัดจากพืชสกุล Cassia sp. รายงานการวิจัยคณะวิทยาศาสตร์. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปี 2542. 49 หน้า
  8. Dixit, a. k., and tiwari, h. p. Fatty acid composition and characteristics of Cassia glauca seed oil. J. Indian Chem. Soc.1990; 67(10).
  9. Dave, H., and Ledwani, L. A review on anthraquinones isolated from Cassia species and their applications. Ind. J. Nat. Prod. Resour. 2012; Vol. 3(3), pp. 291-319. http://hdl.handle.net/123456789/14810
  10. Limtrakul, P., Yodkeeree, S., Thippraphan, P., Punfa, W. and Srisomboon, J., Anti-aging and tyrosinase inhibition effects of Cassia fistula flower butanolic extract. BMC Complem.  Altern. med. 2016; 16(1), p.497.
  11. Voon, H. C., Bhat,  R., and  Rusul, G. Flower extracts and their essential oils as  potential antimicrobial agents for food uses and pharmaceutical applications. Compr. Rev. Food Sci. Food Saf. 2012; 11(1), 34–55. https://doi.org/10.1002/ptr.6101
  12. El-Sayed, M.  M., Abdel-Aziz,  M.  M., Abdel-Gawad, M. M., Abdel-Hameed, E. S., Ahmed, W. S., and Abdel-Lateef, E. E. Chemical constituents and  cytotoxic  activity  of  Cassia glauca  Lan.Leaves. Life. Sci. J. 2013; 10(3), 1617–1625.
  13. Petchi, R. R. Evaluation of anti-diabetic activity of Cassia surattensis burm. F.  Flower in streptozotocin induced diabetic rats. J. Res. Pharma. Sci. 2016; 2(2), 200–205.