ผักแขยง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ผักแขยง งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ผักแขยง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักกะแยง, ผักคะแยง, ผักอีออม (ภาคอีสาน), ผักพา (ภาคเหนือ), ผักลืมผัว (ภาคกลาง), สุ่ยฝูโหยว, จุ้ยหุ่ยยัง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Limnophila aromatica (Lam.) Merr
วงศ์ Scrophulariaceae
ถิ่นกำเนิดผักแขยง
ผักแขยงเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียซึ่งคลอบคลุมในหลายๆประเทศ เช่น อินเดีย ศรีลังกา จีนตอนใต้ พบว่า ไทย ลาว กัมพูชา แล้วมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยัง ญี่ปุ่น ไต้หวัน รวมถึงตอนเหนือของออสเตรเลีย สำหรับในประเทศไทยพบผักแขยง ได้ทั่วทุกภาคของประเทศแล้วจะพบได้มากทางภาคอีสาน และภาคเหนือ โดยจะพบตามบริเวณที่ชื้นแฉะ ริมคันนา ริมหนองน้ำ และยังถูกจัดให้เป็นวัชพืชในนาข้าวอีกด้วย
ประโยชน์และสรรพคุณผักแขยง
- ช่วยระบายท้อง
- แก้ไข้
- แก้ไอ
- แก้ปวดประจำเดือน
- ช่วยขับลม
- ช่วยเจริญอาหาร
- ขับน้ำนม
- แก้ท้องเสีย
- แก้อาหารเป็นพิษ
- ช่วยในการฆ่าเชื้อโรค
- เป็นยาระบายอ่อนๆ
- แก้อักเสบ
- แก้อาการวิงเวียนศีรษะ
- แก้พิษเบื่อเมา
- แก้คันตามผิวหนัง
- แก้กลาก
- ใช้ลดอาการบวมซ้ำ
- แก้ฝี
- แก้พิษงู
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้แก้ไข้ แก้ไอ ขับลม ช่วยเจริญอาหาร ขับน้ำนม ระบายท้อง โดยใช้ต้นสด ประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้พิษเบื่อเมาโดยใช้ต้นแห้งที่เก็บเอาไว้ประมาณ 1 ปี มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ฝี กลาก และอาการคันตามผิวหนังโดยใช้ต้นสดตำพอก หรือ คั้นเอาน้ำทา หรือ จะต้มน้ำชะล้าง บริเวณที่เป็นก็ได้ ใช้ลดอาการบวมซ้ำ โดยนำลำต้นผักแขยง มาขยำแล้วใช้ประคบ ใช้แก้อาการวิงเวียนศีรษะโดยใช้ลำต้น และใบสด นำมาขยำดม
ลักษณะทั่วไปของผักแขยง
ผักแขยง จัดเป็นพืชล้มลุกเนื้ออ่อนมีอายุปีเดียว ลำต้นมีลักษณะอวบทรงกลม ตั้งตรงผิวลำต้นมีสีเขียวอ่อน และมีขนปกคลุม ด้านในลำต้นกลวงเป็นรูอากาศ เห็นได้ชัดโดยลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.2-0.35 เซนติเมตร สูงประมาณ 20-35 เซนติเมตร ลำต้นมีกลิ่นฉุนแรง และให้รสเผ็ด ใบเป็นใบเดี่ยว ขนาดเล็ก ออกเป็นคู่ตรงข้ามตามข้อปล้องของลำต้น หรือ อาจมี 3 ใบ ก็ได้ รูปทรงของใบเป็นแบบใบรีรูปของขนานมีสีเขียวมีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย ใบยาว 1.5-5 ซม. กว้าง 1-2 ซม. ฐานใบหุ้มลำต้น ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ไม่มีก้านใบ ด้านบนของใบมีตุ่มเล็กๆ ที่เป็นต่อมน้ำมันอยู่มาก ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว หรือ อาจจะแทงเป็นช่อ บริเวณซอกใบ โดยในแต่ละดอกจะมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ เป็นสีเขียวมีขน ลักษณะดอกเป็นรูปกรวยกลีบดอกสีแดงสีชมพูอ่อน หรือ สีม่วงยาว 0.3 เซนติเมตร และแยกออกเป็น 5 กลีบ ก้านดอกยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร มีขนมาก และมีก้านเกสรตัวผู้สีขาว 4 อัน ผลมีลักษณะรียาว ปลายผลเรียวแหลม ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว ส่วนผลแก่มีสีน้ำตาล เมื่อแก่เต็มที่ ผลจะปริแตกออกเป็น 4 แฉก ต้านในมีเมล็ดรูปทรงกลมสีน้ำตาลอมดำขนาดเล็กจำนวนมาก
การขยายพันธุ์ผักแขยง
ผักแขยงสามารถขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด และการปักชำลำต้นนั้น จะเป็นการนำมาปักขำเฉพาะการปลูกในกระถางเพื่อใช้สำหรับในครัวเรือนตามชนบทเท่านั้น สำหรับการขยายพันธุ์หลักๆ ของผักแขยง นั้น ส่วนมากแล้วจะเป็นการขยายพันธุ์โดยเมล็ดในธรรมชาติมากกว่าการนำมาเพาะปลูกโดยมนุษย์เพราะผักแขยงก็เป็นพืชชนิดหนึ่งที่ถูกจัดให้เป็นวัชพืชในนาข้าว และมักจะถูกกำจัดออกจากแปลงนาทั่วๆไป
องค์ประกอบทางเคมี
มีการศึกษาถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของผักแขยง พบว่ามีสารสำคัญๆ อยู่หลายชนิดเช่น Stigmasterol, β-sitosterol, Isothymusin, Nevadensin, Salvigenin, Chlorogenic acid, Caffeic acid และในส่วนของ ต้น และใบของผักแขยงยังมีน้ำมันหอมระเหยอยู่ประมาณ 0.13% ประกอบไปด้วยสาร d-limonene และ d-perillaldehyde
นอกจากนี้ในส่วนที่กินได้ของผักแขยง ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของส่วนที่กินได้ของผักแขยง (100 กรัม)
– พลังงาน : 32 กิโลแคลอรี
– เส้นใย : 1.5 กรัม
– แคลเซียม : 55 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส : 62 มิลลิกรัม
– เหล็ก : 5.2 มิลลิกรัม
– วิตามิน A : 5,862 หน่วยสากล
– วิตามิน B1 : 0.02 มิลลิกรัม
– วิตามิน B2 : 0.87 มิลลิกรัม
– วิตามิน B3 : 0.6 มิลลิกรัม
– วิตามิน C : 5 มิลลิกรัม
ที่มา : Wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของผักแขยง
มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของผักแขยง รวมถึงน้ำมันหอมระเหยของผักแขยงพบว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้ ฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และเซลล์มะเร็งเต้านม ฤทธิ์ต้านอนูมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย ฤทธิ์ระงับประสาท ฤทธิ์ลดการอักเสบ ฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท และฤทธิ์ขยายหลอดเลือด เป็นต้น
การศึกษาทางพิษวิทยาของผักแขยง
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานผักแขยง เพราะอาจทำให้เกิดอาการผิดสำแดงได้ ส่วนสตรีหลังคลอดควรระมัดระวังในการรับประทานผักแขยงเพราะอาจเกิดการแพ้ได้เช่นกัน
- ผักแขยงมีสารแคลเซียมออซาเลตสูง ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการรับประทานผักแขยง เพราะหากรับประทานมากเกินไปหรือรับประทานเป็นประจำอาจทำให้เกิดนิ่วในอวัยวะต่างๆ ได้
เอกสารอ้างอิง ผักแขยง
- ไทยโพสต์. “หอมผักแขยง ผักกลางนารสร้อนแรง ต้านมะเร็ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaipost.net. [20 ส.ค. 2014].
- สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณะสุข. 2542 ผักพื้นบ้านภาคอีสาน 302 หน้า
- ดร.ประไพภัทร คลังทรัยพ์.ผักแขยง ...กลิ่นแรงแต่ดีและมีประโยชน์. คอลัมน์ บทความพิเศษ. นิตยสารหมอชาวบ้านปีที่ 34. เล่มที่ 4. 6. กุมภาพันธ์ 2556. หน้า 20-23
- สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 129
- กองโภชนาการ กรมอนามัย 2530. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม 48 หน้า.
- ผักแขยง/ผักกะออมประโยชน์ และสรรพคุณผักแขยง. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
- สุกัญญา แซ่ลี้.สุมาลี บุญศรี. จินตนา ชัยสุโรจน์.อรุณ จันทร์คำ 2555.Proceeding of NESTC pp 72-79.