ถั่วแดงหลวง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย
ถั่วแดงหลวง งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ถั่วแดงหลวง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ถั่วแดง, ถั่งแดงใหญ่, ถั่วไตแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Phaseolus vulgaris Linn.
ชื่อสามัญ Kidney bean , Red kidney bean
วงศ์ LEGUMINOSAE
ถิ่นกำเนิดถั่วแดงหลวง
เดิมทีถั่วแดงหลวงเป็นพืชพื้นถิ่นของทวีปอเมริกาใต้ ที่มีถิ่นกำเนิดในบริเวณเทือกเขาแอนดีส จากนั้นการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังทวีปแอฟริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชีย สำหรับในประเทศไทย ถั่วแดงหลวงถูกนำเข้ามาปลูกครั้งแรกโดยโครงการหลวง เมื่อปี พ.ศ.2514 โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัศนี เพื่อส่งเสริมให้ชาวเขาในภาคเหนือปลูกเป็นพืชทดแทน ฝิ่น ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวต้องย้อนไปเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชการลที่ 9) ทรงเสด็จประพาสต้นบนดอยเมื่อปี พ.ศ.2512 เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นการปลูกฝิ่นของชาวเขา จึงมีรับสั่งให้หาพืชมาปลูกทดแทน โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัศนี ซึ่งตามเสด็จไปถวายงานได้เสนอว่าควรให้ชาวเขาทดลองปลูกถั่วแดง(Red kidney bean)
ประโยชน์และสรรพคุณถั่วแดงหลวง
- ช่วยบำรุงหัวใจ เกี่ยวกับอาการใจสั่น
- ช่วยในการบำรุงลำไส้
- ช่วยบำรุงระบบประสาท
- ช่วยลดอาการบวมน้ำ
- ช่วยขับปัสสาวะ
- ช่วยปรับสภาพเลือด
- ช่วยขับพิษ
- ช่วยกำจัดหนอง
- ช่วยบรรเทาอาการปวด บวม
- ช่วยบำบัดอาการประจำเดือนมาผิดปกติ
- ช่วยบำรุงมดลูก
- ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย
- ช่วยป้องกันอาการท้องผูก
- รักษาอาการชาตามนิ้วมือ นิ้วเท้า
- ช่วยบรรเทาอาการปวดตามข้อ
- ช่วยลดคลอเรสเตอรอลในเลือด
- ช่วยลดความดันโลหิต
- ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
- ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้
- ช่วยต้านอนุมูลอิสระ
- ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเส้นเลือดในสมองปริแตก
ถั่วแดงหลวงเป็นพืชที่เป็นแหล่งอาหารของมนุษย์มาช้านานแล้ว โดยการรับประทานจะเป็นการรับประทานในรูปแบบการปรุงสุกทั้งในประเภทอาหารคาว หรือ ของหวาน
สำหรับในประเทศไทยส่วนใหญ่แล้วจะนำถั่วไปใช้ทำเป็นไส้ขนมต่างๆ และยังมีขนมเมนูถั่วแดง เช่น ถั่วแดงกวน น้ำถั่วแดง วุ้นถั่วแดงกวน เค้กชาเขียวถั่วแดง โดรายากิ ถั่วแดงอัดเม็ด ฯลฯ รวมถึงยังใช้ทำเป็น แป้งถั่วแดง ได้อีกด้วย อีกทั้งโปรตีนที่ได้จากถั่วแดงนั้นมีคุณค่าทางอาหารเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์ อีกทั้งแถมยังไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ถั่วแดงหลวง
สำหรับรูปแบบและขนาดที่เหมาะสมในการรับประทาน ใช้ถั่วแดงหลวงนั้น โดยส่วนมากแล้วการใช้ประโยชน์จากถั่วแดงหลวงนั้นจะเป็นการบริโภคทั้งในรูปแบบอาหารคาว หวาน หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากถั่วแดงหลวงมากกว่าการใช้ประโยชน์อย่างอื่น ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์ในการบริโภคถั่วแดงหลวงแต่อย่างใด มีเพียงแต่คำแนะนำว่า ควรบริโภคเพียงสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งเท่านั้น
ลักษณะทั่วไปถั่วของแดงหลวง
ถั่วแดงหลวงจัดเป็นพืชล้มลุกฤดูเดียว ลำต้น มีลักษณะตั้งตรง สูงประมาณ 40-65 เซนติเมตร และแตกกิ่งแขนงออกเป็นทรงพุ่มเตี้ยๆ คล้ายกับลำต้นถั่วเหลือง ใบ เป็นใบประกอบ โดยจะออกเรียงกันตามข้อกิ่ง แต่ละใบมีก้านใบทรงกลม มีขอบโค้งงุ้ม และเป็นร่องตรงกลาง ถัดมาเป็นใบย่อย จำนวน 3 ใบ ซึ่งใบย่อยคู่แรกอยู่ตรงข้ามกัน ส่วนอีกใบอยู่ตรงกลาง ส่วนใบย่อยแต่ละใบเป็นรูปหอก มีขนาดไม่เท่ากัน กว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร ลักษณะโคนใบกว้าง ปลายใบแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ สีเขียวสด และมีขนปกคลุม แผ่นใบมีเส้นใบหลัก 3 เส้น ดอกเป็นช่อ เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ แผ่นกลีบดอกมีสีขาว หรือ สีชมพู ขึ้นกับสายพันธุ์ แผ่นกลีบ และขอบกลีบย่น ปลายกลีบโค้งมนและมีกลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อนใต้ฐานดอก 5 กลีบ ผล หรือ ฟักเป็นรูปทรงกระบอก เรียวยาว คล้ายฝักถั่วเหลืองกว้างประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่มีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีดำ เมล็ดเป็นรูปทรงคล้ายไต โดยในฝักหนึ่งจะมี 3-6 เมล็ด ขนาดเมล็ดกว้างประมาณ 0.4-0.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร เมล็ดอ่อนมีสีขาว แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีเขียว และแก่เต็มที่เป็นสีแดง สีแดงเข้ม สีแดงชมพู ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์
การขยายพันธุ์ถั่วแดงหลวง
ถั่วแดงหลวงสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยมีวิธีการปลูกอยู่ 2 แบบ คือ การหว่านเมล็ดและการหยอดเมล็ด แต่วิธีที่เกษตรกรนิยมใช้คือวิธีการหว่าน เนื่องจากสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าแรงได้มาก โดยมีวิธีการ คือ หว่านเมล็ดลงแปลงหลังไถพรวนครั้งที่ 2 จากนั้น ไถคราดเกลี่ยหน้าดินให้กลบเมล็ด ส่วนวิธีการปลูกแบบหยอดเมล็ดมีวิธีการ คือ ทำการหยอดเมล็ดเป็นแถว หลุมละ 2-3 เมล็ด โดยมีระยะห่างระหว่างหลุม และแถวประมาณ 80-100 เซนติเมตร
ทั้งนี้ถั่วแดงหลวงจะสามารถเติบโตได้ในพื้นที่ที่มีระดับความสูง 800-1,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และมีอุณหภูมิในช่วง 19-23 ºC อีกทั้งยังเป็นพืชที่ชอบดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำดี ดินไม่ชื้นแฉะหรือไม่มีน้ำขัง และเป็นกรดเล็กน้อย ดังนั้นการปลูกถั่วแดงหลวง จึงนิยมควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝนจนถึงเกือบปลายฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม-กันยายน ซึ่งจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ในช่วงกลางฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว
องค์ประกอบทางเคมี
มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของเมล็ดถั่วแดงหลวง ระบุว่าพบสารสำคัญหลายชนิด อาทิเช่น galactosyl – sucrose, saponin, phytic acid, folic acid, anthocyanin, molybdenum , thiamine, purine และ phytohaemayglutinin เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการระบุถึงคุณค่าทางโภชนาการของถั่วแดง ดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของถั่วแดง (100 กรัม)
พลังงาน 337 กิโลแคลอรี่
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของถั่วแดงหลวง
มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของถั่วแดงหลวงระบุว่ามีฤทธิ์ต่างๆ ดังนี้
ฤทธิ์ลดการโตผิดปกติของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ มีผลการศึกษาผลของสารสกัดด้วยอะซิโตน (70): น้ำ(29.5): กรดอะซิติก (0.5) จากถั่วแดง ในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจของหนูแรทและคนซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้โตผิดปกติ (hypertrophy) ด้วย angiotensin II พบว่าเมื่อให้สารสกัดจากถั่วแดงเข้มข้น 25, 50 และ 100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สามารถลดการโตผิดปกติของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจของหนูได้ 18, 28 และ 36% ตามลำดับ และสารสกัดจากถั่วแดงเข้มข้น 12.5, 25 และ 50 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สามารถลดการโตผิดปกติของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจของคนได้ 9, 17 และ 25% ตามลำดับ นอกจากนี้พบว่าสารสกัดจากถั่วแดงประกอบด้วย phenolic acid 13 ชนิด และ flavonoids 2 ชนิด และมีค่าการต้านอนุมูลอิสระเท่ากับ 105 ไมโครโมลโทรลอกซ์/กรัม ของสารสกัดจากถั่วแดง ซึ่งเมื่อทดสอบผลของสารสกัดถั่วแดงต่อการยับยั้งการสร้างอนุมูลอิสระในกลุ่มของ reactive oxygen species (ROS) จากการเหนี่ยวนำด้วย angiotensin II ในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจของหนูและคน พบว่าสารสกัดจากถั่วแดงเข้มข้น 100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้ง ROS ในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจของหนูได้ 33% และ สารสกัดจากถั่วแดงเข้มข้น 50 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้ง ROS ในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจของคนได้ 22% แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากถั่วแดงสามารถลดการโตผิดปกติของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจของหนูและคนซึ่งถูกเหนี่ยวนำด้วย angiotensin II โดยผ่านการลดการสร้างอนุมูลอิสระในเซลล์
ฤทธิ์ขับสารพิษ มีการศึกษาวิจัยระบุว่าในถั่วแดงหลวงมีสารที่ชื่อ โมลิบดีนัม (Molybdenum) ซึ่งสารดังกล่าวนี้จะมีฤทธิ์ในการช่วยขับสารพิษในกลุ่มซัลไฟต์ (sulfites) ออกจากร่างกายได้ และก็ยังช่วยทำความสะอาดลำไส้และระบบทางเดินอาหาร ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งที่ลำไส้ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ถั่วแดงหลวงยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ อีกเช่น ฤทธิ์ลดความดันโลหิต ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ลดคลอเรสเตอรอลในเลือด และฤทธิ์บำรุงประสาทและสมอง เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของถั่วแดงหลวง
มีผลการศึกษาวิจัยความเป็นพิษของถั่วแดงหลวงระบุว่าในเมล็ดถั่วแดงหลวงมีสาร phytohaemag gtutinin อยู่สามารถ (70,000 hau) ซึ่งเป็นสารเลคตินชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดพิษในมนุษย์ได้ แต่ทั้งนี้มีวิธีที่จะกำจัดสารชนิดนี้ ให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายได้ (200-400 hau) โดยต้องทำการแช่เมล็ดถั่ว 5 ชั่วโมง จากนั้นจึงนำไปปรุงด้วยความร้อนสูงอย่างน้อย 30 นาที
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ถั่วแดงหลวงดิบมีสารชื่อ ไฟโตฮีแมกกลูตินิน (Phytohaemagglutinin) ซึ่งเป็นสารที่มีพิษ ที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วง อาเจียน หรือ ก่อให้เกิดอาการแพ้ ดังนั้นจึงไม่ควรกินถั่วแดงหลวงแบบดิบ และก่อนรับประทานถั่วแดงควรปรุงให้ถูกวิธี โดยแช่ถั่วแดงในน้ำอย่างน้อย 5 ชั่วโมง ก่อนนำไปปรุงให้สุกที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 30 นาที จึงมีความปลอดภัย
ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง ไม่ควรรับประทานถั่วแดงหลวง เพราะถั่วแดงเป็นอาหารที่โปรตีนและฟอสฟอรัสสูง ซึ่งไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง ถั่วแดงหลวงมีสารพิวรีน (Purine) ในระดับปานกลาง ดังนั้นผู้ป่วยโรคเกาต์ควรรับประทานในปริมาณที่จำกัด เพราะสารดังกล่าวอาจเป็นตัวกระตุ้นทำให้อาการของข้ออักเสบกำเริบขึ้นได้
เอกสารอ้างอิง ถั่วแดงหลวง
⦁ สุมินทร์ สมุทคุปติ์.ถั่วแดงหลวง.วารสารกสิกรปีที่ 58.ฉบับที่ 6 พฤศจิกายน - ธันวาคม 2528.หน้า 479-483
⦁ สารสกัดจากถั่วแดงลดการโตผิดปกติของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจจากการเหนี่ยวนำด้วย angiotensin ∏.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.อาหารเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
⦁ ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย.2544.กองโภชนาการกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข
⦁ ถั่วแดง/ถั่วแดงหลวง ประโยชน์และสรรพคุณถั่วแดงหลวง.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก ⦁ http://www.puechkaset.com