ชะลูด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ชะลูด งานวิจัยและสรรพคุณ 15ข้อ
ชื่อสมุนไพร ชะลูด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น นูด (ภาคใต้),ต้นธูป , ขี้ตุ่น , ช้างตุ่น (ภาคอีสาน) , ชะนูด (สุราษฏร์ธานี,ลูด(ปัตตานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Alyxia reinwardtii Blume var. lucida Markgr.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Alyxia nitens Kerr.
วงศ์ Apocynaceae
ถิ่นกำเนิดชะลูด
เชื่อกันว่าชะลูดเป็นพรรณพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียบริเวณคาบสมุทรอินโดจีน เช่น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา พม่า เป็นต้น เพราะมีการพบกระจัดกระจายอยู่ใน ป่าดิบ บริเวณดังกล่าว ดังนั้น จึงพออนุมานได้ว่า ชะลูด เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยอีกชนิดหนึ่งซึ่งในประเทศไทยนี้ มักพบต้นชะลูดในบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้มากกว่าภาคอื่นๆ โดยจะพบได้ในป่าดงดิบที่มีฝนตกชุก
ประโยชน์และสรรพคุณชะลูด
- ช่วยบำรุงกำลัง
- แก้ปวดในท้อง
- แก้ปวดมวนท้อง
- แก้ไข้
- ช่วยบำรุงหัวใจ
- ช่วยบำรุงครรภ์
- แก้ดีพิการ
- แก้ปวดบวม
- แก้พิษในเลือดและน้ำเหลือง
- แก้อ่อนเพลีย
- แก้ลมวิงเวียน
- แก้ไข้คลั่งเพ้อ
- แก้สะอึก
- แก้คุดทะราด
- แก้ดีพิการ
ลักษณะทั่วไปชะลูด
ชะลูดจัดเป็นไม้เถา ขนาดเล็ก มีลักษณะเนื้อไม้แข็ง เปลือกลำต้น(เถา)เกลี้ยงไม่ขรุขระ มีสีดำ โดยตามเถามักจะมีช่องระบายอากาศเป็นจุดๆ ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และหากเกิดแผลที่เถาจะมีน้ำยางสีขาวขุ่นออกมา ใบ ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงรอบข้อเถา ซึ่งจะมีข้อละ 3-4 ใบ ใบเป็นรูปรี หรือขอบขนาน ปลายใบแหลม ใบกว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 4-9 เซนติเมตร ใบหนาและแข็ง มีสีเขียว แผ่นใบด้านบนเป็นมัน ดอกออกเป็นช่อตรวจบริเวณง่ามใบ ใน 1 ช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 5-10 ดอก กลีบดอกเป็นหลอดเชื่อมติดกันบริเวณโคนดอกปลายดอกแยกเป็น 5 แฉก ดอกมีสีเหลืองและสีขาวมีกลิ่นหอม (แต่จะเริ่มหอมช่วงพลบค่ำจนถึงรุ่งสาง) ผลเป็นผลสด ลักษณะเป็นทรงรี มีเปลือกข้างนอกนุ่ม เมื่อสุกจะมีสีม่วงอมดำ เมล็ด เป็นรูปไข่หรือรูปทรงรี แข็งแห้ง
การขยายพันธุ์ชะลูด
ชะลูดสามารถขยายพันธุ์ได้โดย วิธีการใช้เมล็ดและการปักชำ แต่จะนิยมใช้วิธีการปักชำมากกว่า โดยมีวิธีการดังนี้ ตัดเถาหรือกิ่งแก่ของชะลูดให้ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร โดยตัดให้ปลายเฉียง 45 องศา แล้วจึงนำมาปักชำในกระบะทราย หรือดินร่วนปนทรายแล้วหมั่นรดน้ำ เช้า-เย็น หลังจากนั้นประมาณ 45 วัน กึ่งที่ปักชำจะมีรากแตกออกมา ก็สามารถนำไปปลูกได้
องค์ประกอบทางเคมี
มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของส่วนที่มีการนำมาทำเป็นสมุนไพร ซึ่งได้แก่ส่วนของเปลือกต้น พบว่า เปลือกต้นมีสาร saponin,alyxialactone, 4-epialyxialactone , irridoid glycoside, coumarin, coumarin glycoside I,II, Scopoletin , (+)-pinoresinol .
ที่มา : Wikipedia
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้แก้ลม ขับลม แก้ลมวิงเวียน บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ บำรุงครรภ์ แก้ปวดท้อง ปวดมวนท้อง แก้อ่อนเพลีย แก้ดีพิการ โดยนำเปลือกเถาชั้นในมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไข้ โดยใช้ใบหรือผลที่ตากแห้งแล้วนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือนำมาชงดื่มแบบชาก็ได้ ใช้แก้ไข้เพ้อคลั่ง แก้คุดทะราด แก้ดีพิการ โดยใช้ดอกแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม แก้ใจสั่นบำรุงหัวใจชุ่มชื่น แก้ไข้พิษ แก้เสมหะ โดยใช้รากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ยับยั้งการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ มีการศึกษาในลำไส้เล็กหนูตะเภา พบว่า coumarinที่สกัดได้จากเปลือกต้นชะลูดสามารถยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้เล็กกระต่าย ทั้งที่เกิดขึ้นเองและที่เกิดจากการกระตุ้นด้วย acetylcholine, 5-hydroxytrypatamine,histamine และ barium chloride และสารคูมาริน ดังกล่าวยังทั้งคู่ลดการหดเกร็งของหลอดเลือดแดงใหญ่หนูขาว ทั้งที่มีเยื่อบุและไม่มีเยื่อบุหลอดเลือด เมื่อกระตุ้นการหดเกร็งด้วยphenylelphrine และเมื่อกล้ามเนื้อหลอดเลือดถูก depolarized ด้วยสารละลายที่มี potassium ion ความข้มเข้นสูง พบว่าสารดังกล่าว แสดงผลยับยั้งการหดเกร็งที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยcalcium chloride โดยยับยั้งแบบ non-competitive antagonistคำนวณค่า PD'2 ได้ 2.42
ฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น มีการทดสอบฤทธิ์ต้านออกซิเดชันในพืชสมุนไพรไทยโดยทดสอบกับ2,2-diphenyl-1-picrylhydrazyl (DPPH) ซึ่งเป็นอนุมูลอิสระที่มีความเสถียร พบว่าสารสกัดไดคลอโรมีเทนและสารสกัดเอธิลอะซิเตตของลำต้นชะลูด (I Alyxia reinwardtii i)ให้ฤทธิ์ต้านออกซิเดชันที่ดี จากนั้นจึงนำส่วนของสิ่งสกัดเหล่านี้มาศึกษา พบว่าสามารถแยกสารได้ 8 ชนิดได้แก่ coumarin (1), 3-hydroxycoumarin (2), 6-hydroxycoumarin(3), 8-hydroxycoumarin (4), scopoletin (5), (+)-pinoresinol (6), zhebeiresinol(7) และ ip-hydroxybenzoic acid (8) จากนั้นหาสูตรโครงสร้างของสารทั้งหมด โดยใช้วิธีทางสเปกโทรสโคปีและเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ได้มีรายงานไว้แล้ว ในส่วนของสาร 7 ได้ยืนยันสูตรโครงสร้างด้วย X-ray crystallography สำหรับการทดสอบฤทธิ์ต้านออกซิเดชันของสารบริสุทธิ์ที่แยกได้ มีวิธีการทดสอบทั้งหมด 3 วิธี คือ วิธีทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPHวิธีทดสอบฤทธิ์เกี่ยวเนื่องกับเอนไซม์ (xanthine oxidase) และวิธีการทดสอบการยับยั้งการเกิดออกซิเดชันในไขมัน จากผลการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH พบว่าสาร 7 (IC(,50) =0.19 mM) แสดงฤทธิ์สูงสุด ตามด้วยสาร 6 (IC(,50) = 0.31 mM) สาร 2 (IC(,50 = 0.61 mM)สาร 5 (IC(,50) = 3.17 mM) และสาร 4 (IC(,50) = 71.05 mM) ในขณะที่สาร 1, 3 และ 8แสดงฤทธิ์ที่ต่ำ (IC(,50) > 100 mM) ส่วนฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ superoxide พบว่าสาร 2(IC(,50) = 4.55 mM) สาร 6 (IC(,50) = 4.51 mM) และสาร 7 (IC(,50) = 3.38 mM)แสดงฤทธิ์ที่ดี ในขณะที่สาร 1 และ 8 ไม่แสดงฤทธิ์ (IC(,50) > 100 mM) อย่างไรก็ตามสารทั้งหมดไม่แสดงฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ xanthine oxidase จากผลการทดสอบการยับยั้งการเกิดออกซิเดชันในไขมัน พบว่าสาร 6 และ 7 แสดงฤทธิ์ที่สูง (IC(,50) = 3.31 และ 2.08 mMตามลำดับ) ขณะที่สาร 1, 2, 3, และ 4 แสดงฤทธิ์ปานกลางโดยมี IC(,50) = 67.64, 69.07,67.45, และ 58.13 mM ตามลำดับ
การศึกษาทางพิษวิทยา
การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเปลือกชะลูดด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,613 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการนำชะลูดมาใช้เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคควรระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ คือไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไป โดยต้องใช้ตามปริมาณที่กำหนดไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้ชะลูดเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
เอกสารอ้างอิง
- ชยันต์ พิเชียรสุนทร ศุภชัย ติยวรนันท์ และ วิเชียร จีรวงศ์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทยเล่ม 6 เภสัชกรรม. กทม. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2555.
- คัชรินทร์ สมคุณา.การศึกษาเปรียบเทียบผลของคูมารินจากต้นหัสคุณและต้นชะลูดต่อกล้ามเนื้อเรียบที่แยกจากสัตว์ทดลอง.(วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2534)
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ชะลูด”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 251-252.
- จุไรรัตน์ รัตนพันธ์.ฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นของสารสกัดจากต้นชะลูด(Alyxia reinwardtii).(วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2547)
- ชะลูด.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=51