C.B.D.

C.B.D.

ชื่อสามัญ Cannabidiol

ประเภทและข้อแตกต่างสาร CBD 

สาร CBD (Cannabidiol) เป็นสารที่ได้จากธรรมชาติที่มีสูตรเคมี คือ C21H30O2 ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabidiol) โดยสารในกลุ่มนี้ สามารแบ่งออกได้หลายชนิด แต่ชนิดที่สำคัญและมีการศึกษาวิจัยนำไปใช้มากที่สุดพบว่ามีอยู่ 2 ชนิด คือ THC (delta-9-tetracannabinol) และ CBD (cannabidiol) ซึ่งสาร THC จะเป็นสารที่ออกฤทธิ์กระตุ้นและกดระบบประสาทส่วนกลาง อาจทำให้เกิดอาการประสาทหลอนและเสพติดได้ ส่วน CBD จะออกฤทธิ์คลายกังวล ต้านอาการเมาเคลิ้ม และไม่มีผลต่ออาการทางจิต ประเสาทของสาร THC  ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการศึกษาวิจัยสาร CBD กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากต้องการนำสรรพคุณ และฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารชนิดนี้มาใช้ในทางการแพทย์ต่อไป

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาของสาร CBD

สาร CBD (Cannabidiol) เป็นสารจากธรรมชาติที่มีอยู่ในพืชในวงศ์ Cannabida ceae เช่น กัญชา และกัญชง โดยเริ่มจาก ในปี ค.ศ.1964 (พ.ศ.2507) นักวิทยาศาสตร์สามารถแยกสารบริสุทธ์ชนิดต่างๆ จากต้นกัญชาออกมาได้ ตลอดจนสามารถวิเคราะห์หาสูตรโครงสร้างทางโมเลกุลของสารแต่ละชนิดได้ จากการศึกษาดังกล่าวพบว่าต้นกัญชามีส่วนประกอบของสารเคมีมากกว่า 450 ชนิด โดยมากกว่า 60 ชนิด เป็นสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ (cannabinoids) ที่มีองค์ประกอบหลัก คือ THC และสารชนิดอื่นในกลุ่มเดียวกัน เช่น Cannabinol (CBN), Cannabidiol (CBD), Cannabichtomme (CBC), Cannabigerol (CBG) เป็นต้น ซึ่งสาร CBD เป็นสาระสำคัญที่แยกได้จากกัญชาชนิดที่ให้เส้นใย (fiber type) และจะสามารถพบได้ในใบมากกว่าดอกราว 2 เท่า โดยในใบพบสาร CBD ราว 20 มก./ก. และในดอกพบ CBD ราว 10 มก./ก. อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ากัญชาสายพันธุ์เบไดออล (bediol) อาจพบสาร CBD ได้สูงถึงราว ๘๐ มก./ก. เลยทีเดียว

            แต่ทั้งนี้ปริมาณสาร CBD ในกัญชาจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม (ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ดิน น้ำ ปริมาณแสงแดดต่อวัน ตลอดจนสายพันธุ์ วิธีการปลูก และส่วนของพืชกัญชา) อีกด้วย

C.B.D. 

ปริมาณที่ควรได้รับจากสาร CBD

เนื่องจากในปัจจุบันพืชกัญชายังเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง ดังนั้นในการใช้ประโยชน์จากกัญชา หรือ สารสกัดจากกัญชา จึงเป็นการใช้ในทางการแพทย์ ต้องมีการสั่งใช้ตามปริมาณ และขนาดโดยแพทย์อีกด้วย นอกจากนี้ยังต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายของประเทศต่างๆ เช่น ในประเทศไทยกัญชาถูกจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แต่ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติยาเสพติดใหโทษฉบับใหม่ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 ซึ่งอนุญาตให้สามารถนำมาใช้ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือ การศึกษาวิจัยและพัฒนาการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ได้ ส่วนองค์การอนามัยโลกได้จัดสาร THC มีอาการเมาเคลิ้ม และอาการทางจิตของ CBD ไม่เป็นสารเสพติดแต่อย่างใด

ประโยชน์และโทษสาร CBD

ในปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสาร CBD พบว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่ช่วยรักษาโรคต่างๆ มากมายดังนั้นจึงมีการนำสารชนิดนี้มาใช้ในทางการแพทย์ โดยได้ระบุถึงสรรพคุณของสาร CBDไว้ว่าสามารถใช้ในการรักษาโรคและอาการหลายชนิด เช่น ปกป้องอาการทางประสาท แก้ปวดทำให้นอนหลับ ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ต้านการอักเสบ ต้านมะเร็ง และโรคลมชักบางประเภท ป้องกันการสูญเสียของความจําระยะสั้น ลดอาการวิตกกังวล ช่วยรักษาโรคโรคจิตเภท (Schizophrenia) ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระหว่างการรับยาเคมีบำบัด เสริมการรักษาผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis) เป็นต้น   

           ส่วนองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาให้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ของ CBD ดังนั้น ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่รับยาเคมีบำบัดเมื่อใช้ยามาตรฐานไม่ได้ผล ลดอาการเบื่ออาหารน้ำหนักลดในผู้ติดเชื้อเอชไอวี โรคลมชักรุนแรงสองชนิดที่ชื่อว่า Lennox-Gastaut syndrome และ Dravet syndrome ในขณะที่ประเทศออสเตรเลียจะเพิ่มให้ใช้ในกรณีควบคุมอาการปวดเรื้อรัง รักษาอาการปวดจากโรคเอ็มเอส ลดปวดและคลื่นไส้ในผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งข้อบ่งชี้ของทางออสเตรเลียนั้นกำหนดไว้ว่าให้ใช้เมื่อการรักษามาตรฐานยังได้ผลไม่ดีเท่านั้น


การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสาร CBD

            มีผลการศึกษาวิจัยของสาร CBD พบว่าการทำงานของสาร CBD มีความแตกต่างจากสาร THC เนื่องจากไม่ได้ทำงานผ่านเฉพาะตัวรับแคนนาบินอยด์ จึงไม่มีผลต่อจิตประสาทเหมือน THC นอกจากนี้ CBD ยังมีประโยชน์ในการต้านความกระวนกระวายที่เกิดจาก THC เนื่องจากทำงานต้านตัวรับ CB1 ของ THC จากงานวิจัยหลายโครงการพบว่า CBD อาจมีศักยภาพต่อการลดความปวดเกร็งในผู้ป่วยที่เป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมต้านการอักเสบในภาวะที่ไขสันหลังมีความบาดเจ็บ (spinal cord injury) และอาจมีศักยภาพในการรักษา Parkinson และมะเร็งอีกทั้งยังมีผลการศึกษาโทษเมื่อใช้ CBD ระดับต่ำๆ มีกลไกผ่านตัวรับหลายชนิดทั้งตัวรับของเซอโรโตนิน ตัวรับไกลซินและตัวรับที่มีผลต่อระดับแคลเซียม ในเซลล์ส่วน CBD ในระดับสูงสามารถกระตุ้น TRVP1 และ TRVP2 มีผลยับยั้งการนำ AEA เข้าเซลล์และการสลาย AEA นอกจากนี้ CBD ยังมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันสูงอีกด้วย

           นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสาร CBD พบว่าสามารถช่วยป้องกันและรักษาอาการของโรคต่างๆ ได้ดังนี้

           ลดอาการปวด (Analgesic effect) มีการตั้งตำรับยาสเปรย์ (Oromucosal spray, Nabiximols) โดยใช้ส่วนผสมของ THC และ CBD ซึ่งสามารถช่วยลดอาการปวดข้อ (Rheumatoid arthritis) แต่สำหรับอาการปวดเรื้อรังในผู้ป่วยมะเร็งนั้นยังไม่มีข้อสรุปทางคลินิกที่ชัดเจน

           ช่วยควบคุมอาการลมชัก (Epilepsy) มีการทดลองในสัตว์ทดลองโดยใช้สาร CBD และพบว่าสามารถต้านอาการชักได้ดี (Anticonvulsant) และไม่มีความเป็นพิษต่อระบบประสาท ต่อมามีการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยที่ประสบปัญหาไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ เมื่อให้ยากันชักร่วมกับการให้ CBD 200-300 มิลลิกรัม. ต่อวันเป็นเวลา 8-18 สัปดาห์ พบว่า 37% ของผู้ป่วย ไม่เกิดอาการชักตลอดการศึกษา และอีก 37% มีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นในผู้ที่ได้รับ CBD คือ ทำให้เกิดอาการง่วงนอน การศึกษาวิจัยเพิ่มเติมด้วยการใช้ CBD ชนิด เดียวทำให้เราสามารถเข้าใจกลไกการออกฤทธิ์ของ CBD ได้ดีมากขึ้น และในการศึกษาทางคลินิกของ Epidolex® (GW Pharmaceuticals) ซึ่งมี CBD เป็นสารสำคัญ พบว่าสามารถใช้รักษาอาการชักแบบควบคุมไม่ได้ด้วยยา (intractable epilepsy) เช่น Dravet and Lennox-Gastaut syndromes ได้ และได้รับการอนุมัติโดย U.S. FDA ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2561ให้สามารถใช้ในการรักษาอาการชักทั้ง 2 ชนิด ดังกล่าว

           อันตรกิริยาระหว่างยาและ CBD ผลต่อ P-glycoprotein (P-gp) ซึ่งเป็น efflux transporter ที่ส่งผลต่อการดื้อยาของมะเร็งชนิดต่างๆ พบว่า CBD ยับยั้ง P-gp ATPase ในเซลล์มะเร็งหลายชนิด มีผลยับยั้งการไหลกลับของยามะเร็งหลายชนิด ได้แก่ methotrexate, tyrosine kinase inhibitors (เช่น dasatinib), taxanes (เช่น paclitaxel), vinca-alkaloids (เช่น vincristine), topoisomerase inhibitors (เช่น irinotecan), intercalants (เช่น doxorubicin)

           ผลต่อโปรตีนที่เรียกว่า breast cancer resistance protein (BCRP) ซึ่งสัมพันธ์กับการดื้อยาของมะเร็งเต้านมโดย CBD ยับยั้งโปรตีนนี้ ทำให้มีผลต่อยามะเร็งหลายชนิด ได้แก่ methotrexate, cyclophosphamide, paclitaxel, topotecan, dosatinib เป็นต้น

           ผลต่อ CYP หลายชนิด เช่น ยับยั้ง CYP2C19 มีผลต่อเมตาโบลิสมของยาหลายชนิดที่ใช้เอนไซม์นี้ ได้แก่ cyclophos-phamide, imatinib, lapatinib ดังนั้นการใช้ CBD ร่วมกับยาที่เป็นสับสเตรตของ CYP เหล่านี้ เข่น clobazam และ diazepam ควรมีคำเตือนให้พิจารณาลดขนาดใช้ของยา ยับยั้ง CYP2D6 มีผลต่อเมตาโบลิสมของยาที่ใช้เอนไซม์นี้ ได้แก่ tamoxifen, gefitinib, imatinib ยับยั้ง CYP3A4 มีผลต่อยาหลายชนิดมากเนื่องจากยาจำนวนมากถูกเมตาโบไลซ์ด้วยเอนไซม์นี้ได้แก่ cyclophosphamide, paclitaxel, anastrozole, dasatinib เป็นต้น

โครงสร้าง C.B.D.

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

มีคำแนะนำว่าไม่ควรใช้สาร CBD ในผู้ที่ตั้งครรภ์ ผู้อยู่ระหว่างให้นมบุตร และผู้ป่วยจิตเวช นอกจากนี้ยังมีรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ CBD ในผู้ป่วยที่เป็น DS ได้แก่อาการง่วงซึม ท้องเสีย อ่อนเพลีย อาเจียนมีไข้ และง่วง สำหรับในผู้ป่วยที่เป็น LGS ก็พบอาการคล้ายกันคือ อาการง่วงซึม เมื่อใช้ CBD ขนาดสูงหรือใช้ร่วมกับร่วมกับยากันชักอื่นๆ เช่น valproate และ clobazam พบระดับเอนไซม์ตับสูงขึ้นได้บ้าง เมื่อให้ CBD ร่วมกับ fentanyl ขนาดต่ำไม่พบว่ามีผลกดการหายใจ แต่พบว่าที่ขนาดใช้สูงของ fentany มีผลลดอัตราการหายใจและอุณหภูมิร่างกายลงบ้างเท่านั้น

            นอกจากนี้กัญชายังนับเป็นสารเสพติด ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 รวมถึง พรบ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 อยู่ดังนั้นในการนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ จึงควรได้รับอนุญาติหรือมีการสั่งใช้จากแพทย์ก่อนจึงสามารถนำมาใช้ได้

เอกสารอ้างอิง C.B.D.
  1. จักกฤษณ์ สิงห์บุตร, ชยันต์ พิเชียรสุนทร.ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพืชกัญชา.วิทยาลัยการแพทย์ทางเลือกมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตสภา. 21 หน้า
  2. บังอร ศรีพานิชกุลชัย.การใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์.วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน ปีที่ 15.ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2562.หน้า 1-26
  3. ดร.ภญ.ผกาทิพย์ รื่นระเริงศักดิ์.กัญชากับการรักษาโรค.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. คู่มือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการกำกับดูแลซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เฉพาะเฮมพ์ (Hemp). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ; 2561.
  5. พระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 19 ก วันที่ 18 กุมภาพัธ์ 2562. Available from:http://wwwwww.ratchakitcha.soc.go.th /DATA/PDF/2562/A/019/T_0001.PDF [Accessed 2019 Feb 20]
  1. MacCallum, C. A. and Russo, E. B. Practical considerations in medical cannabis administration and dosing. Eur. J. Intern. Med. 49 (2018): 12-19.
  2. White CM. A review of human studies assessing cannabidiol's (CBD) therapeutic actions and potential. J Clin Pharmacol. 2019; 59(7):923-934.
  3. Mechouulam, R., Hanuš, L.O., Pertwee, R., Howlett, A.C. Early phytocannabinoid chemistry to endocannabinoids and beyond. Nat. Rev. Neurol. 15 (2014): 757-764.
  4. Alexander, S. P. H. Therapeutic potential of cannabis-related drugs. Prog. Neuro. Bio. Psych. 64 (2016): 157-166.
  5. Velasco, G., Sánchez, C., Guzmán, M. Towards the use of cannabinoids as antitumour agents. Nat. Rev. Cancer 12 (2012): 436-444.
  6. Manini AF, Yiannoulos G, Bergamaschi MM, et al.. Safety and pharmacokinetics of oral cannabidiol when administered concomitantly with intravenous fentanyl in humans. J Addict Med. 2015; 9: 204- 210
  7. Andre CM, Hausman JF, Guerriero G. Cannabis sativa: The plant of the thousand and one molecules. Front Plant Sci. 2016;7:19. doi: 10.3389/fpls.2016.00019.
  8. Epidiolex® (Cannabidiol) prescribing information. Carlsbad, CA: Greenwich Biosciences, Inc.; 2018.