ฟักแม้ว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ฟักแม้ว งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ฟักแม้ว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ซาโยเต้, มะระหวาน, ฟักม้ง, แตงกะเหรี่ยง, มะระแม้ว, มะเขือญี่ปุ่น, มะเขือนายก (ทั่วไป), มะเขือเครือ, บะเขือเครือ (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Sechium edule (Jacq.)Swartz.
ชื่อสามัญ Chayote
วงศ์ CUCURBITACEAE


ถิ่นกำเนิดฟักแม้ว

ฟักแม้วเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมทางตอนใต้ ตอนล่างของประเทศเม็กซิโก รวมถึงประเทศในแถบทวีปอเมริกากลาง จากนั้นจึงมีการแพร่กระจายไปทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยคาดกันว่ามีการนำเข้ามาปลูกฟักแม้ว ครั้งแรกที่จังหวัดแพร่ จากนั้นจึงขยายพืชที่ปลูกในจังหวัดทางภาคเหนือของไทย ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 500-1000 เมตร ปัจจุบันพบปลูกกันมาก ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ ตาก และเลย เป็นต้น

ประโยชน์และสรรพคุณฟักแม้ว

  • ช่วยบำรุงหัวใจ
  • ช่วยบำรุงหลอดเลือด
  • บำรุงสายตา
  • บำรุงผิวพรรณ
  • แก้อักเสบ
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • ช่วยลดความดันโลหิตสูง
  • ช่วยสลายนิ่วในไต
  • ช่วยรักษาเส้นเลือดแข็งตัว
  • ชะลอความแก่
  • ช่วยลดอาการอักเสบ
  • ช่วยป้องกันเลือดแข็งตัว
  • รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
  • แก้ปัสสาวะเล็ด
  • แก้อาการท้องเสีย
  • ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
  • ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน

           มีการนำส่วนต่างๆ ของฟักแม้ว มาใช้ประกอบอาหารรับประทาน เช่น ผลอ่อน ใบยอดอ่อน และรากสามารถนำมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะผลอ่อน และยอดอ่อนที่นิยมมากในเมนูผัด และแกงต่างๆ รวมถึงใช้ลวกจิ้มน้ำพริก ซึ่งให้รสหวาน กรอบ น่ารับประทาน และยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ส่วนใบแก่ก็มีการนำมาใช้เป็นอาหาร เลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย แพะ และหมู เป็นต้น อีกทั้งในปัจจุบันยังมีการปลูกฟักแม้ว ด้วยการทำค้างสูง ในรีสอรท์ หรือ ตามสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ต่างๆ เพื่อใช้เป็นร่มเงาพักผ่อน และใช้ถ่ายรูปกันอีกด้วย

ฟักแม้ว

รูปแบบขนาดวิธีใช้

  • ช่วยบำรุงหัวใจและหลอดเลือด ขับปัสสาวะ แก้อักเสบ โดยการใช้ผล และใบมาดองรับประทาน 
  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง สลายนิ่วในไต โดยนำผล และใบมาต้มกับน้ำดื่ม
  • รักษาอาการเส้นเลือดแข็งตัว โดยนำใบ และผลมาต้มกับน้ำกิน
  • ใช้บำรุงสายตา บำรุงหลอดเลือด บำรุงผิวพรรณ ขับปัสสาวะ โดยการนำใบ และยอดอ่อนมารับประทาน
  • ช่วยชะลอวัย บำรุงหัวใจ ลดความดันโลหิต ป้องกันเลือดแข็งตัว ขับปัสสาวะ แก้อักเสบ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร โดยการนำผลอ่อนมารับประทาน
  • ใช้ขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย แก้ปัสสาวะเล็ด แก้กระดูกพรุน รักษาแผลในกระเพาะอาหาร โดยการนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปของฟักแม้ว

ฟักแม้วจัดเป็นไม้เถาเลื้อย ล้มลุก อายุหลายปี ลักษณะทั่วไปจะคล้ายกับแตงกวา ผสมฟักเขียว มีระบบรากสะสมขนาดใหญ่ ลำต้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยม สีน้ำตาลแล้วจึงเจริญเป็นเถาปลายเถา หรือ ยอดมีสีเขียว มีขนขึ้นปกคลุมมีความยาวของเถามากกว่า 10 เมตร และจะมีเถาแขนง 3-5 เถา มีมือเกาะเจริญที่ข้อประมาณ 3 เส้น ใบเป็นใบเดี่ยว จะแตกออกบริเวณข้อตามความยาวของเถา โดยในแต่ละข้อจะแตกใบเพียงใบเดียว ใบมีลักษณะเป็นเหลี่ยม หรือ แฉก 5 แฉก คล้ายใบตำลึงแต่มีขนาดใหญ่กว่า มีขนาดใบกว้าง 8-12 เซนติเมตร และยาว 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบมีสีเขียวเข้ม มีขนสากมือปกคลุมทั้งด้านบน และด้านล่างดอกออกเป็นช่อ เป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ หรือ ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียจะอยู่คนละดอก แต่อยู่ในต้นเดียวกัน โดยดอกจะออกตามซอกใบ ดอกจะมีขนาดเล็กดอกตูม มีลักษณะทรงกลมสีเขียวอมเหลือง เมื่อดอกบานจะแผ่ออกเป็น 4 กลีบ มีสีขาวปนเหลือง มีขนาดเล็กขึ้นปกคลุม ผลเป็นผลเดี่ยวมีลักษณะเป็นทรงกลมยาว คล้ายผลโกโก้ ขั้วผลสอบเล็ก ท้ายผลป่องออกใหญ่ ขนาด กว้าง 5-15 เซนติเมตร ยาว 10-20 เซนติเมตร ผิวผลขรุขระเป็นมัน ก้นผลเป็นร่อง ตามยาว จนถึงขั้วผล ผลอ่อนมีสีเขียวสด ผลแก่มีสีเขียวอมเหลือง มีน้ำหนักผลประมาณ 200-400 กรัม เมื่อผลสีขาวใสกรอบ รสหวานมัน และมีเมล็ดสีขาวรี 1 เมล็ด

ฟักแม้ว

ฟักแม้ว

การขยายพันธุ์ฟักแม้ว

ฟักแม้วนิยมปลูกด้วยเมล็ดเป็นหลัก โดยจะเพาะต้นกล้าด้วยการเพาะทั้งผล ไม่มีการแกะเมล็ดออก เนื่องจากจะทำให้มีอัตราการงอกต่ำ สำหรับการเพาะกล้าจะต้องเก็บผลที่สุกเต็มที่ หรือ ผลที่ร่วงจากต้นที่มีเปลือกผลสีเหลืองอมครีม หรือ มีการแทงต้นอ่อนจากก้นผลแล้ว จากนั้นจึงนำไปเพาะลงถุงที่เตรียมไว้ โดยมีส่วนผสมของแกลบเผา แกลบดิน และดินร่วน ในอัตราส่วน 1:1:2 (ผสมกับปุ๋ยคอกเล็กน้อย) แล้วกดลงไปให้ลึกครึ่งผล รดน้ำให้ชุ่มแล้วดูแลจนกระทั่งแตกยอดออกมายาวประมาณ 20-35 เซนติเมตร จึงนำไปปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ โดยการเตรียมหลุมที่มีขนาด 50x50x50 ซม. ใช้ระยะปลูก 2x2 เมตร จากนั้นให้ทำค้างสูงประมาณ 2 เมตร และควรให้น้ำ 2 วัน/ครั้ง สำหรับดินร่วนปนทราย ถ้าเป็นดินเหนียวควรให้น้ำ 4-5 วันต่อครั้ง

           สำหรับการเก็บยอดอ่อนสามารถเริ่มเก็บได้ตั้งแต่ 2 เดือน หลังการปลูก โดยมีระยะการเก็บ 2-3 วัน/ครั้ง ส่วนการเก็บผลสามารถเก็บผลได้ประมาณ 4-5 เดือน หลังการปลูก


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนใบ และผลของฟักแม้วระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น Caffeic acid, luteolin, vitexin, vicenin, apigenin, gallic acid, hesperetin, palmitic acid, phenylacetic acid, 3-octadecanoic acid และยังพบกรดอะมิโนจำเป็นของร่างกายอีกหลายชนิดเช่น Phenylalanine, Histidine, Isoleucine, Leucine, Threonine, Valine นอกจากนี้ผลอ่อนของฝักแม้วยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของผลฟักแม้ว (100 กรัม)

พลังงาน                      19         กิโลแคลอรี
คาร์โบไฮเดรต            4.51      กรัม
เส้นใย                         1.7        กรัม
ไขมัน                          0.13      กรัม
โปรตีน                        0.82      กรัม
วิตามิน B1                 0.025    มิลลิกรัม
วิตามิน B2                  0.029    มิลลิกรัม
วิตามิน B3                  0.47      มิลลิกรัม
วิตามิน B5                 0.249    มิลลิกรัม
วิตามิน B6                  0.076    มิลลิกรัม
วิตามิน B9                  93        ไมโครกรัม
วิตามิน C                  7.7         มิลลิกรัม
วิตามิน E                    0.12      มิลลิกรัม
วิตามิน K                    4.1       ไมโครกรัม
ธาตุเหล็ก                  0.34      มิลลิกรัม
แคลเซียม                  17          มิลลิกรัม
สังกะสี                       0.74       มิลลิกรัม
แมกนีเซียม              12         มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส                 18          มิลลิกรัม
โพแทสเซียม           125        มิลลิกรัม

โครงสร้างฟักแม้ว

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของฟักแม้ว

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดฟักแม้ว จากส่วนผล ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           ฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีการศึกษาวิจัยโดยการป้อนสารสกัดเอทานอลจากผลฟักแม้วขนาด 500 มก./กก. ให้แก่หนูเม้าส์ที่เวลา 30 นาที ก่อนการเหนี่ยวนำให้หนูเกิดแผลที่กระเพาะอาหารด้วยยาแอสไพร้อน พบว่าสามารถป้อนกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร การเกิดจุดแดง และการมีเลือดออกในกระเพาะได้ใกล้เคียงกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร omeprazole ขนาด 8 มก./กก. โดยช่วยลดการหลั่งกรด และเพิ่มค่าความเป็นกรด-ด่าง ของกระเพาะอาหาร และอีกการศึกษาวิจัยหนึ่งได้มีการให้สารกสัดผลฟักแม้ว (Sechium edule) ด้วยแอลกอฮอล์แก่หนูวิสตาร์เพศผู้ทางปาก ขนาด 200, 400, 800 และ 1,200 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม พบว่ามีฤทธิ์ในการป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่ชักนำโดยใช้แบบจำลอง swimming stress, absolute alcohol และ indomethacin โดยผลจากการให้สารสกัดขนาด 200, 400 และ 800 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัตัว 1 กิโลกรัม พบว่าสามารถลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารจาก absolute alcohol, swimming stress และ indomethacin ตามลำดับ และสารสกัดขนาด 1,200 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ยังสามารถลดค่าร้อยดัชนีแผลในกระเพาะอาหาร (Ulcer Index) ที่เกิดจาก swimming stress, absolute alcohol และ indomethacin เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมเท่ากับ 7.84, 6.45 และ 4.47 เท่าตามลำดับ และมีค่าร้อยละการป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (% protection) เท่ากับ 87.25±6.75, 83.76±9.26 และ 77.84±9.11 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีประสิทธิ์ภาพใกล้เคียงกับยาไซเมทิดีน (cimetidine) ในแบบจำลองดังกล่าวตามลำดับ

           ฤทธิ์ลดไขมัน มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ลดไขมันหนูแรทด้วยการป้อนด้วยอาหารไขมันสูงเพียงอย่างเดียว หรือ ป้อนด้วยอาหารไขมันสูงที่มีส่วนผสมของสารโพลีฟินอลที่แยกได้จากสารสกัดน้ำจากส่วนยอดฟักแม้ว ขนาด 0.5 และ 1.0% เป็นเวลา 12 สัปดาห์ เมื่อสิ้นสุดการศึกษาพบว่า น้ำหนักตัว เนื้อเยื่อไขมัน (adipose tissue fat) และไขมันสะสมในตับของกลุ่มที่ได้รับสารสกัดน้ำจากใบฟักแม้ว น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับอาหารไขมันสูงเพียงอย่างเดียว โดยพบว่า caffeic acid และ hesperetin ที่พบในสารสกัดน้ำจากยอดฟักแม้ว เป็นสาระสำคัญในการอกฤทธิ์ป้องกันการสะสมไขมันในเซลล์ตับ (HepG2 cell) โดยเพิ่มการทำงานของ AMP-activating protein kinase(AMPK) ร่วมกับลดการทำงานของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ไขมันในตับ ได้แก่ sterol regulator element-binding proteins (SREBPs) และ HMG-CoA reductase (HMGCoR) เป็นผลให้การสะสมไขมันลดลง  

           ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด มีการศึกษาพบว่า สารกลุ่มฟีนอลลิก และสารฟลาโวนอยด์ที่พบในฟักแม้ว มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-amylase และ αglucosidase ซึ่งทำหน้าที่ย่อยน้ำตาล โดยพบว่าส่วนเปลือกผลมีฤทธิ์ดีที่สุดในการยับยั้งเอนไซม์ α-amylase และ α-glucosidase ด้วยค่า IC50 เท่ากับ 0.2±0.03 และ 0.2±0.04 มก./มล. ตามลำดับ รองลงมา คือ ส่วนเนื้อผล และใบ ซึ่งความสามารในการยับยั้งของฟักแม้ว มีความสัมพันธ์กับปริมาณสารกลุ่มฟีนอลลิกและฟลาโวนอยด์ที่พบ

           จากนั้นจึงได้ทำการทดสอบในหนูแรทที่มีภาวะน้ำตาลสูงจากการป้อนกด้วยน้ำตาลซูโครส และฟรุตโทส พบว่าเมื่อป้อนน้ำคั้นจากผลฟักแม้ว ขนาด 7.5 มล./กก. วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 15 วัน สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดค่าเฉลี่ยน้ำตาลสะสม (Advanced Glycation End-producted: AGEs) และภาวะเครียดออกซิเดชันจากการได้รับน้ำตาลในขนาดสูงได้

           ส่วนสารสกัดเอทานอลจากส่วนผลมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองที่เป็นเบาหวานได้เช่นกัน เมื่อป้อนสารสกัดเอทานอลจากส่วนผลฟักแม้ว ขนาด 100 และ 200 มก./กก. น้ำหนักตัว ให้หนูแรทที่มีภาวะเบาหวานจากการเหนี่ยวนำด้วย alloxan เป็นเวลา 21 วัน และป้อนให้หนูเม้าส์ที่เป็นเบาหวานจากการเหนี่ยวนำด้วย streptozotocin (STZ) เป็นเวลา 28 วัน สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองทั้งสองกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ลดระดับคอเลสเตอรอล รวมถึงป้องกันการลดลงของน้ำหนักตัว เนื่องจากภาวะเบาหวาน และที่ขนาด 200 มก./กก. พบว่าช่วยป้องกันความเสียหาย β-cell ในตับอ่อนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติได้ตั้งแต่วันที่ 7 ของการศึกษา

           ฤทธิ์ปกป้องตับ มีรายงานผลการศึกษาสารสกัดเอทานอลจากผลฟักแม้ว รวมถึงส่วนสกัดเอธิลอะซีเตท และส่วนสกัดบิวทานอล ขนาด 100 และ 200 มก./กก. แสดงฤทธิ์ปกป้องตับจากการได้รับสาร tetrachloromethane ในหนูแรท ผ่านการลดระดับเอนไซม์ aspartate aminotransferase ( AST), alanine aminotransferase ( ALT) และ alkaline phosphatase (ALP) ปริมาณบิริรูบิน (bilirubin) และการเกิดออกซิเดชันของไขมันในตับ (hepatic lipid peroxidation) ร่วมกับการเพิ่มฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ด้วยการเพิ่มระดับของกลูต้าไทโอนในตับ (hepatic glutathione), catalase, superoxide dismutase และระดับโปรตีนรวมได้ตามขนาดของสารสกัดที่ได้รับ และพบว่าส่วนสกัดเอธิลอะซีเตท ส่วนสกัดบิวทานอล ขนาด 200 มก. ให้ผลการปกป้องตับ และป้องกันการเปลี่ยนแปลงลักษณะทานกายภาพของตับได้ใกล้เคียงกับกลุ่มที่ได้รับยา silymarin ขนาด 50 มก./กก.  

           ฤทธิ์ป้องกันความเป็นพิษต่อไต มีรายงานการศึกษาวิจัย โดยการป้อนสารสกัดน้ำจากส่วนในขนาด 200 มก./กก. ให้แก่หนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดความเป็นพิษต่อไตด้วยการฉีด gentamicin, potassium dichromate เป็นเวลา 7 และ 5 วัน ตามลำดับ สามารถป้องกันความเป็นพิษต่อไต ลดระดับยูเรีย และไนโตรเจนในเลือด ค่าคริตินีนที่เพิ่มขึ้นจากการทำงานของไตที่ผิดปกติกลับสู่ปกติ ป้องกันความผิดปกติทางจุลกายวิภาคของไตจากได้รับ gentamicin และ potassium dichromate และการทดสอบในหนูแรทที่เป็นเบาหวานจากการเหนี่ยวนำด้วย STZ พบว่าสารสกัดน้ำจากใบฟักแม้ว สามารถข่วยลดระดับกรดยูริคในเลือดที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเบาหวาน และป้องกันความเสียหายของหน่วยไตได้เช่นเดียวกับการป้อนยาลดน้ำตาลในเลือด glibenclamide ขนาด 10 มก.

            นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยทางคลินิกในผู้สูงอายุที่อ้วนลงพุงการศึกษาในอาสาสมัครสูงอายุที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะอ้วนลงพุง (metabolic syndrome) จำนวน 12 คน (อายุเฉลี่ย 71± 6 ปี) โดยให้รับประทานแคปซูลผงแห้งจากผลฟักแม้ว ขนาด 500 มก. วันละ 3 ครั้ง ก่อนมื้ออาหาร ติดต่อกันเป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่ามีส่วนช่วยลดระดับ lipoperoxide ในเลือดอย่างมีนัยสําคัญ (จาก 0.289±0.04 เหลือ 0.234±0.06 มิลลิโมล์/ล.) และค่าดัชนีการเกิดภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress index) ลดลงจาก 1.7±0.78 เหลือเพียง 0.75±0.87 ในขณะที่ค่าการต้านอนุมูลอิสระในอาสาสมัครเพิ่มขึ้นจาก 0.97±0.18 เป็น 1.2±0.12 มิลลิโมล์/ล. นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยลดระดับของ tumor necrosing factor-α ไซโคตายน์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบอย่างมีนัยสําคัญ และพบแนวโน้มการลดลงของดัชนีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบอื่นๆ ได้แก่ interleukin-10 (IL-10), IL-6, IL1β, IL-8 และ C-reactive protein แต่ไม่มีนัยสําคัญทางสถิติ


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของฟักแม้ว

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดเอทานอลจากใบของฟักแม้ว ระบุว่ามีการศึกษาวิจัยทดสอบความเป็นพิษแบบเฉียบพลันด้วยการป้อนสารสกัดน้ำ และสารสกัดเอทานอลจากใบ ขนาด 2,000 มก. แบบครั้งเดียวให้แก่หนูแรท พบว่าไม่ทำให้หนูตาย และไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติของสัตว์ทดลองและค่า LD50 ของสารสกัดเมทานอลจากส่วนผลเมื่อทดสอบในหนูเม้าส์ คือ >5.000 มก./กก. ซึ่งมีความเป็นพิษน้อยมาก


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ฟักแม้วจัดเป็นพืชในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE) ดังนั้นผู้ที่แพ้พืชวงศ์แตงไม่ควรบริโภค ส่วนการใช้ฟักแม้ว ในรูปแบบสมุนไพรโดยเฉพาะในรูปการณ์รับประทาน ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

เอกสารอ้างอิง ฟักแม้ว
  1. กนกพร อะทะวงษา.ซาโยเต้ (ฟักแม้ว)....ผักของคนรักสุขภาพ. บอกกล่าวเล่าเรื่องสมุนไพรสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยามหิดล.
  2. ขวัญฤทัย คำฝาเชื้อ 2551 พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง ที่ตำบลบ้านจันทร์และแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 271 หน้า
  3. วสันต์ ชุณห์วิจิตรา. การปลูกผักเมืองหนาว. ฟักแม้ว โทงเทงฝรั่ง และซุกินี. วารสารข่าวเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ปีที่ 60. ฉบับที่ 2 ตุลาคม 2557- มกราคม 2558. หน้า 47-50.
  4. ภัทราวรรณ คำบุญเรือง, ธีราพร อนันตะเศรษฐกูล. การป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารโดยใช้สารสกัดผลฟักแม้ว ในหนูวิสตาร์เพศผู้. รื่องเต็มการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 49. สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ 1-4 กุมภาพันธ์2554. 8 หน้า
  5. ฟักแม้ว สรรพคุณและการปลูกฟักแม้ว. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  6. Mateos SE, Cervantes CA, Zenteno E, Slomianny MC, Alpuche J, Hernández-Cruz P, et al. Purification and partial characterization of β- glucosidase in chayote ( Sechium edule) . Molecules. 2015;20(10):19372-92.
  7. Yang MY, Chan KC, Lee YJ, Chang XZ, Wu CH, Wang CJ. Sechium edule shoot extracts and active components improve obesity and a fatty liver that involved reducing hepatic lipogenesis and adipogenesis in high-fat-diet-fed rats. J Agri Food Chem. 2015;63:4587–96.
  8. Siahaan JM. Effect of Antihypoglycemic Sechium edule Jacq. Swartz. ethanol extract on histopathologic changes in hyperglycemic Mus musculus L. IJM. 2017;2(2):86-93.
  9. Vieira EF, Pinho O, Ferreira IM, Delerue-Matos C. Chayote (Sechium edule): A review of nutritional composition, bioactivities and potential applications. Food Chem. 2019;275:557-68.
  10. Mumtaz SMF, Paul S, Bag AK. Effect of Sechium edule on chemical induced kidney damage in experimental animals. Bangladesh J Pharmacol. 2012;8:28–35.
  11. Sulaiman SF, Ooi KL, Supriatno. Antioxidant and α-glucosidase inhibitory activities of cucurbit fruit vegetables and identification of active and major constituents from phenolic- rich extracts of Lagenaria siceraria and Sechium edule. J Agric Food Chem. 2013;61(42):10080-90.
  12. Aguiñiga- Sánchez I, Cadena- Íñiguez J, Santiago- Osorio E, Gómez-García G, Mendoza-Núñez VM, Rosado-Pérez J, et al. Chemical analyses and in vitro and in vivo toxicity of fruit methanol extract of Sechium edule var. nigrum spinosum. Pharm Biol. 2017;55(1):1638-45.
  13. Rosado-Pérez J, Aguiñiga-Sánchez I, Santiago-Osorio E, Mendoza-Núñez VM. Effect of Sechium edule var. nigrum spinosum (Chayote) on oxidative stress and pro-inflammatory markers in older adults with metabolic syndrome: an exploratory study. Antioxidants (Basel). 2019;8(5): E146.
  14. Firdous S, Sravanthi K, Debnath R, Neeraja K. Protective effect of ethanolic extract and its ethylacetate and n-butanol fractions of Sechium edule fruits against carbon tetrachloride induced hepatic injury in rats. Int J Pharm Pharm Sci. 2012;4:354-9.
  15. Wu CH, Ou TT, Chang CH, Chang XZ, Yang MY, Wang CJ. The polyphenol extract from Sechium edule shoots inhibits lipogenesis and stimulates lipolysis via activation of AMPK signals in HepG2 cells. J Agri Food Chem. 2014;62:750–9.
  16. Tiwari A, Anusha I, Sumangali M, Anand Kumar D, Madhusudana K, et al. Preventive and therapeutic efficacies of Benincasa hispida and Sechium edule fruit’ s juice on sweet- beverages induced impaired glucose tolerance and oxidative stress. Pharmacologia. 2013;4:197–207.
  17. Sateesh G, Hussaini SF, Kumar GS, Rao BSS. Anti- ulcer activity of Sechium edule ethanolic fruit extract. Pharm Innov. 2012;1:77–81.
  18. Loizzo MR, Bonesi M, Menichini F, Tenuta MC, Leporini M, Tundis R. Antioxidant and carbohydratehydrolysing enzymes potential of Sechium edule (Jacq.) Swartz (Cucurbitaceae) peel, leaves and pulp fresh and processed. Plant Foods Hum Nutr. 2016;71(4):381-7.
  19. Maity S, Firdous S, Debnath R. Evaluation of antidiabetic activity of ethanolic extract of Sechium edule fruits in alloxan-induced diabetic rats. WJPPS. 2013;2:3612–21.