มะตูมแขก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะตูมแขก งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะตูมแขก
ชื่ออื่น/ชื่อท้องถิ่น มะตูมซาอุ, สะเดาบาเรนท์, สะเดามาเลย์, พริกไทยชมพู (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Schinus terebinthifolius Raddi
ชื่อสามัญ Brazilian pepper tree, Pepper tree, Florida holly, Christmas berry
วงศ์ ANACARDIACEAE


ถิ่นกำเนิดมะตูมแขก

มะตูมแขก เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกาใต้ โดยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบประเทศบราซิลอาร์เจนตินา และปารากวัย สำหรับในประเทศไทยมีการนำมะตูมแขกเข้ามาปลูกในประเทศไทย ในช่วงที่คนไทยเริ่มไปทำงานตะวันออกกลาง โดยนำกลับเข้าปลูกในไทยแถบภาคอีสาน และที่เรียกว่า มะตูมแขก หรือ มะตูมซาอุ เพราะผู้ที่ไปทำงานในตะวันออกกลาง เอากลับมาจากประเทศซาอุดิอาระเบีย และมีกลิ่นคล้ายมะตูม ปัจจุบันสามารถพบมะตูมแขกได้มากทางภาคอีสาน แต่ก็พบได้ตามภาคอื่นๆ ประปราย


ประโยชน์และสรรพคุณมะตูมแขก

  1. รักษาอาการปวดข้อ
  2. รักษาหวัด
  3. ช่วยลดความดันโลหิต
  4. ช่วยอาการซึมเศร้า
  5. รักษาอาการประจำเดือนไม่ปกติ กระตุ้นการขับประจำเดือน
  6. ใช้เป็นยาระบาย
  7. ช่วยขับปัสสาวะ
  8. ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อแผลภายนอก
  9. รักษาแผล
  10. ใช้ห้ามเลือด
  11. แก้ปวดฟัน
  12. ช่วยบำรุงร่างกาย
  13. ช่วยบำรุงกำลัง
  14. ช่วยบำรุงธาตุ
  15. ช่วยขับเสมหะ
  16. ใช้เสริมการทำงานของระบบทางเดินหายใจ
  17. ใช้เสริมการทำงานของระบบท่อทางเดินปัสสาวะ
  18. ช่วยป้องกันการติดเชื้อ
  19. ใช้เป็นยาปฏิชีวนะ
  20. แก้หัวใจเต้นไม่ปกติ

           มีการนำมะตูมแขก มาใช้เป็นอาหารโดยนิยมนำใบอ่อน และยอดอ่อนมารับประทานเป็นผักสด เป็นเครื่องเคียงกับลาบ ส้มตำ น้ำพริก และขนมจีน อีกทั้งนำผลแห้งมาใช้เป็นส่วนผสมในพริกไทย ผสมแบบขวด (five peppercorns mixture) หรือ นำมาใช้ทำเป็นพริกไทย pink peppercorns อีกด้วย

มะตูมแขก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ปวดข้อ ปัสสาวะ ขับเสมหะ กระตุ้นการขับประจำเดือน โดยใช้ลำต้น แก่ และเปลือก ทุบพอแตก ดองเหล้า ทำยาดอก ใช้ดื่มครังละ 1 แก้วเป็ก เช้าและเย็น วันละ 2 ครั้ง หรือ ใช้เปลือก ใช้ต้นน้ำดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 2 ครั้ง หรือ อาจจะใช้ใบแก่ต้นน้ำดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วยกาแฟ วันละ 2 ครั้งก็ได้
  • ในอาร์เจนตินา ใช้ใบมะตูมแขก แห้งเสริมการทำงานของระบบทางเดินหายใจ และท่อทางเดินปัสสาวะ ป้องกันการติดเชื้อ ทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ โดยใช้ใบแห้งต้มกับน้ำดื่ม
  • ในเปรู ใช้น้ำยางเป็นยาระบายอ่อนๆ ใช้ขับปัสสาวะ ใช้เป็นยาปฏิชีวนะ โดยใช้น้ำนางจากต้นมาผสมน้ำอุ่นจิบบ่อยๆ และใช้น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากใบ รักษาแผล ช่วยในการหยุดเลือด และรักษาอาการปวดฟัน
  • ในแอฟริกาได้ใช้ใบ แก้หวัด ลดอาการซึมเศร้า และหัวใจเต้นไม่ปกติ โดยนำใบมาต้มกับน้ำดื่มหรือใช้ใบสดนำมาขยี้ดม


ลักษณะทั่วไปของมะตูมแขก

มะตูมแขก จัดเป็นไม้พุ่มขนาดใหญ่ หรือ ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก แบบผลัดใบ แตกกิ่งก้านเป็นพุ่ม สูงได้ถึง 10 เมตร ลำต้นสีเทาถึงสีน้ำตาล แตกกิ่งก้านมาก ยอดอ่อนมีสีส้มอมแดง

           ใบมะตูมแขก เป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว โดยใน 1 ช่อใบจะมีใบย่อย 5-15 ใบ มีขนาดใบกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ยาว 3-6 เซนติเมตร ใบย่อยเป็นรูปรีถึงใบหอก ขอบใบหยัก ใบค่อนข้างหนาผิวใบเกลี้ยงมีสีเขียวมองเห็นเส้นใบสีขาวได้ชัดเจน ใบมีกลิ่นฉุน เมื่อถูกขยี้

           ดอกมะตูมแขก ออกเป็นช่อขนาดเล็ก ดอกเป็นแบบแยกเพศต่างต้น ดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน ช่อดอกสีขาวนวลยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกสีขาวรูปรีมี 5 กลีบ และมีกลีบเลี้ยงสีเขียวรูปใบหอก 5 กลีบ

           ผลมะตูมแขก เป็นผลเดี่ยวแต่จะออกเป็นพวงโดยเป็นผลชนิดมีเนื้อ (drupe) เมล็ดเดี่ยวแข็ง มีขนาดเส้าผ่านศูนย์กลางของผลประมาณ 4-5 มิลลิเมตร เมื่อผลอ่อนมีสีเขียว และจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสดเมื่อแก่ และเมื่อแก่จัดเปลือกจะแห้งติดเมล็ดคล้ายพรำกไทย แต่มีขนาดเล็กกว่า และมีรสเผ็ดร้อน

มะตูมแขก

มะตูมแขก

การขยายพันธุ์มะตูมแขก

มะตูมแขกสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีอาทิเช่น การเพาะเมล็ด ปักชำ และตอนกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันคือการปักชำ โดยมีวิธีการดังนี้ เริ่มจากเตรียมวัสดุปักชำ เช่น แกลบดำ แกลบเผา หรือ ขุยมะพร้าว (แต่แกลบดำได้ผลดีสุด) จากนั้นเลือกกิ่งมะตูมแขก ที่มีอายุกึ่งอ่อนกึ่งแก่ ที่อยู่บริเวณเกือบปลายของกิ่งหลัก แล้วตัดกิ่งในขนาดประมาณ 15-20 เซนติเมตร นำกิ่งไปปักบนวัสดุปักชำ กดให้แน่น รดน้ำแล้วนำไปตั้งไวในร่มรำไร ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ยอดและรากจะเดิน พอรากแข็งแรงดีก็ย้ายออกแดด รดน้ำทุก 3 หรือ 4 วัน เมื่อต้นกล้ามีใบแท้ 3-4 คู่จึงนำไปปลูกได้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดเอทานอลจากเปลือกต้นของมะตูมแขก พบสารกลุ่ม Triterpenes, phenolic lipids, bioflavonoids, xanthones, leucoanthocyanidins และ steroids ส่วนในสารสกัดเอทานอล จากส่วนใบของมะตูมแขก ระบุว่า พบสาร ethyl gallate, quercetin myricetin, methyl gallat และ myricitrin นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหยจากผลของมะตูมแขกยังพบสาร α-pinene, β-pinene, ƿ-cymene, β-phellandrene, z-salvene, sabinene, limonene และ α-funebrene เป็นต้น ยังมีสาร urushiol ที่มีความเป็นพิษในส่วนของยาง จากต้นอีกด้วย               


การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมะตูมแขก

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดมะตูมแขก จากส่วนต่างๆ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           มีรายงานผลการศึกษาวิจัยสารออกฤทธิ์ต้านการอักเสบในสารสกัดสารเอทานอล (hydroalcoholic) ของมะตูมแขก (Schinus terebinthifolius Raddi) พบว่า มีผลต่อการอักเสบ ST-70 ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาเป็นยาต้านการอักเสบบริเวณรอยข้อต่อกระดูกได้ ยังมีการศึกษาฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ และการรักษาแผล ของสารสกัดใบมะตูมแขก ในชั้นเมทานอลพบว่ามีการต้านการอักเสบเหมือนกับสาร dexamethasone ที่ใช้ลดอาการบวม และแสดงถึงการสมานแผล อีกทั้งสารสกัดในชั้นเมทานอลไม่เป็นพิษต่อยีนซึ่งแตกต่างจากสารเคมีบำบัด

           ยังมีรายงานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ของสารสกัดส่วนต่างๆ ของมะตูมแขก อีกหลายอย่าง เช่น สารสกัดใบเมื่อทดลองในสุนัขและหนู มีฤทธิ์ลดอาการปวด และลดความดันโลหิต น้ำมันหอมระเหยจากใบ และเปลือกต้น มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคและเชื้อราบางชนิด สารสกัดแอลกอฮอล์จากเปลือกต้น มีฤทธิ์สมานแผลในทางเดินอาหาร ส่วนสารสกัดจากส่วนผลมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตได้

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยฉบับอื่นๆ ระบุว่าน้ำมันหอมระเหยของมะตูมซาอุ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและเซลล์มะเร็ง ช่วยลดการอักเสบ และเชื้อราอีกด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของมะตูมแขก

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาในสารสกัดแห้งจากเปลือกต้น มะตูมแขกในหนูทดลอง โดยให้สารสกัดแห้งจากเปลือกมะตูมแขก ทางปากในหนู Wistar ทั้งสองเพศ เป็นเวลา 45 วัน พบว่าไม่ก่อให้เกิดพิษใดๆ ไม่พบการเปลี่ยนแปลงในดัชนีทางชีวเคมีและโลหิตวิทยา ตลอดจนลักษณะทางกายวิภาคและจุลพยาธิวิทยาของสัตว์


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

มะตูมแขก จัดเป็นพืชในวงศ์มะม่วง (ANACARDIACEAE) เช่นเดียวกันกับมะม่วงหิมพานต์ และรักหลวงซึ่งพืชในวงศ์นี้ส่วนใหญ่พบสารที่เป็นกรดในน้ำยางใสจากใบและลำต้น แต่ความเป็นพิษมากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของสารที่พบ จากการศึกษาวิจัยพบว่ายางของมะตูมแขก มีสาร urushiol และ cardol เช่นเดียวกัน แต่ความเป็นพิษต่ำ แต่ก็อาจทำให้เกิดการแพ้ เป็นผื่นแดง อักเสบ บวม จากการสัมผัสได้ ส่วนดอก และผลอาจทำให้ระคายเคืองทางเดินหายใจได้ ดังนั้นผู้ที่มีประวัติแพ้ยางมะม่วง หรือ พืชในวงศ์มะม่วง ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานมะตูมแขกแบบสดๆ


เอกสารอ้างอิง มะตูมแขก

  1. รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล, มะตูมซาอุ ผักหลายชื่อ. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. จันทร์วิภา รัตนอานันต์. มะตูมแขกไม้ผลัดถิ่น สู่ผักริมรั้วคู่ครัวไทย. นิตยสารเทคโนโลยีการเกษตร ประจำวันพุธที่ 13 พฤษภาคม 2563.
  3. โชติกา คุณประทุมและคณะ.การตรวจสอบสารพฤกษเคมีเบื้องต้น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดเมทานอลจากยอด และกิ่งอ่อนสะเดาบาเรน.The national and international graduate research conference 2016. หน้า 308-316.
  4. อนันต์ อชิพรชัย. การค้นหาและพัฒนาสมุนไพรไทยสำหรับรักษาเบาหวาน. รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ประจำปีงบประมาณ 2562. มหาวิทยาลัยบูรพา. 34 หน้า
  5. Bernardes NR, Heggdorne-Araújo M, Borges IFJC, Almeida FM, Amaral EP, Lasunskaiab EB, Muzitano MF, Oliveira DB. Nitric oxide production, inhibitory, antioxidant and antimycobacterial activities of the fruits extract and flavonoid content of Schinus terebinthifolius. Rev Bras Farmacogn 2014; 24(6): 644-650.
  6. MORTON, J. F. Brazilian Pepper: Its impact on people, animals and the environment. Economy Botany, v. 32, p. 353-9, 1978.
  7. Lampe KF and McCann MA. AMA Handbook of Poisonous and Injurious Plants. American Medica, 1985.
  8. Ferriter A. Brazilian Pepper Management Plan for Florida. A report from The Florida Exotic Pest Plant Council’s Brazilian Pepper Task Force. Natural Resources Department. Florida, UAS. 1997.
  9. CERUKS, M.; ROMOFF, P.; FAVERO, A. O.; LAGO, J. H. G. Constituintes fenólicos polares de Schinus terebinthifolius Raddi (Anacardiaceae). Química Nova, v. 30, p. 597-9, 2007.
  10. Fedel-Miyasato, L.E.S., Kassuyac, C.A.L., Auharek, S.A., Formagiof, A.S.N., Cardosog, C.A.L., Maurob, M.O., Cunha-Lauraa,h, A.L., Monrealh, A.C.D., Vieiraf, M.C., Oliveira, R.J. (2014). Evaluation of anti-inflammatory, immunomodulatory, chemopreventive and wound healing potentials from Schinus terebinthifolius methanolic extract. Brasileira de Farmacognosia-Brazilian Journal of Pharmacognosy, 24565-24575.
  11. Lima LB, Vasconcelos CFB, Maranhão HML, Leite VR, Ferreira PA, Andrade BA, Araújoa EL, Xavier HS, Lafayette SSL, Wanderley AG. Acute and subacute toxicity of Schinus terebinthifolius bark extract. J Ethnopharmacol 2009; 126(3): 468–473.
  12. Campello JP and Marsaioli AJ. Triterpenes of Schinus terebinthifolius. Phytochemistry 1974; 13: 659-60.
  13. Bendaoud H, Romdhane M, Souchard JP, Cazaux S, Bouajila J. Chemical Composition and Anticancer and Antioxidant Activities of Schinus Molle L. and Schinus Terebinthifolius Raddi Berries Essential Oils. J Food Sci 2010; 75(6): 466-472.
  14. ROVEDA, L. M.; FORMAGIO, A. S. N.; BALDIVIA, D. S.; SANTOS, L. A. C.; VIEIRA, M. C.; FOGLIO, M. A.; CARDOSO, C. A. L.; CARVALHO, J. E.; FORMAGIO NETO, F. Composição química e avaliação da atividade antitumoral do óleo essencial de Schinus terebinthifolius Raddi (Anacardiaceae). In Anonymous Anais do X Simpósio Brasil-Japão, 2010.
  15. Rosas, E.C., Correa, L.B., Pádua, T.L., Maramaldo Costa, T.E.M., Mazzei, J.L., Heringer, A.P., Bizarro, C.A., Kaplan, M.A.C., Figueiredo, A.R., Henriques, M.G. (2015). Anti-inflammatory effect of Schinus terebinthifolius Raddi hydroalcoholic extract on neutrophil migration in zymosan-induced arthritis. Journal of Ethnopharmacology, 175, 490–498.