ประยงค์ป่า ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ประยงค์ป่า งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ประยงค์ป่า
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สังเครียด, สังเครียดเลือด, สังเครียดหลังขาว (ทั่วไป), มะตี (ภาคเหนือ), กีนะ (ภาคใต้), นวลแป้ง, ขี้เห็น
ชื่อวิทยาศาสตร์ Aglaia odoratissima Blume
วงศ์ MELIACEAE
ถิ่นกำเนิดประยงค์ป่า
ประยงค์ป่า จัดเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชียบริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้นสำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคขอประเทศแต่จะพบมากในภาคใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าพรุ ที่ระดับความสูง 100-800 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณประยงค์ป่า
- ใช้ถอนพิษเบื่อเมา
- บำรุงร่างกาย
- แก้เลือดและกำเดา
- แก้พิษสุนัขบ้า
- เป็นยาถอนเสมหะ
- แก้พิษทั้งปวง
- แก้ไข้ทั้งปวง
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร
- แก้ผอมแห้งแรงน้อย
- ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ
- แก้ไอ
- แก้หอบหืด
- ช่วยแก้ลมจุกเสียด
- แก้ริดสีดวงในท้อง
- ช่วยลดอาการอึดอัดแน่นหน้าอก
- ช่วยรักษาปอดพิการ
- ช่วยฟอกปอด
- ใช้เป็นยากวาดคอเด็ก
- ช่วยรักษากามโรค
- ช่วยเร่งการคลอด
- ช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ
- ช่วยแก้อัมพาต
ประยงค์ป่า จัดเป็นพันธุ์ไม้ป่าหายากที่มีการนำมาใช้ประโยชน์หลากหลาย เช่น มีการนำส่วนของดอกที่มีกลิ่นหอมแรงมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยสำหรับแต่งกลิ่นใบชา ในประเทศจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย อีกทั้งยังนำมาใช้ทำน้ำหอมได้อีกด้วย เนื้อหอม หรือ เนื้อเมล็ดของผลสุกมีรสหวานหอมสามารถนำมารับประทานได้ เนื้อไม้สีแดงสดมีความแข็ง สามารถนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีการนำมาปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับตามอาคารบ้านเรือน สวนสาธารณะ หรือ ตามวัดวาอารามต่างๆ เนื่องจากช่อดอกมีความสวยงาม และมีความหอมชื่นใจ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ประยงค์ป่า
ใช้ถอนพิษเบื่อเมา แก้เลือดและกำเดา โดยใช้รากแห้งมาต้มน้ำดื่ม ใช้ถอนพิษสุนัขบ้ากัด โดยใช้รากประยงค์ป่า แห้งฝนบริเวณที่ถูกกัด ใช้แก้ไข้ แก้พิษ แก้ไอ ขับเสมหะ แก้ไอ โดยใช้ปุ่มของเนื้อไม้ ไปปรุงเป็นยาตามตำรับตำรายาต่างๆ ใช้เป็นยากวาดคอเด็กโดยใช้ปุ่มของเนื้อไม้ฝานกวาดบริเวณคอของเด็ก
ลักษณะทั่วไปของประยงค์ป่า
ประยงค์ป่า จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กสูง 8-20 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกเรียบสีเขียวอมเทาถึงน้ำตาลแดง เปลือกในสีส้มหรือสีน้ำตาลแดงกิ่งอ่อนมีเกล็ดสีน้ำตาลเข้มและขนรูปดาวขึ้นปกคลุม และเมื่อโตเต็มที่เนื้อไม้จะแข็งและมีสีแดงสดและมียางไม้สีใส
ดอก ออกเป็นแขนงบริเวณง่ามใบออกใกล้ใบกิ่ง โดยช่อดอกเพศผู้แตกแขนงยาว 7-35 ซม. มีดอกจำนวนมาก ดอกเพศเมียออกแบบช่อแคบไม่แตกแขนง ยาว 3.5-12 ซม. มีดอกได้ถึง 20 ดอก ส่วนดอกย่อยจะยาว 1.5-2 ซม. ดอกเพศผู้กลมแบน ดอกเพศเมียเป็นรูปไข่กลับโดยดอกจะมีสีเหลืองอมครีมถึงส้มอ่อน มีกลิ่นหอมคล้ายน้ำผึ้งหรือตะไคร้หอม และมีก้านดอกยาวประมาณ 1 มม. กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปรีถึงไข่กลับ มีหลอดเกสรเพศผู้เป็นรูปถ้วยยาวไม่ถึงครึ่งกลีบดอก ปลายจักรเป็นพูติ้น 5 พู อับเรณู 5 อัน ติดได้
ผล เป็นรูปไข่กลับ ดอกเป็นช่อยาว 10-20 ซม. รูปรีหรือไข่กลับโคนเรียวแหลมปลายกลมสีเหลือง เมื่อสุกเต็มที่จะเป็นสีส้ม
ผล เมื่อแก่จะไม่แตก ผลมี 2 เสี่ยง แต่ละเสี่ยงมี 1 เมล็ดที่หุ้มด้วยเนื้อใสหรือชมพูอมเหลืองอ่อน รสหวานกินได้
การขยายพันธุ์ประยงค์ป่า
ประยงค์ป่า สามารถขยายพันธุ์ได้เช่นเดียวกับประยงค์บ้าน โดยมีวิธี3 วิธี คือ การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำ ซึ่งแต่ละวิธีก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับไม้พุ่มและไม้ยืนต้นอื่นๆ แต่ทั้งนี้มีเทคนิคการตอนกิ่งและการปักชำที่ให้ได้ผลดีคือ การตอนกิ่งเลือกกิ่งน้ำตาลที่มีความอวบแต่ไม่ควรเลือกกิ่งแก่ที่มีความหยาบแห้ง ส่วนวัสดุควรเลือกกิ่งมะพร้าวที่ได้จากการขยี้เท่านั้น จากนั้นนำมาหมักด้วยน้ำ 1-2 วัน นำใส่ถุงพลาสติก และรัดด้วยเชือกฟางก่อนฝาหุ้มบริเวณตอนกิ่ง สำหรับการตอนกิ่งจะใช้เวลา 1.5-2 เดือน จึงจะเกิดราก และควรให้รากมีสีน้ำตาลก่อนจึงตัดกิ่งลงปลูกลงดิน
สำหรับการปักชำ ควรเลือกกิ่งสีน้ำตาลที่มีความอวบ จากนั้นตัดเป็นท่อนยาว 15-25 ซม. ส่วนวัสดุในการปักชำควรเป็นดินร่วนผสมกับวัสดุอินทรีย์ เช่น แกลบดำ อัตราที่ 1:2 สำหรับการปักชำจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน กิ่งประยงค์ก็จะแทงยอดใหม่ และรอให้มีใบ 3-5 ใบจึงนำลงปลูกต่อไป
องค์ประกอบทางเคมีประยงค์ป่า
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆของประยงค์ป่า พบว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น Caryophyllene, Beta Caryophyllene, Beta-sitosterol, n-hexane, longifolene, oleic acid, linoleic acid, palmitic acid, stearic acid, pentan-2-one
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของประยงค์ป่า
มีรายงานผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของสารสกัดประยงค์ป่า จากส่วนต่างๆ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้ ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งเชื้อรา ยับยั้งยีสต์ ฤทธิ์ยับยั้งเนื้องอก ฤทธิ์ยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อนที่ผนังมดลูก ฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ฤทธิ์ขับพยาธิ และเสริมฤทธิ์ของยาบาร์บิทูเรท และลดพฤติกรรมธรรมชาติของสัตว์ทดลอง เป็นต้น
การศึกษาทางพิษวิทยาของประยงค์ป่า
มีการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของประยงค์ป่า ระบุว่า จากการทดสอบความเป็นพิษพบว่าสารสกัดเอทานอล 50% จากส่วนเหนือดินมีขนาดที่ฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักรและทำให้หนูถีบจักรตาย 50% มากกว่า 1 ก/กก. ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากประยงค์ป่าเมื่อฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักรมีขนาด LD50 เท่ากับ 6.75 มล./กก.
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ประยงค์ป่า เป็นยาสมุนไพร เนื่องจากมีรายงานการศึกษาพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการฝังตัวอ่อนที่ผนังมดลูก ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ ส่วนบุคคลกลุ่มอื่นก็ควรระมัดระวังในการใช้ประยงค์ป่าเป็นยาสมุนไพรเช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยใช้ในขนาดและปริมาณที่พอเหมาะที่ได้กำหนดไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณ ที่มากจนเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง ประยงค์ป่า
- ไซมมอน การ์ดเนอร์,พิมพา สิทธิสุนทร, ก่องกานดา ชยามฤต. ไม้ป่าภาคใต้. พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ:โครงการจัดพิมพ์คบไฟ. 2559.
- ชวลิต นิยมธรรม และคณะ2543 พันธุ์ไม้ในป่าฮาลา-บาลา โครงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าสวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ พื้นที่ส่วน 2 จังหวัดยะลา และนราธิวาส 151 หน้า.
- สุรพงษ์ เก็งทอง. สมุนไพร พื้นบ้านในหมู่เกาะแสมสาร. รายงานวิจัยโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 29-30.
- สวนพฤกษศาสตร์ กรมป่าไม้ 2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) 810 หน้า.
- เมธินี ตาฬุมาศวัสดิ์. พรรณไม้ห้วยทราย จังหวัดเพชรบุรี สำนักหอพรรณไม้กรมอุทธยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพรรณพืช. ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด 2549.
- ประยงค์ป่า. พรรณไม้ป่า ฮาลา-บาลา. โดยการสำรวจและรวบรวมพันธุ์ไม้ประดับป่าภาคใต้จังหวัดนราธิวาส-ยะลา. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. หน้า 188.
- Mabberley D.J. 1989. MELIACEAE. Tree Flora of Malaya 4: 199-259. Forest Research Institute, Ministry of Primary Industries, Malaysia.
- Santiak T and Laesen K. Flora of Thailand Vol. 8 part 1 The Forest Herbarium, Royal Forest Department Bangkok 2005.